24 พ.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
ส่องการค้าอาเซียน-จีน หลังความตกลง RCEP มีผลบังคับ
สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของจีนยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 7 ไตรมาสแล้ว โดยสำนักงานศุลกากรจีนได้เปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปีค.ศ. 2022 นี้มีมูลค่า 9.42 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 49.93 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 (YoY) แสดงให้เห็นว่าแม้จีนจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ซับซ้อนและการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่อง
แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังคงแข็งแกร่งเติบโตในทิศทางที่ดี และมีโอกาสในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล อาทิ นโยบายคืนภาษีสินค้าส่งออกสำหรับการค้าเพื่อการแปรรูป โดยอนุญาตให้นำภาษีที่จะได้รับคืนไปหักในภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และค่าประกันการส่งออกที่สามารถขอคืนภาษีได้
โดยการค้าระหว่างประเทศของจีนดังกล่าวแบ่งเป็นการส่งออกมีมูลค่า 5.23 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 27.72 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 (YoY) และการ นำเข้ามูลค่า 4.19 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 22.21 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 (YoY) (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.3 บาท)
แม้ว่าตั้งแต่ช่วงต้นปี ค.ศ. 2020 จะเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในหลายประเทศ และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่จีนก็สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมของจีนยังคงดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าได้เปรียบ คู่แข่งหลายๆ ประเทศ
ส่งผลให้การส่งออกของจีน ในปี ค.ศ. 2021 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ส่งผลกระตุ้นการบริโภคทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ดีอุปทานกลับฟื้นตัวได้ช้า ประกอบกับการระบาดระลอกใหม่ในต่างประเทศ จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกของจีนยังคงมีทิศทางที่ดี
ซึ่งเห็นได้จากสถิติล่าสุดในเดือนมีนาคม 2022 ที่มูลค่าการส่งออกของจีนสูงถึง 276,080 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.30 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 14.7 (YoY) (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 33.7 บาท)
เมื่อพิจารณาด้านคู่ค้าที่สำคัญในการค้าระหว่างประเทศของจีน ภายหลังจากความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิก 10 ประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 และมีผลอย่างเป็นทางการกับประเทศเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2022 และประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2022
พบว่า จีนมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับประเทศสมาชิกภายใต้ความตกลง RCEP มูลค่า 2.86 ล้าน ล้านหยวน หรือประมาณ 15.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.4 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน
แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 1.38 ล้านล้านหยวนหรือประมาณ 7.31 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 (YoY) และการนำเข้ามูลค่า 1.48 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 7.84 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 (YoY)
เมื่อพิจารณาในช่วง 2 เดือนแรกของปี ค.ศ. 2022 พบว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของ อาเซียนกับจีนเป็นรองยุโรปอยู่ประมาณ 3,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 15,900 ล้านบาท และเป็นคู่ค้า อันดับ 2 ของจีน แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขในไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2022 หรือในช่วง 3 เดือนแรก พบว่าจีนมี มูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับอาเซียนสูงถึง 1.35 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 7.16 ล้านล้านบาท
ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.4 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของ จีน ในขณะที่จีนมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับยุโรป 1.31 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 6.94 ล้านล้าน บาท ทำให้อาเซียนกลับขึ้นมาแซงหน้ากลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้อาเซียนขยับตัวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีน เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลัง ของปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา พบว่ายุโรปและสหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากจีนลดลงนอกจากนี้ หลังจากที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ ประเทศอาเซียนซึ่งถือเป็นกลุ่มสมาชิกที่สำคัญของจีนมีความสัมพันธ์ด้านการค้าและมีการส่งออกระหว่างกันมากขึ้น
นอกจากนี้ เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกและทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตกได้เชื่อมต่อภาคตะวันตกของจีนกับอาเซียนให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น จึงช่วยขจัดอุปสรรคด้านการค้าของทั้งสองฝ่าย สอดคล้องกับสถิติที่พบว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เส้นทางรถไฟเชื่อมทางบกและทางทะเล ของภาคตะวันตกสายใหม่นำส่งสินค้าไปแล้ว 170,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.5 (YoY)
ขณะที่เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ทำให้การขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียนมีความสะดวกรวดเร็ว จนทำให้ปัจจุบันมี หลายมณฑลที่เลือกการขนส่งระหว่างประเทศด้วยขบวนรถไฟจีน-ลาว โดยพบว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ เส้นทางรถไฟจีน-อาเซียนให้บริการขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 3.5 เท่า
เมื่อพิจารณาในภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของจีนในไตรมาสแรกของปีนี้ แสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจของทั้งปี
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเศรษฐศาสตร์ยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศในปัจจุบันที่ยังมีปัจจัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ จึงทำให้ประเทศจีนอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ประกอบกับตัวเลขการค้า ระหว่างประเทศในปีที่ผ่านมามีฐานค่อนข้างสูง ทำให้การจะรักษาเสถียรภาพการค้าระหว่างประเทศให้บรรลุเป้าหมายจึงต้องเพิ่มความพยายามมากขึ้น
ในขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เกิดการระบาดของโรค COVID – 19 ภายในประเทศจีนขึ้นอีกครั้ง ทำให้สถานการณ์การผลิต และความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบ และส่งผลอาจส่งต่อการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศในระยะยาวในที่สุด
ปัจจุบันสำนักงานศุลกากรจีนได้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกำหนดแผนการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่อย่างไรก็ดี พบว่าความต้องการบริโภคบริการจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการสินค้า ซึ่งอาจทำให้จีนพึ่งพาผลิตภัณฑ์นำเข้าลดลง
นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจุบันราคาวัตถุดิบในการผลิตได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่เงิน หยวนยังคงแข็งตัว ซึ่งจะทำความได้เปรียบด้านราคาของผลิตภัณฑ์ส่งออกของจีนลดลง จึงทำให้คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของการส่งออกของจีนอาจจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจให้ยังคงอยู่ในทิศทางที่ดี จีนจึงต้องดำเนินกลยุทธ์การขยายอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการส่งเสริมการฟื้นตัว ของการบริโภคอย่างยั่งยืน และขยายการลงทุนควบคู่กันไปด้วย
จึงส่งผลให้รัฐบาลต้องพิจารณาเร่งสร้างตลาดครบวงจรขนาดใหญ่ระดับประเทศที่ต้องมีการพิจารณานำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และถึงแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกของจีนในไตรมาส 2 ของปีนี้จะชะลอตัวลงแต่ความตกลง RCEP จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกจากจีนไปยังอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพ
และสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศของจีนและสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียนยังคงขยายตัว และทั้งสองฝ่ายจะยังคงเป็นคู่ค้าที่มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และจับมือกันเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และยั่งยืนต่อไป
สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของจีนในภาพรวมในช่วงไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2022 ยังคงมีทิศทางเชิงบวก ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ซับซ้อน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังคงแข็งแกร่ง และผลักดันให้อาเซียน กลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีน
โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความตกลง RCEP ที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการทำให้การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนมีเสถียรภาพมากขึ้น ประกอบกับช่องทางการขนส่งสินค้าที่มีความสะดวกยิ่งขึ้น อาทิ เส้นทางการขนส่งรถไฟจีน-ลาว ที่ช่วยผลักดันให้การค้ากับจีนและอาเซียนมีความรวดเร็ว มากยิ่งขึ้น
ในขณะที่สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของจีนกับไทยในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2022 ปีนี้ ก็ยังคงอยู่ในทิศทางที่ดี โดยมีมูลค่า 20,351.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.31 (YoY) โดยแบ่งเป็นการส่งออกมีมูลค่า 11,512.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.53 (YoY) โดยจีนส่งออกสินค้าที่สำคัญไปยังไทย ได้แก่
(1) เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ
(2) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล และส่วนประกอบ
(3) พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก
(4) เหล็กและเหล็กกล้า
(5) ยานบก และส่วนประกอบ
ขณะที่จีนนำเข้าจากไทยคิดเป็น มูลค่า 8,839.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.24 (YoY) โดยจีนนำเข้าสินค้าที่สำคัญจากไทย ได้แก่
(1) เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ
(2) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล และส่วนประกอบ
(3) ยางและของที่ทำด้วยยาง
(4) พลาสติกและของที่ทำด้วย พลาสติก
(5) ผลไม้สด
ซึ่งสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจีนและไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นและยังคงมีโอกาสในการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ด้านการค้า กฎระเบียบ พร้อมทั้งศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนอย่างใกล้ชิด
เพื่อให้สามารถปรับตัวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในการส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถพิจารณาใช้เส้นทางรถไฟขนส่งจีน-ลาว รวมถึงศึกษากฎระเบียบของความตกลง RCEP และใช้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวในการขยายตลาดส่งออกสินค้าเข้าสู่จีน
โดยเฉพาะนโยบายปลอดภาษี หรือสิทธิพิเศษในการทำธุรกรรมทางการค้าต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังคงมีการระบาดของโรค COVID – 19 ระลอกใหม่ในจีนที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ ทำให้จีนมีความเข้มงวดด้านการป้องกันการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะสินค้า Cold Chain มากขึ้น
ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นที่จะต้องติดตามสถานการณ์ด้านการค้า และการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบการนำเข้าและการตรวจสอบสินค้านำเข้าของแต่ละด่าน รวมทั้งขั้นตอนพิธีศุลกากร ตลอดจนวางแผนการจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ของจีน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าของไทย และสามารถส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างราบรื่น และยั่งยืนต่อไป
โฆษณา