15 มี.ค. 2022 เวลา 03:22 • ประวัติศาสตร์
"ตามรอยประวัติ: สันนิบาตชาติ (League of Nations)"
กว่าจะเป็น "สหประชาชาติ" (UN)
...ทุกวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก United Nations: UN หรือ องค์การสหประชาชาติอย่างแน่นอน ในฐานะหน่วยงานกลางระดับโลกที่คอยทำหน้าที่ดูแลและเป็นสื่อกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างชาติทั้งด้านกฎหมายระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิทธิมนุษยชน รวมถึงความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งบทบาทโดยรวมก็คือ “การธำรงรักษาสันติภาพของโลก”
...โดยเฉพาะสถานการณ์การรุกรานเขตแดนประเทศยูเครนของรัสเซียที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจจากประชาคมโลก และยังเป็นประเด็นท้าทายต่อการเข้าไปมีบทบาทในการจัดการปัญหาของ UN ด้วยเช่นกัน
...หากแต่ก่อนที่ทั้งโลกจะรู้จักกับ UN นั้น โลกใบนี้ได้เคยมีการจัดตั้งองค์การที่คอยทำหน้าที่เฉกเช่น UN ในปัจจุบันมาก่อน โดยรู้จักกันในชื่อ “สันนิบาตชาติ” หรือ “League of Nations” โดยในวันนี้ ไม้ขีดไฟ จะพาทุกคนตามรอยประวัติของ “สันนิบาตชาติ” ไปพร้อมกัน
War in Ukraine: What happened on day 19 of Russia's invasion ที่มา https://www.bbc.com/news/world-europe-60741338
...จากความล้มเหลวของแนวคิด “ดุลแห่งอำนาจ” (Balance of Power) จนนำโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 “ระบบดุลแห่งอำนาจ” ซึ่งหมายถึงระบบควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่มีรัฐใดรัฐหนึ่งเข้มแข็งจนสามารถครอบงำ (hegemonize) รัฐอื่น ๆ ได้ เมื่อถึงเวลาที่รัฐใดรัฐหนึ่งมีอำนาจมากขึ้น รัฐอื่น ๆ ซึ่งกำลังสูญเสียดุลแห่งอำนาจก็จะต้องร่วมมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อถ่วงดุลรัฐที่เข้มแข็ง
...ความล้มเหลวนี้ส่งผลทำให้นักคิดและนักวิชาการทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนำเสนอแนวคิดใหม่ขึ้นมา คือ “ความมั่นคงร่วมกัน” (Collective Security) ซึ่งหมายความว่า รัฐทุกรัฐต้องรับผิดชอบและช่วยเหลือร่วมกันในการบำรุงรักษาความมั่นคงร่วมกันของรัฐอื่น ๆ อีกทั้งต้องพร้อมที่จะร่วมกันต่อต้านการคุกคามของรัฐหนึ่งที่คุกคามต่อรัฐอื่น ให้เสมือนเป็นการคุกคามต่อสมาชิกทั้งหมด (One for All and All for One)
LEAGUE OF NATIONS. Cartoon depicting U.S. Ambassador to Great Britain, Charles Dawes, eavesdropping on the Council of the League of Nations in Paris, where an emergency session was held to try to solve the Manchurian crisis in 1931. The U.S. did not belong to the League. Drawing by Clifford Kennedy Berryman, c1931.
...“สันนิบาตชาติ” ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับโลกองค์การแรก จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงในปีค.ศ.1918 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้งและป้องกันการเกิดขึ้นของสงครามตามแนวคิดความมั่นคงร่วมกัน รวมถึงมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย บางทีเราอาจกล่าวได้ว่าการจัดตั้งสันนิบาตชาตินั้นเป็นแนวคิดของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่าง วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ที่ได้กล่าวไว้ใน “คำประกาศ 14 ข้อ” (Fourteen Points)
U.S. President - Woodrow Wilson
...โดยในข้อสุดท้ายจากทั้งหมด 14 ข้อ ได้ระบุเอาไว้ว่า “สมาคมทั่วไปของนานาชาติจะต้องได้รับการก่อตั้งขึ้นภายใต้กติกาที่เฉพาะเจาะจงเพื่อเป็นหลักประกันของเอกราชทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนแก่รัฐทั้งใหญ่และเล็กโดยเท่าเทียมกัน” อาจต้องกล่าวไว้ด้วยว่า แท้จริงแล้ว วิลสัน ไม่ได้เป็นเป็นผู้คิดค้นหลักการ 14 ข้อนี้ขึ้นมาเอง หากแต่ได้ความคิดส่วนใหญ่มาจากถ้อยแถลงของลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร รวมถึงบางส่วนจากคำแถลงการณ์ของผู้นำบอลเชวิก
David Lloyd George, former Prime Minister of the United Kingdom
...ต่อมาสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็ได้ร่างกติกาสันนิบาตชาติเพื่อนำเสนอในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส ซึ่งกติกานี้ได้ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Versailles Treaty) ดังนั้น สันนิบาตชาติ (League of Nations) จึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อประเทศต่าง ๆ ที่ลงนามในสัญญาแวร์ซายให้สัตยาบันเรียบร้อยในปีค.ศ.1919 โดยในระยะแรกมีสมาชิก 42 ประเทศ และได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 59 ประเทศ
...คงต้องกล่าวเอาไว้อีกว่า อย่างไรก็ตามมหาอำนาจอื่น ๆ ในขณะนั้นมิได้เห็นด้วยกับความคิดของวิลสันสักเท่าไรโดยเฉพาะฝรั่งเศสที่ยังคงเชื่อมั่นในระบบการรักษาความมั่นคงแบบเดิมนั่นคือ “ระบบดุลแห่งอำนาจ” (Balance of Power) ซึ่งทัศนคติที่ต่างกันของชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้การประชุมสันติภาพที่ปารีสค่อนข้างตึงเครียด แต่ท้ายที่สุดก็สามารถประนีประนอมระหว่างกันได้
The Signing of Peace in the Hall of Mirrors, Versailles 1919, Ausschnitt By William Orpen
...โดยโครงสร้างของสันนิบาตชาติประกอบไปด้วย องค์กรสำคัญ 4 องค์กร คือ สมัชชา (Assembly) คณะมนตรี (Council) เลขาธิการ (Secretariat) และศาลยุติธรรมประจำระหว่างประเทศ (Permanent Court of Justice)
...ในช่วงแรกที่สันนิบาตชาติจัดตั้งขึ้นนั้นค่อนข้างประสบความสำเร็จในการแก้ไขความขัดแย้งกรณีพิพาทระหว่างประเทศต่าง ๆ ในช่วง 10 ปีแรก ไม่ว่าจะเป็น กรณีพิพาทระหว่างสวีเดนกับฟินแลนด์ โปแลนด์กับลิทัวเนีย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ข้อพิพาทเหล่านี้เกิดขึ้นเฉพาะระหว่างประเทศเล็กหรือประเทศขนาดกลางเท่านั้น
...แต่ทว่าในระยะต่อมาสันนิบาตชาติกลับประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรียในปีค.ศ.1931 และกรณีอิตาลียึดครองเอธิโอเปีย ปีค.ศ.1935 วิกฤตการณ์ระหว่างประเทศเช่นนี้ได้ลุกลามอย่างมาก ท้ายที่สุดสันนิบาตชาติก็ไม่สามารถยับยั้งการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายและการรุกรานโปแลนด์ของเยอรมนีได้ จนกลายเป็นชนวนของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
Japanese soldiers of 29th Regiment on the Mukden West Gate
...ซึ่งเราอาจสรุปความล้มเหลวของสันนิบาตชาติได้ 3 ประเด็นหลัก คือ
1
1. อำนาจหน้าที่และการตัดสินใจที่ซึ่งไม่มีผลผูกพันกับประเทศสมาชิกหรือคู่กรณี โดยเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชาติ สันนิบาติชาติจะใช้เพียงอำนาจแนะนำเท่านั้น อีกทั้งสันนิบาตชาติจะไม่เข้าไปแทรกแซงในเรื่องที่กฎหมายระหว่างประเทศถือว่าเป็นอำนาจภายในรัฐ
2. อเมริกา ชาติผู้เป็นคนริเริ่มความคิดกลับไม่ได้เป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ เพราะรัฐสภาอเมริกันเชื่อว่าสันนิบาตชาติจะนำพาให้อเมริกาและคนอเมริกันเข้าไปพัวพันกับปัญหาที่มันวุ่นวายในยุโรป รวมถึงอเมริกาต้องการหวนกลับไปดำเนินนโยบายแบบโดดเดี่ยวตามหลักการมอนโรว์ (Monroe Doctrine) นอกจากอเมริกา โซเวียต และเยอรมัน ซึ่งนับว่าเป็นมหาอำนาจในขณะนั้นก็มิได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่แรกส่งผลทำให้องค์การสันนิบาตชาติขาดความน่าเชื่อถือ
3. สันนิบาตชาติเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาสันติภาพที่ประเทศผู้แพ้สงครามประณามว่าเป็นสนธิสัญญาที่ไม่มีความยุติธรรม ทำให้ประเทศเหล่านี้มีทัศนคติเชิงลบต่อสันนิบาตชาติมาตั้งแต่แรก
The Gap in the Bridge. Cartoon about the absence of the USA from the League of Nations, depicted as the missing keystone of the arch. The cigar also symbolizes America (Uncle sam) enjoying its wealth
...แต่อย่างไรก็ตาม แม้ “สันนิบาตชาติ” ได้พังทลายลงไปและดูเหมือนว่าแนวคิด “ความมั่นคงร่วมกัน” จะใช้ไม่ได้ผล ในการรักษาสันติภาพของโลก จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างค.ศ.1939-1945 หากแต่ผู้นำชาติตะวันตกอย่างอเมริกาและอังกฤษก็ยังคงเชื่อมั่นในแนวคิดดังกล่าวว่าจะสามารถทำให้โลกนี้มีความสงบได้ จึงส่งผลทำให้แนวคิดความมั่นคงร่วมกันยังคงถูกนำมาปฏิบัติและเป็นจุดเริ่มต้นขององค์การระหว่างประเทศใหม่ คือ “องค์การสหประชาชาติ” ในปัจจุบัน..
Flag of the United Nations
...แต่ถึงกระนั้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ณ ปัจจุบัน และสถานการณ์ความรุนแรงของการสู่รบกันระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน กำลังเป็นบททดสอบที่สำคัญสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศตามแนวคิดเสรีนิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจับตาดูว่า ความร่วมมือ/การบูรณาการะหว่างประเทศจะมีบทบาทมากน้อยขนาดไหนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อีกทั้ง "สหภาพเหนือชาติ" (Supranational Union) จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่..
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: 1. จุลชีพ ชินวรรโณ. (2557). โลกในศตวรรษที่ 21: กรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
2. บรรพต กำเนิดศิริ. (2553). ประวัติศาสตร์การทูตตั้งแต่การประชุมที่กรุงเวียนนา ค.ศ.1815 จนถึงจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นปี ค.ศ.1947. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โฆษณา