22 พ.ค. 2022 เวลา 07:36 • สุขภาพ
โรค”ฝีดาษลิง” คืออะไร มีที่มาอย่างไร
ฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคที่กำลังถูกจับตาจากหลายประเทศ และเป็นโรคที่แทบไม่ค่อยพบเห็นหรือรู้จักมาก่อน เรามาไขข้อสงสัยกันว่าโรคนี้เกิดมาจากอะไรมีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน และมีวิธีการป้องกันอย่างไร เราจะพาไปทำความรู้จักกันครับ
ฝีดาษลิง เกิดจากอะไร
โรคฝีดาษลิงแท้จริงแล้วเกิดจากไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่ามาก ทางด้านของผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ส่วนใหญ่โรคชนิดนี้จะพบในพื้นที่ห่างไกลในประเทศทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา ใกล้บริเวณที่เป็นป่าดิบชื้น โดยมีไวรัสสองสายพันธุ์หลักคือ แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก
โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) จัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น ไวรัสวัคซิเนีย (vaccinia virus), ไวรัสฝีดาษวัว (cowpox virus), ไวรัสวาริโอลา (variola virus) เป็นต้น เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ
กระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วจำนวน 2 ราย โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อ 2 คนเดินทางมาจากไนจีเรีย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า จะติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งโดยปกติไม่ค่อยมีความรุนแรง แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันเรื่องนี้ ผู้ติดเชื้ออีกรายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ติดเชื้อมาจากคนไข้คนหนึ่ง
ส่วนผู้ติดเชื้อรายล่าสุดหลายคน ไม่พบว่ามีความเชื่อมโยงกัน หรือมีประวัติการเดินทางใด ๆ และดูเหมือนจะเป็นการติดเชื้อจากการแพร่กระจายของเชื้อในแหล่งชุมชนในสหราชอาณาจักร
สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Health Security Agency—UKHSA) ระบุว่า ใครที่กังวลว่า อาจจะติดเชื้อ ควรเข้าพบเจ้าหน้าที่การแพทย์ แต่ควรมีการติดต่อไปยังสถานพยาบาลก่อนที่จะเดินทางไปเข้ารับการรักษา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขของไทยระบุว่า อาการของโรคฝีดาษลิงรุนแรงน้อยกว่าโรคฝีดาษคน (smallpox) แต่ก็ทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่คนติดโรคฝีดาษลิงจากสัตว์ฟันแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่มีโอกาสน้อยในการแพร่จากคนสู่คน
อาการเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการเบื้องต้นมีหลายอย่าง รวมถึง มีไข้, หนาวสั่น, ปวดหัว, เจ็บคอ, บวม, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ,ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลียและซึมเซา
เมื่อไข้ทุเลาลง อาจเกิดผื่นขึ้น มักจะเริ่มจากบนใบหน้าก่อน จากนั้นจะลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่จะพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นนี้อาจจะมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงหลายขั้น ก่อนที่ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา รอยโรคนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นตามมา อาการป่วยกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
ฝีดาษลิง ติดต่อกันอย่างไร
ฝีดาษลิงอาจแพร่กระจายได้เมื่อมีการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแตกบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือผ่านทางตา จมูก หรือปาก
โรคฝีดาษลิง พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงรวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อได้ โดยคนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ
หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่จากคนสู่คน
ยังไม่เคยมีการระบุว่า ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เชื้อโรคสามารถส่งต่อกันได้ผ่านการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้เชื้อโรคนี้ยังแพร่กระจายด้วยการสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนไวรัสชนิดนี้ อย่าง ผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้า
อันตรายแค่ไหน
ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางครั้งคล้ายกับอาการของโรคอีสุกอีใส (chickenpox) และหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ ฝีดาษลิง อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ในบางกรณี และเคยมีรายงานว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วหลายคนในแอฟริกาตะวันตก โดยอัตราการตายสูงสุดอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึง10%
การระบาดของโรคนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน
การพบเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรกในลิงที่ถูกขังไว้ และนับตั้งแต่ปี 1970 มีรายงานการระบาดเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ใน 10 ประเทศของทวีปแอฟริกาในปี 2003 เคยมีการระบาดเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการพบโรคนี้นอกแอฟริกา คนไข้หลายคนติดโรคจากการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์คล้ายหนู ที่ติดเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหลายชนิดที่มีการนำเข้ามาในสหรัฐฯ รวมแล้วมีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 81 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
ในปี 2017 ไนจีเรียเผชิญกับการระบาดที่มีหลักฐานบันทึกไว้ขนาดใหญ่ที่สุด ราว 40 ปี หลังจากที่ไนจีเรียพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันรายสุดท้าย การระบาดครั้งนั้นมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อราว 172 ราย และ 75% ของเหยื่อ เป็นผู้ชายอายุระหว่าง 21-40 ปี
มีวิธีการป้องกันและรักษาอย่างไร
ขณะนี้ไม่มีวิธีรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ การรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ได้ผล 85% ในการป้องกันฝีดาษลิง และบางครั้งก็ยังคงมีการใช้วัคซีนนี้อยู่
มีรายงานว่า สเปนกำลังเตรียมสั่งซื้อวัคซีนโรคฝีดาษหลายพันโดสเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การได้รับวัคซีนหลังสัมผัสกับเชื้อโรคฝีดาษลิง อาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้ หรืออาจทำให้มีความรุนแรงของโรคลดลง
ประชาชนควรกังวล ฝีดาษลิง หรือไม่และต้องรับมืออย่างไร
จากข้อมูลของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England–PHE) ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ได้เข้าใกล้จุดที่จะการระบาดทั่วประเทศ ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อต่ำ
ศาสตราจารย์โจนาธาน บอลล์ ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (University of Nottingham) กล่าวว่า “ความจริงที่ว่า มีเพียง 1 ใน 50 ของคนที่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงระยะแรกเท่านั้นที่ติดเชื้อ แสดงให้เห็นว่า เชื้อนี้มีการแพร่กระจายน้อย”
“เป็นเรื่องผิดที่คิดว่า เรากำลังเข้าใกล้การระบาดทั่วประเทศ”
ดร.นิก ฟิน รองผู้อำนวยการสำนักงานบริการโรคติดเชื้อแห่งชาติ (National Infection Service) ที่ PHE กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นย้ำว่า ฝีดาษลิง ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายจากคนสู่คน และความเสี่ยงโดยรวมต่อประชาชนทั่วไปก็ต่ำมาก
สำนักงานบริการโรคติดเชื้อแห่งชาติกำลังติดตามอาการของผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนไข้ เพื่อให้คำแนะนำและสังเกตอาการของพวกเขาตามความจำเป็น
ตามรายงานของ สำนักข่าวรอยเตอร์ ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อยืนยันผู้ป่วยไข้ลิงอีสุก 80 รายและอีก 50 รายอยู่ระหว่างการตรวจสอบใน 11 ประเทศตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO)
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3LAs5c3
โฆษณา