24 พ.ค. 2022 เวลา 05:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔎 [ANALYSIS] - หุ้นจีนใกล้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง ??? ลองมาวิเคราะห์กันดู
📝 บทความโดยแอด T-Da
หากมองย้อนไปตั้งแต่เชื้อ Covid-19 เริ่มแพร่กระจายเป็นวงกว้างเมื่อต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นช่วงระยะเวลา 2 ปีที่นักลงทุนได้เผชิญกับการแกว่งตัวแบบสุดขั้วทั้งขาขึ้นและขาลงของหุ้นจีน
2
📌 ปี 2020: MSCI China Index (USD) ปรับตัวขึ้น 92% ภายในเวลา 11 เดือน นับจากจุดต่ำสุดในเดือน มี.ค. 2020 (หลังการคลายล็อคดาวน์ Wuhan และเมืองอื่นๆ แม้ว่าห่วงโซ่อุปทานการผลิตและขนส่งสินค้าต่างๆ จะยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบาย Zero-Covid ของจีนอยู่ก็ตาม)
ทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันมาสนใจลงทุนในหุ้นจีนถึงขั้นตั้งคำถามว่าจีนจะแซงสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกเลยทีเดียว แต่แล้วหุ้นจีนก็ปรับตัวลงในต้นปีถัดมา
📌 ปี 2021: MSCI China Index (USD) ปรับลงมา -54% ภายในเวลา 13 เดือน นับจากจุดสูงสุดในเดือน ก.พ. 2021 เพราะถูกรุมเร้าด้วยการคุมเข้มนโยบายของรัฐบาลจีนทั้งในด้านการผูกขาดของบริษัทเอกชน, ด้านอสังหาริมทรัพย์, ด้านสิ่งแวดล้อม, และความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะถอดหุ้นจีนที่ซื้อขายอยู่ในตลาดสหรัฐฯออก (ADR Delisting)
ทำให้หลิวเหอ (Liu He) หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และรองนายกฯ จีน ต้องออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อเช้าวันที่ 16 มี.ค. 2022 เพื่อเน้นย้ำว่าภาครัฐจะดูแลตลาดหุ้นให้มีความราบรื่น ทำให้หุ้นจีนดีดกลับขึ้นมาถึง 29% ภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์
📌 ปี 2022: MSCI China Index (USD) ตั้งแต่ต้นปีนับถึงปัจจุบันก็ยังให้ผลตอบแทน -20% เพราะเชื้อ Covid-19 สายพันธุ์ Omicron ได้แพร่ระบาดในจีนทำให้รัฐตัดสินใจล็อคดาวน์ Shanghai ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจการเงินของประเทศอย่างเข้มงวด ทำให้การผลิตและการบริโภคของจีนได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้ทำให้จีนประกาศคลายล็อคดาวน์ Shanghai วันที่ 1 มิ.ย. นี้ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คล้ายจะเห็นแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์ว่าหุ้นจีนน่าจะใกล้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
การเข้าสะสมหุ้นจีนตอนนี้เป็นจังหวะที่น่าสนใจมากสำหรับนักลงทุนระยะยาว แต่ไม่อาจคาดหวังได้ว่าหุ้นจีนจะปรับขึ้นได้รวดเร็วและรุนแรงเหมือนช่วงต้นปี 2020 รอบนี้อาจต้องใช้ความอดทนรอกันพอสมควร
ที่สำคัญคือต้องดูสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมและเงินสดในมือด้วยว่ามีเพียงพอที่จะทยอยแบ่งซื้อได้กี่ครั้ง ครั้งละเท่าไร เพราะการที่จะซื้อหุ้นให้ได้ที่จุดต่ำสุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับหุ้นจีนที่นักลงทุนต้องติดตามมีดังนี้
1
🔼 ปัจจัยบวก
1️⃣ จีนยังไม่ละเป้าหมาย 5% GDP growth สำหรับปีนี้ - จากการประชุม Politburo เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้กำหนดนโยบายระดับสูง 25คน ของจีน สรุปว่าจะมีการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะ
+ เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ (domestic consumption)
+ เพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรด้านสาธารณูปโภค (infrastructure FAI) จากเป้าเดิมที่จะเติบโต 5-10%YoY เป็น 10-15%YoY
+ ผ่อนคลายสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ปรับลด 5-Year LPR (Loan Prime Rate) ลงจาก 4.6% มาเป็น 4.45% สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกเท่านั้น เพราะยังเน้นดูแลอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ไม่สนับสนุนการเก็งกำไร
+ สนับสนุนการพัฒนา Platform Companies (บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าของออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ) ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก เป็นการเน้นย้ำว่าการจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยีได้ผ่านจุดที่เข้มงวดที่สุดไปแล้ว
1
+ ดูแลเสถียรภาพของตลาดทุนไม่ให้เกิดความผันผวนมากเกินไป
2️⃣ จีนมีการส่งสัญญาณการเปลี่ยนทิศของนโยบายว่าจะมีการผ่อนคลายความเข้มงวดในด้านต่างๆ มาตั้งแต่ปลายปี 2021 โดยสังเกตุได้จาก
+ การประชุม Politburo รอบวันที่ 6 ธ.ค. 2021 ไม่มีการพูดถึงประเด็นการป้องกันการผูกขาด (Anti-Monopoly) แล้ว
+ การประชุม NDRC (คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน) เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2022 ที่ผ่านมา Han Wenxiu (มือขวาของ Liu He) บอกว่าการควบคุมการขยายตัวของเงินทุนอย่างไม่เหมาะสมได้มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญเพียงพอแล้ว
3️⃣ หุ้นจีนจะปรับตัวกลับขึ้นมาในปีถัดมาหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายนโยบายลง - ประวัติศาสตร์บอกว่าการปรับตัวลงของหุ้นจีนอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 10ปีล่าสุดนี้ ล้วนมีสาเหตุมาจากการคุมเข้มด้านนโยบายของรัฐบาลหนักเกินไป (overdone) ทั้งสิ้น แล้วมาผ่อนคลายทีหลังเมื่อผลกระทบด้านเศรษฐกิจรุนแรงเกินคาด
2
ปี 2011: MSCI China Index (USD) ผลตอบแทน -18%, ปี 2012 ผลตอบแทน +19%
ปี 2018: MSCI China Index (USD) ผลตอบแทน -19%, ปี 2019 ผลตอบแทน +24%
ปี 2021: MSCI China Index (USD) ผลตอบแทน -22%, ปี 2022 ผลตอบแทน ???
4️⃣ มูลค่าพื้นฐานของหุ้นจีนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติค่อนข้างมากแล้ว มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้ - เมื่อพิจารณาค่า P/E Ratio ของหุ้นจีนทั้งในตลาดฮ่องกง (H-Share) และจีนแผ่นดินใหญ่ (A-Share) ณ ปัจจุบันพบว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 1S.D. (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ซึ่งตามสถิติในอดีต ราคาหุ้นมีโอกาสลงต่อได้อีกไม่มาก ในขณะที่มีโอกาสจะกลับตัวเพิ่มขึ้นได้มากกว่า
+ Hang Seng Index P/E Ratio อยู่ที่ระดับ 9.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10ปี ที่ 10.9 เท่า และเข้าใกล้ระดับ -1S.D. ที่ 8.7 เท่า
1
+ Shanghai Composite Index P/E Ratio อยู่ที่ระดับ 11.9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10ปี ที่ 14.1 เท่า และเข้าใกล้ระดับ -1S.D. ที่ 10.8 เท่า
5️⃣ สหรัฐฯ อาจพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนบางรายการเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ - ภาษีนำเข้าที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นในสมัยของประธานาธิบดี Donald Trump กำลังจะต้องพิจารณาต่ออายุในเดือน ก.ค. นี้ หากมีการปรับลดภาษีนำเข้าลงก็จะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าของจีน
🔽 ปัจจัยเสี่ยง
1️⃣ จีนยังไม่ละทิ้งนโยบาย Zero-Covid แม้ทราบดีว่าอาจทำให้ GDP จีนเติบโตไม่ถึงเป้า - ซึ่งการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และบอกไม่ได้ว่าจะมีการระบาดระลอกใหม่อีกหรือไม่ อย่างที่หลายๆ ประเทศ (กระทั่งว่าฉีดวัคซีน mRNA กันไปเป็นจำนวนมากกว่าจีนแล้วด้วยซ้ำ) ได้เผชิญกันมาแล้ว
2️⃣ นักวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในจีนไม่ค่อยดีนัก - เพราะได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ ซึ่งอาจะส่งผลทำให้ค่า P/E Ratio ของหุ้นจีนยังมีโอกาสปรับลดลงได้อีก
3️⃣ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้เพิ่มอีก - เมื่อ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา Sunac ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์อันดับ 4 ของจีน ได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้มูลค่า 29.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ Goldman Sachs ประเมินว่าราว 1ใน3 ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ออกหุ้นกู้ดอกเบี้ยสูง (High-Yield China Property Firms) จำนวน 22 บริษัท มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ในปีนี้
4️⃣ การกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม ยังคงอยู่ในแผนนโยบายระยะยาวของจีน - ดังนั้นเมื่อแรงกดดันด้านเศรษฐกิจเบาลง การควบคุมกฏระเบียบต่างๆ ก็อาจกลับมาได้ในอนาคต
1
5️⃣ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของจีนกับไต้หวัน และบริเวณทะเลจีนใต้ - หากจีนมีการทำสงครามคล้ายกรณีรัสเซีย-ยูเครน อาจทำให้กองทุนและนักลงทุนในหลายประเทศมีนโยบายหลีกเลี่ยงการลงทุนในจีนได้
1
นอกจากปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนพึงระวัง เพราะการดำเนินนโยบายด้านการเงินแบบผ่อนคลายของจีนที่สวนทางกับสหรัฐฯ ยุโรป และอีกหลายประเทศ จะทำให้เกิด Currency Carry Trade ทำให้เกิดกระแสเงินไหลออกจากตลาดเงินและตลาดพันธบัตรจีน เพื่อไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศอื่น และทำให้ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าได้
1
ดังนั้นหากนักลงทุนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedged) ด้วย
Reference: State of China's economy, H-Share Valuation & A-Share Valuation: Macquarie Research 4 May 2022
🔔 ทางเพจจะคอยนำข่าวสารการลงทุนที่ "ทันโลก" มาฝากทุกท่านเสมอ
🙏 ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจของเรา ฝากกด Like และ Share เพื่อให้นักลงทุนท่านอื่นได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ 👍😊
#ทันโลกกับTraderKP #BlockditExclusive
โฆษณา