12 มิ.ย. 2022 เวลา 05:22 • ประวัติศาสตร์
จัตุรัสมหาวชิราวุธ - จัตุรัสขนาดใหญ่ที่เหลือเพียงวงเวียน
ถ้าเราเดินทางไปที่ปากคลองตลาดบริเวณโรงเรียราชินี เราจะเห็นวงเวียนเล็กๆหน้าสถานีตำรวจพระราชวัง ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ต้อนรับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เรียกกันว่า “จัตุรัสมหาวชิราวุธ” หรือ “Maha Vajiravudh Square”
จุัตุรัสมหาวชิราวุธในปัจจุบัน
จัตุรัสมหาวชิราวุธเกิดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ.1910 โดยบริเวณจัตุรัสประกอบด้วย
1. “สะพานเจริญรัช ๓๑” สะพานชุดเจริญ สะพานแรกที่สร้างเนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 31 พรรษา ในปี ค.ศ.1911 สะพานแห่งนี้เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมบริเวณโรงเรียนราชินี
2. สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง เป็น สถานีตำรวจศิลปะบาร็อกที่ออกแบบโดยมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาลี สร้างขึ้นบริเวณพื้นที่ของวังกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ โดยสถานีตำรวจแห่งนี้มีสถานะเป็นที่ว่าการตำรวจนครบาลที่ 1 (กองกำกับการตำรวจนครบาล 1 ในปัจจุบัน ย้ายไปอยู่ที่ สถานีตำรวจสำราญราษฎร์) เปิดใช้งานตั้งแต่ ค.ศ. 1914
แผนที่บริเวณวัดพระเชตุพนในสมัยรัชกาลที่ 5 จากหนังสือ Revitalizing Bangkok
3.จัตุรัสมหาวชิราวุธ เป็นจัตุรัสขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยโรงเรียนราชินี สถานีตำรวจพระราชวัง สโมสรทหารม้า (โรงเรียนราชบพิธในปัจจุบัน) และคลองคูเมืองเดิม โครงการนี้สร้างขึ้นเพื่อปรับภูมิทัศน์แนวถนนสนามไชยและถนนมหาราช แต่ด้วยปัญหาเรื่องงบประมาณ ทำให้จัตุรัสแห่งนี้ไม่ได้มีสร้างต่อ เหลือไว้แต่เพียงวงเวียนกลับรถหน้าสถานีตำรวจพระราชวังเท่านั้น
แผนผังจัตุรัสมหาวชิราวุธ โดย Louis Robert De la Mahotiere วิศวกรโยธาชาวฝรั่งเศส ภาพจากหนังสือ Revitalizing Bangkok
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการสร้างอาคารและวงเวียนในบริเวณที่ไม่ห่างไกลจากจัตุรัสวชิราวุธ ได้แก่ การสร้างอาคารราชวัลลภ สำหรับเป็นโรงพักทหารสำหรับกองพันที่ 1 กรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เปิดใช้งานในปี ค.ศ. 1924 (ปัจจุบัน คือ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน)
อาคารราชวัลลภ
ซึ่งมีวงเวียนอยู่ด้านหน้าของอาคาร คนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “วงเวียน ร.ด.” ซึ่งวงเวียน ร.ด. เปรียบเสมือนการเข้าเขตพระบรมมหาราชวังและเป็นจุดเริ่มต้นของถนนเจริญกรุงอีกด้วย
วงเวียน ร.ด. (2022)
ที่มา
-ชาตรี ประกิตนนทการ และกรรณิการ สุธีรัตนาภิรมย์. Revitalizing Bangkok ฟื้นชีวิตกรุงเทพฯ. นนทบุรี: ภาพพิมพ์, 2565.
โฆษณา