29 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
My Liberation Notes : เมื่อเศรษฐกิจบีบให้ชนชั้นกลางต้องทำงานไกลบ้าน
“ฉันรู้สึกเหมือนถูกกักขังแต่ไม่รู้ว่าจะฝ่ามันออกไปยังไง
ฉันไม่ได้ทุกข์ แต่ฉันก็ไม่ได้มีความสุขด้วย
ถ้าโลกแตกไปแบบนี้ ฉันก็ไม่เป็นไร
ยอมมีจอง
ทุกวันนี้ คุณใช้เวลาบนท้องถนนในการเดินทางไป-กลับ ระหว่างบ้านกับที่ทำงานกี่นาที หรือกี่ชั่วโมงกัน?
ซีรีส์เรื่อง My Liberation Notes อาจจะมีพล็อตเรื่องที่ธรรมดาๆ แต่โดดเด่นที่สามารถถ่ายทอดชีวิตของมนุษย์ออฟฟิศได้อย่างสมจริงและบางครั้งก็น่าหดหู่ใจ เรื่องราวชีวิตของสามพี่น้องชนชั้นกลางที่เติบโตมาในเมืองเล็กๆ และในแต่ละวันพวกเขาจะต้องตื่นแต่เช้า ใช้เวลาเดินทางไปกลับกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อเข้าไปทำงานในเมืองหลวง
1
เรื่องราวทั้งหมดจะค่อยๆ ถูกเล่าผ่านมุมมองของชนชั้นกลางต่อการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด และแสวงหาความสุขในชีวิตให้ได้ โดยมีอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ขัดขวางพวกเขาไว้ก็คือปัญหาด้านเศรษฐกิจ
ในบทความนี้ Bnomics จะมาเล่าถึงเรื่องของต้นทุนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของการเดินทางไปทำงานไกลบ้านในแต่ละวัน ที่ส่งผลกระทบไปถึงคุณภาพชีวิตและคุณภาพการทำงาน
📌 คนเกาหลีใต้ใช้เวลาเดินทางไปทำงานโดยเฉลี่ยกี่ชั่วโมงต่อวัน?
จากการสำรวจของกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม ของเกาหลีใต้ พบว่าในปี 2016 คนเกาหลีใต้ที่อาศัยอยู่ในกรุงโซล ใช้เวลาเดินทางบนท้องถนนโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 36 นาที
1
โดยแบ่งออกเป็น
  • การเดินทางไปทำงาน 41.8 นาที
  • และการเดินทางกลับบ้าน 54.6 นาที โดยเฉลี่ย
3
ซึ่งค่าเฉลี่ยนี้สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ
📌 ทำงานไกลบ้าน…ดีหรือไม่ดีต่อคุณภาพชีวิต?
แต่เกาหลีใต้ก็ไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่คนเดินทางไปทำงานไกลบ้าน ในโลกยุคปัจจุบัน หลายๆ คนมักจะมีบ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปจากที่ทำงาน และเดินทางโดยรถยนต์, รถประจำทาง หรือรถไฟความเร็วสูง
1
ทั้งนี้ส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากความต้องการที่จะเพิ่มโอกาสให้ตัวเองได้ทำงานดีๆ ซึ่งมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ หลายคนเลยต้องยอมเสียเวลาเดินทางจากบ้านที่อยู่ไกลออกไปทางชานเมือง เพื่อคว้าโอกาสที่ดีเหล่านั้น
1
งานวิจัยหนึ่งได้ยกประเทศสวีเดนเป็นกรณีศึกษา ทางตอนใต้ของสวีเดนมีการพัฒนาที่มากกว่าจึงมีผู้คนอาศัยอยู่มากกว่าทางตอนเหนือ ส่วนคนที่อยู่ทางตอนเหนือก็จะนิยมอาศัยอยู่ในเมือง ทีนี้ก็เลยเกิดปัญหาว่าประชากรในชนบทลดลง
1
เครดิตภาพ : JTBC Studios
และไม่ค่อยมีโอกาสในการทำงาน ในขณะที่ในเมืองเต็มไปด้วยการพัฒนาที่ดึงดูดทั้งคนและภาคธุรกิจ บางคนจึงเลือกที่จะย้ายไปทำงานในเมือง หรืออีกทางหนึ่งคือยอมเสียเวลาเดินทางจากชนบทไปทำงานในเมืองในแต่ละวันแทน งานวิจัยจึงได้นำข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อหาว่าระหว่างคนที่ทำงานใกล้บ้านกับคนที่ทำงานไกลบ้าน ได้รับผลทางเศรษฐกิจ และสังคมแตกต่างกันอย่างไร
1
การที่คนๆ หนึ่งยอมเดินทางไปทำงานไกลบ้านมากขึ้น แน่นอนว่าเป็นการเปิดโอกาสตัวเองให้เข้าสู่ตลาดแรงงานที่กว้างขึ้นและเป็นตลาดแรงงานที่มีศักยภาพมากขึ้น ทำให้เขาสามารถหางานที่ปรารถนาและช่วยพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้
ดังนั้นผลทางตรงจากการเดินทางไปทำงานไกลๆ ก็คือ
  • สามารถหางานที่เหมาะสมกับความสามารถ
  • เงินเดือนที่สูงขึ้น
  • มีโอกาสเปลี่ยนงานใหม่
  • หรือ โยกย้ายงานไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม การเดินทางระหว่างบ้านกับที่ทำงาน ก็ย่อมตามมาด้วยค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องเดินทางไกลขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง หรือการซื้อรถยนต์ส่วนตัวเพิ่ม และตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอื่นๆ
หรือในบางกรณีของครัวเรือนที่ทำงานกันทั้งคู่ อาจทำให้มีคนใดคนหนึ่งต้องยอมลดชั่วโมงการทำงานของตัวเองลงเพื่อให้มีเวลาให้แก่ครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีลูกเล็ก และนั่นก็หมายความว่ารายได้โดยรวมของทั้งครอบครัวก็จะต้องลดลงเช่นกัน
เครดิตภาพ : JTBC Studios
ทีนี้ถ้าจะถามผลทางเศรษฐกิจของการเดินทางไปทำงานไกลบ้านโดยรวม ก็ต้องดูว่าผลเชิงบวกหรือผลเชิงลบอันไหนจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในช่วงไหนของชีวิต คนที่ยังไม่มีครอบครัว หรือมีลูกโตแล้ว มักมีแนวโน้มที่จะได้รับผลเชิงบวกมากกว่าจากการที่ไปทำงานไกลๆ ในขณะที่ครอบครัวที่หาเงินทั้งคู่และมีลูกเล็ก ผลเชิงบวกนี้อาจจะน้อยกว่า
ผลกระทบเชิงลบอีกอย่างหนึ่งจากการเดินทางที่ใช้เวลามากๆ คือจะเกิดความเครียดจากการเดินทาง และมักจะกลายเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อน หรือคุณภาพชีวิตโดยรวม
งานวิจัยพบว่ายิ่งระยะการเดินทางไปทำงานเพิ่มขึ้นเท่าไร ยิ่งส่งผลให้ภาวะสุขภาพแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นความดันในเลือดสูงขึ้น, ความเครียด, ปัญหาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับคอ (โดยเฉพาะคนที่ขับรถเอง), ทั้งหมดนี้ส่งผลไปถึงอารมณ์ และความสามารถในการทำงานที่แย่ลง อีกทั้งสำหรับคู่รักก็อาจมีแนวโน้มเลิกกัน หรือแยกกันอยู่มากขึ้นอีกด้วย
3
📌 อนาคตของการทำงาน…ที่อาจไม่ต้องเดินทางไปทำงานอีกแล้ว
ฟังดูเหมือนการทำงานไกลบ้านดูจะไม่ค่อยส่งผลดีสักเท่าไร ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แนวคิดของการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home จึงได้เริ่มมีมาสักพักแล้วเพื่อตอบโจทย์กับงานบางรูปแบบ เพียงแค่ยังไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย
แต่หลังจากที่ผู้คนเริ่มหันมา Work from home กันมากขึ้นในหลากหลายอาชีพ พบว่ารูปแบบการเดินทางไปทำงานของหลายๆ แห่งเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่พนักงานต้องไปทำงานทุกวัน ก็สามารถเปลี่ยนเป็นทำงานที่บ้าน หรืออาจจะสลับให้ทำงานที่บ้านสัปดาห์ละ 2 - 3 วัน ที่เรียกว่าการทำงานแบบไฮบริดได้
ถ้าหากเป็นเช่นนั้น ในระยะยาวที่การเดินทางไกลไม่ใช่ข้อจำกัดและอุปสรรคสำหรับการทำงานอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เราสามารถเข้าถึงตลาดแรงงานที่เปิดกว้าง มีงานที่หลากหลายเหมาะกับศักยภาพ ส่วนบริษัทก็จะมีทางเลือกในการจ้างงานได้หลากหลายมากขึ้น และได้คนที่มีคุณภาพพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจมากขึ้น
3
เราคงจะได้เห็นภาพคนที่ตื่นไปทำงานด้วยความสดใส ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และกลับถึงบ้านอย่างมีความสุข ไม่เหมือนกับภาพทั้งสามพี่น้องในซีรีส์ My Liberation Notes ที่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่อย่างเรื่อยๆ ไร้จุดหมายและไร้ความสุขในแต่ละวัน…
1
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
เครดิตภาพ : JTBC Studios / Netflix

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา