1 พ.ค. 2022 เวลา 10:12 • ประวัติศาสตร์
ที่มา…การปั้นน้ำเป็นตัว
ประวัติศาสตร์น้ำแข็งก้อนแรกในไทย
1
ฉากถูน้ำแข็งในตำนาน ระหว่าง จัน กับ คุณบุญเลื่อง ในภาพยนตร์เรื่องจันดารา ฉบับปี พ.ศ. 2544
  • “ปั้นน้ำเป็นตัว” เป็นสำนวนไทยแต่โบราณ ที่รู้ว่ามีการใช้มานานแล้ว เพราะว่าอย่างน้อยในไทยการปั้นน้ำเป็นตัวสามารถเห็นเป็นประจักษ์ได้จริงแล้วเมื่อช่วงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ่งนั้นคือ “น้ำแข็ง” นั่นเอง ส่วนก่อนหน้านั้นคนไทยล้วนคิดว่าการทำน้ำซึ่งเป็นของเหลวให้เป็นของแข็ง ยิ่งเราอยู่ในเขตเมืองร้อน นั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน จึงมีการเปรียบคนที่พูดโกหกมดเท็จว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว”
1
ในช่วงฤดูร้อนมากของเมืองไทยที่อุณหภูมิของอากาศทะลุจุดทนได้ของหลายๆคน สิ่งหนึ่งที่ช่วยคลายความร้อนได้คงหนีไม่พ้น “น้ำแข็ง” ไม่ว่าจะใช้ในการบริโภครูปแบบต่างๆ อย่าง อมโดยตรง ใส่ในเครื่องดื่มแก้วโปรด หรือเป็นส่วนประกอบในของหวานสำหรับหน้าร้อนต่างๆ เช่น น้ำแข็งไส
  • ขอเล่าเรื่องน้ำแข็งในมุมมองกว้างๆระดับโลกก่อน
  • มนุษย์ได้เริ่มใช้ประโยชน์จากน้ำแข็งทางด้านสถาปัตยกรรมก่อน นั่นคือการสร้างบ้านด้วยน้ำแข็งของชาวเอสกิโม หรือเรียกว่า “อิกลู” ทุกคนน่าจะเคยได้ยินหรือรู้จักกันดีครับ
  • 1000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนเป็นผู้ริเริ่มนำน้ำแข็งมาใช้ประโยชน์ด้านอุปโภคบริโภค คือนำมาใช้แช่ของสดเพื่อถนอมอาหาร ยังไม่ได้นำมาบริโภคโดยตรง
3
  • ช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล มีหลายชนชาติได้ริเริ่มการผลิตน้ำแข็งเพื่อบริโภค คือ
  • ชาวอียิปต์โบราณและชนเผ่าอินเดียแดงแห่งทวีปอเมริกาเหนือ เรียนรู้การใช้อุปกรณ์คือหม้อเหล็กรองน้ำไว้ตอนกลางคืนในฤดูหนาว พอเช้ามาก็จะได้ “น้ำแข็งก้อน” ไว้กิน
3
  • ชาวบาบิโลน (ปัจจุบันคืออิหร่าน) เป็นชุมชนแรกที่ค้นคิดประดิษฐ์ “หลุมน้ำแข็ง” หรือ Yakh-Chal ในภาษาเปอร์เซีย โดยสร้างในที่ร่ม ชื้น และเย็น ใช้สำหรับกักเก็บน้ำเพื่อให้กลายเป็นน้ำแข็งไว้กิน
3
  • ชาวกรีก-โรมัน เป็นชนชาติต่อมาที่พัฒนากระบวนการสร้างห้องเย็นใต้ดิน คล้าย Yakh-Chal ของชาวบาบิโลน และยังพัฒนาระบบการขนส่งน้ำแข็งเพื่อยังพื้นที่ในระยะทางไกล จนมีการถ่ายทอดความรู้ทั่วยุโรปในระยะเวลาต่อมา โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติล่าอาณานิคม
1
  • ศตวรรษที่ 16 เมื่อคนยุโรปเริ่มอพยพไปอยู่อเมริกา เริ่มมีการประยุกต์สร้าง “บ่อน้ำแข็ง” มีลักษณะคล้ายบ่อน้ำที่ขุดลึกลงไปใต้ดิน และติดตั้งรอกไว้บนขอบบ่อเพื่อหย่อนถังลงไปขนน้ำแข็งขึ้นมาจากก้นบ่อ
1
  • ศตวรรษที่ 18 Thomas Moore นักเขียน กวี และนักแต่งเพลงชาวไอริช ได้ประดิษฐ์ “กล่องเย็น” สำหรับผลิตน้ำแข็งเพื่อไว้ใช้บริโภคเป็นคนแรก และได้ชื่อว่าเป็น “บิดาของน้ำแข็งสำหรับบริโภค” แต่ทว่าเป็นการสร้างเพื่อใช้ในครัวเรือนมากกว่าการผลิตจำนวนมากแบบ Mass production
  • ต้นศตวรรษที่ 19 Frederick Tudor นักธุรกิจชาวอเมริกัน (บอสตัน) เป็นผู้คิดค้นการผลิตน้ำแข็งจำนวนมากเพื่อใช้ในการพาณิชย์ และต่อยอดโดยการเป็นผู้ขนส่งน้ำแข็งไปขายทั่วอเมริกา ก่อนขยายกิจการส่งออกข้ามทวีปในเวลาต่อมา ได้รับฉายา “ราชาน้ำแข็ง”
3
Frederick Tudor ที่มาภาพ: Wikimedia Commons
  • ค.ศ. 1830 John Gorrie แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้น “ตู้เย็นสำหรับสร้างน้ำแข็ง” คนแรกของโลก ก่อนที่จะพัฒนากลไกดังกล่าวมาเป็น “ตู้เย็น” และ “เครื่องปรับอากาศ” ในเวลาต่อมา และได้รับฉายา “ราชาแอร์”
3
John Gorrie ที่มาภาพ: https://www.salika.co/2019/07/13/the-story-of-ice/
กลับมาที่ประเทศไทย ขอเล่าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของน้ำแข็งที่บ้านเรากันบ้างว่ามีความเป็นมาอย่างไร
...
  • ก่อนน้ำแข็งจะเข้ามาสู่สยาม
  • เรามีกรรมวิธีทำน้ำให้มีความเย็น โดยมีบันทึกจากชาวต่างชาติที่ชื่อ เฟรดเดอริก อาร์เธอร์ นีล ที่เดินทางเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 เขาบันทึกถึงเรื่องการแช่แชมเปญให้เย็น เมื่อ พ.ศ. 2383 ขณะที่ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ โดยใช้วิธีเดียวกับที่ทำในอินเดีย คือ เอาขวดตั้งไว้ในดินประสิว เกลือ และน้ำ
1
  • ดินประสิวจะช่วยทำให้อุณหภูมิของน้ำลดต่ำลง ส่วนเกลือจะช่วยลดจุดเยือกแข็งของน้ำ ดังนั้นขวดแชมเปญที่นำไปแช่ในน้ำจึงเย็น แต่ไม่ถึงขั้นจับตัวเป็นน้ำแข็ง คล้ายกับการทำไอติมหลอด
3
  • ยุคเริ่มต้น น้ำแข็งเป็นสินค้านำเข้าราคาสูง อยู่ในแวดวงคนชั้นสูง
  • พ.ศ. 2405-2411 จากบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ น้ำแข็งก้อนแรกของไทยเดินทางมาจากสิงคโปร์ พร้อมหนังสือพิมพ์ต่างประเทศและสินค้าหรูหราจากยุโรป กับเรือกลไฟชื่อ “เจ้าพระยา” ของพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม) โดยใส่มาในหีบไม้ฉำฉาและกลบด้วยขี้เลื่อยเพื่อรักษาอุณหภูมิเอาไว้ ใช้เวลา 15 วันต่อเที่ยว (ไป-กลับ 1 เดือนพอดี) ต้องใช้เวลานานในการขนส่งมา เรายังผลิตเองไม่ได้เป็นของแปลก จึงมีราคาแพงมากเหมือนสินค้านำเข้าในสมัยนั้น
3
ดังนั้นน้ำแข็งจึงเป็นที่รู้จักกันในเฉพาะแวดวงคนชั้นสูง ส่วนใหญ่มักถูกแจกจ่ายให้เจ้านายและขุนนาง และใช้เป็นวัตถุดิบในการทำไอศกรีมเป็นของเสวยหรือประกอบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้กับเจ้าขุนมูลนายในบางมื้อ
3
...
  • พ.ศ. 2411 มีสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ รัชกาลที่ 4 ทรงเชิญนักปราชญ์จากยุโรป พร้อม เซอร์แฮรี่อ็อต ผู้ว่าการเมืองสิงคโปร์ เป็นพระราชอาคันตุกะมาดูสุริยุปราคา โดยจัดการที่พัก อาหารการกิน ตามแบบอย่างอารยประเทศสมบูรณ์แบบทุกประการ เป็นการแสดงให้เห็นว่าสยามไม่ได้เป็นเมืองป่าเถื่อนอย่างที่ฝรั่งเข้าใจกัน การรับรองครั้งนั้น น้ำแข็ง มีส่วนเสริมสร้างการดื่มของพระราชอาคันตุกะอย่างสำคัญ ถึงกับเซอร์แฮรี่อ็อต บันทึกความประทับใจไว้
3
ความว่า “พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้จัดอาหารเลี้ยงแขกเมือง นำเอาพ่อครัวฝรั่งเศสเข้ามาให้รู้จักพร้อมด้วยชาวอิตาลีหนึ่งคน และลูกมือชาวเมืองอีกหลายคน จัดการเลี้ยงดูอย่างฟุ่มเฟือยบริบูรณ์ ของอร่อยที่หาไม่ได้ในแถบนี้ก็จัดหามาจากสิงคโปร์ การทำกับข้าวก็ทำอย่างประณีต มีทั้งเหล้าและไวน์ต่างๆ น้ำแข็งก็บริบูรณ์ อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรที่ต้องการอีก”
  • ยุคที่ไทยผลิตน้ำแข็งได้เอง
  • พ.ศ. 2414 รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินกลับจากสิงคโปร์ และทรงนำเครื่องทำไอศกรีมขนาดเล็กเข้ามาสู่สยามด้วย
  • ช่วง พ.ศ. 2432 ในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามเริ่มมีโรงน้ำแข็งผลิตได้เองในประเทศแต่เป็นของชาวต่างชาติ มีการตีพิมพ์โฆษณาน้ำแข็งในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 ในราคาปอนด์ละ 4 อัฐ โดยบริษัทแอนเดอร์สันอีกด้วย
1
โฆษณาขายน้ำแข็ง ในหนังสือพิมพ์ สมัยรัชกาลที่ 5 เครดิตภาพ: https://krua.co/food_story/คนไทยรู้จัก-น้ำแข็ง-ตอ/
  • พ.ศ. 2454 ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตั้งโรงน้ำแข็งแห่งแรกของคนไทยชื่อ “น้ำแข็งสยาม” หรือ “The Siam Ice Works” (ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “โรงน้ำแข็งนายเลิศ”) โดยพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) หรือนายเลิศ ผู้สร้างโรงแรมปาร์คนายเลิศ และเป็นผู้ริเริ่มบริการรถโดยสารประจำทางในไทย (รถเมล์นายเลิศ)
3
โรงน้ำแข็งสยาม หรือ โรงน้ำแข็งนายเลิศ เครดิตภาพ: Facebook @nailertparkheritagehome
โรงน้ำแข็งนายเลิศ ตั้งอยู่ใกล้สะพานพิทยเสถียร หรือซอยเจริญกรุง 26 ในปัจจุบัน (ระหว่าง สี่พระยา กับ ตลาดน้อย) เมื่อเปิดเดินเครื่องทำน้ำแข็ง เป็นสิ่งแปลกใหม่ในยุคนั้น ใครๆก็อยากมาดูการ “ปั้นน้ำเป็นตัว” แบบเห็นกับตา
3
หลังจากโรงน้ำแข็งนายเลิศเริ่มดำเนินกิจการ รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งให้นายเลิศ เป็นผู้ส่งน้ำแข็งในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456
  • บทสรุป:
  • “น้ำแข็ง” หรือ “ปั้นน้ำเป็นตัว” เริ่มเข้ามาให้เห็นในเมืองไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นสินค้านำเข้าราคาสูง รู้จักกันในหมู่ชนชั้นสูงและขุนนางเท่านั้น เรายังผลิตเองในประเทศไม่ได้
1
  • ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีโรงน้ำแข็งในประเทศ แต่เป็นของต่างชาติ ราคายังถือว่าสูงอยู่
1
  • เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 6 โรงน้ำแข็งโดยคนไทยเกิดขึ้นเป็นแห่งแรก และได้รับการส่งเสริมจนเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น นับจากนั้นธุรกิจโรงน้ำแข็งจึงมีการกระจายตัวออกนอกพระนคร และจนพบมากมายในหัวเมืองหรือจังหวัดต่างๆรอบนอกกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา
1
  • ปัจจุบันน้ำแข็งถือว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับสมัยยุคเริ่มแรก เนื่องด้วยโรงน้ำแข็งมีเกิดขึ้นมาก รวมถึงตู้เย็นต่างๆตามบ้านเรือนที่สามารถผลิตน้ำแข็งได้เองแล้ว
1
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
เฟรเดอริค อาร์เธอร์ นีล. (2525). ชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงสยามในทัศนะของชาวต่างประเทศ ระหว่าง พ.ศ. 2383-2384 (ค.ศ. 1840-1841) : Narrative of a Residence in Siam. ลินจง สุวรรณโภคิน ผู้แปล. กรุงเทพฯ : ธนประดิษฐ์การพิมพ์.
คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น (ข่าวสด)
ศิลปวัฒนธรรม ออนไลน์ - https://www.silpa-mag.com/history/article_51395
Facebook @nailertparkheritagehome
โฆษณา