26 เม.ย. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
ราคาไข่ไก่สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดไข้หวัดนก
สภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก (Avian Influenza หรือ Bird Flu) ในสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลทำให้จำนวนไก่ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์สหรัฐฯ ตายไปเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (U.S. Department of Agriculture หรือ USDA) พบจำนวนสัตว์ปีกในสหรัฐฯ ที่ติดเชื้อและตายจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนกแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 17.27 ล้านตัว โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ราคาสินค้าไข่ไก่และสินค้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 7 ปี โดยได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการเลี้ยงไก่ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะใน เขตพื้นที่ตอนกลางของสหรัฐฯ เช่น บริษัท Tyson Foods Inc. และ Hormel Foods Corporation ได้รับผลกระทบรุนแรง มีไก่ไข่ในอุตสาหกรรมติดเชื้อและตายไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 11 ล้านตัวหรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของจำนวนไก่ไข่ทั้งหมดในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังพบว่าไก่งวงในสหรัฐฯ ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวแล้วเป็นจำนวนกว่า 2 ล้านตัวอีกด้วย
บริษัท Urner Barry ผู้วิจัยและเก็บข้อมูลการตลาดในสหรัฐฯ ระบุว่า ราคาไข่ไก่จำหน่ายปลีกในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นโหลละ 2.88 ดอลลาร์สหรัฐ หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับราคาจำหน่ายปลีก ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้รับรายงานการตรวจพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ไข้หวัดนกในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม 2563
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัจจัยในเรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ปัจจัยความต้องการ ไข่ไก่สำหรับกิจกรรมเทศกาลอีสเตอร์ และปัจจัยการเพิ่มปริมาณการกักตุนสินค้าไข่ไก่ของภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ จะส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายปลีกไข่ไก่ปรับตัวสูงมากขึ้น แต่ในเบื้องต้นคาดว่าสถานการณ์น่าจะยังคงอยู่ใน ระดับที่ยังสามารถควบคุมได้และไม่น่าจะส่งผลทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนไข่ไก่อย่างรุนแรงในสหรัฐฯ
Mr. Brian Earnest นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร CoBank ให้ข้อคิดเห็นว่าปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกส่งผลกระทบให้ปริมาณไข่ไก่ในตลาดลดลงจากปริมาณที่เคยผลิตได้ทั้งสิ้น 340 ล้านฟองในเดือนเมษายน 2563 เหลือเพียง 322 ล้านฟองในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าไข่ไก่ขึ้นเพื่อสะท้อนสถานการณ์ในตลาดในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวคาดว่าราคาสินค้าไข่ไก่ในตลาดสหรัฐฯ จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนกระทั่งปลายปีนี้
Mr. Dolph Baker ประธานกรรมการบริหารบริษัท Cal-Maine Foods ไข่ไก่รายใหญ่ใน สหรัฐฯ มีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่เมือง Ridgeland รัฐมิสซิสซิปปีกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงไก่ไข่ของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทจะให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของสมาคมไข่ไก่และหน่วยงานภาครัฐอย่างเต็มที่เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสดังกล่าว ภายในอุตสาหกรรม
Mr. Russ Whitman ตำแหน่ง Senior Vice President บริษัท Urner Barry กล่าวว่า ราคาจำหน่ายปลีกเนื้ออกไก่งวงในตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดมาตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบที่ผ่านมาเมื่อปี 2558 ราคาเฉลี่ย 4.45 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ ซึ่งภาวการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในครั้งนี้น่าจะส่งผลทำให้ ราคาเนื้ออกไก่งวงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนที่ผู้บริโภคชาวอเมริกัน มักจะมีความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในสหรัฐฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่ราคาจำหน่ายปลีก สินค้าอาหารในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นมากอันเนื่องมาจากปัจจัยการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และค่าแรงงานในตลาด นอกจากนี้ ปัจจัยจากสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ก็ส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ให้ปรับตัวสูงขึ้น จึงย่อมส่งผลกระทบทำให้ราคาเนื้อสัตว์ในตลาด ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐฯ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกภายในประเทศได้ ค่อนข้างมีประสิทธิภาพภายหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในปี 2558 ซึ่งมีสัตว์ปีกตายไปเป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 50 ล้านตัว
โดยสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการคุมเข้มการดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมรวมถึงการนำเข้าสินค้า สัตว์ปีกจากต่างประเทศอย่างเคร่งครัดเพื่อลดโอกาสในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยการแพร่ระบาดครั้งนี้ หน่วยงานรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อควบคุมความเสียหายที่จะมีต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกภายในประเทศ เช่น การห้ามเคลื่อนย้ายเครื่องมือเครื่องจักรในอุตสาหกรรม ระหว่างฟาร์ม การทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในฟาร์ม การดำเนินมาตรการควบคุมความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของแรงงานที่ทำงานภายในฟาร์ม เป็นต้น นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐยังได้จัดสรรเงินงบประมาณ เพื่อจ่ายชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์ปีกที่จำเป็นต้องทำลายสัตว์ปีกกลุ่มเสี่ยงอย่างเหมาะสมด้วย
เนื้อสัตว์ปีกและไข่เป็นวัตถุดิบที่ชาวอเมริกันใช้เพื่อการบริโภคเฉลี่ยมากที่สุดเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ประเภทอื่นๆ จากข้อมูลกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ พบว่า ในปี 2564 ชาวอเมริกันบริโภค ผลิตภัณฑ์จากไข่สูงที่สุดคิดเป็นจำนวนเฉลี่ย 286.54 ฟองต่อคนต่อปี รองลงมา ได้แก่ เนื้อสัตว์ปีก 113.45 ปอนด์ต่อคนต่อปี และสัตว์เนื้อแดง 111.81 ปอนด์ต่อคนต่อปีตามลำดับ โดยสหรัฐฯ มีฐานอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกและไข่ค่อนข้างใหญ่และเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศรวมถึงการส่งออกคิดเป็นมูลค่าตลาดทั้งสิ้น ประมาณ 3.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น เนื้อไก่เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.17 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 61.05) ไข่เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 8.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 24.35) และเนื้อไก่งวงเป็นมูลค่า 5.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 14.60) ตามลำดับ
ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่นั้น สหรัฐฯ สามารถผลิตไข่ได้เป็นปริมาณทั้งสิ้น 9.69 หมื่นล้านฟองในปี 2564 ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีจำนวนไก่ไข่ในอุตสาหกรรมลดลง โดยรัฐที่เป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ รัฐไอโอวา รัฐโอไฮโอ รัฐอินเดียนา รัฐเพนซิลวาเนีย รัฐเท็กซัส รัฐจอร์เจีย รัฐอาร์คันซอร์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา รัฐมิชิแกน และรัฐแคลิฟอร์เนีย ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศนั้น แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีอุตสาหกรรมการผลิตไก่และไข่ไก่ขนาดใหญ่ภายในประเทศแต่ก็ยังคงมีความต้องการนำเข้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศพอสมควร
โดยในปี 2564 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเนื้อไก่ (HS Code 0207 และ HS Code 160232) คิดเป็นมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 705.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าหลักจากแคนาดา (ร้อยละ 55.56) ชิลี (ร้อยละ 40.78) เม็กซิโก (ร้อยละ 2.05) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 0.81) และอิสราเอล (ร้อยละ 0.76) ตามลำดับ ส่วนสินค้าไข่ (HS Code 0407) คิดเป็นมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 74.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้า หลักจากแคนาดา (ร้อยละ 47.71) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 26.39) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 8.34) จีน (ร้อยละ 4.94) และฝรั่งเศส (ร้อยละ 4.25) ตามลำดับ
ทั้งนี้ เป็นที่น่าเสียดายที่สหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่และไข่ไก่จากประเทศไทย อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในปศุสัตว์ที่เข้มงวดทำให้ไทยไม่สามารถใช้โอกาสนี้ ขยายตลาดส่งออกสินค้าไก่และไข่ไก่ไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่น่าจะมีความต้องการนำเข้ามากขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณที่ขาดหายไปในอุตสาหกรรมจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในประเทศ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขาดแคลนสินค้าไก่และไข่ไก่ที่เกิดขึ้นน่าจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคในตลาดหันไปเลือกบริโภคอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ประเภทอื่น รวมถึงอาหารทะเลและอาหารโปรตีนจากพืชทดแทน เช่น ไข่จากพืช และเนื้อไก่จากพืช เป็นต้น ซึ่งให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นที่สนใจในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน ดังนั้น จึงน่าจะยังเป็นโอกาสสำหรับ ผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกสินค้าโปรตีนทางเลือกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในอนาคต
ในภาพรวม ปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในสหรัฐฯ น่าจะส่งผลทำให้สินค้าไก่และไข่ไก่ในตลาดสหรัฐฯ ขาดแคลนและทำให้ราคาสินค้าในตลาดปรับตัวสูงขึ้นไป จนกระทั่งปลายปีนี้ อีกทั้ง ปัจจัยด้านมาตรการตอบโต้รัสเซียต่อกรณีการก่อสงครามในยูเครนของสหรัฐฯ ยังน่าจะ ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลที่สหรัฐฯ นำเข้าจากรัสเซียเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน แต่ละปีอีกด้วย ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ จะพิจารณาหันไปเลือกบริโภคสินค้าโปรตีนประเภทอื่นทดแทน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับการขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทยไปยังสหรัฐฯ ได้มากขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
ซึ่งปัจจุบันไทยเองมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อยู่แล้วมากพอสมควร ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทยควรให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงไทยอย่างจริงจัง และการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceable System) เช่น การติดตั้งระบบการติดตามเรือประมงไทยมาใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลไทยเพื่อลดโอกาสการถูกดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าสินค้าอาหารทะเลจากไทยในอนาคต
นอกจากนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงไก่และไก่ไข่ของไทยที่มีขนาดอุตสาหกรรมค่อนข้างใหญ่และมีกำลังขีดความสามารถในการผลิตสูงควรที่จะดำเนินมาตรการควบคุมและระมัดระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่สามารถแพร่กระจายได้ทั้งในกลุ่มสัตว์ปีกและมนุษย์อย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้ เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงไก่และไก่ไข่ภายในประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมส่งออกที่มีมูลค่าสูงของไทย ขณะที่ในปัจจุบันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเองก็ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไทยสามารถยกระดับการเพาะเลี้ยงและมาตรการป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพในระดับสากลเป็นที่ยอมรับของสหรัฐฯ ประกอบกับภาครัฐให้การสนับสนุนยกระดับ มาตรฐานอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงไก่ในประเทศรวมถึงการหาแนวทางเพื่อเจรจาเปิดตลาดกับทางสหรัฐฯ ในการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าไก่ชิ้นส่วนจากไก่ และไข่ไก่ของไทย ก็น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไก่และ ไข่ไก่ไปยังสหรัฐฯ ได้ในอนาคต
โฆษณา