30 เม.ย. 2022 เวลา 12:40 • หนังสือ
เงิน (น.) พรอันประเสริฐและคำสาปแช่งอันขมขื่นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรา
จิตวิทยาว่าด้วยเงิน
ห่างหายไปนานกับการรีวิวหนังสือ เนื่องจากเวลาสองอาทิตย์ที่ผ่านมาเราใช้เวลาไปกับการอ่าน “จิตวิทยาว่าด้วยเงิน” ซึ่งไม่ได้เป็นเล่มที่หนามาก แต่ใช้เวลาในการอ่านนานมากจนเราเองก็ตกใจ (มีเผลอแอบหลับอยู่บ่อยครั้ง) จนทำให้อ่านไม่จบเสียที และวันนี้ก็ได้ฤกษ์งามยามดีที่อ่านจบแล้ว จึงขอสรุปเนื้อหาสั้นๆ ให้ได้ฟังกัน
เนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 20 บท โดยบทที่ 20 จะเป็นการเล่าชีวิตของผู้เขียน บทที่ 19 จะเป็นการสรุปเนื้อหาทั้งหมด และบทที่ 1-18 จะอธิบายเรื่องจิตวิทยาด้านการเงิน และเน้นการยกเคสตัวอย่างเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเราคิดว่าการยกเคสตัวอย่างก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นอยู่หรอก แต่ด้วยการเรียบเรียงภาษาทำให้ค่อนข้างต้องใช้ความพยายามในการอ่านทำความเข้าใจพอสมควร (อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ) แต่ถึงอย่างไรหนังสือก็ได้ให้แนวคิดเรื่องการเงินที่ดีอยู่พอสมควร งั้นเรามาเริ่มกันดีกว่า
บทที่ 1 “ไม่มีใครบ้า” มีผู้คนทำเรื่องบ้าๆ กับเงินมากมาย แต่ไม่มีใครเลยที่เป็นคนบ้า เพราะต่างคนต่างมีประสบการณ์ชีวิตและสิ่งจูงใจที่แตกต่างกัน ดังนั้น การตัดสินใจการลงทุนจึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน เรื่องบ้าสำหรับคุณอาจเป็นเรื่องสมเหตุสมผลของใครบางคน
บทที่ 2 “โชคและความเสี่ยง” ทุกผลลัพธ์ในชีวิตนั้นถูกชี้นำโดยแรงผลักอื่นนอกเหนือจากความพยายามของปัจเจกบุคคล แต่เพราะมันวัดยากและยากแก่การยอมรับเลยมักถูกมองข้ามไป แต่สิ่งสำคัญคือการตระหนักถึงความเสี่ยงให้มากเท่าที่เราตระหนักถึงบทบาทของโชคที่มีต่อความสำเร็จ ดังนั้น การรับมือกับความล้มเหลวคือการเตรียมความพร้อมชีวิตทางการเงินของคุณ
บทที่ 3 “ไม่เคยพอ” ความสุขคือผลลัพธ์ลบด้วยความคาดหวัง ทักษะการเงินที่ยากที่สุดคือการทำให้เป้าหมายหยุดเคลื่อนที่ เมื่อสำเร็จถึงจุดหนึ่งแล้วคนเราจะมองหาความสำเร็จใหม่อยู่เรื่อยๆ อย่ายึดติดกับอะไรบางอย่างมากเกินไป สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อการรักษาความมั่งคั่งหรือสิ่งอื่นใดเอาไว้คือการรู้ว่าเมื่อไหร่ที่คุณมี “พอ” แล้ว
บทที่ 4 “การทบต้นที่ทำให้งงงวย” วิธีการทำงานของการทบต้นนั้นคือกาลเวลา การลงทุนที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องได้รับผลตอบแทนที่สูงที่สุด เพราะมักเป็นการได้มาครั้งเดียวและไม่สามารถทำซ้ำได้ มันเป็นเรื่องของการได้รับผลตอบแทนค่อนข้างดีที่สามารถทำต่อไปได้ในระยะยาว นั่นคือการทำงานของการทบต้น
บทที่ 5 “ได้มาซึ่งความมั่งคั่งกับรักษาไว้ซึ่งความมั่งคั่ง” การได้มาซึ่งความมั่งคั่งเป็นเรื่องหนึ่ง การรักษาไว้ซึ่งความมั่งคั่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มีวิธีมากมายให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่ง แต่มีวิธีการเดียวที่ให้ความมั่งคั่งนั้นคงอยู่คือส่วนผสมของความมัธยัสถ์และความหวาดระแวงว่าสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นจะถูกพรากไป
บทที่ 6 “หางยาว คุณชนะ” ธุรกิจและกิจการมากมายที่ดำเนินการแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่ตราบใดที่คุณทำมันยาวนานจนมีหางที่ยาว เมื่อมีครั้งที่คุณประสบความสำเร็จ ครั้งนั้นจะยิ่งใหญ่จนสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ ดังนั้นจึงจำต้องมีหางที่ยาวไว้
บทที่ 7 “อิสรภาพ” การควบคุมเวลาของตัวคุณเองได้คือเงินปันผลสูงสุดที่เงินมอบให้กับคุณ นั่นคือคุณค่าที่แท้จริงของเงิน
บทที่ 8 “ความย้อนแย้งของคนในรถยนต์” มีแค่ตัวคุณเองเท่านั้นที่หลงใหลในสิ่งที่คุณครอบครอง เมื่อคุณเห็นคนขับรถหรูหรา คุณจะไม่ได้คิดว่าคนนั้นเท่ แต่คุณจะคิดว่าถ้าฉันมีรถแบบนั้นคงเท่น่าดู นั่นเพราะผู้คนใช้ความมั่งคั่งของคนอื่นเป็นตัวชี้วัดความมั่งคั่งของตนเอง
บทที่ 9 “ความมั่งคั่งคือสิ่งที่คุณมองไม่เห็น” คุณค่าของความมั่งคั่งอยู่ที่การทำให้คุณมีทางเลือก ต่างจากความร่ำรวยที่หมายถึงสถานะรายได้ในปัจจุบัน เราไม่สามารถตัดสินความมั่งคั่งจากสิ่งที่เราเห็นได้
บทที่ 10 “เก็บออม” ความมั่งคั่งเป็นเพียงแค่การสะสมของเงินที่เหลืออยู่หลังจากที่คุณใช้จ่าย เราสามารถสร้างความมั่งคั่งได้โดยไม่จำเป็นต้องมีรายได้สูง แต่จะไม่มีโอกาสสร้างความมั่งคั่งได้เลยหากมีการออมที่ต่ำ คนที่ประสบความสำเร็จทางการเงินอย่างยั่งยืน (ไม่จำเป็นต้องมีรายได้สูง) มีแนวโน้มที่จะไม่สนใจว่าคนอื่นๆ คิดกับเขาอย่างไร และคุณไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลในการออม การออมคือการป้องกันความเสี่ยงต่อช่วงเวลาอันเลวร้ายของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
บทที่ 11 “สมเหตุสมผล > ยึดเหตุผล” ความสมเหตุสมผลจะทำให้เป้าหมายของคุณมีความสมจริงมากขึ้นและสามารถทำจริงได้ในระยะยาว ดังนั้นการลงทุนควรสามารถยืดหยุ่นได้
บทที่ 12 “เซอร์ไพรส์!” คนเรามักเชื่อว่าข้อมูลในอดีตนั้นเป็นสัญญาณของเงื่อนไขในอนาคต การลงทุนไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่อ้างอิงหลักเกณฑ์และหลักการ นักประวัติศาสตร์ไม่ใช่นักพยากรณ์ ยิ่งคุณมองย้อนกลับไปมากขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งพบว่าคุณกำลังสำรวจโลกที่ไม่สามารถใช้งานได้กับเงื่อนไขในปัจจุบัน
บทที่ 13 “เผื่อให้กับความผิดพลาด” สิ่งสำคัญของทุกแผน คือ การวางแผนหากแผนไม่เป็นไปตามแผน พื้นที่เผื่อความผิดพลาดนั้นจะทำให้คุณสามารถอดทนอยู่ในเกมได้นานพอและได้รับผลประโยชน์จากผลลัพธ์ที่มีโอกาสเป็นไปได้ยาก
บทที่ 14 “คุณจะเปลี่ยนไป” การวางแผนระยะยาวนั้นยากกว่าที่เห็น เพราะเป้าหมายและความปรารถนาของเราเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เมื่อวางแผนระยะยาวจึงควรคำนึงเสมอว่าควรหลีกเลี่ยงแผนการเงินที่สุดโต่งมากเกินไป และยอมรับความจริงของการเปลี่ยนใจ
บทที่ 15 “ไม่มีอะไรได้มาฟรี” ทุกสิ่งทุกอย่างมีราคาของมัน แต่ป้ายราคานั้นไม่ได้ปรากฏอยู่ในทุกสิ่ง ราคาของความสำเร็จในการลงทุนนั้นไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในทันที ดังนั้นเมื่อถึงเวลาต้องชำระบิล มันจึงไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อให้ได้ของดีมาครอบครอง แต่กลับให้ความรู้สึกเหมือนโดนค่าปรับจากความผิดพลาดอะไรบางอย่างที่ทำ และคนส่วนใหญมักโอเคกับการจ่ายค่าธรมเนียมขณะที่หลีกเลี่ยงการจ่ายค่าปรับ ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นไม่เคยได้มาฟรี คุณต้องจ่ายเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ
บทที่ 16 “คุณและผม” จงระวังคำแนะนำทางการเงินจากคนที่เล่นเกมต่างจากคุณ ราคาที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับคนหนึ่งก็สามารถดูสมเหตุสมผลสำหรับอีกคน เนื่องจากพวกเขาให้ความสนใจในปัจจัยที่แตกต่างกัน
บทที่ 17 “ความเย้ายวนของการมองโลกในแง่ร้าย” การมองโลกในแง่ดีคือการไม่เชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่คนเรามักสนใจเรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัญชาตญาณ แต่อีกส่วนเป็นเพราะกระบวนการเกิดขึ้นของผลลัพธ์เรื่องร้ายนั้นเร็วและเห็นได้ชัดเจนกว่า มันเย้ายวนเพราะการคาดหวังว่าสิ่งต่างๆ จะเลวร้ายเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะยินดีไปกับเรื่องไม่คาดฝันในเวลาที่สิ่งต่างๆ ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด ทั้งที่ความจริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ควรมองโลกในแง่ดี
บทที่ 18 “เวลาที่คุณมีความเชื่อในเรื่องใดก็ตาม” เรื่องเล่ามีพลังมากกว่าสถิติ เพราะเวลาที่คุณต้องการให้อะไรบางอย่างเป็นจริง คุณมีแนวโน้มสูงที่จะเชื่อเรื่องเล่าที่ประเมินโอกาสของการเกิดสิ่งนั้น และเรื่องเราสามารถเติมเต็มสิ่งที่คุณอยากให้เป็นได้
เป็นไงบ้างกับการสรุป 18 บท เน้นๆ เนื้อหาแบบที่ไม่เคยสรุปมาก่อน เอาให้คุ้มกับที่ใช้เวลาอ่านอย่างนานแสนนาน 55+ หวังว่าการรีวิว (หรือสรุป) นี้จะมีประโยชน์กับทุกคน หรือหากใครอยากเข้าใจแต่ละเรื่องลึกซึ้งมากขึ้น สามารถหาซื้อหนังสือมาอ่านได้น้า
#ThePsychologyofMoney #จิตวิทยาว่าด้วยเงิน
#อ่านแล้วนะ
ชื่อเรื่อง : The Psychology of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงิน
ผู้เขียน : MORGAN HOUSEL
ผู้แปล : ธนิน รัศมีธรรมชาติ
สำนักพิมพ์ : Live Rich
จำนวนหน้า : 272 หน้า
ราคาปก : 290 บาท
โฆษณา