18 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Green Economy & BCG Economy อนาคตของเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
หลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ เทคโนโลยีต่างๆ ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพบรรยากาศโลกก็เริ่มส่งผลให้เห็นเด่นชัดขึ้น
ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติจึงได้รับความสนใจเป็นวงกว้างจนถึงในระดับประเทศ ประกอบกับในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้เผยให้เห็นถึงจุดอ่อนและความเปราะบางของการพัฒนาทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างสิ้นเปลืองและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
ส่งผลให้บางภาคส่วนที่ไม่มีรากฐานที่แข็งแรงมากพอ เมื่อเจอวิกฤตหนักๆ เข้ามากระทบเช่นนี้ ก็จะประสบปัญหาได้มากกว่า ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่เศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ “ความเป็นอยู่ที่ดี” ของประชาชนทุกคน
📌 แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
ที่จริงก็เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมาได้รับความสนใจในช่วงที่ผ่านมานี้ เศรษฐกิจสีเขียวตามคำนิยามของ UNEP หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงความเป็นอยู่ของมนุษย์และความเท่าเทียมทางสังคม
ขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและความขาดแคลนทางระบบนิเวศอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยวิธีการที่ใช้และปล่อยคาร์บอนออกน้อย ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากและเกิดจากความร่วมมือของคนในสังคม
แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวนี้เองที่เป็นด้านหนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Economy Model ที่รัฐบาลประกาศว่านี่จะเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โมเดลนี้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่านี่เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่รัฐให้ความสำคัญว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ แต่ก็มีความสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เราเคยได้ยินกับมาอย่างยาวนาน BCG Model ประกอบไปด้วยเศรษฐกิจหลักทั้ง 3 ด้าน ที่จะขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน คือ
  • 1.
    เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรชีวภาพ เพื่อให้มีการใช้อย่างคุ้มค่า และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีธาตุอาหารสูง
  • 2.
    เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่างจากการผลิตในอดีตที่นำทรัพยากรมาผลิตสินค้าและจบ แต่ทรัพยากรนี้จะถูกหมุนเวียนไปใช้ในระบบให้คุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญคือลดปริมาณของเสียให้น้อยที่สุดผ่านการปรับกระบวนการผลิต หรือที่เรียกว่า Zero Waste นั่นเอง
  • 3.
    เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหามลพิษ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าทั้งแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว และ BCG Economy Model ต่างก็มีเป้าหมายเหมือนกันคือการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีการตระหนักถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สิ่งนี้เองจะเป็นกรอบแนวคิดสำหรับการขับเคลื่อนเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ ซึ่งทั้ง 3 ด้านนี้ ได้เปิดโอกาสทางธุรกิจขึ้นอย่างมากมาย
กระทั่งขยะ ก็สามารถกลายมาเป็นทอง ที่สร้างรายได้ให้กับคนที่คิดเทคโนโลยีออก สินค้าเดิมๆ ก็สามารถยกระดับจากผักผลไม้ธรรมดาๆ เช่นบุก สามารถกลายเป็น functional foods ที่มีราคาสูง รวมไปถึงแนวทางการสร้างพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ๆ ที่เรามองข้ามมาก่อน
📌 ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าท้ายมากมาย
อาทิ เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว และแรงงานที่มีจำนวนลดลง รัฐบาลจึงต้องผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เป็นแนวคิดใหม่ พึ่งพาความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งเป็นระบบที่ค่อนข้างส่งผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ และปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว เช่น การนำ Big Data มาประยุกต์ใช้กับการเกษตร เพื่อให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด
โดยรัฐบาลได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น New S-Curve ประกอบไปด้วย
  • 1.
    อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
  • 2.
    อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ
  • 3.
    อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ
  • 4.
    อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ทั้ง 4 อุตสาหกรรมนี้แม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่เราคุ้นเคยกันดี แต่การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้จะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านอุตสาหกรรมหลักเหล่านี้อย่างยั่งยืน
หากอนาคตข้างหน้าที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ยังคงคำนึกถึงสิ่งแวดล้อม และเน้นการพัฒนาไปที่ฐานราก ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง คงเป็นอนาคตที่น่าอยู่สำหรับทุกคนมิใช่น้อย
ปัจจัยสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่อนาคตเช่นนั้นได้คงจะเป็นการวางนโยบายภาครัฐ ที่จะเป็นหัวหอกสนับสนุนในด้านต่างๆ และดำเนินการให้แนวคิดนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อที่วันข้างหน้าเราจะสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา