15 มิ.ย. 2022 เวลา 06:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔎 [ANALYSIS] - เรียนรู้จุดสิ้นสุดของ Bull Market และภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา... เพื่อรับมือกับอนาคต !
📝 บทความ โดย #แอดTDa
1️⃣ ทำความรู้จักกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและภาวะตลาดขาขึ้น/ขาลง
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2022 สหรัฐฯ ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส1/22 ออกมาติดลบถึง 0.4%QoQ สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเติบโต ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในอีก 1-2ปีข้างหน้า ถูกพูดถึงบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
เพราะเมื่อใดที่ GDP ติดลบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ไตรมาสนั้นก็จะเข้านิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ทันทีซึ่งเป็นนิยามที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะคำนวณได้ง่าย
อย่างไรก็ดีวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) รวมถึงช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) ของสหรัฐฯ ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการนั้นไม่ได้ใช้นิยามเดียวกับ Technical Recession แต่จะยึดตามที่คณะกรรมการกำหนดช่วงเวลาตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (Business Cycle Dating Committee) ของ NBER (National Bureau of Economic Research) เป็นผู้ชี้บ่งตามนิยาม
ซึ่งประกอบไปด้วยดัชนีชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายด้านที่มีความถี่ของข้อมูลเป็นรายเดือน (เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าตัวเลข GDP ที่ประกาศรายไตรมาส) และต้องดูระดับความลึกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงเป็นองค์ประกอบด้วย
ภาวะตลาดกระทิง (Bull Market) ใช้เรียกช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวเป็นขาขึ้นมากกว่า 20% อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน มักจะเกิดขึ้นในช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจขยายตัว (Expansionary Phase) ในทางตรงกันข้าม ภาวะตลาดหมี (Bear Market) ใช้เรียกช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวเป็นขาลงมากกว่า 20%
ซึ่งภาวะ Bear Market นี้มักจะเกิดขึ้นทุกๆ 5-6ปี โดยปัจจุบันดัชนี S&P500 ได้ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือน ม.ค. 2022 เกินกว่า 20% เข้าสู่ภาวะ Bear Market แล้ว
2️⃣ ย้อนดูการเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.1872-ปัจจุบัน)
สิ่งที่นักลงทุนอยากรู้ในตอนนี้ คือ จุดสิ้นสุดของ Bull Market (หรือจุดเริ่มต้นของ Bear Market) นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไร? ในขณะเดียวกับที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะ Recession เมื่อไร ?
ทำให้นักลงทุนที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ลงทุนในช่วงตลาดหุ้นขาลงแบบยาวนานมาก่อน อาจเข้าใจไปว่า Bear Market นั้นจะเริ่มขึ้นพร้อมกับ Economic Recession ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในช่วง 150ปีที่ผ่านมาบอกว่าปรากฏการณ์ทั้ง 2 นี้มักจะไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน !?! และเมื่อตลาดกลับตัวเข้าสู่ Bull Market ก็มักจะไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับการสิ้นสุดลงของ Economic Recession เช่นกัน !?!
ตลาดหุ้นมีการเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักรขึ้น-ลง ซึ่งในช่วง150 ปีที่ผ่านมาเราได้เจอกับภาวะ Long-Term Bull Market รอบใหญ่ๆ ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถึง 5ครั้ง และเมื่อจบรอบขาขึ้นก็จะตามมาด้วยภาวะ Bear Market ทุกครั้ง
โดยจุดเริ่มต้นของ Bull Market นั้นมักจะเกิดในช่วงที่มูลค่าหุ้น (stock valuation) อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งในที่นี้เราจะใช้ค่า Shiller P/E Ratio เป็นดัชนีชี้วัดแทน P/E Ratio ธรรมดา เพราะมีการปรับมูลค่าหุ้นด้วยเงินเฟ้อ (inflation adjusted) ให้เป็นมูลค่าที่แท้จริง (real price) และใช้กำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 10ปี เพื่อตัดทอนความผันผวนที่เกิดในแต่ละปีออกไป
3️⃣ สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Long-Term Bull และ Bear Markets ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา (ภาพประกอบ 2)
📌 ผลตอบแทนแท้จริงของดัชนี S&P500 (inflation adjusted)
เฉลี่ย +457% ในช่วง Long-Term Bull Market Cycles ทั้ง 5 ครั้ง โดยแต่ละครั้งกินเวลา 19ปีโดยเฉลี่ย
เฉลี่ย -66% ในช่วง Long-Term Bear Market Cycles ทั้ง 4 ครั้ง โดยแต่ละครั้งกินเวลา 13ปีโดยเฉลี่ย
ปัจจุบัน +371% นับตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งยังนับว่าอยู่ใน Long-Term Bull Market Cycles ครั้งที่ 5
📌 ค่า Shiller P/E Ratio ของดัชนี S&P500 เฉลี่ย
เฉลี่ย 9.05 เท่า ณ จุดเริ่มต้นของ Long-Term Bull Market Cycles ทั้ง 5 ครั้ง
เฉลี่ย 28.12 เท่า ณ จุดเริ่มต้นของ Long-Term Bear Market Cycles ทั้ง 4 ครั้ง
ปัจจุบันอยู่ที่ 32.33 เท่าซึ่งนับว่าสูงเป็นอันดับ 2 ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา
4️⃣ ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะถดถอย (Recession) ทั้งหมด 30 ครั้ง (ตามข้อมูลของ NBER ดูภาพประกอบ 3)
📌 15 ครั้งแรก เกิดขึ้นในช่วง 56ปีแรก (1872 - 1928) หรือเกิดทุก 3.7 ปีโดยเฉลี่ย และแต่ละครั้งกินเวลา 21 เดือนโดยเฉลี่ย
📌 15 ครั้งถัดมา เกิดขึ้นในช่วง 94ปีหลัง (1929 - ปัจจุบัน) หรือเกิดทุก 6.3 ปีโดยเฉลี่ย และแต่ละครั้งกินเวลา 13 เดือนโดยเฉลี่ย
จะสังเกตุได้ว่าความถี่และระยะเวลาของการเกิด Economic Recession แต่ละครั้งนั้นลดลง นั่นก็เป็นเพราะวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต ทำให้ภาคเอกชนพยายามผลักดันให้มีระบบควบคุมส่วนกลางเพื่อช่วยดูแลปัญหา
1
จึงเป็นที่มาของการตรารัฐบัญญัติธนาคารกลาง และถูกบังคับใช้เป็นกฏหมายเมื่อเดือน ธ.ค. 1913 เกิดเป็นระบบธนาคารกลางของสหรัฐฯ ซึ่งเราเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า Fed (The Federal Reserve System) ขึ้นมานั่นเอง
อย่างไรก็ดี Fed เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดเงินในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และเริ่มใช้เครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า Open Market Operation ในช่วงปี 1923 ก่อนที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะถอดถอยที่รุนแรงและยาวนานจนได้ชื่อว่า "The Great Depression" ในช่วงปี 1929-1933
หลังจากนั้นมาเกือบหนึ่งศตวรรษ Fed ก็ได้ใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ออกมามากขึ้น ทำให้การเกิด Economic Recession นั้นลดความถี่และระยะเวลาลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นเราจะมุ่งเป้าศึกษาข้อมูลเฉพาะในช่วงปี 1929 - ปัจจุบัน ซึ่งมี Economic Recession ทั้งหมด 15ครั้ง
2
📌 ผลตอบแทนของดัชนี S&P500 จากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุดในช่วงใกล้เคียงกับที่เกิด Economic Recession ในแต่ละครั้ง ปรับลดลงโดยเฉลี่ย 35% โดยมี 3 ครั้งที่ปรับลดลงน้อยกว่า 20% และปรับลดลงมากที่สุด 84% ในช่วง The Great Depression
📌 โดยส่วนใหญ่แล้ว (12ครั้งจาก 15ครั้ง) ดัชนี S&P500 จะปรับลงจากจุดสูงสุดก่อนที่จะเกิด Economic Recession ในแต่ละครั้งเป็นระยะเวลา 6 เดือนโดยเฉลี่ย และให้ผลตอบแทน -10% โดยเฉลี่ยในช่วงก่อนที่จะเกิด Economic Recession
📌 ช่วงระหว่างที่เกิด Economic Recession มักจะเป็นช่วงที่ดัชนี S&P500 ปรับลดลงมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็มักจะผ่านจุดต่ำสุดได้ก่อนจะถึงจุดจบของ Economic Recession เช่นกัน โดยมีเพียง 3 ครั้งจาก 15ครั้ง ที่ดัชนี S&P500 มีการปรับตัวลดลงต่อจากจุดสิ้นสุดของ Economic Recession
📌 พบความสัมพันธ์ว่า หากระยะเวลาของ Economic Recession ยิ่งยาวนาน จะยิ่งทำให้การปรับลดลงของดัชนี S&P500 นั้นลึกขึ้น
📌 นอกจากนี้หากมูลค่าหุ้น (ดูจากค่า Shiller P/E Ratio) ณ จุดสูงสุดของดัชนี S&P500 ยิ่งมีค่าสูง จะยิ่งทำให้การปรับลดลงของดัชนี S&P500 นั้นลึกขึ้น
5️⃣ มองไปข้างหน้า เตรียมรับมืออนาคต
หากพิจารณาจากบริบทในปัจจุบันของมูลค่าหุ้น (ค่า Shiller P/E Ratio) และภาวะเงินเฟ้อ (>8%) จะพบว่ามีความใกล้เคียงกับ Economic Recession ในอดีตอยู่ 2 ครั้ง (ดูภาพประกอบที่ 3 และ 4) ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันทั้งในด้านของ Lead Time (ช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นปรับลงจากจุดสูงสุดก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ Economic Recession) ที่ราว 10-11 เดือน และผลตอบแทนของดัชนี S&P500 จากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุดที่ติดลบประมาณ 50%
(5.1) The dot-com bubble (ช่วงมี.ค.-พ.ย.2001) ค่า Shiller P/E Ratio ไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 43.77 เท่า และตลาดหุ้นเริ่มเข้าสู่ Bear Market ล่วงหน้าถึง 11 เดือน ก่อนที่จะเกิด Economic Recession แล้วดัชนี S&P500 ยังปรับตัวลงต่อเนื่องไปอีก 12 เดือน หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ พ้นจากภาวะ Economic Recession ไปแล้ว
รวมแล้วให้ผลตอบแทนจากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุดติดลบประมาณ 50% จึงจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้
(5.2) The double-digit inflation (ช่วง พ.ย.1973 - มี.ค.1975) เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นจากราคาอาหาร พลังงาน และค่าจ้างแรงงาน ทำให้ดัชนี S&P500 เข้าสู่ Bear Market ก่อนหน้าที่จะเกิด Economic Recession ถึง 10 เดือน แต่เมื่อตลาดปรับลดลงไปจากจุดสูงสุดประมาณ 50% แล้วก็เริ่มฟื้นตัวกลับจากจุดต่ำสุดได้ โดยตลาดหุ้นเริ่มเข้าสู่ Bull Market ก่อนหน้าที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะพ้นจากภาวะถดถอยได้ถึง 6 เดือน
นอกจากเทียบเคียงกับภาพในอดีตแล้ว เมื่อนำค่า Shiller P/E Ratio ณ ปัจจุบันที่ 32.33 เท่า มาคำนวณตามสถิติในอดีต จะพบว่าดัชนี S&P500 มีโอกาสจะปรับตัวลงจากจุดสูงสุดได้ในกรอบ 40%-60% สอดคล้องกับข้อมูลทั้ง 2 ครั้งข้างต้น
4
ดังนั้นนักลงทุนควรเตรียมตัวรับมือให้ดี เพราะ ณ ปัจจุบัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจจะพ้นจุดสูงสุดของ Bull Market และเข้าสู่ Bear Market แล้วก็เป็นได้ ซึ่งในช่วงตลาดขาลงนี้มักจะมี Bear Market Rally (การปรับขึ้นในช่วงสั้นๆ ภายใต้แนวโน้มใหญ่ที่ยังเป็นขาลง) ที่จะเป็นจังหวะให้แบ่งขายมากกว่าที่จะเป็นจังหวะเข้าซื้อ
6️⃣ นักลงทุนหลายท่านอาจกังวลกับ Bear Market และ Economic Recession แต่เหรียญนั้นมี 2 ด้านเสมอ!!!
เมื่อวิกฤตการเงินจบลง เราก็จะเข้าสู่ Bull Market ซึ่งตลาดขาขึ้นมักจะกินเวลายาวนานกว่าขาลงเสมอ และผลตอบแทนก็มักจะกลับมาหลายเท่าตัว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทบทวนดู Asset Allocation (การจัดสัดส่วนสินทรัพย์ลงทุน) ใน Investment Portfolio ของตัวเองให้ดี
ว่าเราได้ปรับสัดส่วนไว้เหมาะสมกับภาวะตลาดแล้วหรือยัง ? มีความจำเป็นต้องจัดให้มีสินทรัพย์สภาพคล่องที่มีความเสี่ยงต่ำไว้เพียงพอที่จะก้าวผ่านช่วงตลาดขาลงนี้ไปได้หรือไม่? สำหรับนักลงทุนที่มีแหล่งรายได้อื่นก็นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสะสมเงินสดไว้รอลงทุนเมื่อจังหวะที่ถูกต้องนั้นมาถึง
1
🙏 ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจของเรา ฝากกด Like และ Share เพื่อให้นักลงทุนท่านอื่นได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ 👍😊
#ทันโลกกับTraderKP #BlockditExclusive
โฆษณา