1 ก.ค. 2022 เวลา 09:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔎 [INVESTMENT] - ช่องทางการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ และสิ่งที่นักลงทุนควรรู้ก่อนเริ่มลงทุน
บทความโดย T-Da
การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Trading) โดยเฉพาะสินค้าเกษตรนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่เติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาของอารยธรรมมนุษย์ ซึ่งได้พัฒนาขึ้นมาเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Exchange) แห่งแรกของโลก คือ Japan Rice Exchange ในช่วงปี 1700s นับว่าเริ่มต้นก่อนตลาดหุ้น (Stock Exchange) ที่เราคุ้นเคยกันดีหลายร้อยปีเลยทีเดียว
โดยในอดีตการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์มักจะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เฉพาะทาง แต่ในปัจจุบันนี้สินค้าโภคภัณฑ์หลากหลายชนิดเข้ามาซื้อขายในรูปแบบของสัญญาฟิวเจอร์ส (Futures) และออพชั่น (Options) กันอย่างแพร่หลายในตลาดหลักๆ เช่น CME ,NYMEX ,ICE ,LME
โดยทั่วไปแล้วสินค้าโภคภัณฑ์จะถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่มี "ความเสี่ยงสูง" เพราะความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละชนิดขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทาน (Demand-Supply) ของสินค้าชนิดนั้นๆ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสิ่งที่คาดเดาได้ยาก เช่น สภาพภูมิอากาศ, โรคระบาด, ภัยธรรมชาติ, เทคโนโลยีการผลิตใหม่, และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
1
อย่างไรก็ดีสินค้าโภคภัณฑ์นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์เราจำเป็นต้องกินต้องใช้ จึงเป็นช่องทางที่สำคัญในการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ และบ่อยครั้งที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับขึ้นได้ต่อเนื่องอีกหลายเดือนหลังจากที่ตลาดหุ้นเข้าสู่ Bear Market ไปแล้ว จึงค่อยปรับลงตามเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในระดับที่ทำให้ผู้บริโภคมีความจำเป็นต้องลดการบริโภคลงจริงๆ
📌 สินค้าโภคภัณฑ์ 3 กลุ่มหลักที่นักลงทุนควรรู้จัก ได้แก่
1️⃣ กลุ่มพลังงาน (Energy)
จัดว่าเป็นสินค้าที่คนทั่วไปคุ้นเคยโดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มพลังงานที่มีปริมาณซื้อ-ขายในตลาดสูงและเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ WTI Crude (น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส), Natural Gas (ก๊าซธรรมชาติ), และ Brent Crude (น้ำมันดิบเบรนท์) เป็นต้น
ปัจจัยที่มีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ได้แก่
ด้านอุปทาน (Supply) - การผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค (OPEC), เทคโนโลยีการขุดเจาะพลังงานฟอสซิล เช่น Shale oil/gas extraction, เทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน, ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น Russia-Ukraine, ภูมิอากาศ เช่น พายุเฮอริเคนที่พัดผ่านบริเวณแท่นขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น
ด้านอุปสงค์ (Demand) - นโยบายด้านพลังงานทดแทนของภาครัฐ, การเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น ในกรณีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) ความต้องการใช้พลังงานจะมีแนวโน้มลดลงไปตามปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย
2️⃣ กลุ่มโลหะ (Metal)
มีทั้งโลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรม (Industrial Metal) เช่น Copper (ทองแดง), Aluminium และโลหะมีค่า (Previous Metal) เช่น Gold (ทองคำ), Silver (เงิน), Platinum (แพลตินัม) ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการลงทุนในทองคำ เพราะเป็นสินทรัพย์ยอดนิยมในการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนในช่วงตลาดหุ้นขาลง ในฐานะที่เป็นสินทรัพย์หลบภัย (Safe Haven Assets) จากภาวะเงินเฟ้อและการด้อยค่าของสกุลเงิน
3️⃣ กลุ่มเกษตร (Agriculture)
เป็นสินค้าจำเป็นในการดำรงชีพ แม้แต่ในไทยเองก็มีตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เช่น ข้าว และยางพารา ส่วนในตลาดโลกก็มีสินค้าเกษตรที่มีปริมาณซื้อ-ขายในตลาดเป็นจำนวนมาก เช่น Corn (ข้าวโพด), Soybean (ถั่วเหลือง), Wheat (ข้าวสาลี), Sugar (น้ำตาล) เป็นต้น
ปัจจัยที่มีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ได้แก่
ด้านอุปทาน (Supply) - ภูมิอากาศ เช่น ปริมาณน้ำฝน/อุณหภูมิ/El Nino/La Nina ที่เกิดในฤดูกาลเพาะปลูก, ราคาปุ๋ย, นโยบายจำกัดการส่งออกของภาครัฐในบางช่วง เป็นต้น
ด้านอุปสงค์ (Demand) - นโยบายด้านพลังงานทดแทนของภาครัฐ เช่น Biofuel, การเติบโตของจำนวนประชากร, การเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น ในกรณีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรจะมีแนวโน้มลดลงด้วย
ผู้เล่นในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์นั้นมีทั้งผู้เล่นเชิงพาณิชย์ (Commercial Players) เช่น ผู้ผลิต หรือผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดนั้นๆ ที่เข้ามาซื้อขายและต้องการรับมอบสินค้าจริง (Physical Delivery) ทั้งในรูปแบบ spot (ซื้อขายส่งมอบทันที) และแบบ forward (ซื้อขายล่วงหน้า ส่งมอบในอนาคต) ก็สามารถใช้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า (Commodity Futures) ที่ซื้อขายกันอยู่ใน Commodity Exchange ต่างๆ เป็นราคาอ้างอิงในการซื้อขายหรือบริหารความเสี่ยง (Hedging) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์ (non-Commercial Players) เช่น กองทุนเก็งกำไร (Hedge Funds), กองทุนรวม (Mutual Funds), กองทุน ETFs เป็นต้น
📌 สำหรับนักลงทุนทั่วไป สามารถเข้าถึงการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ได้หลากหลายช่องทาง เช่น Futures, Options, ETF และกองทุนรวม ซึ่งแต่ละช่องทางก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน สรุปเบื้องต้นได้ดังนี้
1️⃣ Futures
การลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์สนั้นมีข้อดีที่สำคัญ คือ ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้งในตลาดขาขึ้นและขาลง โดยจะเปิดสถานะซื้อล่วงหน้า (long) หรือขายล่วงหน้า (short) ก็ได้ สามารถซื้อขายได้แบบ Real-Time นอกจากนี้อัตราค่าธรรมเนียมซื้อขายก็ถูก (เมื่อคิดเป็น % ของมูลค่าซื้อขาย) และสามารถเริ่มซื้อขายได้โดยการวางเงินประกันเริ่มต้น (Initial Margin) ตามข้อกำหนดของตลาด แทนที่จะต้องมีเงินซื้อขายเต็มมูลค่าที่ต้องการซื้อหรือขาย
ในมุมกลับกัน ข้อเสียของการลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์ส คือ การหมดอายุสัญญาที่ผู้ลงทุนต้องตัดสินใจว่าจะปิดสถานะสัญญาหรือทำการ Rollover ต่อไปในสัญญาที่ยังไม่หมดอายุ ซึ่งอาจจะยุ่งยากสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีประสบการณ์ลงทุนในสัญญาประเภทนี้
นอกจากนี้มูลค่าหน่วยซื้อขายขั้นต่ำ (minimum lot size) ต่อหนึ่งสัญญา (contract unit) ของสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่น WTI crude จำนวนหนึ่งสัญญานั้นมีขนาด 1,000 บาร์เรล สมมติว่าราคาน้ำมันอยู่ที่ $100 ต่อบาร์เรล ก็หมายความว่ามูลค่าต่อหนึ่งสัญญาจะสูงถึง $100,000 หรือประมาณ 3.5 ล้านบาทเลยทีเดียว แม้จะไม่ต้องวางเงินประกันเต็มมูลค่าก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่นักลงทุนรายย่อยทั่วไปจะทยอยเข้าซื้อขายได้
นอกจากนี้ในกรณีที่ราคาเปลี่ยนแปลงไปทำให้มูลค่าเงินลงทุนที่เหลืออยู่ลดลงจนถูกเรียกให้วางเงินประกันเพิ่ม (Margin Call) นักลงทุนก็ต้องมีการวางเงินประกันเพิ่มเพื่อรักษาสถานะการลงทุน (Maintenance Margin) อีกด้วย
อย่างไรก็ดีในปัจจุบัน Commodity Exchange หลายแห่งก็ได้มีการพัฒนาสัญญาฟิวเจอร์สขนาดเล็กออกมา เช่น e-mini Crude Oil Futures ซึ่งจำนวนหนึ่งสัญญานั้นมีขนาด 500 บาร์เรล ก็ช่วยเปิดโอกาสในนักลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น แต่สภาพคล่องก็จะต่ำกว่าสัญญาฟิวเจอร์สหลักที่เป็นที่นิยมซื้อขายกัน
2️⃣ Options
การลงทุนในสัญญาออพชั่นหรือสิทธิ์ในการซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Assets) ซึ่งเป็น Commodity Futures ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ในด้านออพชั่น ซึ่งสามารถลงทุนได้ทั้งในตลาดขาขึ้นและขาลง โดยจะเปิดสถานะซื้อหรือขาย Call Options หรือ Put Options ก็ได้ โดยจะมี Strike Price มาตรฐานให้ซื้อขายได้แบบ Real-Time ซึ่งข้อดีข้อเสียอื่นๆ ในด้านของมูลค่าซื้อขายขั้นต่ำ การวางเงินประกัน การหมดอายุสัญญา ก็มีลักษณะเดียวกับสัญญาฟิวเจอร์สที่ได้กล่าวไปแล้ว
3️⃣ หุ้นของบริษัทที่ลงทุน/มีความเกี่ยวเนื่องในสินค้าโภคภัณฑ์
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุนที่ Warren Buffet เองก็เลือกใช้ เช่น การเข้าซื้อหุ้นบริษัท Barrick Gold ที่ทำเหมืองทองคำในแคนาดาแทนการซื้อ Gold Futures และการเข้าซื้อหุ้นบริษัท Occidental Petroleum ที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ แทนการซื้อ Crude Oil Futures เป็นต้น
โดยกลุ่มสินค้าเกษตรเองก็มีบริษัทที่ทำธุรกิจเกษตรและราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงสองปีที่ผ่านมาซึ่งช่วย Hedge against inflation ได้เป็นอย่างดี เช่น บริษัท ADM (Archer-Daniels-Midland) ในสหรัฐฯ และบริษัท Grain Corp ในออสเตรเลีย เป็นต้น
ข้อดีของการซื้อหุ้นของบริษัทที่มีความเกี่ยวเนื่องหรือลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อีกทอดหนึ่งนั้น คือความผันผวนของราคาหุ้นมักจะต่ำกว่าความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และนักลงทุนส่วนใหญ่ก็มีความคุ้นเคยกับการถือหุ้นที่ไม่ต้องกังวลเรื่องวันหมดอายุสัญญา หรือการวางเงินประกัน นอกจากนี้ยังเลือกที่จะลงทุนใน Single Stock Options บนหุ้นของบริษัทเหล่านี้ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดีการลงทุนในลักษณะนี้ นักลงทุนต้องทำการบ้านเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ เป็นอย่างดีก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบของราคาสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละชนิดต่อผลประกอบการและราคาหุ้นของบริษัทนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง และต้องระมัดระวังถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เฉพาะตัวบริษัทนั้นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย เช่น ฐานะทางการเงินของบริษัท ความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม รวมถึงนโยบายภาครัฐของประเทศที่บริษัทนั้นมีการประกอบกิจการอยู่ เป็นต้น
4️⃣ ETFs (Exchange Traded Funds)
นักลงทุนสามารถซื้อขาย ETFs ผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนกับการซื้อหุ้นทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันก็มี ETFs ที่ลงทุนใน Commodity เฉพาะประเภทสินค้า หรือลงทุนเป็นกลุ่มสินค้าในลักษณะของ Index ก็มีให้เลือกเช่นกัน
โดยผู้จัดการกองทุน ETFs อาจนำเงินไปลงทุนใน Commodity Futures หรือลงทุนใน Physical Commodity จริงแล้วถือเก็บไว้ก็ได้ เช่น GLD (SPDR Gold Trust - ตลาด ARCA) ซึ่งมีการซื้อทองคำเก็บไว้จริงๆ, DBO (Invesco DB Oil Fund - ตลาด ARCA) ลงทุนใน WTI crude Futures, DBA (Invesco DB Agriculture Fund - ตลาด ARCA) ลงทุนในสินค้าเกษตรและปศุสัตว์หลายชนิดในลักษณะของ Index
ข้อดีของการลงทุนใน Commodity ETFs คือ ความสะดวกในการซื้อขายเหมือนกับหุ้น ที่มีผู้บริหารกองทุนคอยจัดการเรื่องการจัดเก็บสินค้าจริง หรือจัดการเรื่องวันหมดอายุสัญญาแทนเรา นอกจากนี้ยังสามารถลงทุนในลักษณะของ Index ที่ประกอบด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งกลุ่มแทนการลงทุนเป็นรายสินค้าก็ได้ และเงินลงทุนเริ่มต้นต่อหน่วยก็ต่ำกว่าการไปลงทุนใน Commodity Futures โดยตรง
ข้อควรระวังที่นักลงทุนควรทราบสำหรับการลงทุนใน Commodity ETFs คือการที่ผู้จัดการกองทุนต้องทำการ Rollover เพื่อต่ออายุสถานะการลงทุนโดยการปิดสถานะสัญญาที่จะหมดอายุโดยการขายออก และไปเปิดสถานะใหม่ในสัญญาที่มีอายุยาวกว่าโดยการซื้อเข้าใหม่ โดยในกรณีที่ราคาของสัญญาฟิวเจอร์สที่มีกำหนดส่งมอบในระยะใกล้ ต่ำกว่าราคาของสัญญาฟิวเจอร์สที่มีกำหนดส่งมอบในระยะไกล จะทำให้เกิดลักษณะของ Forward Curve (การเอาราคาของสัญญาฟิวเจอร์สแต่ละเดือนมา plot ต่อกัน) ที่เรียกว่า Contango
ยกตัวอย่าง CBOT Wheat Futures ในปัจจุบัน ที่ราคาสัญญาฟิวเจอร์สส่งมอบ Jul/22 อยู่ที่ 927 USc/bu ในขณะที่ราคาสัญญาฟิวเจอร์สส่งมอบ Sep/22 อยู่ที่ 942 USc/bu หากผู้จัดการกองทุน ETF มีสถานะซื้อ CBOT Wheat Futures ส่งมอบ Jul/22 ซึ่งใกล้จะหมดอายุแล้วต้องการ Rollover ก็จะต้องขายที่ราคา 927 USc/bu แล้วเมื่อไปซื้อใหม่เป็น CBOT Wheat Futures ส่งมอบ Sep/22 ที่ราคา 942 USc/bu ก็จะซื้อได้ในปริมาณที่น้อยลง เพราะราคาสูงขึ้น ทำให้เกิดผลขาดทุนสำหรับนักลงทุนที่ถือครอง ETF นั้นอยู่
อย่างไรก็ตามผู้จัดการกองทุนต่างก็มีเทคนิคหรือวิธีการในการลงทุนที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจเลือกลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์สที่ส่งมอบคนละเดือน หรือมีการจับจังหวะการ Rollover ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ก็สามารถทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนของ ETFs แต่ละกองแตกต่างกันได้แม้ว่าจะลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดเดียวกันก็ตาม
เช่น USL ETF (United States 12-month Oil), DBO ETF (Invesco DB Oil Fund), และ USO Fund (United States Oil Fund) ทั้ง 3 กองทุนต่างก็ลงทุนใน WTI crude Futures เหมือนกัน แต่ต่างกันที่สัญญาฟิวเจอร์สที่ถือครองในกำหนดเวลาส่งมอบที่ต่างกันด้วยสัดส่วนต่างๆ ทำให้ผลตอบแทนของ USL ETF และ DBO ETF ทำได้ดีกว่า USL ETF มาก
5️⃣ กองทุนรวม (Mutual Funds)
ส่วนใหญ่แล้วกองทุนรวมทั่วไปจะไม่ลงทุนใน Commodity Futures หรือ Physical Commodity โดยตรง แต่จะเป็นการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ลงทุน/มีความเกี่ยวเนื่องในสินค้าโภคภัณฑ์ หรือลงทุนใน Commodity ETFs อีกทอดหนึ่ง ทำให้มีข้อเสียเปรียบในด้านของค่าธรรมเนียมการซื้อขายและค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนรวมที่แพงกว่าทางเลือกในการลงทุนอื่นๆ ที่กล่าวไปข้างต้น
อีกทั้งยังไม่สามารถซื้อขายได้แบบ Real-time อีกด้วย นอกจากนี้กองทุนรวมที่ลงทุนใน Commodity ETFs ก็จะมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องของการ Rollover ตาที่ได้อธิบายไปข้างต้นแล้วด้วย
อย่างไรก็ดีการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านกองทุนรวมก็มีข้อดีในด้านของความสะดวกในการลงทุนผ่าน บลจ.ในประเทศ ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นต่อหน่วยที่ต่ำ สภาพคล่องในการซื้อขายที่ดี มีผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพคอยช่วยดูแลกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเข้าไปในกองทุนรวมให้เราได้ และบางกองทุนก็มีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้ด้วย
🔎 ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดให้ผลตอบแทนที่ดีมาก ในขณะที่ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรต้องเผชิญกับความผันผวนเป็นอย่างมากและให้ผลตอบแทนที่ไม่ดี
ดังนั้นการศึกษาหาความรู้ในการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ไว้ย่อมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะสามารถช่วยบริหารความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนและเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างดี ซึ่งช่องทางการลงทุนก็ถูกพัฒนาให้หลากหลายขึ้น ทำให้นักลงทุนทั่วไปมีโอกาสเข้าถึงการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ได้มากขึ้นด้วย
#ทันโลกกับTraderKP #BlockditExclusive #TDa
โฆษณา