6 มิ.ย. 2022 เวลา 10:46 • สุขภาพ
โรคท้องเสีย (Diarrhea)
หมายถึง การถ่ายอุจจาระมากกว่า 3 ครั้ง/วัน หรือมีลักษณะอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป เช่น ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีมูก เลือด หรือหยดน้ำมันปน หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
โดยอาการจะเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่ในบางรายอาจอาการเรื้อรังเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ได้ เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease: IBD) หรือโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
โรคท้องเสีย (Diarrhea)
สาเหตุของท้องเสีย
โดยปกติลำไส้จะดูดซึมสารอาหารในรูปแบบของเหลวจากสิ่งที่รับประทานเข้าไปในร่างกายจนเหลือแต่กากใยทิ้งไว้ แต่เมื่อเกิดอาการท้องเสียขึ้น ทำให้ลำไส้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ สารอาหารเหล่านั้นจึงไม่ถูกดูดซึมและถูกขับออกมาจากร่างกาย
ส่วนใหญ่จะแบ่งอาการท้องเสียเป็น 2 แบบ คือ
1. ท้องเสียแบบเฉียบพลัน
2. ท้องเสียแบบเรื้อรัง
1. ท้องเสียแบบเฉียบพลัน
อาการท้องเสียแบบเฉียบพลับมักเกิดจากโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อปรสิต ดังนี้
• การติดเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อแบคทีเรียที่มักปนเปื้อนในน้ำหรืออาหาร และก่อให้เกิดอาการท้องเสียตามมา ได้แก่ เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เชื้อซาลโมเนลลา เชื้อชิเกลลา และเชื้ออีโคไล
• การติดเชื้อไวรัส
มีไวรัสหลายชนิดที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย เช่น โรต้าไวรัส โนโรไวรัส ไซโตเมกาโลไวรัส เฮอร์พีส์ซิมเพล็กซ์ไวรัส ไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น
โดยโรต้าไวรัสเป็นสาเหตุของการเกิดอาการท้องเสียในเด็กมากที่สุด ซึ่งสามารถหายได้ภายใน 3-7 วัน แต่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการย่อยและดูดซึมแล็กโทสที่พบในน้ำนมได้
• การได้รับเชื้อปรสิต
เชื้อปรสิตสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน และอาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหารของคนเรา เชื้อปรสิตที่มักพบ คือ เชื้อไกอาเดีย
เชื้อแอนตามีบาฮิสโตลิติกาหรือเชื้อบิดอะมีบา และเชื้อคริปโตสปอริเดียม
#สาระจี๊ดจี๊ด
นอกจากนี้ อาการท้องเสียที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันอาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น อาการวิตกกังวล การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเกินไป การแพ้อาหารบางชนิด ไส้ติ่งอักเสบ หรือเยื่อบุลำไส้เสียหายจากการฉายรังสี เป็นต้น
2. ท้องเสียแบบเรื้อรัง
อาการท้องเสียที่เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป จะถือเป็นอาการท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้
• โรคในระบบทางเดินอาหารและโรคลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคโครห์น โรคลำไส้อักเสบ โรคเซลิแอคหรือแพ้กลูเตน โรคลำไส้แปรปรวน โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือ
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
• อาหาร
บางคนอาจมีปัญหาในการย่อยสารอาหารบางประเภท อย่างการขาดน้ำย่อยสำหรับย่อยน้ำตาลแล็กโทส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่พบมากในนมหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม นอกจากนี้ การรับประทานสารทดแทนความหวานในปริมาณมากก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน
• การตอบสนองต่อยาบางประเภท
ยาบางประเภทสามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาลดกรดที่มีแมกนีเซียม เป็นต้น
• การผ่าตัด
อาการท้องเสียอาจเกิดขึ้นหลังจากเข้ารับการผ่าตัดบางชนิด อย่างการผ่าตัดลำไส้ หรือการผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกไป
ภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องเสีย
ผู้ป่วยท้องเสียส่วนใหญ่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา แต่คนบางกลุ่มอย่างหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้มากกว่าปกติ
• ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่
• โรคลำไส้แปรปรวน
• ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง
• กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกยูรีเมีย หากท้องเสียจากการติดเชื้อบางชนิด
• ร่างกายส่วนอื่นตอบสนองต่อการติดเชื้อในทางเดินอาหารจนเกิดการอักเสบตามไปด้วย
• การติดเชื้อลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยท้องเสีย
• งดรับประทานอาหารแข็ง อาหารที่ย่อยยาก หรืออาหารที่มีกากมากเช่น ผัก ผลไม้ นมสด และอาหารที่มีไขมันมากควรรับประทานอาหารอ่อน หรือเหลว ย่อยง่าย
• ในเด็กควรงดดื่มนม 2-3 ชั่วโมง แล้วค่อยเริ่มให้นมผสม ชงแบบเจือจางเท่าตัว ส่วนเด็กที่กินนมแม่ให้ได้ตามปกติ
• ระวังภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ถ้าผู้ป่วยรับประทานได้ไม่อาเจียน หรืออาเจียนเล็กน้อยให้ผสมน้ำเกลือแร่กับน้ำต้มสุกดื่ม
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคท้องเสีย
• การรับประทานอาหารที่ปรุงสุก อาหารที่ปรุงร้อน และ ใช้ช้อนกลาง
• รับประทานอาหารไม่มีแมลงวันตอม
• ดื่มน้ำสะอาด
• ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากถ่ายอุจจาระ
ควรไปพบแพทย์เมื่อพบว่า
• เป็นอยู่นาน และเรื้อรัง
• มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
• มีอาการอาเจียน ดื่มน้ำ หรือกินอาหารได้น้อย
• เป็นโรคเรื้อรังอยู่ เช่น โรคเบาหวาน, โรคเลือด, โรคไต, โรคตับ ,โรคหัวใจ เป็นต้น
• อาการท้องเสียเกิดจากกินยาตามใบสั่งแพทย์ที่มีอาการข้างเคียงทำให้ท้องเสีย
• อุจจาระเป็นน้ำปริมาณมาก หรือ มีอาการแสดงภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโหล เพลียซึม ไข้สูงเป็นต้น
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
แหล่งที่มา / แหล่งอ้างอิง
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา