12 เม.ย. 2022 เวลา 06:00 • ไลฟ์สไตล์
เราเคยคุยว่า “ความสุขคืออะไร” กันไปแล้วครั้งนึง วันนี้เราจะมาคุยกันเพิ่มว่า “ความทุกข์” คืออะไรบ้าง
สังเคราะห์บทเรียนจากคลาส #Wisdomjourney ของ #ครูเงาะ
ขอเกริ่นก่อนว่า วัตถุประสงค์ (ส่วนตัว) ที่เราอยากทำความเข้าใจเรื่องความสุข ความทุกข์ เพราะเราอยากได้แนวทางว่าเราควรดำเนินชีวิตแบบไหน เพื่อให้ใจเรารู้สึกสบายที่สุด แต่ก่อนที่จะไปถึงวิธีปฏิบัติที่เราจะเอาไปปรับพฤติกรรมใด ๆ ของตัวเอง เราก็อยากทำความเข้าใจที่มาที่ไปของหลักการต่าง ๆ ด้วย เพื่อที่ให้เข้าใจถึงแก่นที่สุด และเอาไปปรับใช้ได้ดีที่สุด
เรื่องของความทุกข์วันนี้ มาจากแนวคิดของทางพุทธ ที่เรามีโอกาสได้เรียนกันมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ก่อนที่จะคุยกันว่า “ความทุกข์” คืออะไร เราขอเริ่มที่สมมติฐานของพุทธก่อน (จริง ๆ มันคือความเชื่อแหละ แต่เผื่อบางคนที่ไม่ได้เชื่อแบบเดียวกัน เลยขอพูดเป็นกลาง ๆ เป็นภาษาวิทยาศาสตร์หน่อย ว่ามันคือ “สมมติฐาน” ที่เป็นพื้นฐานของแนวคิดของพุทธแทนนะ)
🟢 สมมติฐานหลัก คือ “ชีวิต” ของคนเราประกอบไปด้วยร่างกาย และจิตที่แยกออกจากกัน
(ปล. ถ้าเอาตามที่ส่วนตัวเราเข้าใจ ร่างกายคือ กาย- physical & จิตใจ-mental แต่จิตที่แยกออกมาคือ spiritual)
แนวคิด คือ ....
🟡 “ร่างกาย” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
🟡 เมื่อมีสิ่งมากระทบร่างกาย ก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาตามธรรมชาติ
🟡 ธรรมชาติ คือ มันเกิดของมันเอง คนเราควบคุมไม่ได้ และเมื่อมันเกิดแล้ว มันจะตั้งอยู่ซักพัก แล้วก็ดับไปในที่สุด
🟡 ความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อสิ่งที่มากระทบกับร่างกาย เรียกว่า “ระบบทุกข์” >>> ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราควบคุมไม่ได้เหมือนกัน
🔵 “จิต” ไม่มีตัวตน แต่มีอยู่จริง และแยกเป็นคนละส่วนกับร่างกายจริง ๆ
🔵 “ระบบทุกข์” ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นแค่ภาวะตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับจิตแต่อย่างใด
🔴 แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่จิตไปยึดเอา “ระบบทุกข์” มาเป็น “ของเรา”........ เมื่อนั้นแหละ จะเกิด “ความทุกข์”
ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่าในทีมงานมีพนักงาน 2 คน แต่ว่าช่วงสงกรานต์นี้ หัวหน้าให้ลาพักร้อนได้คนเดียว อีกคนนึงต้องทำงาน
🔘 ถ้าเราได้พักร้อน เพื่อนเราอยากไปแต่ไม่ได้ไป เค้าก็จะเซ็งๆ แต่เราก็จะปลอบเค้าง่ายๆได้ว่า ไม่เป็นไรหรอก คราวหน้าสลับกันนะ หรืออะไรก็ว่าไป เราอาจจะรู้สึกสงสารเพื่อนบ้าง แต่ไม่นานเราก็จะปล่อย ความรู้สึกนั้นไปได้ไม่ยาก
🔘 แต่ในทางกลับกัน ถ้าเพื่อนเราได้ไป แล้วเราต้องเป็นคนอยู่ทำงาน ทั้ง ๆ ที่เราเองก็อยากไป เราน่าจะมีความรู้สึกแย่มากกว่า และคงปล่อยมันได้ยากกว่าเหมือนกัน
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่า เรายึด “ความอยากไป” นี้ขึ้นมาเป็น “ของเรา”
ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว “ความอยากไป” มันเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ต่อสิ่งที่มากระทบกับร่างกายเท่านั้นเอง (ไม่ได้บอกว่าห้ามอยากไปนะ คนเรามีความอยากได้เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่า ความอยากนั้น มันเกิดตามธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะเราเป็นคนสั่งให้อยาก หรือไม่อยาก)
❓ทีนี้ ถามว่า แล้วเราจะทำยังไง ? ทุกข์เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราควบคุมไม่ได้ เราก็ต้องปล่อยให้มันเกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ หรอ ? แล้วเราจะไม่ทุกข์ได้มั๊ย ?
✅ส่วนตัวเราคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า คนเราจะไม่ทุกข์ได้ หรือไม่ได้ แต่เราจะบอกว่า คนเราสามารถฝึกเพื่อให้เข้าใจความทุกข์ และอยู่กับมันด้วยใจที่เบาลงได้
🟢ถ้าในเชิงความเชื่อของพุทธ อะไรที่เลี่ยงได้ก็เลี่ยงไป แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็พยายามบอกตัวเองย้ำๆว่า “ระบบทุกข์” มันเกิดขึ้นละ แต่เดี๋ยวมันจะหายไปเอง แล้วพอทำเรื่อย ๆ ซักวันนึงเราจะเกิดปัญญา แล้วเราก็จะเห็นเองว่าระบบทุกข์มันแยกออกจากจิตเราอย่างสิ้นเชิง
>>> เทคนิคในการบอกตัวเองย้ำๆ คือ อย่าพูดว่า “ฉันมีความทุกข์” แต่ให้พูดว่า “ระบบทุกข์เกิดขึ้นกับฉัน” แทน ให้มองระบบทุกข์เป็นคนอื่น ไม่ใช่ตัวเรา มันจะทำให้เราปล่อยได้ง่ายขึ้น
🟢ถ้าในทฤษฎีทางจิตวิทยา (เกี่ยวกับเรื่อง Cognitive behavior therapy) เค้าอธิบายว่า “ความคิด” ทำให้เกิด “พฤติกรรมอัตโนมัติ” หมายความว่า ถ้าเราเริ่มต้นคิดว่า “เราทุกข์” > เราก็จะเริ่มมีอารมณ์ที่หม่นหมอง เศร้า หรืออารมณ์ลบๆแบบอื่น > หลังจากนั้นพฤติกรรม หรือการตอบสนองของเราก็จะเริ่มเปลี่ยน เช่น เริ่มไม่อยากเจอคน ไม่อยากหาความสุขให้ตัวเอง ฯลฯ ถ้าเราไม่แก้ เราก็จะกลายเป็นคนที่คิดลบเรื่อย ๆ พฤติกรรมก็อาจจะหนีคนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้เหมือนกัน
>>> ดังนั้นถ้าเราอยากเปลี่ยนพฤติกรรม เราต้องเริ่มต้นที่การเปลี่ยนความคิดของเรานี่แหละ
สรุป :
ส่วนตัวที่เราได้เรียนรู้ คือ ระบบทุกข์เป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้เลย อย่าเอาเราไปติดกับมัน ... วันนี้เรายังทำไม่ได้หรอก เพราะเราอาจจะยังไม่เข้าใจว่าจิต กับร่างกายมันแยกกันยังไง แต่อย่างน้อย ๆ เราได้เรียนรู้ว่า การสังเกตตัวเองบ่อย ๆ และบอกตัวเองบ่อย ๆ ว่า “ระบบทุกข์” มันไม่ใช่ของเรา จะช่วยให้เราสบายใจได้ง่ายขึ้น อารมณ์ดีง่ายขึ้น แล้ววันนึง พฤติกรรมอัตโนมัติของเราจะเป็นไปในทางบวกมากขึ้นด้วย
#Wisdomjourney ของ #ครูเงาะ #ศรัทธา2
ปล. เคยเขียนเรื่อง ความสุขคืออะไร เอาไว้ เผื่อใครยังไม่ได้อ่าน ลองไปดูกันได้ตามนี้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา