22 เม.ย. 2022 เวลา 08:49 • สิ่งแวดล้อม
22 เมษายน "วันคุ้มครองโลก"
องค์การสหประชาชาติชวน "ActNow"
เพจ Read It Out พามาส่องผลกระทบที่เกิดขึ้นและวิธีช่วยโลกง่ายๆทำได้เดี๋ยวนี้
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นหรือลดลง การละลายของหิมะ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลระยะยาวและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ
แต่ตั้งแต่ปี 1800 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์โดยส่วนใหญ่เกิดจากการเผาพลังงานฟอสซิล(น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซต่างๆ)เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน
นั่นจึงทำให้เกิดผลกระทบใหญ่ๆตามมา ได้แก่
  • อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น
ทั่วโลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่มากขึ้น หน้าร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี และในปี 2020 เป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ความร้อนส่งผลให้เกิดโรคระบาดที่มากับอากาศร้อน การใช้ชีวิตการเดินทางยากลำบากขึ้น รวมถึงการเกิดไฟป่าก็จะลุกลามเร็วขึ้นด้วย
  • พายุรุนแรงมากขึ้น
จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่รวดเร็วส่งผลถึงสภาพอากาศทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น เกิดพายุรุนแรง ส่งผลเสียต่อสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆซึ่งรัฐต้องเสียเงินเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อรับมือแก้ไขในส่วนนี้
  • เกิดภัยแล้งสาหัส
หลายภูมิภาคขาดแคลนน้ำ ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพและเพาะปลูก ยิ่งแห้งแล้งเพิ่มมากขึ้นเท่าไรยิ่งทำให้พายุทรายมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อาจเกิดพายุที่พัดพาทรายหลายพันตันข้ามทวีปได้เลย
ยิ่งพื้นที่ทะเลทรายขยายตัวกว้างขึ้น ทำให้พื้นที่การเกษตรน้อยลง มีผู้คนเริ่มขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ผลกระทบข้างต้นมีสาเหตุมาจาก
  • การผลิตพลังงาน
การผลิตพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าและความร้อน ล้วนเกิดจากการเผาไหม้ของพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซต่างๆ ทำให้เกิดมลพิษและส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศเป็นอย่างมาก มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เกิดจากการผลิตพลังงานโดยใช้ พลังงานลม แสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียน
  • อุตสาหกรรมต่างๆ
การผลิตสินค้าต่างๆเช่น ปูนซีมเนต์ เหล็กกล้า อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก เสื้อผ้า และอื่นๆ ต้องอาศัยกำลังการผลิตจากภาคอุตสาหกรรม นั่นทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรงและเป็นอันตรายต่อชั้นบรรยากาศ รวมถึงการทำเหมืองแร่หรืออุตสาหกรรมอื่นๆก็ปล่อยก๊าซออกมาเช่นเดียวกัน
  • การตัดไม้ทำลายป่า
การถางป่าเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทำให้พื้นที่ป่าเหลือน้อยลง ต้นไม้ที่คอยทำหน้าที่หลักในการฟอกอากาศและดูดซับสารพิษก็มีจำนวนลดลง
ต้นไม้ที่ถูกตัดจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่สะสมเอาไว้ออกมาทำให้เป็นพิษต่อธรรมชาติ และไม่สามารถปกป้องชั้นบรรยากาศได้อย่างที่มันควรจะเป็น
เพื่อรักษาสภาพอากาศให้ยังคงเอื้อต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิต้องลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2050
ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว และตัวแปรสำคัญที่แท้จริงคือ พวกเราทุกคน
และต่อไปนี้คือวิธีง่ายๆจากโครงการ"ActNow"
ขององค์การสหประชาชาติ
ว่าด้วยการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนในระดับบุคคล
  • เริ่มต้นประหยัดพลังงานจากที่บ้าน
ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้ เปลี่ยนไปใช้หลอดไฟLED
  • เดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ขนส่งสาธารณะ
การเดินและการปั่นจักรยานช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยังทำให้สุขภาพดีอีกด้วย
  • หันมารับประทานผักแทนเนื้อสัตว์
เพราะการปลูกพืชจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า และใช้ทรัพยากรดิน น้ำ พลังงานต่างๆน้อยกว่า
  • เปลี่ยนวิธีการเดินทาง
เครื่องบินมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นจำนวนมาก ทำให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามาก ลองเปลี่ยนเป็นการนั่งรถไฟ หรือพบปะกันทางออนไลน์ดู
  • ทิ้งอาหารให้น้อยลง
ทุกครั้งที่คุณทิ้งอาหาร คุณกำลังทิ้งพลังงานและทรัพยากรต่างๆทั้งที่ใช้ในการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์
  • ลด ใช้ซ้ำ ซ่อมแซม และรีไซเคิล
ซื้อให้น้อยลง ใช้ของมือสอง ซ่อมสิ่งที่ชำรุดหากทำได้ และรีไซเคิลมันซะ
  • เปลี่ยนแหล่งพลังงานในบ้าน
ลองเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ แทน
หรือลองติดตั้งแผงโซโล่เซลล์ไว้บนหลังคาเพื่อรับพลังงาน
  • เปลี่ยนมาใช้ยานพาหนะไฟฟ้า
คราวหน้าถ้าจะซื้อรถลองพิจารณารถไฟฟ้าไว้สักรุ่นเพราะนอกจากจะประหยัดกว่าน้ำมันแล้ว พลังงานไฟฟ้ายังเผาไหม้น้อยกว่าการใช้น้ำมันเบนซิลและดีเซลมากๆ
เป็นยังไงกันบ้างครับ หลังจากอ่านมาถึงตรงนี้ผมหวังว่าทุกคนจะหันมาให้ความสนใจกับโลกเรามากขึ้น เพราะถ้าเราทุกคนไม่ร่วมมือกันโลกที่เคยอยู่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษก็คงส่งต่อไปไม่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานแน่ๆครับ โลกอยู่ไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้นะ
ขอบคุณที่ติดตามอ่านจนจบครับ
ไว้เจอกันใหม่บทความหน้าที่
แหล่งข้อมูล
แคมเปญประจำวันที่ 22 เมษายน 2565 ของGoogle.com/การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
รูปประกอบ
Kidzworld
โฆษณา