16 พ.ค. 2022 เวลา 11:00 • สิ่งแวดล้อม
"Metaverse จะ เป็นมิตร หรือ เป็นพิษ กับสิ่งแวดล้อม?"
แนวคิดของโลกเสมือนจริงที่ยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ทั้งการทลายข้อจำกัดทางกายภาพที่โลกจริงไม่สามารถมอบให้ได้
รวมถึงการมอบประสบการณ์ความบันเทิงและสิ่งสวยงามที่เหนือกว่าจินตนาการ และการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและพื้นที่บนโลกดิจิทัล
ทำให้เมตาเวิร์สกำลังจะกลายเป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกจะแข่งขันกันพัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีกันอย่างดุเดือด
แต่ไม่ว่าโลกจะถูกพัฒนาไปอย่างไร ท้ายที่สุดปัญหาที่ทุกคนบนโลกกำลังเผชิญและให้ความสำคัญก็คือ
ปัญหาสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
ดังนั้นคำถามสำคัญคือ เมื่อยุคสมัยแห่งเมตาเวิร์สมาถึงจะส่งผลอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม
เมตาเวิร์สจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือจะยิ่งส่งผลเสียแทน
ในด้านหนึ่งเชื่อว่า การทำงานทางไกลและการใช้ชีวิตในโลกเมตาเวิร์สจากที่บ้านเป็นหลัก
จะช่วยลดปัญหารถติดและลดมลพิษบนท้องถนนลงได้ เพราะผู้คนจะมีความต้องการเดินทางลดลง ซึ่งถือเป็นการยับยั้งการปล่อยมลพิษตั้งแต่ต้นเหตุ
นอกจากนี้ รายงานของ World Economic Forum ยังชี้ให้เห็นว่า สามอันดับแรกของห่วงโซ่อุปทานที่สร้างมลพิษออกมามากที่สุดมักจะเกี่ยวข้องกับสินค้าทางกายภาพและพื้นที่ ได้แก่
การก่อสร้างอาคาร แฟชั่น และสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG)
ดังนั้น เมื่อถึงจุดที่ผู้คนอพยพไปใช้ชีวิตในโลกเมตาเวิร์สมากขึ้นแล้ว ก็น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปล่อยมลพิษน้อยลง
เช่น การลดอุปสงค์ของวัสดุก่อสร้าง อย่างเหล็ก หรือปูนซีเมนต์ ซึ่งถือเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกด้านที่เชื่อว่า การเข้ามาของเมตาเวิร์สจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและองค์ประกอบของเมตาเวิร์ส
เช่น การแสดงผลหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) การทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (AI) สินทรัพย์ดิจิทัล หรือระบบเก็บข้อมูลบนคลาวด์
ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงาน และปล่อยมลพิษคาร์บอนออกมาจำนวนมหาศาล เมื่อพิจารณาถึงจุดนี้แล้ว จึงอาจเป็นข้อกังวลว่าเมตาเวิร์สอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้
เช่น การซื้อขาย Non-fungible tokens (NFTs) หรือโทเคนดิจิทัลประเภททดแทนไม่ได้บนแพลตฟอร์มที่มีบล็อกเชนของอีเธอเรียมเป็นฐาน
ซึ่งการซื้อขาย 1 ครั้งใช้กำลังไฟฟ้าเฉลี่ย 48.14 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งเท่ากับพลังงานที่ใช้ในครัวเรือนได้ 1 วัน ถึง 1 วันครึ่งเลย
นอกจากนี้ยังมีรายงานพบการซื้อขาย NFT ครั้งหนึ่ง ซึ่งใช้กำลังไฟฟ้ามากเป็นพิเศษ โดยเป็นงานศิลปะ NFT สองชิ้นที่ทำธุรกรรมซื้อขายพร้อมกันและใช้กำลังไฟฟ้าไปถึง 175 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง
ซึ่งคำนวณค่าก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาได้เท่ากับการที่บ้านหนึ่งหลังปล่อยออกมาเป็นระยะเวลาติดต่อกันถึง 21 ปี
ค่าพลังงานที่ใช้และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศจึงเป็นการกดดันให้หลายองค์กรซึ่งกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สของตัวเองต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงเจตจำนงถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
เช่น Meta ที่ประกาศว่าจะต้องปล่อยค่าคาร์บอนในระบบปฏิบัติการและห่วงโซ่คุณค่าเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2030
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลว่าการเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สซึ่งเปรียบเสมือนโลกใบใหม่ที่ให้ประสบการณ์เสมือนจริงนี้
จะเป็นการทำให้ผู้คนเสพติดกับความสวยงามและความบันเทิง จนเป็นการหลบหนี ละเลย และหลงลืมปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมที่โลกจริงกำลังเผชิญอยู่หรือไม่
และจะมีแนวทางอย่างไรบ้างที่จะโน้มน้าวใจให้ผู้ใช้งานมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตในโลกจริงและโลกเสมือนอย่างสมดุล เป็นมิตรกับสุขภาพของตนเอง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต
- จำเป็นต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของเมตาเวิร์สต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เหมาะกับเมตาเวิร์ส และหาแนวทางพัฒนาเมตาเวิร์สให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- อาจต้องมีการทบทวนภาพการคมนาคมในโลกอนาคตใหม่ ระหว่างการเดินทางในเมตาเวิร์ส การใช้เครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้า และการนำโดรนส่งของมาใช้ประโยชน์
-เครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อการเข้าถึงเมตาเวิร์สควรถูกออกแบบโดยมีแนวคิดที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นพื้นฐานในระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม
-ผู้พัฒนาเมตาเวิร์สควรให้ความสำคัญกับการออกแบบพฤติกรรมผู้ใช้งานระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนให้สมดุลกัน เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้งาน
.
.
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.blockdit.com/pages/6184ec3b07f0660cad381cf9
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #ClimateChange #Metaverse #MQDC
โฆษณา