19 พ.ค. 2022 เวลา 00:43 • การศึกษา
แผนคือการออกแบบเส้นทางเดินเพื่อไปสู่เป้าหมาย
แผนการศึกษาของครอบครัวถือว่าเป็นความท้าทาย ที่เขียนขึ้นจากตัวตนของครอบครัว ที่เป็นไปได้ ไม่เพ้อฝัน รัดกุม และยืดหยุ่น
ปีแรกคือปีแห่งการเรียนรู้และปรับตัว เหมือนเป็นการเตรียมทีมเรียนรู้ นอกจากจะได้ทำความเข้าใจตนเองและลูกแล้ว ยังได้ทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้มีความรับผิดชอบดูแลเรา
หนึ่งปีผ่านไป สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้ชวนครอบครัวโฮมสคูลในความดูแล จัดทำเอกสารขึ้นเล่มหนึ่งเป็นการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้อ่าน และผู้ที่สนใจเพื่อเป็นบทเรียนในการปฏิบัติงานหรือการดำรงชีวิตในโอกาสต่อไป
เรื่องนี้ทำให้เห็นถึงการทำหน้าที่ ใส่ใจ และให้ความช่วยเหลือที่เขตการศึกษามีต่อผู้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ซึ่งทำให้แม่จุ๋มรู้สึกประทับใจ
ท่วงทำนองของคำนำกล่าวไว้ว่า การศึกษาในระบบนั้นได้สร้างภาระอันหนักอึ้งให้กับผู้เรียน รูปแบบที่เหมารวมไม่สามารถตอบสนองความต้องการของครอบครัว และผู้เรียนได้ตามศักยภาพของเด็กที่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน
ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 มาตรา 50 กำหนดให้ครอบครัว มีเสรีในการจัดการศึกษา โดยมีรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน ตามแนวทางของกฏกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครอบครัว พ.ศ. 2547 ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงเป็นการให้โอกาสทั้งบุคคล หน่วยงานและครอบครัว ได้จัดการศึกษาด้วยตนเองตามความต้องการและเหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียนและครอบครัว
ในส่วนของเนื้อหา บทเรียนของแต่ละครอบครัวถูกถอดผ่านโจทย์ที่เขตให้มา เรียงตามลำดับหัวข้อดังนี้ ความเป็นมาของครอบครัว, วัตถุประสงค์, เป้าหมาย, แนวคิดพื้นฐาน, วิธีจัดการเรียนรู้, หลักการคิดกระบวนการจัดการเรียนรู้, ผลที่เกิด, ความภาคภูมิใจ, บทสรุป
แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของเขต ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลครอบครัวอย่างเต็มกำลังภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ การทำงานร่วมกันเช่นนี้ทำให้มีความหวัง มีกำลังใจในการทำหน้าที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลเส้นทางพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้เต็มศักยภาพร่วมกัน
หลังจากใคร่ครวญความหมายในแต่ละหัวข้อที่เขตให้มา ระหว่างที่เขียนคำตอบ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แม่จุ๋มเริ่มทำความเข้าใจกับความหมายของการประเมินเพื่อพัฒนา แม่จุ๋มพบว่าแผนของครอบครัวแบบแปดสาระไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ตามสภาพจริง จึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่เพื่อหาทางออกร่วมกัน
ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมเขตไม่แนะนำแผนแบบกลุ่มประสบการณ์ตั้งแต่แรก ประกอบกับการประเมินผลปลายปีด้วยการให้ทำข้อสอบแบบโรงเรียนแล้วใช้คะแนนเป็นตัวชี้วัด ไม่สะท้อนการเรียนรู้ตามสภาพจริงของเด็ก ๆ
ในที่สุดเราก็เปลี่ยนแผนจากแบบแปดสาระเป็น แผนการเรียนรู้แบบกลุ่มประสบการณ์ โดยอิงแปดสาระการเรียนรู้ นอกจากสอดคล้องกับวิถีชีวิตมากกว่าแล้ว ยังมั่นใจด้วยว่าเราได้ก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จริง ๆ
เวลาผ่านไป เมื่อบุคลากรต้องเปลี่ยนไปตามวาระตามระเบียบราชการ อุปสรรค และปัญหาต่าง ๆ ก็วนกลับมาที่จุดเดิม ชาวโฮมสคูลต้องเริ่มต้นเรียนรู้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดใหม่อีกครั้ง นี่คือหนึ่งในคำตอบเป็นคำตอบใหญ่ที่สุด หากมีใครถามแม่จุ๋มว่าอุปสรรคและปัญหาในการโฮมสคูลคืออะไร
แม่จุ๋มเลือกเก็บความทรงจำที่ดี มองหาแง่งามของความเป็นมนุษย์ที่มีน้ำใจ และปรารถนาดีต่อกัน เป็นกำลังใจให้ตัวเอง และก้าวต่อไปบนเส้นทางของโฮมสคูลที่เลือกเดิน
สำหรับการเขียนแผนนั้นข้อมูลหาได้ง่ายแค่ปลายนิ้วคลิก จากประสบการณ์ที่ผ่านมากติกาเล็ก ๆ น้อย ๆ มักจะถูกเปลี่ยนอยู่เสมอ คำแนะนำของแม่จุ๋มสำหรับการเขียนแผนน่าจะเป็นคำแนะนำเพื่อการเตรียมกำลังใจ และเติมความมุ่งมั่นสำหรับพ่อแม่ที่กำลังตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินนี้ ตามบริบทกฏกติกามีเพียงสามข้อค่ะ
1. เข้าใจระบบราชการ
2. โฮมสคูลคือทางเลือกหนึ่งของการศึกษา ควรค้นคว้าหาข้อมูลและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
3. ผู้จัดการศึกษาที่รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ จะพบว่าโฮมสคูลคือทีมของการเรียนรู้ที่มีความสุข นอกจากทีมครอบครัวแล้ว ยังมีทีมใหญ่เครือข่ายของครอบครัวโฮมสคูลที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วประเทศ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา