19 เม.ย. 2022 เวลา 04:15 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ผลการศึกษาในสิงคโปร์แสดงให้เห็น คนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวกมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเกือบ 5 เท่า ที่จะป่วยหนักจากโควิด-19 หากเทียบกับคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์
ผลการศึกษาในสิงคโปร์ครอบคลุมมากกว่า 2.7 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนของวัคซีนต่างประเภทกัน
ไม่ค่อยมีรายงานวิจัยเปรียบเทียบให้เห็นประสิทธิภาพของวัคซีนแบบต่างๆ ในโลกจริงมากนัก ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งเปรียบเทียบได้ยาก เพราะทยอยฉีดวัคซีนกันไปเรื่อยๆ หา “กลุ่มควบคุม” ยากขึ้นเรื่อยๆ
แต่มีรายงานวิจัยตีพิมพ์แบบออนไลน์ในวันอังคารที่ 12 เมษายนในวารสาร Clin Infect Dis โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า Comparative Effectiveness of mRNA and Inactivated Whole Virus Vaccines against COVID-19 Infection and Severe Disease in Singapore
งานวิจัยฉบับนี้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนกลุ่ม mRNA (อย่างไฟเซอร์และโมเดิร์นา) และกลุ่มเชื้อตาย (อย่างซิโนแวค)
ดูฉบับเต็มได้ที่ https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/35412612/ หรือไม่ก็ DOI: 10.1093/cid/ciac288
เนื้อหาใจความของเปเปอร์นี้ ชัดเจนและน่าสนใจมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้
คณะวิจัยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์โรคติดเชื้อแห่งชาติ (NCID, National Centre for Infectious Diseases) และกระทรวงสาธารณสุข (MOH) โดยเก็บข้อมูลเปรียบเทียบประสิทธิภาพโดยสัมพัทธ์ (relative effectiveness) ของวัคซีน 2 กลุ่มประกอบด้วย วัคซีนเชื้อตาย คือ ซิโนแวก และซิโนฟาร์ม กับวัคซีน mRNA คือ ไฟเซอร์กับโมเดิร์นนา
ข้อมูลเก็บในช่วง 7 สัปดาห์ระหว่าง 1 ตุลาคม – 21 พฤศจิกายน 2021 ในช่วงที่สายพันธุ์เดลต้ากำลังระบาดหนักในสิงคโปร์ โดยมีข้อมูลที่ศึกษารวม 2,709,899 คน โดยราว 74% เป็นคนที่ได้วัคซีนไฟเซอร์, มี 23% ที่ได้รับวัคซีนโมเดิร์นา, ขณะที่ได้รับวัคซีนซิโนแวก 2% และซิโนฟาร์ม 1%
ผลการศึกษาจำกัดอยู่ในคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส โดยทำในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ขึ้นไปหลังจากที่ได้รับโดสที่ 2 เพื่อให้มั่นใจว่าเกิดภูมิคุ้มกันมากพอ และศึกษานาน 120 วัน
มีอยู่ 107,220 รายที่ได้รับวัคซีน และต่อมายืนยันด้วย PCR ว่าเป็นโควิด-19 ในช่วงที่ศึกษา และมีอยู่ 644 คนที่มีอาการหนักจากโรคนี้
ข้อสรุปจากการศึกษาก็คือ....
พวกที่ได้รับวัคซีนซิโนแวกมีโอกาส 4.59 เท่า ที่จะป่วยหนัก (severe) จากโควิด-19 หากเทียบกับพวกที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ นอกจากนี้ พวกที่ได้รับวัคซีนซิโนแวกยังมีโอกาส 2.37 เท่าที่จะติดเชื้อ หากเทียบกับคนที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์
- การศึกษาในสิงคโปร์ครอบคลุมกว่า 2.7 ล้านคน
คำว่า ป่วยหนัก (severe) ในที่นี้ นิยามว่า เป็นรายที่ต้องได้รับออกซิเจนในการรักษา หรือรายที่ต้องรักษาในห้อง ICU (intensive care unit) หรือรายที่เสียชีวิต
งานวิจัยนี้ยังสรุปอีกด้วยว่า วัคซีนโมเดิร์นามีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยหนักดีกว่าวัคซีนไฟเซอร์
คนที่ได้รับวัคซีนโมเดิร์นา มีโอกาสน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (0.42 เท่า) ที่จะป่วยหนักจากโควิด-19 หากเทียบกับคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ และยังมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าอีกด้วย
นักวิจัยคาดหมายโดยอ้างอิงข้อมูลรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐว่า ประสิทธิภาพที่สูงกว่าของโมเดิร์นาน่าจะเป็นผลมาจากปริมาณของ mRNA ในวัคซีนโมเดิร์นาที่มี “มากกว่า” รวมไปถึงการทิ้งช่วงห่างระหว่างการฉีดแต่ละครั้งที่นานมากกว่าด้วย
รูปต่อไปนี้แสดงถึง อัตราส่วนโดยเปรียบเทียบของโอกาสติดเชื้อและป่วยหนัก โดยให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์มีค่าเท่ากับ 1 ทั้ง 2 กรณี ตัวเลขน้อยกว่า แสดงว่ามีโอกาสติดเชื้อและป่วยหนักน้อยกว่า (เมื่อเทียบกับไฟเซอร์) และตัวเลขมากกว่าก็ตรงกันข้าม
ที่มา: https://www.channelnewsasia.com/singapore/covid-19-vaccines-sinovac-pfizer-moderna-singapore-study-2625511?fbclid=IwAR00nDqC_ZILwD_0McSMx4BmSM2oggMHLPhg-ikbHXIqnCDWXFdy5SgtNQ0
ในรายงานวิจัยยังระบุอย่างชัดเจนด้วยว่า
แต่ละคนที่ได้รับ 2 โดสของวัคซีนเชื้อตาย มีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อต่อโควิด-19 ต่ำกว่าคนที่ได้รับวัคซีนแบบ mRNA
กระนั้นก็ตามทั้งวัคซีนแบบ mRNA และแบบเชื้อตาย ก็ช่วยป้องกันการป่วยหนักได้ และการฉีดวัคซีนก็ยังคงเป็นกลยุทธ์หลักในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ (pandemic)
ข้อจำกัดของการศึกษานี้คือ มีปัจจัยความเสี่ยงหลายอย่างที่ส่งผลต่อการเลือกชนิดวัคซีนของแต่ละคน นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ป่วยแต่ไม่แสดงอาการ จึงไม่ได้ไปพบแพทย์ และไม่ได้บันทึกผลในการวิจัยว่าเป็นกรณีที่ป่วยติดโควิด-19

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา