2 เม.ย. 2022 เวลา 00:45
ถึงเวลาแล้วที่เราคงต้องเรียนรู้จากอดีต เพื่อที่จะสามารถอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปอย่างสมดุลได้อีกนานแสนนาน … ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ทางเลือกในปัจจุบันนั้นอยู่ในมือเราแน่นอน!
เมื่อประมาณ 3000 ปีที่แล้ว มีมนุษย์กลุ่มหนึ่งได้เดินทางออกจากแผ่นดินใหญ่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เพื่อไปตั้งรกรากบนหมู่เกาะเล็กใหญ่ในสองคาบมหาสมุทร
พวกเขาเดินทางออกจากฝั่งทางตะวันออก ข้ามช่องแคบไปหยุดพักที่เกาะแห่งหนึ่ง (ที่เป็นไต้หวันปัจจุบัน) จากตรงนี้พวกเขาได้แยกเป็นสามกลุ่มย่อย
กลุ่มแรกล่องเรือไปทางใต้ สู่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย จนถึงนิวซีแลนด์ กลุ่มที่สองล่องไปทางตะวันตก ผ่านหมู่เกาะมาเลเซียและอินโดนีเซีย แวะเกาะภูเก็ต ข้ามมหาสมุทรอินเดีย จนไปถึงมาดากัสการ์ และกลุ่มที่สามได้หันไปทางตะวันออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกอันเวิ้งว้าง พวกเขาได้ล่องเรือกระจัดกระจายไปตามหมู่เกาะเล็กๆ น้อยๆ จนไกลสุดกู่ถึงเกาะอีสเตอร์และแม้กระทั่งฮาวาย
เราเรียกพวกเขาทั้งหมดว่าชาวออสโตรนีเซีย
เนื่องจากชาวออสโตรนีเซียเคยชินกับการอาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่มาเนิ่นนาน ที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีฤดูกาลที่แน่นอนตามวัฏจักร และสามารถตั้งรกรากใกล้แหล่งน้ำและป่าเขาได้ตามต้องการ ทำให้พวกเขานำ “วัฒนธรรม” การใช้ชีวิตบนแผ่นดินใหญ่ไปใช้บนหมู่เกาะต่อไป
ช่วงแรกพวกเขาอาศัยอยู่อย่างสุขสบาย จากการล่าสัตว์ท้องถิ่นที่ไม่ชินกับการถูกล่าโดยมนุษย์ ตัดต้นไม้เพื่อถางเป็นที่ทำกิน ใช้ทรัพยากรโดยไม่ต้องทะนุถนอมมันกลับคืน พวกเขาไม่เคยเห็นการกระทำแบบนี้ส่งผลต่อธรรมชาติรอบตัวบนแผ่นดินใหญ่มากนัก แต่บนหมู่เกาะมันกลายเป็นคนละเรื่อง
ในไม่ช้าสัตว์ท้องถิ่นก็เริ่มสูญพันธุ์ ระบบนิเวศน์รอบตัวก็เริ่มหลุดจากวงจรของความสมดุล ชีวิตที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ต้องเปลี่ยนมาอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย สังคมบนหมู่เกาะบางแห่งเริ่มล่มสลาย กลุ่มคนที่เหลือก็จำต้องละทิ้งบ้านเพื่อไปอยู่เกาะอื่นต่อไป
แต่พวกเขาไม่ได้ปล่อยให้บทเรียนนั้นสูญเปล่า พวกเขาเริ่มปรับตัวอยู่กับสภาพแวดล้อมแบบใหม่ พวกเขาละทิ้งอุดมการณ์แห่งการแผ่อาณาเขต และวัฒนธรรมแห่งการตักตวง ไปสู่อุดมการณ์แห่งการผสานเป็นหนึ่งเดียว พวกเขาศึกษาพฤติกรรมและภาษาของสัตว์ท้องถิ่น ศึกษาธรรมชาติของดิน แหล่งน้ำและต้นไม้ใบหญ้า รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสิงสาราสัตว์และธรรมชาติที่แวดล้อมตัวพวกเขา
พวกเขาเรียนรู้ว่าควรจะตักตวงจากสิ่งแวดล้อมเท่าใด และควรจะมอบสิ่งใดตอบแทนเพื่อให้สิ่งเหล่านั้นคงอยู่ต่อไป พวกเขาได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตรอบตัวขึ้นมาใหม่ พวกเขาได้ลบคำว่าสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติออกไปจากภาษา เพราะสิ่งเหล่านั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาไปเสียแล้ว และพวกเขาก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านั้นเช่นกัน
ดังคำพูดของชาวประมงบนแม่น้ำ Magdalena ในประเทศโคลัมเบียที่ว่า “พวกฉันไม่ใช่ผู้ปกป้องสายน้ำ แต่พวกฉันคือสายน้ำ”
หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป อีกสิ่งหนึ่งก็ไม่สามารถอยู่รอดได้อีกต่อไป ชะตากรรมของพวกเขาและสิ่งเหล่านั้นได้ผสานเป็นหนึ่งเดียวเฉกเช่นสายใยเครือข่ายแห่งชีวิต
พวกเขาได้นำความสัมพันธ์รูปแบบใหม่นี้ไปใส่ไว้ในบทเพลง ความเชื่อ และพิธีกรรมในรูปผีสางเทวดา เพื่อที่ว่าความสัมพันธ์รูปแบบนี้จะตกทอดเป็นมรดกไปสู่รุ่นต่อรุ่นในรูปของวัฒนธรรม และจะไม่ถูกหลงลืมอีกต่อไป
ความเชื่อที่พวกเขาได้ปลูกฝังให้ลูกหลาน (ความเชื่อแบบที่พวกเราชาวเมืองดูแคลนนั่นแหละ) นั้นได้ส่งผลต่อโลกของเราอย่างแท้จริง แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังได้ “ค้นพบ” และ “พิสูจน์” แล้วว่ากว่า 80% ของความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังหลงเหลือในขณะนี้ก็มาจากการปกปักรักษาของชนเผ่าเหล่านี้แหละ
วันนี้มนุษยชาติได้เดินมาสู่ทางแยกเหมือนบรรพบุรุษในอดีต เรากำลังถูกครอบงำโดยอุดมการณ์แห่งการแผ่อาณาเขตและวัฒนธรรมแห่งการตักตวง
และเราก็ได้รับรู้แล้วว่าเราได้ทำลายเกาะ (โลก) ที่ได้อาศัยมาเนิ่นนาน และทำให้มันหลุดออกจากสมดุลไปแล้ว ไม่มีใครตอบได้ว่าเรายังเหลือเวลาอยู่บนเกาะแห่งนี้อีกนานเท่าใด
แต่เรายังเลือกได้ว่าจะยังคงยึดถืออุดมการณ์แบบเดิม ที่มองมนุษย์ว่าสูงส่งเหนือสรรพสิ่งทั้งปวง และกินโลกนี้ไปจนเกลี้ยงตราบวาระสุดท้ายของเรา
หรือเราจะเปลี่ยนอุดมการณ์ไปสู่การผสานเป็นหนึ่งเดียวกับโลกใบนี้ เฉกเช่นเดียวกับบรรพบุรุษของเราที่ได้เรียนรู้และปรับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของพวกเขา
อนาคตจะเป็นเช่นไรนั้นอาจไม่ได้อยู่ในมือเรา แต่ทางเลือกในปัจจุบันนั้นอยู่ในมือเราแน่นอน!
แน่ใจหรือว่าจะแข่งเกมนี้ต่อไป? (ภาพจาก medium.com)
ที่มา: ถอดความและขยายความ จากบางตอนของหนังสือ Less is More โดย Jason Hickel (2021)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา