22 พ.ค. 2022 เวลา 00:00 • หนังสือ
บทความ อาจารย์ของหลวงพ่อพุธ
จากหนังสือ ลำธารริมลานธรรม
เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นพระสุปฏิปันโน ที่ได้รับการยกย่องนับถืออย่างกว้างขวาง ท่านเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายที่จัดว่าเป็นเพชรน้ำเอกของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ด้านกรรมฐานของภาคอีสาน ท่านเป็นชาวสระบุรีโดยกำเนิด แต่ไปศึกษาปฏิบัติจนเจริญงอกงามในทางธรรมที่ภาคอีสาน
โดยบรรพชาเป็นสามเณรที่จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในภาคอีสาน ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา จวบจนละสังขารเมื่อพ.ศ. ๒๕๔๒ สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี พรรษา ๕๗
ท่านเป็นผู้ที่ใฝ่ในการขัดเกลาตน มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งท่านยังเป็นพระหนุ่ม วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังบิณฑบาตอยู่ เห็นแม่กับลูกชายวัยห้าขวบรอใส่บาตร ท่านจึงเดินเข้าไปหา พอจวนถึง เด็กน้อยก็ร้องขึ้นเสียงดังว่า “มึงบ่แม่นพระดอก มึงบ่แม่นพระดอก” (มึงไม่ใช่พระหรอก มึงไม่ใช่พระหรอก)
พอท่านได้ยิน ก็รู้สึกไม่พอใจขึ้นมาทันที แต่แล้วท่านก็ได้คิดขึ้นมาว่า “เออ จริงของมัน เราไม่ใช่พระหรอก ถ้าเราเป็นพระ เราต้องไม่โกรธซิ”
พอคิดได้เช่นนั้น ความโกรธก็ดับวูบ ท่านเดินไปรับบาตรด้วยอาการปกติ นอกจากจะไม่โกรธแล้ว ท่านยังถือว่าเด็กคนนั้นเป็น “อาจารย์” ของท่านด้วย เพราะทำให้ท่านได้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง อีกทั้งยังทำให้ท่านรู้ว่าต้องฝึกปฏิบัติต่อไป
1
อันที่จริงวันนั้นท่านเจอ “อาจารย์” ไล่ ๆ กันถึงสองคน กล่าวคือ พอท่านเดินต่อไปอีกหน่อย ก็มีผู้หญิงขับมอเตอร์ไซค์สวนมา บังเอิญเธอเสียหลัก จึงทิ้งรถ แล้วกระโจนเข้ากอดท่านอย่างเต็มที่ แต่แทนที่ท่านจะโกรธหญิงผู้นั้น ท่านกลับมาดูที่ใจของตนทันที จึงไม่มีอารมณ์กระเพื่อมไหว
ส่วนผู้หญิงคนนั้น พอรู้ว่าถูกเนื้อต้องตัวท่าน ก็รีบกราบขอโทษท่านทันที แต่ท่านไม่ถือสา บอกเธอว่า ไม่เป็นไรหรอก หลวงพ่อกำลังสำรวมจิตของตัวเองอยู่
ท่านบอกว่า ผู้หญิงคนนั้นก็เป็น “อาจารย์” ของท่านเหมือนกัน คือมาทดสอบสติของท่าน
ธรรมดาของคนเราเมื่อมีสิ่งไม่ดีมากระทบ ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ย่อมตอบโต้ออกไปทางวาจาและการกระทำทันที หาไม่ก็ส่งจิตพุ่งไปยังสิ่งนั้นด้วยความโกรธ แต่ผู้เป็นบัณฑิตย่อมหันมาดูใจของตนก่อนที่จะส่งจิตออกนอก ทำให้ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นอกุศล กายและวาจาจึงเป็นปกติ ไม่ก่อความทุกข์แก่ตนเองหรือสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น
1
ใช่แต่เท่านั้น ผู้เป็นบัณฑิตยังรู้จักหาประโยชน์จากทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน แม้เกิดเหตุที่ไม่พึงประสงค์ ก็ยังสามารถเรียนรู้จากสิ่งนั้น ทุกอย่างหรือทุกคนจึงสามารถเป็นอาจารย์ของตนได้
2
หลวงพ่อพุธคือแบบอย่างแห่งบัณฑิตที่สาธุชนพึงศึกษา
โฆษณา