7 พ.ค. 2022 เวลา 13:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔎 [Investment] - ทำความรู้จักกับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond).... ทางเลือกในการลงทุนท่ามกลางเงินเฟ้อ ที่คุณปู่ Warren Buffet แนะนำ
📌 บทความโดย #แอดT-Da #BlockditExclusive
1️⃣ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2021 แต่ยังถูกมองเป็นเรื่องชั่วคราว (Transitory) ในตอนแรก กระทั่งเงินเฟ้อ (Inflation) ได้เร่งตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกมาแสดงความกังวลและส่งสัญญาณเตรียมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ไตรมาส 4/2021 ในเวลาเดียวกันนั้นภาวะเงินเฟ้อในไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูง และนักวิเคราะห์หลายท่านก็มองว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะปัจจัยด้านอุปสงค์ (Demand) ไม่ได้ฟื้นตัวดีเหมือนในสหรัฐฯ จะมีก็เพียงปัจจัยด้านอุปทาน (Supply) ที่ยังไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้จากผลกระทบของ Covid-19
2️⃣ อย่างไรก็ดีภาวะเงินเฟ้อของไทยได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการปะทะกันระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นหลายชนิด ทำให้ราคาสินค้าและบริการในตลาดโลกที่สูงขึ้นเริ่มถูกส่งผ่านมาถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ในเดือน มี.ค. 2022 เพิ่มขึ้น 5.73%YoY สูงสุดในรอบ 13ปี ทำให้กระทรวงพาณชิย์ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของปีนี้ขึ้นเป็น 4%-9% จากเดิมคาดไว้เพียง 0.7%-2.4% นอกจากนี้การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่เดือน พ.ค. นี้จะผลักดันให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1
3️⃣ เมื่อเอ่ยถึงตราสารหนี้ สิ่งแรกที่นักลงทุนทั่วไปจะนึกถึงก็คือ พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชน ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องของผลตอบแทนที่ชัดเจนและมีอัตราคงที่ (ถ้าถือครองจนครบกำหนดไถ่ถอน) และการรักษาเงินต้นไม่ให้สูญหาย (ถ้าผู้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้นมีความมั่นคงพอที่จะชำระหนี้ได้ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ไปเสียก่อน) แม้กระทั่งในตำราเรียน หรือตำราลงทุน ยังมีการเรียกการลงทุนในตราสารหนี้ว่า Fixed Income Investment เลยเสียด้วยซ้ำ
1
4️⃣ ด้วยคุณลักษณะผลตอบแทนคงที่ของตราสารหนี้นี้เอง เป็นสาเหตุที่ทำให้ตราสารหนี้เป็นรูปแบบการลงทุนที่ควรหลีกเลี่ยงในภาวะเงินเฟ้อขาขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon Rate) นั้นถูกกำหนดไว้คงที่ ในขณะที่สินค้าและบริการที่แพงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ทำให้อำนาจซื้อ (Purchasing Power) ลดลง นั่นหมายความว่าอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) จากการถือครองตราสารหนี้นั้นจะลดลงเรื่อยๆ และสามารถติดลบได้ด้วย (Negative Real Yield) หากอัตราเงินเฟ้อพุ่งแรงแซงอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วไป
5️⃣ สำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้ถือครองพันธบัตรหรือหุ้นกู้โดยตรง แต่ลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือ ETFตราสารหนี้ ก็จะประสบภาวะขาดทุนจากมูลค่าหน่วยลงทุนที่ลดลงได้เช่นกัน เพราะตราสารหนี้จะถูกเทขายเพื่อหนีเงินเฟ้อทำให้ราคาตราสารหนี้ที่กองทุนนั้นๆ ถือครองอยู่มีมูลค่าลดลง
6️⃣ หากเรามาวิเคราะห์ในมุมมองของผู้กู้ หรือผู้ออกตราสารหนี้กันบ้าง แน่นอนว่าผู้ที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินในภาวะเงินเฟ้อสูง ก็ไม่อยากจะมีข้อผูกพันที่ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วสูงๆ เป็นระยะเวลานาน เพราะหากเงินเฟ้อปรับลงเมื่อไรก็อยากจะกู้ใหม่ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง
นี่จึงเป็นที่มาของพัฒนาการในผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ที่มีการปรับผลตอบแทนตามเงินเฟ้อ (ILB: Inflation-Linked Bond) เป็นครั้งแรกในปี 1780 โดย Commonwealth of Massachusetts ส่วนประเทศอื่นๆ เริ่มออก Inflation-Linked Bond ในช่วงปี 1960 เป็นต้นมา โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้เริ่มออกพันธบัตรป้องกันเงินเฟ้อ (TIPS: Treasury Inflation-Protected Securities) ในปี 1977 หรือที่นิยมเรียกชื่อย่อว่า TIPS ซึ่งนักลงทุนระดับตำนานอย่างคุณปู่ Warren Buffet ที่ผ่านประสบการณ์ลงทุนในช่วงภาวะเงินเฟ้อมาอย่างโชกโชนก็ได้แนะนำการลงทุนใน TIPS เป็น 1 ใน 6 ข้อแนะนำในการลงทุนเพื่อชนะเงินเฟ้อ*
1
7️⃣ สำหรับประเทศไทย สำนักบริหารหนี้สาธารณะได้ออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (อายุ 10ปี) เป็นครั้งแรกในปี 2011 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ TIPS ของสหรัฐฯ กล่าวคือ มีการจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ซึ่งดอกเบี้ยในแต่ละงวดนั้นจะจ่ายตามอัตราที่กำหนดไว้หน้าตั๋ว บวกด้วยส่วนชดเชยเงินเฟ้อบนดอกเบี้ยที่คำนวณตาม CPI และเมื่อถือครองครบอายุก็จะจ่ายเงินต้น บวกด้วยส่วนชดเชยเงินเฟ้อบนเงินต้นที่คำนวณตาม CPI (โดย CPI ที่ใช้อ้างอิงนั้นคำนวณมาจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปย้อนหลัง 3 เดือน)
ในปัจจุบันนักลงทุนสามารถลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อของไทยได้ผ่านกองทุนรวมเปิดกรุงไทยอ้างอิงเงินเฟ้อ (KTILF) ซึ่งเมื่อเทียบผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี 2021 กับกองทุนเปิดเค พันธบัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ (KGBRMF) ซึ่งลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุใกล้เคียงกัน จะเห็นได้ว่ากองทุนพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อนั้นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า (Outperform) มากกว่า 8% นับตั้งแต่ต้นปี 2021 ที่ผ่านมา (ดูภาพประกอบ)
8️⃣ สำหรับนักลงทุนไทยที่เปิดบริการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ ก็สามารถลงทุนใน TIPS ของสหรัฐฯ ผ่าน ETF ที่ลงทุนใน TIPS ซึ่งมีให้เลือกมากมาย เช่น STIP (iShares 0-5 Year TIPS Bond ETF) เป็นต้น ซึ่งเมื่อเทียบผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี 2021 จนถึงปัจจุบัน (เป็นช่วงที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเรื่อยๆ) กับ ETF ที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน เช่น SQLD (iShares 0-5 Year Investment Grade Corporate Bond ETF) และเทียบกับ ETF ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เช่น SPTI (SPDR Portfolio Intermediate Term Treasury ETF)
1
แล้วจะพบว่า TIPS นั้นให้ผลตอบแทนรวมที่ดีกว่าหุ้นกู้เอกชนกว่า 9% และให้ผลตอบแทนรวมที่ดีกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กว่า 15% เลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ETF ที่ลงทุนใน TIPS นั้นส่วนใหญ่จะมีนโยบายจ่ายปันผล ซึ่งทำให้นักลงทุนไทยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินปันผลจ่าย ทำให้ผลตอบแทนรวม (Total Return) ที่ได้รับจริงนั้นต่ำกว่าที่แสดงในภาพประกอบ
3
9️⃣ อย่างไรก็ตามผลตอบแทนรวมจากการลงทุนใน TIPS นั้นได้ปรับเพิ่มขึ้นมาสูงมากแล้ว ตั้งแต่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ส่อเค้าว่าจะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราว ก็มีเงินลงทุนมหาศาลเทียบกับขนาดตลาดของ TIPS ไหลเข้าไปลงทุนใน TIPS อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2021 ที่ผ่านมาเราจะเริ่มสังเกตุเห็นผลตอบแทนรวมจากการลงทุนใน TIPS เริ่มแกว่งตัวออกด้านข้างตามการคาดการณ์เงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ที่ตลาดมองว่าอาจจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว ดังนั้นตอนนี้อาจจะไม่ใช่จังหวะเข้าลงทุนใน TIPS ที่ดีนัก แต่ถ้าเทียบกับการถือเงินสดหรือการพักเงินไว้ในตราสารหนี้ ก็นับว่า TIPS ยังคงเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจกว่า ในขณะที่เงินเฟ้อของไทยยังมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นต่อ ทำให้การลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อของไทยยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
1
📊 นักลงทุนท่านใดสนใจเข้ามาร่วมกลุ่ม LINE เพื่อศึกษาการลงทุนที่ดีไปกับทีม Trader KP
สามารถติดต่อได้ที่ LINE Official @traderkp (https://lin.ee/a3S9iGv) ได้เลยครับ การลงทุนที่ดีอยู่ห่างจากคุณเพียงไม่กี่คลิก 👍😊
🙏 ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจของเรา ฝากกด Like และ Share เพื่อให้นักลงทุนท่านอื่นได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ 👍😊
#ทันโลกกับTraderKP #T-Da #ลงทุน #เงินเฟ้อ #Buffett #Invest #Inflation
โฆษณา