30 เม.ย. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
ฆรีเอติวิถี ตอน 6
อย่าใช้สมองเป็นห้องเก็บของ
1
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
สตีฟ จ็อบส์ ขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่ชอบสร้างทางใหม่ เขาเกลียดวลี ‘ทำไม่ได้’ หรือ ‘ไม่มีทาง’ ที่สุด เล่ากันว่าเมื่อเขาสั่งงานที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ ให้ลูกน้องไปทำ จะตบท้ายด้วยประโยค “ไม่สำเร็จ ไม่ต้องโผล่มาให้เห็นหน้า”
2
เพราะเขาเชื่อว่าโลกมีทางเลือกใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ได้เสมอ
ผมเห็นด้วย
ผมทำงานสายสร้างสรรค์มาตลอดชีวิตในหลายสาขา สถาปัตยกรรม นิยายภาพ โฆษณา ออกแบบ นักเขียน ฯลฯ เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงว่า โลกไม่เคยขาดแคลนไอเดีย มันมีเหลือเฟือ เหมือนทองคำที่ฝังอยู่ใต้ดินรอเราไปขุด แต่ข้อดีของความคิดสร้างสรรค์คือ เราไม่ต้องขุดทอง เราสามารถสร้างทองขึ้นมาเองได้
2
ใช่ เราสามารถสังเคราะห์ไอเดียจำนวนไม่จำกัดขึ้นมาได้
3
จริงหรือ? จริงซี! โลกจะไม่มีวันขาดแคลนไอเดียใหม่ๆ เราจะมีหนังใหม่ไอเดียแปลกให้ดู จะมีเพลงใหม่ๆ ให้ฟังไปจนวันตาย แต่แน่ละ ไอเดียระดับดีเลิศคงเป็นส่วนน้อย
มีคนบอกว่าโลกไม่มีไอเดียใหม่อีกแล้ว เพราะทุกไอเดีย ‘original’ ถูกสร้างมาหมดแล้ว อาจจะจริง อาจจะไม่จริง เพราะไอเดียใหม่ก็เหมือนคลื่น คลื่นลูกใหม่ต่อยอดคลื่นลูกเก่า ‘original’ เกิดจาก ‘original’ เก่า
3
โชคดีที่ความคิดสร้างสรรค์เป็นวิธีคิด ไม่ใช่คุณสมบัติพิเศษของซูเปอร์ฮีโร มันฝึกได้
1
สมองก็เหมือนอวัยวะส่วนอื่นๆ ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ จึงจะแข็งแรง สมองมีไว้คิด ก็ต้องคิด ต้องเค้น ต้องให้มันทำงาน
5
สมองทำงานได้สองอย่างคือคิดกับเก็บ คนไม่น้อยใช้สมองเป็นแค่ห้องเก็บของ
1
ธรรมชาติสร้างสมองมาสองซีก ให้เราสามารถคิดตรรกะ ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างจินตนาการ เข้าไปในพื้นที่ซึ่งตรรกะไปไม่ถึง เมื่อรวมทั้งสองด้วยกันจะได้สมองที่แข็งแรง
2
มาลองดูว่าเราคิดไอเดียจำนวนมากๆ พร้อมกันได้อย่างไร
1
เคยทดสอบดูรูป ‘กระต่าย-เป็ด’ ไหม? มันคือแบบทดสอบสมองของคนเราว่าเห็นรูปเดียวกันต่างกันได้อย่างไร รูปที่ใช้ทดสอบนี้มองมุมหนึ่งเป็นกระต่าย มองอีกมุมหนึ่งเป็นเป็ด คนวาดภาพตั้งใจออกแบบให้ปากเป็ดดูคล้ายหูของกระต่าย ดังนั้นไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ไม่ผิด เพราะมันออกแบบให้เรามองได้สองแบบ
2
แต่คนเรามักมองแบบเดียว
สมองของคนเราก็มีขีดจำกัด และสายตามนุษย์ก็ถูกหลอกได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ
1
แบบทดสอบนี้ยังบอกเราว่า บางปัญหามองได้อย่างน้อยสองมุม อาจแก้ไม่ได้หากมองด้วยกรอบคิดเดิม หรือกรอบคิดเดียว เพราะมนุษย์เรามักมีนิสัยมองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหตุใดเหตุหนึ่งจำกัด
2
เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน บอกว่าในการเล่นหมากรุก เรามีตัวเล่นที่เกมกำหนดให้มาแล้ว แต่ในชีวิตจริงเราไม่มีหมากต่างๆ ให้ เราคาดเอาเองว่ามี เราคาดเอาเองเรื่องคอนเส็ปต์ต่างๆ ภาพล่วงหน้าต่างๆ และข้อจำกัดต่างๆ
ในการแก้ปัญหาหรือการทำงานสร้างสรรค์ เราสามารถสร้างหมากตัวใหม่ขึ้นมาได้ หรือกระทั่งสามารถเปลี่ยนหน้าที่หรือสลับบทบาทของหมากแต่ละตัว
2
กระต่ายหรือเป็ด?
การฝึกคิดหาทางเลือก (alternatives) วิธีหนึ่งคือลองมองสิ่งของรอบตัวเรา แล้วหาทางเลือกของการใช้สอยสิ่งของนั้นๆ ที่ต่างจากเดิมหรือเจตนาของมัน
ตัวอย่างที่นิยมนำมาใช้คืออิฐและลวดเสียบกระดาษ
ก้อนอิฐก้อนหนึ่งใช้ทำอะไร? คำตอบก็ย่อมคือก่อกำแพง เพราะจุดมุ่งหมายของการออกแบบอิฐก็เพื่อก่อกำแพง
อิฐมีไว้ก่อกำแพงจริง แต่อิฐอาจใช้ทำอย่างอื่นได้ เราลองคิดทางที่เป็นไปได้ทั้งหมด จะพบว่ามีมากกว่าที่คาด ยกตัวอย่าง เช่น
2
1 หนุนโต๊ะให้สูงขึ้น 2 ใช้ทับกระดาษ 3 ปูพื้นให้รถยนต์ขึ้นจากหล่มโคลน 4 ที่ยกน้ำหนักออกกำลังกาย 5 ปูพื้นสวน 6 วางเป็นฐานตู้เย็น 7 เป็นที่ระบายสีงานศิลปะ 8 ใส่ในถังชักโครกเพื่อประหยัดน้ำ 9 รองถ้วยกาแฟร้อน 10 รองจานอาหารร้อน
4
11 วางเป็นตำแหน่งของเกมเบสบอล 12 วางเป็นตำแหน่งเวลาเดินป่าเพื่อไม่ให้หลงป่า 13 กันประตูปิด 14 ใช้เป็นที่คั่นหนังสือ 15 ทำชั้นหนังสือ 16 ใช้ทุบเปลือกถั่ว 17 ใช้ทุบเปลือกปู 18 ใช้ทับฝาถังขยะไม่ให้สัตว์เข้าไป 19 หนุนหัวนอนแทนหมอน 20 ใช้เป็นที่เหยียบบนแอ่งน้ำไม่ให้เท้าเปียก
3
21 ใช้ประดับตู้ปลา 22 ทุบแตกแล้วใช้เศษอุดรู 22 ป่นละเอียดมาแทนสีน้ำ 23 ใช้โยนเป็นเป้าซ้อมยิงปืน 24 ใช้เป็นชอล์คเขียนกระดาน 25 วางในกรงนกให้นกเกาะ 26 ที่ก่อไฟ 27 ที่ลับมีด 28 ใช้ฝึกคาราเต้ 29 เจาะรูเสียบดินสอ 30 ใช้แทนไม้บรรทัด
3
31 ใช้สลักงานประติมากรรม 32 ใช้แทนค้อน 33 แขวนเป็นประติมากรรมลอย 34 เหลาเป็นทรงกระบอกและใช้เป็นแท่งคลึงแป้งทำขนม 35 เหลาเป็นสาก ใช้โขกส้มตำ 36 ใช้เป็นหูจับบานประตู 37 ฐานโคมไฟ 38 เจาะรูเป็นแท่นเสียบดินสอ 39 กลึงเป็นทรงกลมใช้เป็นลูกบิลเลียดหรือสนุกเกอร์ 40 ผูกรองเท้าและแขนขาเพื่อฝึกวิชาตัวเบา
1
ฯลฯ
ไม่น่าเชื่อใช่ไหมว่า เมื่อเราเค้นสมอง ก็จะคิดทางเลือกใหม่ที่เป็นไปได้อื่นๆ มากมาย
1
ลวดเสียบกระดาษมีไว้ทำอะไร?
1
ก็หนีบกระดาษเข้าด้วยกันซี ถูกไหม?
ถูก แต่มันก็ใช้ทำอย่างอื่นได้
คงทำได้ไม่กี่อย่างใช่ไหม?
ไม่ใช่ ทำได้มากมาย ไม่เชื่อลองไล่รายการที่เราใช้ประโยชน์จากลวดเสียบกระดาษ
1 ทำความสะอาดซอกเล็บ 2 ทำความสะอาดซอกต่างๆ 3 ใช้เป็นไม้กลัดใบตองที่ห่อขนมไทย 4 รัดผม 5 กลัดรอยบากทุเรียนที่ผ่าแล้วยังไม่สุก 6 สลักภาพบนดินเหนียวหรือปูนพลาสเตอร์ 7 ไขล็อค 8 ทำเบ็ด 9 เสียบอาหาร 10 ร้อยกระดาษ
2
11 ไม้แขวนเสื้อจิ๋วสำหรับเสื้อผ้าตุ๊กตา 12 ใช้เขี่ยคราบสกปรกจากเหรียญ 13 ใช้เจาะหนอง 14 ใช้เสียบรูไอโฟน 15 เป็นเสาอากาศวิทยุ โทรทัศน์ขนาดเล็ก 16 ใช้เจาะรู 17 เป็นตะขอแขวนรูปภาพ 18 เย็บแผลกรณีฉุกเฉิน 19 อาวุธลับนินจา 20 ใช้เขี่ยเสี้ยนจากผิวหนัง
1
21 ตุ้มหู 22 ดัดเป็นรูปตัวหนังสือ 23 ดัดเป็นรูปตัวเลข 24 ทำเป็นเครื่องประดับต่างหู 25 ใช้จิ้มลูกชิ้น 26 ใช้เสียบผลไม้ 27 ใช้เสียบเชอร์รีหรือลูกมะกอกในเหล้าคอกเทล 28 ใช้เสียบแผ่นวันเกิดบนเค้ก 29 ทำเป็นหนามตัวตุ๊กตาเม่น 30 ใช้ยึดไม้เลื้อย
1
31 นาฬิกาแดด 32 สลักชื่อบนลำต้นไม้ 33 เขี่ยมดออกจากอาหาร 34 สลักลายบนพื้นซีเมนต์ 35 ใช้เป็นที่ดีดกีตาร์ 36 เขียนข้อความบนซีเมนต์ที่ยังไม่แห้ง 37 เล่นหมากฮอส 38 ตัดเป็นตัวหมากรุก 39 แปลงเป็นที่วางลูกกอล์ฟ 40 สื่อไฟฟ้า
1
41 ใช้เป็นเป้าทดสอบการมอง 42 ใช้ปักดอกไม้ให้เข้าที่ในการจัดดอกไม้ 43 ใช้เจาะรูบนปลาหรือไส้กรอกให้สุกทั่ว 44 ใช้ยึดกางเกงกรณีซิปเสีย 45 ใช้แทนกระดุม 46 ทำเป็นสร้อย 47 ใช้เขี่ยเศษอาหารในฟัน 48 ยึดก้านแว่นตาที่หลุด 49 ใช้จิ้มแขนแก้ง่วง 50 เป็นองค์ประกอบทางศิลปะ ฯลฯ
1
และ อ้อ! อย่าลืมว่ามันใช้หนีบกระดาษก็ได้!
1
ความคิดสร้างสรรค์ดีๆ ในโลกล้วนเกิดมาจากการมองจุดที่คนปกติไม่มอง มองกว้างกว่าหน้าที่เดิมของสิ่งหนึ่ง มองไปไกลกว่ารูปร่างของมัน มองข้ามกติกาหรือกรอบเดิม มองทุกมุมและมองในมุมที่เป็นไปไม่ได้
จะทำอย่างนี้ได้ บางครั้งก็ต้องจินตนาการ บางครั้งก็ต้องโยง จับแพะชนแกะ
1
บทเรียนหนึ่งที่ใช้ฝึกคิด lateral thinking คือการเปลี่ยนเรื่องของภาพที่เห็น
ลองจินตนาการภาพบ้านหลังหนึ่งบนท้องทุ่งเขียวขจี บนฟ้ามีก้อนเมฆขาว มันเป็นภาพอะไร?
ในมุมมองปกติ เราจะบอกว่า “มีบ้านหลังหนึ่งตั้งบนท้องทุ่ง”
แต่ lateral thinking สอนให้เรามองต่าง เช่น “ก้อนเมฆบนฟ้าหิ้วบ้านเอาไว้”
หรือ “บ้านลอยอยู่ติดดิน”
4
หรือ “บ้านหลังนั้นดึงแผ่นดินเอาไว้”
2
ใช่ การมองแบบนี้คือมองแบบไร้สาระ
แต่ความไร้สาระแบบนี้ทำให้เกิดไอเดียใหม่ได้
1
เวลาเอ่ยคำว่า “สมุนไพร” คิดถึงอะไร?
มองปกติ : พืชที่ใช้รักษาโรคได้
มองด้านข้าง : ลูกสมุนของคนที่ชื่อไพร
3
ถ้าบอกว่า “ทุกข์ร้อน” คิดว่าอะไร?
มองปกติ : ความรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ
1
มองด้านข้าง : ทุกข์เพราะห้องร้อน เนื่องจากเครื่องปรับอากาศเสีย
ถ้าบอกว่า “หวัดทำให้เดือดร้อน” คิดว่าอะไร?
มองปกติ : เป็นไข้หวัดหนักจนต้องจ่ายค่ารักษาแพงๆ
1
มองด้านข้าง : เขียนลายมือหวัดจนเป็นปัญหา เป็นหมด สั่งจ่ายยา แต่ลายมือหวัดจนจ่ายยาผิด คนไข้ตาย
1
นี่เป็นการมองแบบกวนตีนไม่ใช่หรือ?
ใช่ บ่อยครั้งความกวนตีนก็เป็นเครื่องมือหนึ่งของการคิดไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ
3
วิธีคิดแบบนี้ดูเผินๆ ย่อมเหลวไหล ไร้สาระ และหาประโยชน์ไม่ได้ แต่มันช่วยฝึกสมองให้มองนอกกรอบ และเมื่อพัฒนาสมองทางนี้มากพอ ก็สามารถใช้ประโยชน์ สร้างสรรค์งานใหม่ๆ ได้
1
การฝึกคิดแบบนี้ทำให้เราพัฒนานิวรอนให้ทำงานนอกหน้าที่ปกติของมัน และอาจพบว่าไอเดียที่ได้จากการคิดแบบนี้ทรงพลังอย่างยิ่ง นำไปใช้หากินได้
ลองดูอีกสักหลายตัวอย่าง :
คุณเห็นชายวัยกลางคนผู้หนึ่งจูงเด็กหญิงวัยสามขวบเดินไปในสวน คุณสรุปว่าอะไร?
มองปกติ : เขาเป็นพ่อของเด็กหญิง พาลูกไปเดินเล่น
1
มองด้านข้าง : เขาลวงเด็กไปทำมิดีมิร้าย
เห็นชายคนหนึ่งจับมือชายอีกคนหนึ่งที่ปากเหว คุณคิดว่าอะไร?
มองปกติ : ชายคนหนึ่งจับมืออีกคนที่กำลังตกเหว
มองด้านข้าง : คนที่กำลังจะตกเหวจับมือชายอีกคนซึ่งพยายามผลักเขาลงไป
เห็นภาพจระเข้งับขาคน คุณคิดว่าอะไร?
มองปกติ : จระเข้งับขาคน
มองด้านข้าง : คนจับจระเข้โดยใช้ขาปลอมเป็นเหยื่อล่อ
ฯลฯ
จะคิดอย่างนี้ได้ต้องมองนอกกรอบ หรือ lateral thinking
1
เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ปรมาจารย์วิธีคิดนอกกรอบเขียนว่า “สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากของแรงจูงใจคือความสมัครใจที่จะหยุดแล้วมองสิ่งต่างๆ ที่คนอื่นไม่สนใจมอง กระบวนการง่ายๆ ที่จดจ่อสิ่งต่างๆ ที่ปกติคนทั่วไปมองผ่าน เป็นแหล่งสำคัญของความคิดสร้างสรรค์”
1
การคิดไอเดียหลากหลายต้องเริ่มที่หัดเปลี่ยนมุมมองต่อทุกเรื่อง
ดูหนังหรืออ่านหนังสือก็คิดว่า ถ้าเราเป็นคนเขียน เราจะจบแบบอื่นที่ดีกว่าได้อย่างไร เล่ามุมอื่นได้ไหม
3
การทลายกล่องออกไปไม่ง่าย แต่อาจเริ่มโดยตั้งคำถาม “มีทางอื่นอีกไหม?”
ในหนังบู๊ ฉากยิงกัน เราเห็นภาพเดิมๆ ของคนถูกยิง เลือดซึมเสื้อเป็นสีแดง แต่เราอาจมองมุมอื่น เช่น ให้ลูกกระสุนเป็นตัวนำเสนอการยิง เราไม่เห็นลูกกระสุน เห็นแต่ทิศทางของกระสุน ทะลุเสื้อ ทะลุลำตัวคน เห็นเลือด อวัยวะภายใน
3
ปกติวิธีเล่าเรื่องในโลกวรรณกรรมก็มีไม่กี่วิธี อาจเดินเรื่องตามขนบ เล่าเรื่องโดยเป็นบุรุษที่หนึ่ง ‘ผม’ หรือ ‘ข้าพเจ้า’ หรือบรุษที่ 3 เช่น บรรยายว่า ‘เขา’ ทำโน่นทำนี่ แต่ลองมองใหม่ เป็นไปได้ไหมที่เราเล่าเรื่องเดิมในมุมของตัวหนอน เชื้อโรค หรือกระทั่งมนุษย์ต่างดาว?
การเปลี่ยนมุมมองเป็นเทคนิคสำคัญมากในงานสร้างสรรค์
สมัยหนึ่งผมทำงานแนวทดลองมาก โดยมองนอกกรอบว่าวรรณกรรมไม่จำเป็นต้องมีแต่ตัวหนังสือ เป็นที่มาของเรื่องสั้นแปลกๆ ใช้คำนามมาเรียงร้อยเป็นเรื่อง (ชู้) ใช้ชื่อเพลงมาแต่งเป็นเรื่อง (เพลงชีวิต) ใช้พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์มาแต่งเรื่อง (ไอ้โม่ง) ใช้ข่าวสั้นหนังสือพิมพ์มาแต่งเรื่องใหม่ (คดีมโนสาเร่) เดินเรื่องประโยคคำถามทั้งเรื่อง (ตุ๊กตา) ฯลฯ ไปจนถึงงานวรรณศิลป์ เช่น งานชุดเรื่องผสมภาพใน a day
มันพิสูจน์ว่าถ้าเค้นสมองให้ออกนอกกล่อง มันก็จะหาทางใหม่จนได้
1
ครั้งหนึ่ง ‘ครูช่าง’ ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง นำวรรณกรรมเรื่อง อาเพศกำสรวล ไปทำเป็นละครเวที
3
อาเพศกำสรวล เป็นงานแนวทดลองของผม ครูช่างก็ทำละครเวทีเป็นแนวทดลองด้วยเช่นกัน
ตามปกติ การชมละครเวทีคนชมนั่งอยู่กับที่ ดูละคร แต่ใน อาเพศกำสรวล เวทีเปลี่ยนไปตั้งหลายจุด ผู้ชมก็เดินไปดูในแต่ละจุด
1
เพลงลูกทุ่งของ เพลิน พรหมแดน ก็เป็นงานแนวทดลอง แทรกบทพูดขำๆ เข้าไป
มันแสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงให้น่าสนใจขึ้นได้
1
อะไรๆ ก็เป็นไปได้
อีกบทเรียนหนึ่งที่ช่วยฝึกคิดแบบ lateral thinking คือการด้น (improvise)
1
ในการสร้างสรรค์ศิลปะหลายสาย การด้นคือการเดินหน้าทำงานไปโดยที่ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ต้องวางแผน พลิกแพลงโลดโผนไปตามสัญชาตญาณและความรู้สึกในเวลานั้นๆ โดยปล่อยใจเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์เดิมๆ เช่น เล่นดนตรีไปเรื่อยๆ โดยไม่มีตัวโน้ต
เคยเห็นรูปโปสเตอร์หนังบนกำแพงซึ่งถูกมือดีต่อเติมเสริมแต่งไหม? เช่น เติมหนวด เติมเขา นี่ก็เป็นตัวอย่างของการด้น การต่อเติมไอเดียจากสิ่งเดิม
1
คนโบราณก็ชอบจินตนาการแบบนี้ ราศีต่างๆ เกิดขึ้นมาด้วยวิธีนี้ นั่นคือมองดูจุดดาวบนฟ้า แล้วโยงเป็นภาพ หลังจากได้ภาพแล้ว ก็แต่งเรื่องเสียบเข้าไป
3
นักเขียนนิยายต้องมีวิธีคิดหลุดโลกแบบนี้ บ่อยครั้งก็ให้ปากกาพาไป เดินเรื่องไปโดยที่เราเองก็ไม่รู้ ไม่มีแผนมาก่อน วิธีนี้ก็อาจแต่งเรื่องแปลกๆ ที่น่าสนใจได้เหมือนกัน
ปล่อยให้ความคิดโลดแล่นไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา