29 เม.ย. 2022 เวลา 12:01 • อาหาร
“รู้แล้วว่า ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ แต่ทำไมต้องเป็น 'ข้าวเหนียวเขี้ยวงู' กับ 'มะม่วงอกร่อง'...?”
ไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า การ “Mix & Match” ระหว่าง “ข้าวเหนียวกับมะม่วง” เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และยังไม่เคยได้ยินว่ามีใครถามถึงความเข้ากันหรือไม่ของ "ข้าวเหนียวกับมะม่วง" ในบรรดาข้าวเหนียวหน้าต่าง ๆ หลายสิบชนิดของบ้านเรา นั่นแสดงว่าผลของการ Mix นั้น Match
ข้าวเหนียวเขี้ยวงูนึ่งสุกมูนกะทิสด มะม่วงอกร่องสุกปอกเปลือกหั่นแฉลบ สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาจากจานข้าวเหนียวมะม่วงที่บ้านสวน คือ น้ำกะทิเจือแป้งเหยาะเกลือต้มสุก เข้าใจว่าคนเก่า ๆ คงไม่มีเหตุผลจะต้องราดกะทิซ้ำในข้าวเหนียวที่มูนด้วยกะทิจน "อิ่มตัว" แล้ว ส่วนถั่วเขียวเราะเปลือกคั่วโรยหน้านั่นพอเข้าใจได้ว่า เป็นการตกแต่งจานและเพิ่มรสสัมผัส
ว่ากันว่า ข้าวเหนียวมูนคือขนมที่คนสมัยอยุธยาตอนปลายรับประทานกันอย่างกว้างขวาง แต่หลักฐานที่ชัดเจนกว่าคือ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ประโยคว่า ‘ข้าวเหนียวใส่สีโศก’ สันนิษฐานว่ากล่าวถึงสีเขียวเข้มจากใบเตยคั้น เอาไว้กินกับไข่ตั้งสังขยา แต่ข้าวเหนียวมูนที่กินกับมะม่วงสุกจริง ๆ ก็น่าจะแพร่หลายช่วงปลายรัชกาลที่ 5…
kantapetch, 2563
1
แล้วทำไมต้องเป็น "ข้าวเหนียวเขี้ยวงู"
หลายคนยกให้ "ข้าวเหนียวเขี้ยวงู" เป็นราชาแห่งข้าวเหนียว และเป็นข้าวเหนียวสายพันธุ์ที่คนไทยนิยมนำมาทำเป็น “ข้าวเหนียวมูน” มากที่สุดก็ว่าได้ นั่นก็น่าจะเป็นเพราะคุณสมบัติเฉพาะตัวที่โดดเด่นกว่าใคร
ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเมื่อนึ่งสุกแล้ว เมล็ดข้าวจะขึ้นเงาสวยน่ากิน ไม่เละ หรือเกาะตัวเป็นก้อน ซึมซับน้ำกะทิได้อย่างทั่วถึง และแม้จะมูนทิ้งไว้ตั้งแต่เช้าตรู่จนบ่ายค่ำก็ยังคงเมล็ดสวย ไม่ดำ คงความมันวาว ข้าวเหนียวเขี้ยวงูจึงเป็น "ขวัญใจแม่ค้า" เหมาะสำหรับมูนขายเสมอมา
1
ตามประวัติแล้ว "เขี้ยวงู" เป็นชื่อข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองแถบล้านนา หรือทางภาคเหนือของไทย หลายคนระบุชัดว่า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ซึ่งคนนิยมปลูกกันมาก เริ่มแรกปลูกกินกันแต่ในครัวเรือน เพราะแม้จะมีจุดเด่น คือ เมล็ดเล็ก สีขาว เรียวยาว อันเป็นที่มาว่าทำไมข้าวเหนียวพันธุ์นี้จึงได้ชื่อว่า "เขี้ยวงู" นอกจากนี้ ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเมื่อสุกแล้วยังนุ่ม และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
แต่ "เขี้ยวงู" ก็มีข้อเสีย คือ รวงข้าวสั้น ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่น้อย สมัยก่อนชาวบ้านจึงรู้สึกว่าเสียเวลา ไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะปลูกเพื่อการค้า นอกจากปลูกไว้กินเองบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ
1
ข้อเสียที่มีอยู่ในท่ามกลางข้อดีมากมายของข้าวเหนียวเขี้ยวงู ส่งผลให้ราคาข้าวเหนียวเขี้ยวงูสูงกว่าข้าวเหนียวพันธุ์อื่น ๆ เนื่องจากมีผลผลิตน้อย สวนทางกับคุณภาพที่สูงกว่า จึงเป็นที่ต้องการของตลาด
1
ตลาดของข้าวเหนียวเขี้ยวงูในปัจจุบันจึงจำกัดอยู่เฉพาะแวดวงขนมหวาน กับบ๊ะจ่าง เท่ากับเป็นที่นิยมเฉพาะในหมู่คนที่ชอบกินข้าวเหนียวแบบเน้นคุณภาพและยอมจ่ายแพงกว่าเท่านั้น
เมื่อลองเทียบราคาข้าวเหนียววันนี้ (29 เมษายน 2565) ข้อมูลจากเว็บไซต์โกดังข้าวสารอุดมพืชผล พบว่า ข้าวเหนียวเขี้ยวงูจากเชียงรายกก.ละ 31.63 บาท ขณะที่ข้าวเหนียวหอมใหม่เมล็ดยาว กข.4 กก.ละ 20 บาท ต่างกันครึ่งเท่าตัว
มะม่วงล่ะ...ทำไมต้องเป็นอกร่อง?
ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อสัก 40-50 ปี แทบทุกบ้านเรือนและทุกภูมิภาคของไทยต่างก็ปลูกมะม่วงอกร่องไว้กันคนละต้นสองต้นเป็นอย่างน้อย และมันก็ไม่ได้มีราคาค่างวดอะไร เพราะหาได้ง่าย ๆ บ้านไหน ๆ ก็มี ไม่ปลูกเองก็ยังขอกันกินได้เปล่า ๆ
ตามประวัติแล้ว ว่ากันว่า "อกร่อง" เป็นมะม่วงพันธุ์พื้นบ้านของไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ขนาดผลประมาณกำปั้นเด็กผู้ชาย 10 ขวบ ทรงรูปไข่ อวบใหญ่ ออกแบนเล็กน้อย ส่วนบนบริเวณขั้วมีขนาดใหญ่ ด้านหน้าผลโค้งนูน และค่อยเล็กคอดลงทางปลายผลด้านล่าง โดยพันธุ์ดั้งเดิมจะมีร่องตื้นในแนวตั้งตรงกลางบริเวณหน้าผล เป็นที่มาของชื่อ "อกร่อง" เพราะมีร่องตรงอกสมชื่อ
ข้อเสียของอกร่อง คือ เปลือกบาง ช้ำง่าย หากผลแก่จัดสุกงอมเต็มที่แล้วไม่รีบกินภายใน 2-3 วันก็จะเป็นจุดดำ เน่า และขยายวงลุกลามอย่างรวดเร็ว ก่อนจะมีคนคิดพัฒนาสายพันธุ์ "น้ำดอกไม้" ที่ผลใหญ่ ยาว เปลือกหนา เมล็ดในเล็กลีบ มีอายุอยู่ได้ทนนาน เหมาะกับการขนส่งทางไกล ทำให้ได้รับความนิยมขึ้นมาแทนที่ แม้รสชาติและกลิ่นจะสู้ "อกร่อง" ไม่ได้ก็ตาม
มะม่วงอกร่องมีจุดเด่นอยู่ที่ผลสุก ได้ชื่อว่ามีกลิ่นและรสชาติที่หอมหวานละมุนละไมชวนกิน คนสมัยก่อนนิยมกินคู่กับข้าวเหนียวมูน เป็นความอร่อยลงตัว ชนิดไม่เคยได้ยินว่ามีใครค้านความคิดนี้ ไม่เคยมีใครสรรหามะม่วงพันธุ์ใหม่หน้าไหนมาแทนได้ และที่สำคัญ ในรอบหนึ่งปีมีให้กินแค่ช่วงสั้น ๆ ในหน้าร้อนเท่านั้น
วัดแถวบ้านผมย่านสมุทรสาครมีเทศกาลพิเศษต้อนรับมะม่วงอกร่องสุก ซึ่งจะตรงกันทุกปีคือในราวเดือนมีนาคม-เมษายน เราเรียกเทศกาลนี้ว่า "สลากภัตมะม่วง"
เดือนธันวาคมมาเยือนพร้อมลมหนาว แหงนหน้ามองยอดมะม่วง ทุกต้นจะพราวไปด้วยดอกเล็กจิ๋วสีงาช้าง หากไม่หนาวมากในเดือนมกราคมผลอ่อนสีเขียวเท่าปลายก้อยจะผุดโผล่ปลายช่อใบสว่างพรายระยิบระยับ ผลโตวันโตคืน นกหนูกระรอกกระแตวนเวียนเกาะกินวิ่งไล่กวดกันคึกคัก ทั้งกินพออิ่ม และที่กัดเล่นหล่นเกลื่อนโคนต้น
หากปีไหนลมแรงก็จะมีลูกอ่อนร่วงมากตามแรงลม ปีนั้นก็จะต้องกินน้ำพริกมะม่วงกันถี่สักหน่อย แต่ก็ยังมีเหลือเฟือกระทั่งแก่จัดในราวเดือนมีนาคม
เมื่อมะม่วงแก่จัด แม่ของทุกบ้านจะเตรียมตะกร้อสอยลงมา ระวังประคบประหงมอย่างดี เพราะอกร่องผิวบาง ช้ำง่าย ลูกไหนช้ำคัดออก หากรวมกับพวกสุกมาจะพาพวกเหม็น สอยลงมาแล้วก็เรียงเอาขั้วลงพื้นให้ยางออกจนหมดไม่ไหลเยิ้มเปลือกมะม่วงด่างดำไม่น่ากิน
ระหว่างนั้นเตรียมตุ่มมังกรใบใหญ่ ๆ เอาใบตองแห้งรองก้นนุ่ม ๆ เอามะม่วงที่ยางแห้งแล้วเรียงลงในตุ่มแต่เบามือ จนเต็ม หากมีเวลาสัก 4-5 วันก็ปล่อยไว้อย่างนั้น แค่หาฝาโอ่งมาปิด แต่หากใกล้วันสลากภัตก็ต้องไปตัดเอาใบขี้เหล็กแก่ ๆ มาสุมให้เต็มโอ่ง แค่ 2 วันได้เรื่อง เมื่อเปิดฝาโอ่งความร้อนในตุ่มก็ดีดใส่หน้าเพราะใบขี้เหล็กมีฤทธิ์ร้อน มะม่วงจะสุกเหลืองทั้งตุ่ม ถึงตอนนี้ก็จะเป็นภาระใหญ่ที่จะต้องรีบกินให้หมดภายในเวลา 4-5 วัน
ถึงวันสลากภัต ทุกบ้านตื่นขึ้นปอกมะพร้าว คั้นกะทิ มูนข้าวเหนียวกันแต่เช้าตรู่ คัดเลือกมะม่วงสุกลูกสวยบรรจงจัดใส่พานใส่ถาดเทินทูนมาเหนือหัวหลังไหล่ วางเรียงยาวเหยียดเต็มศาลา จับสลากพระสงฆ์สามเณรไล่ถวายไปตามหมายเลขที่จับได้ ป้องกันไม่ให้เลือกรูปที่รักมักที่ชัง แต่ไม่ว่าจะรักไม่รัก ช่วงเวลาที่ว่านี้ทั้งพระ เณร และเด็กวัด ก็ต้องกินข้าวเหนียวแทนข้าวกันไปหลายวัน
1
เทศกาลสลากภัตมะม่วงที่วัดจบ แต่บ้านเรายังไม่จบ มะม่วงในตุ่มยังมี แม่ของแต่ละบ้านมักจะต้องมูนข้าวเหนียวหลายวันติดต่อกันจนกว่ามะม่วงจะหมด หากอกร่องมีหลายต้นก็หลายตุ่ม คำนวณช่วงเวลาที่จะต้องกินข้าวเหนียวมะม่วงอย่างเร่งรัดและต่อเนื่องกันดูเอา
แม้ขนาด รูปทรง และสีสันของ "อกร่อง" จะสู้ "น้ำดอกไม้" หรือมะม่วงสายพันธุ์กินกับข้าวเหนียวมูนอื่น ๆ ไม่ได้ แถมเนื้อยังมีเสี้ยนคอยรบกวนจิตใจบ้าง แต่กลิ่นและรสชาตินั้นเหนือชั้นกว่าเป็นไหน ๆ
ว่าแต่บ้านใครมีคุณย่าหรือคุณยายที่ใช้อำนาจควบคุมตุ่มบ่มมะม่วงบ้าง? บางบ้านไม่มีคุณย่าคุณยายแล้ว ก็อาจจะมีอิสระในการเลือกกินมะม่วง แต่บางบ้านไม่มี...
บ้านที่มีคุณย่าคุณยาย ในวันเปิดตุ่มมะม่วงสุก คุณย่าคุณยายจะขนมะม่วงออกจากตุ่มทั้งหมด เลือกลูกสวยไม่มียางไม่มีจุดต่างดำสำหรับไปวัด ที่กระดำกระด่าง หรือทับอยู่ก้นตุ่มเริ่มเน่าเสียก็เอามาปอก ปาดกินส่วนที่ยังดี ผลที่ดีก็เก็บใส่ตุ่ม ปิดฝามิดชิด ที่วางไว้ข้างนอกใกล้กะละมังข้าวเหนียวล้วนมีตำหนิทุกลูก แล้วก็คอยจับตาดูว่าใครมายุ่มย่ามกับตุ่มมะม่วงของยายของย่าบ้าง
วันรุ่งขึ้นก็ทำแบบเดียวกัน มะม่วงลูกสวย ๆ เมื่อวาน กลายเป็นมะม่วงที่มีจุดดำในวันนี้ แล้วลูกดี ๆ ก็ลงตุ่มไปเช่นเคย วันแล้ววันเล่าก็เป็นไปตามวัฏจักรนี้ ไม่ว่าฤดูกาลจะผันเปลี่ยนไปอย่างไร หน้ามะม่วงจะเวียนมาอีกกี่ครั้ง ในสวนจะมีมะม่วงกี่ต้น สอยมาบ่มได้กี่ตุ่ม ลูกหลานบ้านที่มีคุณย่าคุณยายเป็นใหญ่และนั่งมองตุ่มมะม่วงไม่วางตาก็จะได้กินแต่มะม่วงที่มีจุดดำด่างไปตลอดกาล
1
โฆษณา