19 เม.ย. 2022 เวลา 06:00 • ไลฟ์สไตล์
วันนี้มาชวนคุยกันละเอียดๆเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรม เพื่อให้เราอยู่กับระบบทุกข์ได้ดีขึ้นกัน
สังเคราะห์บทเรียนจากคลาส #Wisdomjourney ของ #ครูเงาะ
ครั้งก่อนที่สังเคราะห์บทเรียนจากครูเงาะ เราคุยกันเรื่องว่า “ความทุกข์” คืออะไร แล้วมี take away จากการเรียนรู้ว่าเราต้องสังเกตตัวเองบ่อย ๆ เพื่อให้เราเข้าใจจริง ๆ ว่า “ระบบทุกข์” มันไม่ใช่ของเรา แล้ววันนึงเราจะค่อยๆปรับพฤติกรรมของตัวเองให้เราสามารถอยู่กับมันอย่างสบายใจขึ้นได้
ฟังดูเหมือนไม่ยากเนอะ แต่การเข้าใจระบบทุกข์ มันเข้าใจกันได้ง่ายแค่ไหนล่ะ ❓
🤓เราขอแชร์ทั้งในหลักการจากคำสอนของพุทธ และหลักการของ CBT (Cognitive behavior therapy) เลยนะ เพราะเราว่ามันเหมือนกันมาก แค่พูดด้วยภาษา และเทคนิคการฝึกคนละแบบแค่นั้นเอง
✅ เอาของพุทธก่อน (ขอใช้คำแบบที่เราเข้าใจ กับขอไม่ใช้ภาษาบาลี เพราะคนไทยใช้คำบาลีแบบไทยๆ จนผิดทิศผิดทางไปเยอะ) ....
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “ระบบทุกข์” มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่คนเรามักเอาจิตตัวเองไปยึดติด ทำให้เราเกิด “ความทุกข์” ขึ้นมา
ทีนี้ ถ้าเราอยากจะเข้าใจกระบวนการของ “การยึดติดของจิต” พระพุทธเจ้าก็ได้อธิบายไว้ว่า “ระบบจิต” แยกการทำงานออกเป็นส่วนๆ คือ
🔘 ระบบความรู้สึก (Feel / Sensation) เกิดความรู้สึกทั้งทางกายและทางใจ
🔘ระบบการจำได้ หมายรู้ (Meaning/ memory) จำได้ว่าคืออะไร มีเรื่องราวเกี่ยวข้องยังไง รวมถึงรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร
🔘ระบบการปรุงแต่ง (Thought) คิด (เอาเอง) ว่าสิ่งที่รับรู้มา แล้วจำได้ ส่งผลอะไรกับเรา
🔘ระบบการรับรู้ (Perceive) ผ่านทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น
การทำงานของระบบนี้จะเกิดเป็นกระบวนการที่เร็วมากโดยอัตโนมัติ โดยจะเริ่มจาก
▶ รับรู้ >> รู้ว่าคืออะไร >> จำได้ว่ามีความหมายอะไรกับเรา >> คิดต่อ / จินตนาการ >> เกิดความรู้สึก
ยกเป็นตัวอย่างเหตุการณ์ง่ายๆ เช่น
▶ มองเห็นลูกหมา >> จำได้ว่าเคยเลี้ยงหมากับแฟนเก่า >> คิดไปถึงตอนที่เลิกกับแฟนเก่า >> โกรธ
▶ ได้ยินคนทะเลาะกัน >> จำได้ว่าเคยถูกต่อว่าแบบเดียวกัน >> คิดไปถึงคนที่เคยว่าเรา >> โกรธ
ผลที่เกิดขึ้นคือ ถ้าเราปล่อยให้จิตปรุงแต่ง >> เกิดความรู้สึก >> ปล่อยให้ปรุงแต่งต่อ >> เกิดความรู้สึกเรื่อย ๆ แปลว่าเรากำลังฝึกให้จิตใจเราเกิดความรู้สึกเดิมซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง จิตเราก็จะ “เก่ง” ในการมีความรู้สึกนั้นมากขึ้นตามไปด้วย แล้วจิตของเราเนี่ยแหละ ที่เป็นตัวกำหนดว่า เราจะเป็นคนยังไง (ถ้าจากตัวอย่าง เราเห็นอะไรก็คิดถึงเรื่องที่ทำให้เราโกรธไปหมด เราก็จะกลายเป็นคนโกรธง่ายไปโดยปริยาย)
การฝึกให้เราเป็นคนที่เราอยากเป็น (สมมติว่าไม่อยากเป็นคนโกรธง่าย) คือ
▪ เราแค่ต้องเห็นให้เร็วว่า เรากำลังโกรธจากการปรุงแต่งของตัวเองอยู่
▪ บอกตัวเองว่า ความโกรธมันเกิดตามธรรมชาติ ไม่ใช่ของเรา
▪ อดทนดูความโกรธนั้นจนมันหาย
▪ แล้วบอกตัวเองอีกครั้งว่า นี่ไง หายไปแล้ว
พอฝึกทำเข้าบ่อย ๆ จิตเราก็จะเก่งขึ้น เข้าใจธรรมชาติของระบบทุกข์ได้มากขึ้น แล้วก็จะยึดติดกับมันน้อยลงไปเอง
✅ มาถึงหลักการของ CBT มั่ง
หลักการแรกของ CBT ที่เราต้องแยกให้ได้ คือ “ความเชื่อ” ไม่ใช่ “ความจริง”
แต่คนเรามักจะมองเห็น “ความเชื่อ” ของตัวเองว่าคือ “ความจริง” ที่มันเกิดขึ้น แล้วปล่อยให้ความเชื่อนั้นมาควบคุม จนเกิดเป็นพฤติกรรมอัตโนมัติของเรา
ถ้าเอามาอิงกับหลักการของพุทธ ส่วนตัวเราคิดว่า
🔘ระบบการรับรู้ คือ เรารับรู้ความจริง
🔘ระบบการปรุงแต่ง และระบบการจำได้หมายรู้ คือ การเราเอามาคิด (เอาเอง) ตามความเชื่อของเรา
🔘ระบบความรู้สึก ก็คือ สิ่งที่เรารู้สึกจนกลายเป็นพฤติกรรมอัตโนมัติของเรานั่นแหละ
ตัวอย่าง
▶ได้ยินคนทะเลาะกัน คนนึงว่าอีกฝ่ายว่า ไม่มีน้ำใจ
▶จำได้ว่าเคยมีคนมาว่าเราว่าเราไม่มีน้ำใจ เลยไปคิดถึงคำพูดนั้น
▶เราเชื่อว่าคนอื่นจะคิดว่าเราไม่มีน้ำใจไปด้วย เพราะคำพูดของคนที่เค้าเคยว่าเรา
▶เกิดความโกรธ เพราะเชื่อว่า คนที่ว่าเรา ทำให้คนอื่นเข้าใจเราผิด
ผลที่เกิดขึ้นจากการที่เราไม่แยกความเชื่อออกจากความจริง ปล่อยให้เชื่อย้ำ ๆ แล้วก็เกิดเป็นพฤติกรรมอัตโนมัติแบบฝังลึกโดยที่เราไม่รู้ตัวเหมือนกัน
การฝึกแก้พฤติกรรมในหลักการของ CBT แบบคร่าว ๆ เค้าจะให้ “เขียน” ออกมาให้เรามองเห็นชัดเลย ว่า
▪ แยกให้ออกว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเชื่อ (เช่น ความจริงคือ คนอื่นเค้าว่ากัน ไม่เกี่ยวกับเรา / ความเชื่อ คือ คนอื่นมองว่าเราไม่มีน้ำใจ)
▪ หาหลักฐาน (ที่เป็นความจริงเท่านั้น) มาพิสูจน์ว่า ความเชื่อ เราไม่ใช่เรื่องจริง (เช่น หาเหตุการณ์ที่เรามีน้ำใจกับคนอื่นมาสนับสนุน)
▪ หาหลักฐาน (ที่เป็นความจริงเท่านั้น) มาพิสูจน์ว่า ความเชื่อ เราเป็นเรื่องจริง (เช่น หาเหตุการณ์ที่เราไม่มีน้ำใจ) – โดยส่วนมากแล้ว เราควรจะหาหลักฐานข้อนี้ได้น้อย
▪ พอเปรียบเทียบทั้ง 2 ฝั่งดูแล้ว เราจะมองเห็นความจริงได้ชัดขึ้น แล้วเขียนความเชื่อใหม่ลงไปเลย (เช่น ตัวเราเป็นคนมีน้ำใจ หรือ ถ้ายังเปลี่ยนไปเลยไม่ได้ ก็หาความเชื่อที่มัน balance ขึ้นหน่อย เช่น เราเป็นคนชอบแบ่งปันในสิ่งที่เรามีเพียงพอ)
พอเขียนออกมาแล้วก็ย้ำความเชื่อใหม่กับตัวเองซ้ำ ๆ หาหลักฐานใหม่ซ้ำ ๆ จนกระทั่งสมองเริ่มจดจำ ถึงจะค่อยๆเปลี่ยนพฤติกรรมได้
เห็นไหมว่า ทั้งหลักการของศาสนาพุทธ และหลักการของ CBT มันมีความคล้ายคลึงกันมาก และถึงแม้ว่าวิธีการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะแตกต่างกันในรายละเอียดอยู่บ้าง แต่ทั้ง 2 หลักการให้ความสำคัญกับสิ่งเดียวกัน คือ “การฝึกฝน”
“การฝึกฝน” คือการทำเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนเราเกิดความชำนาญ
และตัวเราก็คือผลลัพธ์จากการฝึกฝนของเราเองนั่นแหละ
วันนี้ลองถามตัวเองดูกันซักนิดนะ ว่าเรากำลังฝึกแบบไหนกันอยู่ 🥰🥰🥰
#Wisdomjourney ของ #ครูเงาะ #ศรัทธา2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา