18 มี.ค. 2022 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“No Code Low Code” ทางเลือกของผู้ประกอบการ เมื่อโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
📌 โลกเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน
ในปัจจุบันแม้ธุรกิจจะเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้นกว่าช่วงปลายปีที่แล้ว หลายธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดและขยายโครงการใหม่ๆ แต่หลายท่านก็คงยังห่วงหน้าพะวงหลังอยู่พอสมควร เพราะโลกในปัจจุบันนั้นผันผวนอย่างมาก มีปัจจัยทั้งภายนอกและภายในที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนและกระทบกับธุรกิจและแผนงานได้ตลอดเวลา
โควิดเองที่แม้จะเริ่มลดความรุนแรงลงและอาจปรับเป็นโรคประจำถิ่น แต่ความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์และการระบาดเพิ่มของสายพันธ์ใหม่ก็ยังคงมีอยู่ โดยจะเห็นได้จากกรณีของฮ่องกงที่โควิดสายพันธุ์ BA.2.2 ที่ระบาดอย่างหนักและนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าในไทยมาก โดยมีผู้เสียชีวิต 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่อัตราของไทยอยู่ที่ 0.85 คนต่อประชากร 1 ล้านคน และปัจจุบันไทยก็เริ่มมีผู้ป่วยสายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้ความไม่แน่นอนจากในด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายๆ แห่งก็เป็นความเสี่ยงต่อการค้าระหว่างประเทศ ราคาพลังงานและสินค้าต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่างของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่หลายคนไม่เคยคาดว่าจะบานปลายจนเป็นสงครามที่ยังยืดเยื้อ และยังมีความขัดแย้งอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงจะปะทุขึ้นได้ในอนาคต เช่น ในทะเลจีนใต้ และ คาบสมุทรเกาหลี เป็นต้น
ในขณะเดียวกันความต้องการของลูกค้า และสภาพการแข่งขันก็เปลี่ยนไปอย่างมาก สถานการณ์โควิดได้เร่งให้หลายบริษัทนำระบบดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภายใน หรือการนำเสนอสินค้าและบริการให้กับลูกค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์
แต่หนึ่งในขอขวดสำคัญ คือ การหาบุคลากรที่มีความสามารถทาง IT ที่มีความสามารถในการพัฒนาระบบงานและแอพลิเคชั่นใหม่ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนามีต้นทุนสูง และ ระยะเวลาในการพัฒนาใช้เวลานาน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของแผนกต่างๆ และลูกค้าของบริษัท
การพัฒนาระบบในรูปแบบ Low Code / No Code อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ประกอบการที่ต้องการปรับเปลี่ยนแผนงานและธุรกิจอย่างคล่องตัวและรวดเร็ว เพื่อตอบสนองกับโลก ในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูงและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
📌 Low Code / No Code คืออะไรและต่างจากรูปแบบดั้งเดิมอย่างไร
ในการพัฒนาซอร์ฟแวร์ในรูปแบบดั้งเดิมนั้น ผู้พัฒนาจะเขียนโค้ดเป็นรายบรรทัด โดยอาศัยความรู้ในเชิงลึกในการเขียนภาษาโปรแกรมมิ่งต่างๆ อีกทั้งยังต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาและบริหารจัดการระบบที่แบ่งออกเป็นสภาวะการพัฒนาต่างๆ (Enviroment) เช่น สภาวะการพัฒนาระบบ สภาวะการทดสอบระบบ และสภาวะการปฏิบัติการระบบ
โดยแพลตฟอร์ม Low Code เป็นแพลตฟอร์ม ที่ช่วยในการพัฒนาแอพลิเคชั่น โดยการเขียนโค้ดอย่างจำกัด โดยสภาวะการพัฒนาต่างๆ นั้น ได้ถูกรวบรวมและสามารถจัดการผ่าน Visual Integrated Development Enviroment ซึ่งผู้พัฒนาสามารถนำไปใช้พัฒนา User Interface หรือระบบที่ใช้สื่อสารกับผู้ใช้งาน Workflow หรือกระบวนงานของแอพลิคชั่น และโมเดลการรับส่งและเก็บข้อมูลต่างๆ ในลักษณะการลาก และวาง กล่องโค้ดต่างๆ ที่ได้มีการเขียนไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว
ซึ่งหากจำเป็นอาจต้องเขียนโค้ดเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้แพลตฟอร์มเหล่านี้ มักเปิดให้ผู้พัฒนาสามารถเชื่อมต่อแอพลิเคชั่นที่พัฒนา เข้ากับระบบไอทีหลังบ้าน และแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้โดยง่าย รวมทั้งมีเครื่องมือช่วยให้การจัดการดูแลบำรุงรักษาแอพลิเคชั่นได้โดยง่าย แพลตฟอร์ม Low Code จึงช่วยให้ผู้พัฒนาสามารถพัฒนาแอพลิเคชั่นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นอย่างมาก
ในขณะที่แพลตฟอร์ม No Code นั้นมักใช้โดยฝ่ายธุรกิจหรือบุคลากรทางไอทีที่ไม่มีความรู้ด้านการเขียนโค้ด สามารถ สร้างเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยมี Grahical User Interface ที่เปิดให้ผู้ใช้ เลือก ลาก หรือ วาง ปุ่ม องค์ประกอบต่างๆ ตาม Logic และ กระบวนการการใช้งานที่ต้องการได้ทันที โดยไม่ต้องเขียนโค้ดเพิ่มเติมใดๆ
ด้วยความรวดเร็วและสะดวกของการพัฒนา Platform ผ่านระบบ Low Code / No Code ทำให้ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากหันมาใช้การพัฒนาแบบ Low Code / No Code
แม้กระทั่งบริษัทเทคสตาร์ทอัพหลายๆ ราย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทอย่าง Bloom Institute of Technology หรือ Lambda School ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่สอนการเขียนโค้ดและได้ระดมทุนจากนักลงทุนไปแล้วกว่า 122 ล้านเหรียญสหรัฐ
ก็ได้ใช้เครื่องมือ Low code / No Code จำนวนมากในการพัฒนา โดยได้ใช้แพลตฟอร์ม Low Code/ No Code อย่าง Typeform เพื่อจัดทำแบบสอบถามสำหรับระบบการรับสมัครนักเรียน แพลตฟอร์ม Calendly เพื่อจัดตารางนัดการสัมภาษณ์ผู้สมัคร
และใช้แพลตฟอร์ม Zapier เพื่อเชื่อมการรับส่งข้อมูลผู้สมัครกับระบบอื่นๆ เช่น SalesForce และส่งอีเมล์การตลาดอัตโนมัติให้กับผู้สมัครและผู้ผ่านเข้าเรียน รวมทั้งใช้แพลตฟอร์ม wordpress ร่วมกับ Learndash Plugin ในการสร้างและจัดการเว็บไซต์การเรียนการสอนต่างๆ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน Comet แพลตฟอร์มที่ทำด้านการจัดหา Freelance ก็ได้ใช้ Bubble ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม No Code ในการสร้างเว็บแอพพลิเคชั่นและขยายแพลตฟอร์ม จนมียอดขายราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และได้ระดมทุนไปแล้วกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ
📌 ประโยชน์ของ Low Code / No Code
ในยุคที่บริษัทจำนวนมากต่างต้องการปรับตัวและทำโครงการดิจิทัลใหม่ๆ การแย่งชิงบุคลากรด้านดิจิทัลนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะให้ได้ว่าจากข้อมูลของ Adecco ในปีที่ผ่านมา เงินเดือนเฉลี่ยของ Senior Solution Architect นั้นปรับจาก เฉลี่ยราว 160,000 บาท เป็น 250,000 บาท ในขณะที่ตำแหน่งงาน สายงานไอทีและดิจิทัลนั้นเพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อนหน้า
ด้วยบุคลากรไอที ในประเทศที่มีจำกัดและการแข่งขันการแย่งตัวบุคลากรที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ผ่านระบบ No Code อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ด้วยความผันผวนของสภาวะตลาดและเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจจำเป็นต้องทดลองและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีความยืดหยุ่นและความสามารถการพัฒนาแอพลิเคชั่นและระบบงานใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
เพื่อที่จะได้ทดสอบโครงการนำร่องและนำผลลัพธ์มาปรับเปลี่ยนโครงการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการต่างๆ ได้ดีมากขึ้น ซึ่งการนำแพลตฟอร์ม Low Code/No Code นั้นก็สามารถช่วยองค์กรลดระยะเวลาในการนำแอพพลิเคชั่นมาใช้งานลงกว่า 50-90% และปัจจุบันก็มีเครื่องมือ Low Code/No Code ที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกนำมาใช้ได้ในหลากหลายด้าน
ยกตัวอย่างเช่น
- ด้านการพัฒนาเว็บไซต์และแอพลิเคชั่น ก็มีแพลตฟอร์ม อย่าง Bubble และ Appypie ที่สามารถใช้สร้างเว็บและโมบายแอพลิเคชั่น หรือหากผู้ประกอบการต้องการสร้างเว็บไซต์ก็อาจเลือกใช้แพลตฟอร์ม Webflow หรือ Wordpress เป็นต้น
- ด้านการบริหารงานโครงการผู้ประกอบการที่ยังใช้ Excel Spreadsheet ในการบริหารงานก็อาจหันมาใช้ แพลตฟอร์มอย่าง Notion หรือ Airtable ในการบริหารจัดการงาน ซึ่งช่วยให้ทีมงานสามารถมองเห็นและบริหารความคืบหน้าของงานพร้อมๆ กัน และจัดการแจกงานหรือสั่ง
- ด้าน Automation บริษัทสามารถใช้ Zapier ในการสร้างกระบวนงานและ ส่งเชื่อมการทำงานระหว่างระบบงานในแอพลิเคชั่นต่างๆที่บริษัทใช้งาน โดยใช้ Zapier ในการส่งคำสั่งและดึงข้อมูลระหว่างแอพลิเคชั่นโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทสามารถเชื่อม Google Calendar แอพลิเคชั่นเข้ากับแอพลิเคชั่นแชทคุยงานอย่าง Slack หรือ Microsoft Team เพื่อส่ง นัดหมายให้ทีมที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ เป็นต้น
- ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล บริษัทสามารถใช้เครื่องมืออย่าง obviously.ai ในการวิเคราะห์ ประมวล และใช้ทำนายข้อมูลต่างๆ โดยอัตโนมัติ เช่น จำนวนลูกค้าที่จะยกเลิกการใช้บริการ หรือจำนวนดีลที่ฝ่ายขายจะปิดได้เป็นต้น หรืออาจใช้ Mix Panel ในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้งานเว็บไซต์หรือแอพลิเคชั่น เช่น เทรนด์การใช้งาน รวมทั้งพฤติกรรมและความสนใจงานของผู้ใช้งานแต่ละรายเป็นต้น
- ด้านการจัดการการตลาด ก็มีเครื่องมือการทำการตลาดครบวงจรอย่างเช่น Hubspot ที่บริษัทสามารถใช้บริหารจัดการคอนเทนต์ต่างๆในการดึงดูดลูกค้าเป้าหมาย รวมทั้งการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้าแต่ละราย หรือบริษัทอาจเลือกใช้เครื่องมืออย่าง Mailchimp ในการบริหารจัดการแคมเปญการตลาดออนไลน์ในช่องทางต่างๆ เช่น อีเมล์และโซเชียลมีเดีย เช่น Faceook Instagram Twitter เป็นต้น
แม้ Low Code / No Code จะสามารถเข้ามาช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนในการพัฒนาระบบงานและแอพลิเคชั่นใหม่ๆ รวมทั้งเพิ่มความรวดเร็วในการพัฒนาโครงการ แต่ Low Code / No Code เองก็ยังมีข้อจำกัดเช่นกัน ด้วยการที่ Low Code / No Code นั้นเปิดโอกาสให้แต่ละแผนกสามารถเลือกใช้และพัฒนาระบบของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว
หากไม่มีแผนการพัฒนาด้านไอทีระยะยาวและการควบคุมที่ดี ก็อาจทำให้การลงทุนและพัฒนาระบบของแต่ละแผนกอาจซ้ำซ้อนและไม่สอดคล้องกันและไม่ตอบโจทย์แผนระยะยาวของบริษัท อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านไอทีที่สูงและซ้ำซ้อนในระยะยาว ดังนั้นแม้ Low Code / No Code จะสามารถเสริมประสิทธิภาพของบริษัทในหลายๆด้าน รวมทั้งช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาการพัฒนาโครงการใหม่ต่างๆ บริษัทยังควรแผนพัฒนาด้านไอทีในระยะยาวที่ชัดเจน และบุคลากรที่ความรู้ด้านไอทีที่ช่วยดูความเหมาะสมในภาพรวม
ผู้เขียน : ธนวัฒน์ พฤกษานานนท์ Tech & Innovation Advisor, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Reference :
โฆษณา