18 มิ.ย. 2022 เวลา 11:59 • ไลฟ์สไตล์
วันหนึ่ง มองไปหน้าบ้านเห็นจดหมายลักษณะเหมือนจดหมายราชการเสียบอยู่ที่ประตูรั้ว. . .
พอเปิดอ่านก็พบว่าเป็นจดหมายจากเขต แจ้งให้ทุกบ้านนำสิ่งของเหลือใช้ที่ต้องการทิ้งออกมาวางไว้หน้าบ้านตามวันและเวลาที่ระบุไว้ จากนั้นเทศบาลจะมาเก็บไปเอง
ในจดหมายแจ้งว่าเป็นนโยบายของทางราชการที่ต้องการให้ประชาชนช่วยกันรักษาความสะอาดภายในบ้านเรือน และกำจัดสิ่งของที่เกะกะรกรุงรัง ซึ่งจะกลายเป็นที่อยู่ของหนู และแมลงสาบให้หมดไป
อ่านจดหมายฉบับนี้จบด้วยความรู้สึกยินดี และอดนึกชื่นชมผู้ที่เป็นต้นคิดโครงการนี้ไม่ได้ และเพื่อเป็นการสนองนโยบายดี ๆ แบบนี้ให้คงอยู่ตลอดไป จึงชักชวนคนในบ้านให้ช่วยกันเก็บรวบรวมเสื้อผ้า และข้าวของเหลือใช้ประดามีมากองรวมกันไว้ ปรากฏว่าได้กองเบ้อเริ่มทีเดียว และเป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นของที่แต่ละคนเก็บ (ดอง) ไว้นานแล้ว แต่พอจะทิ้งก็เสียดาย
ครั้นจะให้ใครก็ตัดใจไม่ลง สุดท้ายเลยเก็บไว้ให้ฝุ่นเกาะเล่น (ซะงั้น !) มนุษย์เราส่วนใหญ่มักเป็นแบบนี้ กว่าจะให้อะไรใครได้สักชิ้น คิดแล้วคิดอีก เสียดาย. . . กลัวว่าวันหนึ่งตัวเองอาจจะต้องใช้ก็เลยเก็บไว้อยู่นั่น เรียกว่าถ้าเป็นของกินก็เก็บจนหมดอายุหรือถ้าเป็นของใช้ก็เก็บจนสิ้นอายุขัย (คนเก็บ) นั่นแหละ !
กรณีที่เป็นของใช้แล้วไม่อยากให้ใคร เผื่อว่าอาจต้องใช้ในอนาคตก็พอจะเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นอวัยวะหรือร่างกายที่เมื่อตายไปแล้วก็ไม่มีวันได้กลับมาใช้อีกแน่ ๆ ! แบบนี้สู้ให้คนที่เขาต้องการไปจะดีกว่าไหม ?
แม้จะเก็บสมบัติ (บ้า) ไว้มากมาย (มารู้ตัวก็ตอนที่ต้องขนเอาไปกองหน้าบ้านนี่แหละ !) แต่สำหรับอวัยวะ และร่างกายซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดในชีวิต ได้ตัดสินใจบริจาคไปเรียบร้อยแล้ว เพราะมองว่าการบริจาคอวัยวะก็เปรียบเหมือนการทำสังฆทาน ถือเป็นการให้โดยไม่เจาะจงผู้รับเหมือนกัน
เพียงแต่แทนที่เราจะให้เป็นข้าวของเครื่องใช้แบบที่ให้พระภิกษุก็เปลี่ยนเป็นให้อวัยวะของเรากับใครก็ได้ เพื่อต่อชีวิตเขา ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นยาจกเข็ญใจ อัครมหาเศรษฐี คนร้ายหรือคนดี เราก็ยินดีให้
มีคนรู้จักคนหนึ่ง เดิมเป็นคนไม่ชอบออกกำลังกาย แต่หลังจากบริจาคอวัยวะไปแล้วกลับลุกขึ้นมาฟิตออกกำลังกายทุกวัน เธอบอกว่าอยากให้คนที่รับอวัยวะของเธอไปได้ใช้แต่ของดี ๆ (สาธุ. . . สุดยอดจริง ๆ !)
ส่วนการบริจาคร่างกายเพื่อเป็น "อาจารย์ใหญ่" นั้น ถือเป็นการให้วิทยาทานอันสูงส่ง เพราะแม้เราจะตายไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ได้มากมายมหาศาล เพราะความรู้ที่นักศึกษาแพทย์ได้รับจากการศึกษาร่างกายของเรา สามารถนำไปพัฒนาช่วยชีวิตคนอื่นได้อีกมากมาย ซึ่งตอนมีชีวิตอยู่เราก็อาจช่วยอะไรใครไม่ได้มากขนาดนั้น
ที่สำคัญ คือการทำบุญด้วยวิธีนี้แม้จะมีคุณอย่างล้นเหลือ แต่เรากลับไม่ต้องใช้เงินสักบาท และไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย แถมยังเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ และไม่ต้องกลัวว่าให้ไปแล้วจะสูญเปล่า เพราะถ้าเป็นอวัยวะที่คนรับต้องการก็มั่นใจได้ว่าเขาจะใช้อย่างทะนุถนอม และใช้ไปจนตลอดชีวิตอย่างแน่นอน
การให้ที่ไม่สนใจว่าใครจะเป็นผู้รับ. . .
การให้ที่เมื่อตัดสินใจให้ก็ต้องปล่อยวางทุกสิ่ง
การให้ที่ผู้รับได้ประโยชน์มหาศาล
แต่ผู้ให้ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น
และไม่หวังจะ "ได้ยิน" แม้แต่คำว่า "ขอบคุณ"
จะมีการให้ใดที่งดงามยิ่งกว่านี้. . .
ขึ้นต้นด้วยการทิ้งขยะ แต่ลงท้ายด้วยการบริจาคอวัยวะและร่างกาย นั่นเพราะทุกอย่างคือของเหลือใช้
ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้เหมือน ๆ กัน
#สังฆทาน [อวัยวะ]
• • • • •
อุษาวดี สินธุเสน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "คิดเป็นโลกเปลี่ยน"
โฆษณา