10 พ.ค. 2022 เวลา 09:00 • ธุรกิจ
โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในมองโกเลีย
มองโกเลียเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างจีนกับรัสเซีย มีพื้นที่ประมาณ 1.56 ล้านตร.กม. มีประชากร ประมาณ 3.30 ล้านคน มองโกเลียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ (ใหญ่กว่าไทยประมาณ 3 เท่า) แต่มีประชากรน้อยมาก (น้อยกว่าไทยกว่า 20 เท่า) จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรแออัดน้อยที่สุดในโลก
พื้นที่ส่วนใหญ่ของมองโกเลียเป็นพื้นที่ราบสูง ไม่มีพื้นที่ติดทะเล และพื้นที่ที่สามารถทำการเพาะปลูกได้ยังมีน้อยมาก มองโกเลียมีทรัพยากรสินแร่ที่อุดมสมบูรณ์และมีทุ่งหญ้าขนาดใหญ่จึงทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่และปศุสัตว์เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ
มองโกเลียเป็นหนึ่งใน 12 ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในโลก มีทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่ไพศาลและอุดมไปด้วยสินแร่หลากหลายชนิด ปัจจุบัน สินแร่ที่ขุดพบในมองโกเลียมีมากกว่า 80 ชนิด อาทิ แร่เหล็ก ทองแดง ถ่านหิน ทองคำ เงิน ทังสเตน ฟอร์สเฟต และแร่หายาก เป็นต้น
แร่หายากเป็นแร่ที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นเพราะสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้หลากหลายแต่เนื่องจากมองโกเลียยังขาดเงินทุนในการสำรวจเหมืองแร่หายาก ดังนั้น จึงได้ร่วมมือกับธุรกิจต่างชาติทำการสำรวจหาเหมืองฯ
นอกจากนั้น มองโกเลียยังเป็นประเทศอุตสาหกรรมปศุสัตว์ขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากผู้เลี้ยงสัตว์เริ่มเข้าไปทำงานในเมืองมากขึ้น จึงทำให้จำนวนผู้เลี้ยงสัตว์ในมองโกเลียลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2559 มองโกเลียมีผู้เลี้ยงสัตว์มากถึง 311,000 คน แต่ในปี 2560 ก็เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และในปี 2562 มีจำนวนเพียง 285,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา
โดยระหว่างปี 2555-2562 ผู้เลี้ยงสัตว์ในภาคตะวันตกและเขตฮันไกของมองโกเลียลดน้อยลง ในขณะที่ผู้เลี้ยงสัตว์ในภาคกลางและภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จึงทำให้จำนวนผู้เลี้ยงสัตว์ในภาพรวมลดน้อยลง และทำให้บางพื้นที่เป็นพื้นที่ไร้ผู้คนตั้งรกราก
เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจของมองโกเลียจะพบว่า มองโกเลียเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียจึง ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้โดยตรง โดยปี 2564 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจมองโกเลียขยายตัวขึ้นร้อยละ 1.4 และในปี 2565 รัฐบาลมองโกเลียได้ปรับเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจลงเหลือเพียงร้อยละ 2.8 จากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5
เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลมองโกเลียได้วางมาตรการ และนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เช่น การวางเงินลงทุนจำนวน 122 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในภาคเศรษฐกิจ ในเดือนกันยายน 2565 การวางมาตรการผลักดันการส่งออก และการแก้ปัญหาด้านการเงิน เป็นต้น
สำหรับด้านการค้าระหว่างประเทศ ศุลกากรมองโกเลียเปิดเผยข้อมูลว่าการค้าระหว่างประเทศของมองโกเลียในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 1,096 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าและวัตถุดิบลดลงร้อยละ 16 ในขณะที่มูลค่านำเข้าสูงกว่ามูลค่าส่งออก 16.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้มองโกเลียเสียดุลการค้า และยังส่งผลให้เงินตราต่างประเทศที่สำรองไว้ลดลงเป็นจำนวนมาก จนทำให้ธนาคารหลายแห่งในมองโกเลียหยุดให้บริการเบิกเงินตราต่างประเทศ เช่น เงินเหรียญสหรัฐฯ ยูโร หยวน เป็นต้น เป็นการชั่วคราว
นอกจากนี้ ตัวเลขสถิติของสำนักงานสถิติมองโกเลียชี้ว่า ปี 2564 GDP เฉลี่ยต่อหัวของมองโกเลียอยู่ที่ 4,100 เหรียญสหรัฐฯ โดยมีเพียงเมืองหลวง และ 2 จังหวัด จาก 22 จังหวัดของประเทศ ที่มี GDP เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ได้แก่ กรุงอูลันบาตอร์ จังหวัดออร์ฮอน และจังหวัดดอร์นอด
กรุงอูลันบาตอร์เป็นเมืองหลวงของมองโกเลีย เป็นศูนย์กลางของการปกครองเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการคมนาคมของมองโกเลีย มีประชากรประมาณ 1.43 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44 ของประชากรทั้งประเทศ กรุงอูลันบาตอร์มีเส้นทางรถไฟและทางหลวงที่สามารถเชื่อมต่อกับทุกจังหวัดในประเทศ และมีเที่ยวบินที่สามารถบินไปยังเมืองสำคัญในประเทศได้การคมนาคมที่สะดวก
จึงทำให้กรุงอูลันบาตอร์มีความเจริญรุ่งเรืองและมีเศรษฐกิจที่ดี อุตสาหกรรมที่สำคัญของกรุงอูลันบาตอร์ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมโลหะแปรรูป ทั้งนี้ จากการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในกรุงอูลันบาตอร์ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก
ประชาชนเกือบครึ่งประเทศได้เข้าไปทำงานและอาศัยอยู่ในกรุงอูลันบาตอร์ โดยร้อยละ 74 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงอูลันบาตอร์เป็นวัยรุ่นซึ่งทำให้กรุงอูลันบาตอร์ กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีสัดส่วนประชากรวัยรุ่นมากที่สุดในโลก ปี 2564 มูลค่า GDP ของกรุงอูลันบาตอร์อยู่ในอันดับหนึ่งของมองโกเลีย แต่ GDP เฉลี่ยต่อหัวจัดอยู่ในอันดับสองรองจากจังหวัดออร์ฮอน
จังหวัดออร์ฮอนอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมองโกเลีย มีพื้นที่ประมาณ 84,000 ตร.กม. มี ประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 104,000 คน จังหวัดออร์ฮอนมีทรัพยากรแร่ที่อุดมสมบูรณ์ โดยแร่สำคัญของจังหวัดออร์ฮอน ได้แก่ ทองแดงและโมลิบดินัม
ซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี 2508 จากนั้นรัฐบาลมองโกเลียก็ได้สร้างกิจการขุดแร่ขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวในเวลาต่อมา จากการสำรวจแร่จนถึงปัจจุบันได้พบแร่ดังกล่าวมากถึง 1,000 ล้านตัน จนทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับจังหวัดออร์ฮอน และผลักดันให้จังหวัดออร์ฮอนกลายเป็นพื้นที่ที่มีความมั่งคั่งมากสุดในประเทศ
โดยมี GDP เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 7,523 เหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบัน นอกจากชาวออร์ฮอนจะทำเหมืองแร่แล้ว ยังมีการประกอบธุรกิจเลี้ยงสัตว์และตัดไม้ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญรองมาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่
จังหวัดดอร์นอดอยู่ทางทิศตะวันออกของมองโกเลีย ทิศเหนือมีพรมแดนติดกับรัสเซีย ทิศตะวันออก และทิศใต้มีพรมแดนติดกับจีน มีพื้นที่ประมาณ 123,600 ตร.กม. มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 82,600 คน จังหวัดดอร์นอดมีทุ่งหญ้าขนาดใหญ่และมีอุตสาหกรรมหลักคืออุตสาหกรรมปศุสัตว์
นอกจากนี้ จังหวัดดอร์นอดยังเป็นศูนย์อุตสาหกรรมปศุสัตว์ของมองโกเลีย โดยตัวเลขสถิติชี้ว่า ปัจจุบัน จังหวัดดอร์นอดมีสัตว์เลี้ยง 940,000 ตัว สัตว์เลี้ยงที่มีปริมาณมากที่สุดคือ แกะ รองลงมาคือ วัวและม้า
นอกจากนี้ จังหวัดดอร์นอดยังได้สร้างธุรกิจแปรรูปขึ้นมามากมาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสัตว์เลี้ยง โดยสินค้าหลักที่ได้รับการแปรรูปคือขน แกะ นอกจากนี้ จังหวัดดอร์นอดยังได้มีการทำเหมืองแร่ โดยแร่สำคัญคือถ่านหิน ปัจจุบัน เศรษฐกิจของจังหวัดดอร์นอดจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของมองโกเลีย มี GDP เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 4,668 เหรียญสหรัฐฯ
เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของมองโกเลียแล้วพบว่าผู้ประกอบการไทยมีโอกาสทางธุรกิจในมองโกเลีย
ดังนี้
(1) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแร่ อาทิ แร่เหล็ก ทองแดง ถ่านหิน ทองคำ เงิน ทังสเตน ฟอร์สเฟต แร่หายาก เป็นต้น มองโกเลียเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยสินแร่นานาชนิดและยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจ ประกอบกับรัฐบาลมองโกเลียได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างชาติเข้าไปสำรวจและทำเหมืองแร่ในประเทศได้ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจเข้าไปทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในมองโกเลีย
นอกจากนี้ มองโกเลียจะเน้นขุดแร่เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่อุตสาหกรรมที่ต่อยอดหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแร่ที่ขุดขึ้นมาได้ยังมีไม่มากนัก เนื่องจากยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ จึงเป็นโอกาสที่ดีต่อธุรกิจไทยที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาสินค้าที่ได้จากแร่ เช่น การสร้างกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน การแปรรูปโลหะ มีค่าให้เป็นเครื่องประดับ การพัฒนาเหล็กให้เป็นสินค้าในอุตสาหกรรมเครื่องครัว วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
(2) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมและเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม สำคัญของมองโกเลีย ในปี 2563 มองโกเลียมีสัตว์เลี้ยงมากถึง 67.06 ล้านตัว โดยเป็นแกะกว่าร้อยละ 80 การเลี้ยงสัตว์ในมองเลียส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครัวเรือนขนาดเล็ก โดยแต่ละครัวเรือนจะเลี้ยงสัตว์ได้มากที่สุด ประมาณ 100 ตัว เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวจะมีอากาศที่หนาวจัด
ทำให้การหาอาหารสัตว์และการปล่อยเลี้ยงในทุ่งหญ้าดำเนินได้ยาก อย่างไรก็ดี นักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากสัตว์เลี้ยงจำนวนมหาศาลในมองโกเลีย แปรรูปเป็นสินค้า อื่นๆ เช่น การแปรรูปขนสัตว์ หนังสัตว์ นมจากสัตว์ เนื้อสัตว์ เป็นต้น ซึ่งสามารถจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศที่สามได้
(3) โอกาสในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าในมองโกเลียส่วนใหญ่จะผลิตจากถ่านหิน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลมองโกเลียจึงสนับสนุนพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดมลพิษทางอากาศ และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ดังนั้น โอกาสการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมทดแทนของผู้ประกอบการไทยจึงเป็นไปได้สูง
โฆษณา