10 เม.ย. 2022 เวลา 02:50 • อาหาร
“แมลง” แหล่งโปรตีนใหม่ของโลก ที่คนไทยทอดกินมานาน
2
รู้หรือไม่ว่ามนุษย์เรากินแมลงมานับล้านปีก่อน
แม้แต่ในยุคที่อารยธรรมของมนุษย์เริ่มเจริญขึ้น มนุษย์ก็ยังคงนิยมกินแมลงเป็นอาหาร
3
- อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีกเคยบันทึกถึง ความอร่อยของการกินตัวอ่อนของจักจั่น
- คัมภีร์ไบเบิลในภาคพันธสัญญาเดิม สนับสนุนให้ชาวคริสต์และชาวยิวกินตั๊กแตน
1
แต่เมื่อการเกษตรกรรมและปศุสัตว์พัฒนาขึ้น
วัว หมู ไก่ ปลา ก็ได้กลายเป็นเนื้อสัตว์ที่มนุษย์สามารถเพาะเลี้ยงเองได้ จนกลายเป็นอาหารหลักของมนุษย์ และเปลี่ยนให้ความเชื่อในการกินแมลง กลายเป็นอาหารของคนยากจน เท่านั้น
แต่ปัจจุบัน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศให้แมลงเป็นแหล่งโปรตีนหลักของมนุษย์ในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชากรมนุษย์ ที่คาดว่าจะมีมากถึง 1 หมื่นล้านคนในปี 2050
แล้วแมลงมีศักยภาพมากแค่ไหน
ในการเข้ามาเป็นแหล่งโปรตีนหลักของมนุษย์ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
แม้ว่าบ้านเรา จะคุ้นเคยกับการกินแมลงทอดในปัจจุบันอยู่แล้ว
1
แต่วัฒนธรรมการกินแมลงยังสามารถพบได้ในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก
ผ่านหลากหลายเมนูที่แตกต่างกัน อย่างเช่น
- การบริโภคตัวอ่อนผึ้ง ในอินโดนีเซีย
- ดักแด้ทอด ของเกาหลี
- ตั๊กแตนต้มโชยุ ของญี่ปุ่น
- ปลวกทอด ของเม็กซิโก
จากการประเมินขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO พบว่าในปี 2050
จำนวนประชากรบนโลกจะเพิ่มจากตัวเลข 7 พันล้านคน เป็น 1 หมื่นล้านคน
ทำให้ปริมาณของอาหารที่ต้องผลิตเพื่อหล่อเลี้ยงมนุษย์ทุกคนบนโลก
ต้องเพิ่มมากกว่า 70% จากปริมาณ ที่ผลิตได้ในปัจจุบัน
1
ปัญหาที่ตามมาก็คือ รูปแบบของเกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและเหลือน้อยลงทุกที
สวนทางกับความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
1
ทำให้ FAO ได้ประกาศให้แมลงกลายเป็นแหล่งอาหารหลัก
เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารของมนุษยชาติในอนาคต
1
รวมถึงยังมีการกำหนดศัพท์อย่างเป็นทางการของการบริโภคแมลงว่า “Entomophagy”
เป็นคำที่เกิดจากภาษากรีกสองคำคือ Entomo ที่แปลว่า แมลง และ Phagy ที่แปลว่า กิน
แล้วแมลงมีดีอะไรบ้าง ที่จะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคตได้
จริง ๆ แล้ว ก็ต้องบอกว่าแมลงส่วนใหญ่อุดมไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
3
แถมยังมีความหลากหลายมากกว่าที่เราได้จากเนื้อสัตว์ทั่วไป
ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม สังกะสี เหล็ก ไฟเบอร์ และวิตามิน
นอกจากนี้ การบริโภคแมลงยังเป็นทางเลือกที่ดีต่อคนรักสุขภาพ เพราะมีแมลงหลายชนิดที่มีปริมาณไขมันที่น้อย อีกทั้งยังมีสารไคทิน ที่มีคุณสมบัติช่วยดักจับไขมัน ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายลดลงได้
2
และอีกสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้แมลงกลายเป็นอาหารของมนุษยชาติในอนาคต
และเข้ามาแทนที่เนื้อสัตว์แบบเดิม ๆ ได้นั่นก็คือ แมลงเป็นแหล่ง “โปรตีน”
1
หากเราเทียบที่ปริมาณเท่า ๆ กันระหว่างเนื้อสัตว์ทั่ว ๆ ไป และแมลง จะพบว่าผงแมลงให้โปรตีนมากกว่า
โดยเฉลี่ยแล้วผงแมลง 100 กรัม ให้โปรตีนประมาณ 60 ถึง 80 กรัม
ในขณะที่เนื้อสัตว์ทั่วไปให้โปรตีนประมาณ 20 ถึง 40 กรัมเท่านั้น
2
นอกจากสัดส่วนของปริมาณโปรตีนที่ได้รับแล้ว ทรัพยากรที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงแมลงก็ถือว่าคุ้มค่ามากกว่าที่ใช้ในการเลี้ยงปศุสัตว์ทั่ว ๆ ไป
หากเราต้องการเนื้อเพื่อการบริโภค 1 กิโลกรัม
1
สำหรับวัวแล้ว เราจะต้องให้อาหารสูงถึง 8 กิโลกรัม
ซึ่งวัว 1 ตัว มีส่วนที่เราบริโภคได้แค่ 40% เท่านั้น
2
ในขณะที่จิ้งหรีด มีส่วนที่บริโภคได้ถึง 80% และให้อาหารเพียง 1.2 กิโลกรัม
1
อีกทั้ง เรื่องของสภาพแวดล้อมและพื้นที่ในการเลี้ยง ก็ถือว่าคุ้มค่ากว่าการทำปศุสัตว์แบบดั้งเดิม
1
โดยการเพาะเลี้ยงแมลงในปัจจุบันนั้น ไม่ต่างจากการเพาะปลูกผักในโรงเรือน
เพียงแค่ต้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมก็สามารถเพาะเลี้ยงได้
3
แมลงส่วนใหญ่ชื่นชอบอากาศร้อน จึงเหมาะกับประเทศเขตร้อนอย่างเช่นประเทศไทย
รวมถึงยังใช้พื้นที่น้อยกว่ามาก แตกต่างจากการเลี้ยงวัวที่ต้องเตรียมทั้งโรงเรือนและพื้นที่เปิดโล่งในการเลี้ยง
อีกประเด็นคือ การเลี้ยงแมลงนั้น แทบจะไม่พบเจอปัญหาเรื่องโรคระบาดเลย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องความท้าทายในการควบคุม และยังสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก
เหมือนอย่างการระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ก่อนหน้านี้ ที่ทำให้ราคาเนื้อหมูพุ่งขึ้นเป็น 200 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากการเลี้ยงแมลงเพื่อเป็นอาหารแล้ว
การส่งเสริมการบริโภคแมลงยังช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
เพราะการเลี้ยงสัตว์ใหญ่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างเช่น ก๊าซมีเทน หรือแอมโมเนียจากปัสสาวะ ที่เมื่อผสมกับดินจะกลายเป็นก๊าซไนตรัสออกไซด์
ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ทั่วโลกนั้น ประมาณ 10% มาจากการทำปศุสัตว์
แต่การเพาะเลี้ยงแมลงจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยกว่ามาก
อย่างเช่น ฟาร์มจิ้งหรีด จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าฟาร์มไก่ถึง 75% และคิดเป็น 0.1% ของวัว เท่านั้น
แล้วในแง่ของเศรษฐกิจนั้น
อุตสาหกรรมแมลง มีความน่าสนใจอย่างไร ?
ฟาร์มเลี้ยงแมลงเพื่อการบริโภคนั้น มีมานานและมีจำนวนมากในประเทศไทย
อย่างเช่นฟาร์มจิ้งหรีด ที่มีจำนวนกว่า 23,000 ฟาร์ม ซึ่งมากที่สุดในโลก
รวมถึงยังมีตลาดขายส่งแมลง รองรับพ่อค้าแม่ค้าแมลงทอดที่เราเห็นทั่วไป และมีสินค้าจากแมลง ส่งออกไปยังต่างประเทศในหลากหลายรูปแบบ
โดยราคาขายส่งของแมลงจะแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด เช่น จิ้งหรีด มีราคาขายส่งประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าหากผลิตเป็นผงแล้วส่งออก มูลค่าอาจจะสูงถึง 3,000 บาทต่อกิโลกรัม
2
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่น ด้วงมะพร้าวหรือด้วงสาคู ที่มีราคาขายประมาณ 250-300 บาทต่อกิโลกรัม
แต่หากเป็นตัวอ่อนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่นำมาเข้าฝักหรือตัวเงาะเข้ารัง จะมีราคาสูงถึง 2,000 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากวิธีการเพาะเลี้ยงที่ง่าย ใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยแล้ว
ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยง ก็ถือเป็นจุดเด่นของโปรตีนแห่งอนาคตชนิดนี้
1
ปกติแล้วเราเลี้ยงวัวเนื้อตั้งแต่เกิดจนถึงขายได้อาจจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 เดือน ส่วนหมูนั้นประมาณ 4 ถึง 6 เดือน แต่แมลงนั้นมีวงจรชีวิตที่สั้นกว่า ทำให้สามารถจับขายได้ด้วยระยะเวลาเลี้ยงเพียง 1 ถึง 2 เดือนเท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันทั่วโลกมีแมลงที่สามารถกินได้มากถึง 2,100 ชนิด
ทำให้ยังมีโอกาสอีกมาก ที่จะนำแมลงหลากหลายชนิดมาต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต
แล้วปัจจุบัน การบริโภคแมลง ไปไกลแค่ไหนแล้ว ?
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ สหภาพยุโรปได้ทยอยรับรองสายพันธุ์ของแมลงเพื่อการบริโภคและการค้าออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่น จิ้งหรีดขาว หนอนนก และล่าสุดคือ ตั๊กแตน
และจากการสำรวจผู้บริโภคในเยอรมนีพบว่า ประชากรประมาณ 20% พร้อมที่จะทดลองกินแมลง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2016 เป็นเท่าตัว
1
แม้แต่เมืองผู้ดีอย่างประเทศอังกฤษเอง ก็เริ่มเปิดใจให้กับการบริโภคแมลงมากขึ้น
โดยผลสำรวจจาก Sainsbury’s แบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตของอังกฤษ
พบว่า มีผู้บริโภคมากถึง 42% พร้อมที่จะลองบริโภคแมลงเป็นทางเลือก
จากแนวโน้มการบริโภคแมลง ที่ผู้คนเริ่มเปิดรับมากขึ้นทำให้ Barclays ธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศอังกฤษได้ประเมินว่า ตลาดโปรตีนจากแมลงจะมีมูลค่าสูงถึง 2.7 แสนล้านบาทในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 3.3 หมื่นล้านบาทในปี 2019 ซึ่งเติบโตมากขึ้นเป็น 8 เท่า เลยทีเดียว
ซึ่งปัจจุบัน นอกจากจะมีการนำแมลงมาทอดอย่างที่คนไทยคุ้นเคยแล้ว
เรายังพบสินค้าจากแมลงในหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่น
- โปรตีนชนิดผง ที่ถูกนำไปปรุงแต่งในหลากหลายเมนู เช่น เครื่องดื่ม หรือเบเกอรี
- โปรตีนอัดเม็ดเพื่อสุขภาพ ที่มีการบริโภคไม่ต่างจากอาหารเสริมทั่วไป
- เนื้อปรุงแต่งจากแมลง อย่างเช่น เบอร์เกอร์ หรือไส้กรอก
- เส้นพาสตาจากแมลง
- ไอศกรีมจากแมลง
จากเรื่องราวเหล่านี้ ก็ดูเหมือนว่าแมลงมีศักยภาพมากพอที่จะเข้ามาเป็นแหล่งโปรตีนหลักของมนุษย์เหมือนกับเนื้อสัตว์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น วัว หมู ไก่ หรือปลา
ซึ่งประเทศไทยเองถือว่ามีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งชนิดของแมลงที่กินได้ ที่มีการสำรวจพบมากกว่า 50 ชนิด ภูมิอากาศเขตร้อนซึ่งเหมาะแก่การเพาะเลี้ยง
และสุดท้ายคือ ทักษะการปรุงอาหารของคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
ก็อาจจะทำให้เมนูแมลง ที่ส่วนใหญ่เราจะพบเจอแต่แมลงทอด
ถูกปรุงแต่งจนกลายเป็นเมนูใหม่ ๆ ที่อาจจะโด่งดัง ไม่แพ้ต้มยำกุ้งหรือผัดไทยเลย ก็เป็นได้..
โฆษณา