19 มี.ค. 2022 เวลา 03:33 • ข่าวรอบโลก
ฤา สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะเป็นตัวช่วยในการกำหนดชะตากรรมของระบอบการเมืองแห่งโลกอนาคต ... และของประเทศไทย
The Economist
การรุกรานยูเครนของ วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดความสับสนอลหม่าน ข่าวการรุกยูเครนรายวัน การเห็นชาวยูเครนต้องหนีหัวซุกหัวซุนจากกระสุนปืนและลูกระเบิด การเห็นเมืองใหญ่ต้องราบลงเป็นหน้ากลอง ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงของสงครามครั้งนี้มาจากอะไร ใครเห็นภาพความเสียหายต่อยูเครนแล้วไม่รู้สึกสะเทือนใจก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว
นอกจากชีวิตและทรัพย์สินของชาวยูเครน กิจการหลายอย่างทั่วโลกก็ต้องสะดุดลงไปด้วย หลังจากที่เศรษฐกิจโลกเพิ่งจะเริ่มกลับมาเดินเครื่องต่ออีกครั้งตั้งแต่หยุดชะงักไปตอนโควิดระบาด หลายฝ่ายคงกำลังสับสนและงุ่นง่านอยู่กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาน้ำมัน ความเสี่ยงต่ออุปทานก๊าซธรรมชาติ (ในยุโรป) การขาดแคลนอาหาร (ที่มาจากข้าวสาลี) และแร่ธาตุ โดยเฉพาะนิกเกิลที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ฯลฯ จนอาจละเลยปัญหาใหญ่ที่เป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ นั่นก็คือภูมิศาสตร์การเมืองโลก (หากไม่นับการลุกลามจนกลายเป็นสงครามโลก หรือการบ้าระห่ำของปูตินเพราะถูกบีบให้จนตรอก จนไปใช้อาวุธนิวเคลียร์ – ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นได้ทั้งสองอย่าง หากใช้หลัก “เหตุผล” ในการคาดการณ์อนาคต)
ใครๆ ก็รู้ว่าอเมริกากับจีนฮึ่มๆ กันมาพักใหญ่แล้ว อเมริกาเห็นว่าจีนกำลังสร้างความยิ่งใหญ่และกลัวว่าจะมาท้าทายความเป็นพี่เบิ้มแห่งโลกของตน ส่วนจีนก็คงรำคาญอเมริกาที่ชอบมาก้าวก่าย “กิจการภายใน” ของตน (ทั้งเรื่องซินเจียง ฮ่องกง ไต้หวัน ฯลฯ)
จีนมองว่าอเมริกาไม่ควรมายัดเยียดค่านิยมสไตล์อเมริกันให้กับชาวบ้านชาวช่อง โดยบอกว่าการเมืองแบบอเมริกันนั้นมีแต่ความวุ่นวาย ยิ่งในช่วงหลายปีหลังมานี้เห็นได้ชัดเลยว่ามีแต่ความเหลวแหลกและกำลังอยู่ในยุคแห่งความเสื่อมถอย ผิดกับการเมืองแบบจีนที่มีแต่ความสงบเรียบร้อยและเจริญรุ่งเรือง จีนคงอยากให้ชาวโลกมองเห็นความแตกต่างข้อนี้เมื่อมีการเลือกตั้งกลางเทอมของอเมริกาในระหว่างปีนี้ (ที่คาดว่าจะถูกป่วนโดยผู้สนับสนุนทรัมป์) ที่จะมีในเวลาไล่เลี่ยกับการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (ที่จีนคงจัดแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงและยิ่งใหญ่ ในวาระครบ 10 ปีของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ สี จิ้นผิง)
ในหลายปีมานี้ จีนมีบทบาทในองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น โดยนักการทูตของจีนเข้าไปมีบทบาทนำในองค์กร เช่น สหประชาชาติ องค์การการค้าโลก ทำให้พวกเขาเริ่มมั่นใจและพร้อมที่จะส่งเสริมรูปแบบการเมืองของตน ที่พวกเขาเรียกว่าเป็นทุนนิยมแบบการจัดการที่เข้มแข็งโดยรัฐ (หรือตามที่บางกลุ่มเรียกว่าทุนนิยมผสมเผด็จการโดยรัฐ) ว่ามีความเหนือกว่ารูปแบบของอเมริกัน (ทุนนิยมประชาธิปไตยที่มีฐานบนความไม่ลงรอยกันของปัจเจก)
ขณะเดียวกัน จีนเองก็เริ่มมองการกระทำทุกอย่างจากฝั่งอเมริกันว่าเป็นภัยแก่ตน และไม่รีรอที่จะตอบโต้คำวิจารณ์จากฝ่ายตะวันตกว่าต้องการปิดบังความเหลวแหลกในตัวเอง ดังนั้นจีนคงรอไม่ไหวแล้วที่จะแสดงให้ชาวโลกเห็นว่าพวกเขาเหนือกว่าตะวันตกในทุกด้านในช่วงการประชุมใหญ่พรรคในปีนี้ ทั้งความมั่นคงทางการเมือง ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปิดรับทางการค้า การมีมารยาททางการทูต การได้รับความสนับสนุนจากคนในชาติอย่างกลมเกลียว ฯลฯ
และในสายตาของจีน สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนมาถูกที่ถูกเวลาพอดี มันทำให้พวกเขามีโอกาสได้ดูทิศทางกระแสลมก่อนจะถึงวันประชุมใหญ่ของพรรค
จีนกับรัสเซีย (จริงๆ ต้องพูดว่า สีและปูติน ถึงจะถูก) มีเป้าหมายเดียวกัน คืออยากเห็นระเบียบโลกที่นำโดยประเทศใหญ่ๆ เช่นจีนเป็นพี่ใหญ่ในฝั่งตะวันออก รัสเซียมีอำนาจยับยั้งในยุโรป และอเมริกาก็กลับไปห่วงสองทวีปที่อยู่ใกล้บ้านตัวเอง
The Economist
จีนกับรัสเซียมองว่าค่านิยมตะวันตก ที่ให้คุณค่าต่อเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน เป็นเพียงกลอุบายที่อ้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองโลกโดยฝ่ายตะวันตก ทั้งสองอ้างว่าค่านิยมนี้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของการกดขี่ข่มเหง การแบ่งแยกชนชั้น และความไร้เสถียรภาพในการปกครอง และพยายามแทนที่ค่านิยมนี้ด้วยค่านิยมของตนที่เน้นถึงการวางลำดับชั้นในโครงสร้างทางอำนาจเพื่อเป็นการถ่วงดุลในการจัดระเบียบโลก (สังคม) ใหม่
หากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อ มันอาจทำให้มิตรภาพระหว่างจีนกับรัสเซียแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น จีนเองก็รอจังหวะนี้อยู่แล้ว และคงภาวนาให้การรุกรานครั้งนี้ของปูตินได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของฝ่ายตะวันตก หากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียล้มเหลว นั่นคงทำให้จีนฮึกเหิมมากยิ่งขึ้น และอาจนำไปสู่การผนึกกำลังกับรัสเซียเพื่อสร้างแกนของระบอบเผด็จการให้กระจายไปทั่วโลก ยิ่งสงครามยืดเยื้อเท่าใด จีนก็คงฉกฉวยโอกาสนี้เพื่อเร่งทำตามความฝันของตัวเอง
ในทางกลับกัน หากสงครามยุติในเร็ววัน จีนก็คงวางระยะห่างจากรัสเซีย เพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ระยะยาวของตนต้องหยุดชะงัก นั่นทำให้ประธานาธิบดีสีต้องคำนวณแต่ละย่างก้าวของตัวเองอย่างดี เพราะการก้าวผิดก็หมายถึงโอกาสที่จะไม่ได้รับการสนับสนุนในระหว่างการประชุมใหญ่พรรคให้อยู่ในตำแหน่งเป็นสมัยที่สาม
และถึงแม้ว่าสงครามจะยุติโดยที่ไม่มีฝ่ายใดแพ้หรือชนะอย่างชัดเจน (ในทางการเมืองอะนะ เพราะประชาชนยูเครนคงแพ้จากการสูญเสียไปแล้ว) จีนก็คงพอใจอย่างมากแล้ว เพราะชาติตะวันตกคงสูญเสียรังวัดจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไปไม่น้อย ไม่ว่าจากการชี้ให้เห็นจุดอ่อนของยุโรปในการพึ่งพาพลังงาน อาหาร และแร่ธาตุ จากรัสเซียมากเกินไป หรือการชี้ให้ชาวยุโรปเห็นว่าอเมริกันเอาเปรียบพวกเขา โดยที่อเมริกาแสดงอำนาจนำและเสริมบารมีตัวเอง ในขณะที่ยุโรปเป็นกันชนและรับภาระจากสงครามโดยตรง
ดังนั้นเราจึงเห็นการออกตัวแบบกั๊กๆ จากฝั่งจีน
แต่ไม่ว่าสงครามคราวนี้จะก้าวไปในทิศทางใด จีนก็คงกำลังมองอย่างใกล้ชิดโดยมีผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง เพราะสุดท้ายแล้วการสถาปนากลไกการเมืองโลกแบบใหม่คือเป้าหมายหลักของจีนมาโดยตลอด และจีนก็ดูมั่นใจอย่างมากว่าท้ายสุดแล้วพวกเขาก็จะบรรลุผลนี้ได้สำเร็จ
สำหรับพวกเราชาวไทย เราอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่อยู่บนฐานความคิดสองขั้วมานานพอสมควรแล้ว – เสรีนิยมประชาธิปไตย และ อำนาจนิยมเผด็จการ – จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะมีทั้งผู้ที่เห็นใจชาวยูเครน (และก่นด่าปูติน) และผู้ที่สนับสนุนปูติน (และถากถางผู้นำยูเครน)
แต่สงครามคราวนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในยุโรปอีกต่อไป มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดภูมิศาสตร์การเมืองของโลกแห่งอนาคตไปเสียแล้ว ชาวสารขัณฑ์แลนด์อยากจะอยู่ในโลกที่มีค่านิยมทางเศรษฐกิจ-การเมืองแบบใด เราต้องมาตอบตัวเองให้ได้เสียก่อนว่าค่านิยมแบบใดที่เรายึดถือ เพราะมันอาจถึงเวลาที่เราคงต้องเลือกข้าง
เราอยากมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อำนาจนิยม สังคมนิยม ชุมชนนิยม โลกนิยม หรือส่วนผสมของระบบเหล่านี้ แล้วการเมืองล่ะ อยากเป็นประชาธิปไตยหรืออยู่ภายใต้เผด็จการ ระบบการเมืองไม่เหมือนกับระบบเศรษฐกิจที่สามารถมีส่วนผสมได้ สำหรับการเมืองนั้นเราคงต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น (หากเราเลือกอย่างหลัง นั่นจะเป็นครั้งเดียวที่เราได้เลือก!)
และอย่าลืมว่ามันไม่มีหรอกนะที่ว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเผด็จการแบบกดขี่ เมื่อใดที่ไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบ นั่นละคือช่องทางที่นำไปสู่เผด็จการแฝง หรือเผด็จการซ่อนรูป
คงถึงเวลาแล้วที่คู่ขัดแย้งในประเทศไทยต้องถอยออกมาคนละ 1-2 ก้าว และถามตัวเองก่อนที่จะไปถามคนอื่น พร้อมกับตอบตัวเองให้ได้เสียก่อนว่า: ในท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ใครคือผู้สูญเสียตัวจริง, เหนือความขัดแย้งครั้งนี้มีใครกำลังเล่มเกมอะไรอยู่, เมื่อความขัดแย้งผ่านไปเราจะมีทางเลือกอะไรเหลืออยู่บ้าง, และจริงหรือว่าเรามีเพียงสองทางเลือก
เมื่อตอบตัวเองได้แล้ว มันคงชัดสำหรับเราว่าทางเลือกไม่ได้มีเพียงขาวกับดำ และผู้สูญเสียตัวจริงก็คือพวกเราทุกคน เพราะฉะนั้นเราควรมาร่วมมือกันเพื่อออกแบบโลก (และสังคม) สีเทาไปด้วยกัน เป็นสีเทาที่ไม่หยุดนิ่ง แต่แปรเปลี่ยนไปตามความพึงพอใจของเราทุกคน
และเมื่อถึงเวลาที่เราต้องเลือกข้าง ประเทศไทยจะได้มีความเข้มแข็งจากภายใน ไม่ว่าอำนาจโลกภายนอกจะเป็นแบบไหน – ทุนนิยมหรือโลกนิยม เผด็จการหรือประชาธิปไตย หรือส่วนผสมที่เป็นจุดแข็งของทั้งสองรูปแบบ หรือจะเป็นรูปแบบอื่น – พวกเราชาวไทยก็คงเป็นพลเมืองโลกที่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
สงครามคราวนี้ได้ก้าวไปไกลกว่าชะตากรรมของชาวยูเครนแล้ว ตอนนี้มันได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะชี้ชะตากรรมของชาวโลก แม้แต่พวกเราชาวไทยก็คงหนีชะตากรรมนี้ไม่พ้น เราจะร่วมชะตากรรมนี้อย่างไร ทางเลือกนั้นยังอยู่ในมือเรา!
ข้อมูลอ้างอิง:
โฆษณา