19 มี.ค. 2022 เวลา 03:11 • อาหาร
สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย - จักรพรรดินีผู้ลิ้มรสชาติแกงกะหรี่
อนุสาวรีย์สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย อดีตเคยตั้งหน้าสถานทูตอังกฤษ ปัจจุบันอยู่ซอยสมคิด ข้างเซนทรัลชิดลม
ตลอดระยะเวลา 64 ปีแห่งการครองราชสมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย (ค.ศ.1837-1901) อังกฤษกลายเป็นดินแดนที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมเกือบทุกทวีปของโลก พร้อมส่งคนไปปกครองในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้มีความเป็นสากลและดึงวัตถุดิบจากดินแดนเหล่ามานั้นมาใช้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็รับอารยธรรมจากชาติอาณานิคมมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารยธรรมอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดแหล่งอารยธรรมเอเชีย
แผนที่จักรวรรดิอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 19
อารยธรรมอินเดียมีอิทธิพลต่ออังกฤษทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ภาษา รวมไปถึงเรื่องอาหารอีกด้วย แกงกะหรี่เป็นอาหารอินเดีย ชาวอังกฤษเริ่มรู้จักอาหารชนิดนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ผ่านเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษที่เคยทำงานในอินเดีย และได้รับการบันทึกอยู่ในตำราประกอบอาหาร “The Art of Cookery Made Plain and Easy” ของฮันนาห์ กลาสส์ (Hannah Glasse) ที่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1747 และมีชื่อของแกงกะหรี่อยู่ในเมนูร้านกาแฟในปี ค.ศ. 1773 ตามมาด้วยการผลิตผงกะหรี่เพื่อการพาณิชย์ในปี ค.ศ. 1784
สูตรทำแกงกะหรี่ของ Hannah Glasse
“Hindoostanee Coffeehouse” เป็นร้านอาหารอินเดียร้านแรกเปิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1809 โดยเซก ดีน มาโฮเหม็ด (Sake Dean Mahomed) ที่ไฮด์ ปาร์ค ในกรุงลอนดอน เป็นร้านอาหารอินเดียจัดเสิร์ฟอาหารในสไตล์อินเดียพร้อมบริการชิชา แต่เปิดได้ไม่กี่ปีก็ปิดกิจการลงในปี ค.ศ.1811
ป้ายระลึกถึงร้านอาหารอินเดียแห่งแรกในกรุงลอนดอน
สำหรับพระราชินีนาถวิคตอเรีย รู้จักแกงกะหรี่ตั้งปี ค.ศ.1847 ผ่านเมนู “Curry de Poulet” หรือ แกงกะหรี่ไก่ ซึ่งเป็นหนึ่งในมื้อเย็นที่จัดขึ้นในพระราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งแกงกะหรี่ในสมัยวิคตอเรียนใช้ขมิ้นและข่าเป็นหลัก และใช้ผลไม้ทำให้แกงข้นและรสชาติอ่อนลง รวมไปถึงมีการพิมพ์สูตรแกงกะหรี่แกะของพระองค์ในปี ค.ศ.1860 อีกด้วย
Curry de Poulet ภาพจาก https://www.cuisineaz.com/recettes/riz-blanc-a-la-sauce-au-poulet-et-curry-54909.aspx
หลังจากที่พระราชินีนาถวิคตอเรียได้รับการสถาปนาเป็น “จักรพรรดินีแห่งอินเดีย” และได้ขอชาวอินเดีย 2 คน (อับดุล คาริม และโมฮัมเหม็ด บัคช์) เพื่อช่วยงานในพระราชพิธีกาญจนภิเษกในปี ค.ศ.1887 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอับดุล คาริมที่ทำหน้าที่สอนให้พระราชินีหัดอ่านและเขียนภาษาอูรดู พร้อมทั้งประอบอาหารอินเดียให้พระองค์ได้เสวยสัปดาห์ละครั้ง โดยทำการชำแหละสัตว์ตามหลักศาสนาอิสลามและบดเครื่องเทศด้วยตนเอง ซึ่งพระราชินีเสวยแกงกะหรี่สองครั้งต่อสัปดาห์ ได้แก่ แกงกะหรี่ไก่ในมื้อกลางวันวันอาทิตย์ และแกงกะหรี่ปลาในมื้อเย็นวันอังคาร ทำให้สองเมนูนี้กลายเมนูทรงโปรดลำดับต้นๆของพระองค์ เรียกได้ว่าเป็นกษัตริย์จากยุโรปพระองค์แรกที่ได้ลิ้มลองรสชาติของแกงกะหรี่
ถึงแม้จะเป็นจักรพรรดินีแห่งอินเดีย พระราชินีวิคตอเรียไม่เคยเสด็จไปอินเดียแม้แต่ครั้งเดียว แต่พระองค์มีความสนพระทัยในศิลปวัฒนธรรมแบบอินเดีย มีการตกแต่งห้องในพระตำหนักออสบอร์นบนเกาะไวท์ด้วยศิลปะแบบราชวงศ์โมกุลอันเป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 19, การหัดเรียนภาษาอูรดู, ความสนใจในอาหารอินเดียถึงขนาดอยากลองเสวยมะม่วงจากอินเดีย(แต่เน่าเสียระหว่างทาง) และโปรดให้จิตรกรวาดภาพสถานที่และผู้คนต่างๆในอินเดีย เพื่อให้พระองค์รู้จักและเข้าใจความเป็นอินเดียมากขึ้นตลอดรัชสมัยของพระองค์
ห้องเดอร์บาร์ พระตำหนักออสบอร์น ภาพจาก https://www.facebook.com/osbornehouse/photos/queen-victorias-durbar-room-at-osborne-re-opens-this-week-after-conservation-wor
หลังจากที่พระราชินีวิคตอเรียสวรรคตในปี ค.ศ.1901 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 กษัตริย์องค์ต่อมาไม่ทรงโปรดคาริม จึงให้คาริมเดินทางกลับอินเดียและสิ้นชีวิตที่อัคราในอีก 8 ปีต่อมา ส่วนความนิยมในอาหารอินเดียเริ่มลดลงและจำกัดในวงชาวอินเดียที่เข้ามาและศึกษาต่อในอังกฤษ ก่อนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีชาวอินเดีย ปากีสถานและบังคลาเทศ อพยพเข้ามาทำงานในอังกฤษมากขึ้น
โฆษณา