21 ส.ค. 2022 เวลา 10:45 • ประวัติศาสตร์
“คูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan)” อุดมการณ์เร้นลับในประวัติศาสตร์อเมริกา
ความแตกต่างของสีผิว เป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดประเด็นหนึ่งตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน…
โดยเฉพาะในดินแดนที่ผ่านยุคล่าอาณานิคมซึ่งถูกยุโรปครอบครองอย่างแอฟริกาและอเมริกา...
ธุรกิจค้าทาสข้ามทวีป...
กฎอพาไทด์ในแอฟริกาใต้...
การใช้แรงงานทาสในระบบเกษตรกรรม...
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งเรื่องสีผิว ที่ต้องใช้กาลเวลาแปรเปลี่ยนให้มีความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น
อย่างในสหรัฐอเมริกาที่สร้างประเทศขึ้นมาจากพื้นฐานความคิดที่คนต้องเท่าเทียมกันในปี 1776
ต้องใช้เวลาอีกเกือบ 90 ปี ที่ความคิดนั้นจะถูกผลักดันแบบจริงจัง แถมยังต้องแลกมาด้วยการนองเลือดครั้งใหญ่
และแม้จะผ่านการนองเลือดที่ทำให้คนสีผิวอื่นนอกจากคนขาวเริ่มถูกยอมรับมากขึ้น แต่ลึกๆ แล้ว ความเกลียดชังไม่ได้หายไปแบบหมดจด
ความพ่ายแพ้ของกลุ่มต่อต้านสีผิว ได้ก่อเกิดกลุ่มก่อการร้ายที่ชื่อว่า "เดอะแคลน (The Klan)" ขึ้นมา
พวกเขาเปรียบเสมือนเงาในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกา...
พวกเขาถูกหล่อเลี้ยงด้วยอุดมการณ์อันแสนเร้นลับ…
และอุดมการณ์นั้นก็ก่อเกิดพวกเขาขึ้นมาถึง 3 ครั้งในระยะเวลา 100 ปี...
แม้จะถูกกวาดล้าง แต่ก็งอกขึ้นมาใหม่ได้ทุกยุคสมัย...
พวกเขาต่อต้านคนดำ เอเชีย ยิว ละติน คาทอลิก ฯลฯ
การโฆษณาชวนเชื่อ...
การทำร้ายร่างกาย...
ลักพาตัว...
ประชาทัณฑ์...
ฆาตกรรม...
วินาศกรรม…
สร้างความหวาดกลัว...
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของ "เดอะแคลน" หรือ "คูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan)"
กลุ่มก่อการร้ายอันน่าหวาดหวั่น 3 ยุคสมัยของสหรัฐอเมริกา...
แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นใคร เกิดขึ้นมาได้ยังไง และต้องการอะไร...
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ในช่วงศตวรรษที่ 16 ทวีปอเมริกากลายเป็นดินแดนใหม่ที่เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับชาวยุโรป
แต่ละคนต่างก็มีเหตุผลในการเข้ามาดินแดนนี้แตกต่างกันไป...
บ้างก็มาเพื่อสำรวจ...
บ้างก็มาเพื่อหาขุมทรัพย์...
บ้างก็มาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่...
ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ในเวลาไม่ถึง 100 ปี อเมริกาก็กลายเป็นถิ่นฐานแห่งใหม่ของชาวยุโรป
และแน่นอนครับว่า การตั้งถิ่นฐานต้องใช้แรงงานมหาศาล ที่โดยลำพังชาวยุโรปไม่ได้มีจำนวนคนที่รองรับขนาดนั้น
สิ่งที่ตามมาคือ มีคนหัวไสคิดว่า "ไหนๆ เราก็มีดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของเราอีกที่อย่างแอฟริกา ก็เอาประชากรในนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์หน่อย!"
ซึ่งก็เกิดเป็นธุรกิจขนคนผิวดำจากแอฟริกาข้ามทวีปไปใช้แรงงานในอเมริกา โดยในตอนแรกคนผิวดำเหล่านี้เป็นแรงงานชั้นดีที่ได้รับค่าตอบแทนและมีอิสระพอสมควรเลยล่ะครับ
2
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความคิดของชาวยุโรปในอเมริกาและนายหน้าค้าแรงงานก็เริ่มเปลี่ยน คนผิวดำจากแอฟริกาไม่ได้ถูกมองเป็นแรงงานอีกต่อไป แต่ถูกมองว่าเป็น "ทรัพย์สิน" ที่เจ้าของจะใช้งานยังไงก็ได้
1
เหล่าแรงงานผิวดำที่ถูกขนมาและไม่ได้มีปากมีเสียงก็เลยเริ่มแปรสภาพกลายเป็นทาสไปในที่สุด
และความคิดเหล่านี้ก็ถูกฝังไว้ใน DNA ของสังคมทวีปอเมริกาไปร่วม 200 ปี (โดยเฉพาะอเมริกาเหนือที่มีการทำเกษตรซึ่งใช้ทาสเป็นหลัก)
ซึ่งแม้ในปี 1776 13 อาณานิคมในอเมริกาเหนือจะมีการประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ และตั้งประเทศชื่อสหรัฐอเมริกาขึ้นมาด้วยอุดมการณ์ที่ร่างลงในคำประกาศอิสรภาพ
"เรายึดถือข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์แจ้งในตัวเองว่า มนุษย์ทุกคนได้รับการสรรค์สร้างขึ้นมาเท่าเทียมกัน…"
1
แต่ในตอนนั้นข้อเท็จจริงเรื่องความเท่าเทียมอันสวยหรูนี้ ไม่ได้ครอบคลุมมนุษย์ที่เป็นคนผิวดำ
และต้องใช้เวลาอีก 90 ปีต่อมา ที่ข้อเท็จจริงในคำประกาศนั้นจะเริ่มขับเคลื่อน
ซึ่งการขับเคลื่อนนั้นก็ตามมาด้วยความขัดแย้งอย่างรุนแรงเกิดเป็นสงครามกลางเมืองในปี 1861 นั่นเอง...
ภาพจาก Time (การขนแรงงานผิวดำมาที่อเมริกา)
ภาพจาก Britannica (แรงงานผิวดำในอเมริกา)
ภาพจาก Thought co (แรงงานผิวดำที่แปรสภาพเป็นทาส)
สงครามกลางเมืองเกิดจากนโยบายเลิกทาสผิวดำของอับราฮัม ลินคอร์น โดยรัฐทางเหนือต้องการให้เลิกทาสเพราะมองว่าการมีทาสเป็นเรื่องที่ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐทางใต้ไม่ยอมให้เลิก เพราะทาสนั้นสำคัญกับการทำเกษตรของรัฐทางใต้
พอความคิดไม่ลงรอยกัน รัฐทางใต้เลยจะแยกประเทศ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐทางเหนือก็ต่อต้านหัวชนฝา จนต้องรบกันในปี 1861
1
และผลคือ รัฐทางเหนือเป็นฝ่ายชนะในปี 1865 ระบบทาสในสหรัฐอเมริกาเลยถูกรื้อออกไป
แต่แม้สงครามกับระบบทาสจะจบลงแล้ว ความคิดด้านลบต่อคนผิวดำก็ไม่ได้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะรัฐทางใต้ที่ยังไม่ได้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับคนผิวดำ
ซึ่งมีกลุ่มต่อต้านคนผิวดำเกิดขึ้นหลายกลุ่มเลยทีเดียวครับ บางกลุ่มเกิดขึ้นก่อนสงคราม บางกลุ่มเกิดระหว่างสงคราม หรือบางกลุ่มเกิดหลังสงคราม
แต่ไม่มีกลุ่มไหนที่มีชื่อเสียง (หรือเสีย) มากไปกว่ากลุ่มที่เกิดขึ้นในเมืองปูลาสกี เทนเนสซี และใช้ชื่อที่ค่อนข้างแปลกประหลาดว่า "คูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan)"
ภาพจาก History (อับราฮัม ลินคอล์น)
ภาพจาก Blendspace (เขตพื้นที่ในสงครามกลางเมืองอเมริกา)
ภาพจาก Reddit (สงครามกลางเมืองอเมริกา)
The First Klan
จริงๆ แล้วจุดกำเนิดของ "คูคลักซ์แคลน" ซึ่งผมขอเรียกว่า "แคลน" ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับการต่อต้านสีผิวหรือเชื้อชาติเลย
เรื่องของเรื่องคือหลังสงครามกลางเมืองจบ ทหารก็ต้องพากันกลับบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าความโหดร้ายในสนามรบย่อมส่งผลต่อจิตใจทหารเหล่านี้ไม่มากก็น้อย และคนที่เข้าใจพวกเขาได้มากที่สุดก็คือคนที่ผ่านสนามรบมาเหมือนกัน ทำให้เกิดการรวมกลุ่มพูดคุยเพื่อบำบัดจิตใจกันและกันขึ้นมา
โดยในเมืองปูลาสกี ก็มีอดีตทหารหนุ่ม 6 คน มารวมตัวพูดคุยเพื่อบำบัดจิตใจกันและกัน
ซึ่งพอคุยไปคุยมาก็คิดสนุกสร้างลัทธิปลอมๆ ของตัวเอง โดยใช้ชื่อเป็นภาษากรีกเพิ่มความขลัง คือ เอาคำว่า Kuklos ที่แปลว่าวงกลมหรือวัฏจักรมาใช้ แล้วตามด้วยคำว่า Klan ที่แปลว่า เผ่าหรือกลุ่ม
พอเอามารวมกันก็จะกลายเป็น Kuklos Klan ซึ่งออกเสียงค่อนข้างยาก เลยเปลี่ยนเป็น Ku Klux Klan เพื่อให้ง่ายขึ้นนั่นเอง
โดยจุดประสงค์ของแคลนคือการเล่นสนุกของอดีตทหาร 6 คน ทำกลุ่มตัวเองให้เป็นพวกลึกลับ ใช้โค้ดเนมในการเรียกชื่อแต่ละคน เช่น Grand Cyclops, Grand Magi, Grand Turk, Grand Scribe
หลังจากนั้นก็มีการป่วนคนอื่น โดยเอาผ้าปูที่นอนมาคลุมตัว ใส่หมวกทรงสูงและหน้ากาก พร้อมขี่ม้าไปรอบเมืองให้ดูลึกลับ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านี้...
โดยชาวบ้านที่เห็น บางคนก็คิดว่าบ้า หรือบางคนถึงกับหลงไหลคลั่งไคล้จนพากันมาเข้าร่วมกับแคลน
ซึ่งทั้ง 6 คน ก็รับสมาชิกใหม่เข้ามาโดยเรียกพวกนี้ว่า "กูลส์ (Ghouls)" และจะมีพิธีกรรมรับน้องใหม่เพื่อความสนุก (แน่นอนว่าก็ยังคงคุมธีมลึกลับเอาไว้)
คราวนี้แหละครับ ชื่อเสียงของแคลนก็เริ่มดังกระฉ่อนไปถึงเมืองรอบข้าง จำนวนสมาชิกก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างที่เราเห็นว่าแคลนเป็นลัทธิเพื่อความสนุกสนานโดยเฉพาะ ไม่ได้จริงจังหรือมีจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่อะไร การคัดสมาชิกก็ไม่ได้เจาะไปถึงขนาดว่าคนๆ นั้นมีความคิดหรือมีอุดมการณ์แบบไหน
กลุ่มหรือลัทธิ หากมีสมาชิกจำนวนมาก สิ่งที่จะยึดโยงพวกเขาเอาไว้คืออุดมการณ์และความเชื่อของกลุ่ม ซึ่งแคลนไม่มีตั้งแต่แรก...
1
เลยทำให้สมาชิกหน้าใหม่ของแคลน สร้างความเชื่อของกลุ่มขึ้นมาเองแบบดื้อๆ ซึ่งเป็นความเชื่อในเรื่องการต่อต้านคนผิวดำนั่นเอง
โดยเฉพาะการเข้ามาของชายที่ชื่อว่า "นาธาน เบดฟอร์ด ฟอร์เรสต์ (Nathan Bedford Forrest)" ซึ่งเคยเป็นแม่ทัพทหารม้าในช่วงสงครามกลางเมือง แถมยังเคยมีวีรกรรมสั่งสังหารหมู่คนผิวดำในเหตุการณ์ Fort Pillow เมื่อปี 1864
ฟอร์เรสต์ที่เริ่มแทรกตัวเข้ามาในแคลน แถมยังมีโปรไฟล์ที่ไม่ธรรมดา ทำให้กลายเป็นผู้นำปลูกฝังอุดมการณ์ต่อต้านคนผิวดำในแคลนขึ้นมา
จากการแค่เล่นสนุก ก็กลายเป็นการข่มขู่!
สมาชิกที่สร้างความเชื่อใหม่ก็ใส่หน้ากากกับผ้าคลุมขี่ม้าตอนกลางคืน ไปเคาะประตูตามบ้านคนดำ แล้วข่มขู่หรือถึงขั้นทำร้ายร่างกายแบบสาหัสในแต่ละคืนไม่ซ้ำหน้ากัน
ภาพลักษณ์ในตอนแรกที่คนมองว่าบ้าๆ บอๆ กลับกลายเป็นความพรั่นพรึงเมื่อตะวันตกดิน
ผ้าปูที่นอนสีขาว...
หน้ากากและหมวกทรงสูง...
กลายเป็นสัญลักษณ์ความหวาดกลัวแบบสุดขีดภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี หลังจากที่ทหารหนุ่ม 6 คนก่อตั้งแคลนขึ้นมา
ในตอนนี้ความเชื่อและจุดมุ่งหมายของแคลนก็ไปไกลสุดโต่งเกินกว่าที่ทั้ง 6 คนจะควบคุมเอาไว้ได้แล้ว
และฟอร์เรสต์ก็กลายเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดของแคลนอย่างแท้จริง ภายใต้ชื่อ Grand Wizard
ภาพจาก Pulpit & Pen News (นาธาน เบดฟอร์ด ฟอร์เรสต์)
ภาพจาก History (การสังหารหมู่ Fort Pillow)
ภาพจาก The Reconstruction Era (เครื่องแบบของแคลนในยุคแรก)
ภาพจาก Bridgeman (การเยี่ยมเยียนของแคลนในยามค่ำคืน)
ภาพจาก DER SPIEGEL (การใช้ความรุนแรงของแคลน)
การใช้ความรุนแรงของแคลน
จากการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง และทรมาน แคลนก็เพิ่มความโหดไปถึงขั้นฆาตกรรมคนผิวดำในช่วงปี 1867-1869
โดยเหตุผลที่แคลนเพิ่มความรุนแรง คือในช่วงนั้นรัฐบาลเริ่มเปิดโอกาสให้คนผิวดำสมัครเลือกตั้งในระดับมลรัฐได้
แคลนเริ่มล่าคนผิวดำที่จะเข้ามาเล่นการเมือง ทั้งจับมาทุบตีและแขวนคอ พร้อมๆ กับสร้างความกลัวให้กับชาวบ้านผิวดำที่มีสิทธิเลือกตั้งว่าหากเลือกคนผิวดำมาเป็นผู้นำจะต้องพบชะตากรรมเดียวกัน
วีรกรรมของแคลนเริ่มมีชื่อกระฉ่อนไปทั่วประเทศ ถึงกับได้รับการขนานนามว่า “อาณาจักรล่องหนแห่งดินแดนใต้” เพราะสามารถควบคุมสภาพสังคมให้ตกอยู่ในกำมือของตัวเองได้
คราวนี้ในปี 1870 รัฐบาลของมลรัฐทางใต้เลยเริ่มเดินเกมปราบแคลนแบบจริงจัง โดยออกกฎหมายต่อต้านการสวมหน้ากากขี่ม้าตอนกลางคืน
พร้อมกับส่งกองกำลังมาจับสมาชิกแคลน ซึ่งรวบได้หลายร้อยคนเลยล่ะครับ แต่สุดท้ายก็ติดคุกไม่กี่สิบคนเท่านั้น...
พยานหรือผู้เสียหายก็ไม่กล้ามาชี้ตัวคนร้าย เพราะกลัวจะถูกสมาชิกแคลนที่เหลือ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีเท่าไหร่) ตามมาคิดบัญชีตัวเอง ทำให้ทางการไม่มีหลักฐานมากพอที่จะเอาผิดคนที่ถูกจับได้
1
แต่หลังจากนั้นทางการก็คุมเข้มมากขึ้น ทำให้แคลนทำงานยากขึ้นไปด้วย ซึ่งตัวของฟอร์เรสต์ก็ประกาศยุบแคลนในปี 1871
และสุดท้ายวีรกรรมของแคลนพร้อมกับสมาชิกที่เหลือก็เริ่มจางหายไปในที่สุด
หลายๆ คนอาจคิดว่านี่คือจุดจบของแคลนแล้วจริงๆ...
แต่ในช่วงเวลานั้น ใครจะรู้ล่ะครับว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น...
การคงอยู่ของแคลนไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลหรือกลุ่มคน...
1
แต่ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์อันแรงกล้า...
ถึงแม้คนจะตายไป ใช่ว่าแคลนจะตายตามไปด้วย เมื่ออุดมการณ์ของแคลนยังคงอยู่ในม่านหมอกของสังคม รอวันเวลาที่จะเฉิดฉายอีกครั้ง...
1
ภาพจาก EJI Calendar (การร่างกฎหมายต่อต้านแคลน)
The Second Klan
ก่อนที่เราจะไปถึงเรื่องของแคลนรุ่นที่สอง ผมขอเล่าถึงพัฒนาการสังคมอเมริกันกันก่อน
หลังสงครามกลางเมือง สหรัฐฯ เข้าสู่ยุคทองอุตสาหกรรม มีการสร้างทางรถไฟโยงใยทั่วประเทศ เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่สะดวกรวดเร็วเป็นแต้มต่อดึงดูดนักลงทุนให้แห่กันเข้ามา
1
ซึ่งนักลงทุนและปัจจัยด้านทรัพยากรที่พร้อม ก็ได้เกิดสตาร์ทอัพใหม่ๆ ในยุคนั้น จนเป็นรากฐานสร้างสหรัฐฯ ให้เป็นชาติที่มั่งคั่งที่สุดในโลก
อีกเหตุการณ์ก็คือการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆ ทางตะวันตก ก็ทำให้เกิดเมืองใหม่ๆ ขึ้นมากมาย แถมยังมีการพบทองในแคลิฟอเนียร์ จนนำพาประเทศเข้าสู่ยุคตื่นทองไปอีก
สิ่งที่ผมอยากให้ทุกท่านสังเกตคือ ทั้งยุคทองอุตสาหกรรม การบุกเบิกพื้นที่ และยุคตื่นทองต่างเป็นแม่เหล็กชั้นดีดึงดูดคนจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา
ทำให้สภาพสังคมของประเทศนี้มีความหลากหลายสูงมาก จนเกิดความขัดแย้งในหลายพื้นที่...
คราวนี้ ยังมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอีกเหตุการณ์...
1
คือในปี 1915 ได้มีภาพยนตร์ชื่อว่า "The Birth of a Nation" ออกฉาย ซึ่งเป็นหนังเงียบ ไม่มีไดอะล็อกและการพูดของตัวละคร ซึ่งหนังเรื่องนี้ใช้เนื้อเรื่องในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา
โดยเรื่องราวย่อๆ ของแบ่งเป็น 2 Parts ด้วยกัน
Part 1 : เป็นเรื่องของสงครามกลางเมืองอเมริกา โดยมีตัวเอกคือคนขาวซึ่งเป็นวีรบุรุษชาวใต้ชื่อ "เบนจามิน คาเมรอน" มีการพบรักกับหญิงสาวชื่อ "เอลซี่ สโตนแมน" โดยเรื่องราวจะลากไปถึงช่วงที่อับราฮัม ลินคอร์นถูกลอบสังหาร
Part 2 เป็นเรื่องหลังลินคอร์นถูกลอบสังหาร พ่อของเอลซี่ คือ "ออสติน สโตนแมน" ซึ่งมีอำนาจในรัฐทางใต้ สนับสนุนคนผิวดำชื่อ "ไซลาส ลินช์" ให้ชนะเลือกตั้ง ทำให้เบนจามินไม่พอใจ เลยไปตั้งองค์กร Ku Klux Klan ทำสงครามต่อต้านไซลาสและคนผิวดำ
2
ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้นำเสนอให้เบนจามินและแคลนเป็นฝ่ายตัวดี ส่วนไซลาสและคนผิวดำเป็นฝ่ายตัวร้าย
โดยเมื่อหนังออกฉายก็ถูกโจมตีอย่างหนักว่าเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ แถมพยายามบิดให้แคลนเป็นวีรบุรุษ ทั้งที่ตามประวัติศาสตร์จริงๆ แล้ว แคลนเป็นกลุ่มก่อการร้ายสุดโหดเหี้ยมต่างหาก...
แต่หากพูดในมุมของการถ่ายทำนั้น The Birth of a Nation ถือเป็นหนังที่ปฏิวัติวงการภาพยนตร์เลยทีเดียวครับ เพราะมีการใช้เทคนิคถ่ายทำที่แปลกใหม่ทั้งฉาก แสง สี เสียง หนังเลยทำให้คนดูมีอารมณ์จดจ่อร่วมกับหนังขาวดำที่ไร้บทพูดได้อย่างอยู่หมัด
1
ถึงแม้จะถูกโจมตีในส่วนของเนื้อเรื่อง แต่ก็ทำให้หนังถูกพูดต่อในวงกว้าง จน The Birth of a Nation กลายเป็นหนังทำเงินสูงที่สุดในโลก (ก่อนที่ 25 ปีต่อมาจะถูกโค่นโดย Gone with the Wind)
จากความขัดแย้งในสังคมเพราะผู้อพยพ และกระแสของ The Birth of a Nation แคลนรุ่นที่สองก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในที่สุด...
การสร้างทางรถไฟหลังสงครามกลางเมือง
ภาพจาก Wikimedia Commons (โปสเตอร์ The Birth of a Nation)
ภาพจาก PBS Learning Media (ตัวร้ายไซลาส ที่ใช้นักแสดงผิวขาวมาทาตัวดำเพื่อแสดงเป็นคนผิวดำ)
ภาพจาก Los Angeles Times (ซีนลอบสังหารลินคอร์น)
ภาพจาก Britanica (แคลนใน The Birth of a Nation)
ภาพจาก PBS (ไซลาสและแคลน)
หลังหนังฉายไม่กี่เดือน ชายที่ชื่อว่า "วิลเลียม โจเซฟ ซิมมอนส์ (William Joseph Simmons)" พร้อมสมาชิกร่วมอุดมการณ์ 15 คน ได้รับแรงบันดาลใจจากการดูหนัง สร้างแคลนขึ้นมาอีกครั้งในเมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย
2
โดยจุดประสงค์ของแคลนรุ่นที่สองคือการต่อต้านคนผิวดำ แต่เพิ่มเติมคือต่อต้านผู้อพยพด้วย
รวมๆ แล้ว ทั้งคนผิวดำ...
คนยิว...
คนเอเชีย...
คนสลาฟ...
คนละติน...
1
และคนที่นับถือคาทอลิก...
เป็นกลุ่มคนที่แคลนเวอร์ชั่นสองต่อต้าน
แต่จุดประสงค์ที่ว่าคือเรื่องรองครับ เพราะจุดประสงค์หลักที่ซิมมอนส์กับสมาชิก 15 คนก่อตั้งแคลนขึ้นมาคือการหาเงิน!
ซิมมอนส์ใช้อุดมการณ์ทั้งหลายแหล่ดึงดูดให้คนเข้ามาเป็นสมาชิกของแคลน
แต่ในช่วงแรกแคลนเติบโตช้ามาก แถมในปี 1917 สหรัฐฯ ก็กระโดดเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ซิมมอนส์ต้องหยุดการขยายตัวของแคลนไว้ก่อน
แต่จากสงคราม ทำให้สภาพจิตใจของคนอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนไปโดยมองว่า "เราไม่เห็นได้อะไรจากการไปทำสงครามที่ยุโรปก่อขึ้นเลย!" และแอนตี้คนต่างถิ่นมากยิ่งขึ้นไปอีก
และมันก็เป็นจุดที่ซิมมอนส์ใช้โฆษณาชวนเชื่อในทำนองว่า "แคลนจะเป็นองค์กรที่สร้างสังคมอเมริกันที่เป็นของคนอเมริกัน (ผิวขาว) อย่างแท้จริง"
ซึ่งมันก็เจาะเข้าไปในใจชาวอเมริกัน (ผิวขาว) ที่แอนตี้คนต่างถิ่น พากันมาสมัครเป็นสมาชิกของแคลนกันนับแสนคนเลยล่ะครับ (โดยซิมมอนส์ก็เก็บค่าสมัครหัวละ 10 ดอลลาร์)
1
สมาชิกนับแสนก็กระจายไปตามมลรัฐต่างๆ ทั่วประเทศแล้วขยายจำนวนสมาชิกออกไปอีก จนแตะระดับ 6 ล้านคนในปี 1925!
แคลนรุ่นสอง (ช่วงแรก) จะแตกต่างจากรุ่นหนึ่ง เพราะรุ่นหนึ่งจะเน้นใช้กำลังและความรุนแรงสร้างความหวาดกลัวในแนวองค์กรก่อการร้าย...
แต่รุ่นสองเน้นการโฆษณาชวนเชื่อขยายเครือข่ายในแนวองค์กรการเมืองเพื่อหาเงินให้ได้มากที่สุด โดยแอนตี้การใช้ความรุนแรง
แต่ใช้วิธีการประกาศสุนทรพจน์ในที่สาธารณะ...
การลงข่าวหนังสือพิมพ์...
การเดินขบวนพาเหรด...
การขายเสื้อและหมวก...
ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะใช้พิธีกรรมเข้ามาโปรโมทด้วย เพื่อให้ดูขลังมากขึ้นอย่างการสวดมนต์และเผาไม้กางเขน (โดยเอามาจากหนัง The Birth of a Nation)
แต่ว่า เมื่อเครือข่ายกว้างมากขึ้น แคลนจากส่วนกลางก็ไม่สามารถควบคุมแคลนส่วนอื่นๆ ได้ทั่วถึง
ตั้งแต่ปี 1926 สมาชิกแคลนในบางพื้นที่ก็หันไปใช้ความรุนแรงแบบรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะในเท็กซัสและโอเรกอน สมาชิกแคลนขี่ม้าไล่ล่าจับทั้งคนผิวดำและคนต่างถิ่นมาเฆี่ยนตี ทรมาน และรุมประชาทัณฑ์ พร้อมกรีดหน้าผากของเหยื่อเป็นตัวอักษร "KKK"
คราวนี้แหละครับ การใช้ความรุนแรงทำให้ภาพลักษณ์ของแคลนติดลบพร้อมกับความนิยมที่ดิ่งลงเหว!
จากสมาชิก 6 ล้านคน ในปี 1925 พอมาในปี 1930 แคลนเหลือสมาชิกเพียง 30,000 คน ที่สนับสนุนอยู่
และสมาชิกที่เหลือก็โดนทางการตามไล่ล่าปราบปราม พร้อมออกกฎหมายห้ามใช้สัญลักษณ์และสินค้าของแคลน ทั้งเสื้อคลุม หมวก ธง และการเผาไม้กางเขน
ซึ่งตั้งแต่ปี 1940 เป็นต้นมา แคลนเป็นกลุ่มคนที่ถูกสังคมต่อต้านอย่างรุนแรง และอาจเรียกได้ว่านี่เป็นจุดจบของแคลนรุ่นที่สองเลยก็ว่าได้...
1
ภาพจาก The Digital Public Library (วิลเลียม โจเซฟ ซิมมอนส์)
ภาพจาก WAMU (การเดินขบวนพาเหรดของแคลนที่ D.C. ในปี 1925)
ภาพจาก UChicago Voice (การเผาไม้กางเขนของแคลน)
ภาพจาก Medium
ภาพจาก FVWT (แคลนในแคนาดา)
The Third Klan
เราอาจเรียกได้ว่า "รุ่นที่หนึ่ง" เป็นแคลนที่ดูโหดเหี้ยมมากที่สุด
"รุ่นที่สอง" เป็นแคลนที่ดูยิ่งใหญ่มากที่สุด
และ "รุ่นที่สาม" ที่ผมกำลังจะพูดถึง ถือเป็นแคลนที่ดูยุ่งเหยิงและวุ่นวายมากที่สุด
ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ที่การเมืองภายในของสหรัฐอเมริกากำลังร้อนระอุ
ผมขอเล่าก่อนว่า ช่วงเวลานั้นถือเป็นจุดพีคของสงครามเย็น และประชาชนของสหรัฐฯ จำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านรัฐบาลในเรื่องสงครามเวียดนาม...
รวมถึงในปี 1955 เกิดเหตุการณ์ในเมืองมอนโกเมอรีที่หญิงผิวดำชื่อ "โรซา พาร์คส์ (Rosa Parks)" ถูกตำรวจจับเพราะไม่สละที่นั่งบนรถบัสให้ชายผิวขาว
1
ทำให้นำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำที่ขยายใหญ่โตในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งมีผู้นำคือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)
ทั้งการต่อต้านสงครามเวียดนาม และการเรียกร้องความเท่าเทียม ทำให้เกิดม็อบทั่วประเทศเป็นว่าเล่นเลยล่ะครับ
3
และภาวะที่วุ่นวายนี้แหละ ก็ทำให้แคลนก้าวขึ้นมาผงาดอีกครั้ง!
1
แต่แคลนรุ่นนี้จะแตกต่างจากรุ่นที่แล้วหน่อยๆ เพราะรุ่นนี้แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แค่ใช้ชื่อและสัญลักษณ์ของแคลนรุ่นก่อนเหมือนกันเท่านั้น
อีกทั้ง อุดมการณ์ก็ต่างกันไปอีก บางกลุ่มต่อต้านคนผิวดำ บางกลุ่มต่อต้านคนยิว บางกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ บางกลุ่มต่อต้านคนละติน
แต่หากพูดถึงจุดร่วมใหญ่ๆ อาจพูดได้ว่า "ทุกกลุ่มล้วนต่อต้านความเท่าเทียมเรื่องเชื้อชาติ"
แคลนรุ่นที่สามคล้ายกับแคลนรุ่นที่หนึ่งคือเน้นสร้างความวุ่นวายและความหวาดกลัว โดยการฆาตกรรม ลักพาตัว ทำร้ายร่างกาย ทรมาน หรือแม้กระทั่งวินาศกรรม...
ภาพจาก The Center for Black Literature (โรซา พาร์คส์)
ภาพจาก National Geographic (มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์)
วีรกรรมของแคลนรุ่นที่สามเกิดขึ้นกระจายทั่วประเทศเลยล่ะครับ แต่ละวีรกรรมก็เน้นทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัวมากที่สุด
อย่างในปี 1956 มีการวางระเบิดบ้านของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ซึ่งมีการคาดว่าเป็นฝีมือของแคลน
ในปี 1963 แคลนกลุ่มหนึ่งในเบอร์มิงแฮม รัฐอลาบามา วางระเบิดโบสถ์ในเมือง จนทำให้เด็กสาวผิวดำ 4 คน คือ เอ็ดดี้ คอลินส์, เดไนส์ แมคแนร์, คาโร โรเบิร์ตสัน, ซินเทีย เวสลีย์ เสียชีวิตคาที่
ในปี 1964 ชาร์ล เอ็ดดี้ มัว และเฮนรี่ ดี วัยรุ่นผิวดำ 2 คน ถูกกลุ่มแคลนในมิสซิสซิปปี ชื่อว่า "White Knight" ลักพาตัว ก่อนที่จะพบศพทั้งสองคนในแม่น้ำอีก 2 เดือนต่อมาในสภาพเหมือนถูกทารุณอย่างรุนแรง
ในปีเดียวกัน White Knight ก็ลักพาตัวนักต่อสู้สิทธิคนผิวดำ 3 คน คือ เจมส์ ชานีย์, แอนดริว กู๊ดแมน และ ไมเคิล ชแวเนอร์ ทำให้รัฐบาลส่ง FBI เข้ามาสืบจนพบศพทั้งสามคนถูกฝังอยู่ใกล้ๆ เขื่อน
1
ในปี 1965 วิโอลา ลูซโซ หญิงสาวผิวขาวที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมเรื่องเชื้อชาติ ถูกสมาชิกแคลนไล่ยิงจนเสียชีวิตขณะขับรถบนทางด่วนของอลาบามา
ในปี 1966 เวอร์นอน ดาเมอร์ นักธุรกิจที่สนับสนุนคนผิวดำ ถูก White Knight สะกดรอยและตามไปเผาบ้านจนลูกสาววัย 10 ขวบของดาเมอร์เสียชีวิต และตัวของดาเมอร์ก็โดนไฟคลอกจนสาหัส
1
อย่างที่ผมได้บอกไปครับว่า แคลนรุ่นสามมีความยุ่งเหยิงและวุ่นวาย เพราะเคสที่เกิดขึ้นมีการตั้งคำถามในบางเคสว่า "แคลนเป็นคนทำจริงๆ หรือคนที่ทำแค่ใช้ชื่อของแคลนมาบังหน้าเท่านั้น"
และการให้คำนิยามของแคลนรุ่นที่สามก็ยากกว่ารุ่นก่อนๆ เพราะไม่มีผู้นำหรือองค์กรตายตัว เป็นแค่กลุ่มคนที่รวมกันเพื่อต่อต้านสภาพสังคมในยุคนั้นโดยใช้เพียงความรุนแรงเป็นทางออก
แต่ว่า ถึงแม้อาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่างๆ นานาจะมีความคลุมเคลือ ชื่อของแคลนรุ่นที่สามกลับเป็นชื่อที่ถูกพูดถึงในสังคมอเมริกันมากกว่าแคลนรุ่นอื่นๆ
และทำให้แคลนมีภาพลักษณ์เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่รัฐบาลต้องปราบปรามแบบจริงจัง
แต่จุดจบของแคลนรุ่นที่สามไม่ได้มาจากการปราบของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว...
สาเหตุที่สำคัญกว่าคือการเกิดกลุ่มหัวรุนแรงอีกกลุ่มที่ชื่อว่า "นีโอนาซี (Neo-Nazi)"
ภาพจาก NPR (การลอบวางระเบิดโบสถ์ในเบอร์มิงแฮม ปี 1963)
ภาพจาก CNN (เหยื่อระเบิดทั้ง 4 คน)
ภาพจาก Zinn Education Project (ชาร์ล เอ็ดดี้ มัว และเฮนรี่ ดี)
นักต่อสู้เพื่อสิทธิทั้งสามคนที่หายตัวไป
ภาพจาก A Mighty Girl (วิโอลา ลูซโซ)
ภาพจาก Astly (สภาพรถของวิโอลา ลูซโซ หลังถูกยิง)
EJL Calendar (เวอร์นอน ดาเมอร์)
The Washington Post (บ้านเวอร์นอน ดาเมอร์ที่ถูกวางเพลิง)
ภาพจาก Southern Law Poverty Center (นีโอนาซี)
ภาพจาก voanews (นีโอนาซี)
นีโอนาซี เป็นกลุ่มสุดโต่งที่เชื่อว่าชาวอเมริกันผิวขาวคือชาติพันธุ์ที่แข็งแกร่งและยอดเยี่ยมกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ โดยเอาความคิดมาจากนาซีเยอรมันที่เชื่อว่าชาวอารยันเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ
แคลนกับนีโอนาซีมีความคล้ายกันตรงที่โปรคนอเมริกันผิวขาวและต่อต้านคนสีผิวอื่นๆ เหมือนกัน
แต่นีโอนาซีใช้วิธีการแบบแคลนรุ่นสอง คือตั้งองค์กร สร้างโฆษณาชวนเชื่อ เดินขบวน และเล่นการเมือง ทำให้จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นจนแซงหน้าแคลนในเวลาไม่ถึง 10 ปี
เมื่อของใหม่ที่ดูดีกว่าเข้ามาแทนที่ ของเก่าก็เริ่มตกยุคไป คนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของแคลนก็แห่ไปเข้าร่วมนีโอนาซี
1
เรียกได้ว่า ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ก็ถือเป็นจุดจบของแคลนรุ่นที่สาม
และในศตวรรษที่ 21 ร่องรอยหรือวีรกรรมของแคลนก็แทบจางหายไปหมดแล้ว จำนวนสมาชิกก็เหลืออยู่แค่หลักพันคนเท่านั้น
แต่ทุกท่านครับ อย่างที่ได้เห็นกันไปแล้วว่า การคงอยู่ของแคลนไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลหรือกลุ่มคน...
การคงอยู่ของแคลนขึ้นอยู่กับอุดมการณ์อันแรงกล้า...
ผมไม่อาจบอกได้ว่านี่คือจุดจบของแคลนแบบสมบูรณ์...
เพราะการผงาดของแคลนในแต่ละครั้งล้วนเกิดจากความวุ่นวายของสังคมในแต่ละยุคสมัย...
สงครามกลางเมืองอเมริกาได้สร้างแคลนรุ่นที่หนึ่งขึ้นมา...
ยุคทองอุตสาหกรรม การอพยพ และสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้สร้างแคลนรุ่นที่สองขึ้นมา...
การเรียกร้องสิทธิคนผิวดำและการประท้วงต่อต้านสงครามเย็น ก็สร้างแคลนรุ่นที่สามขึ้นมา...
ใครจะรู้ล่ะครับว่า ในวันข้างหน้าอาจเกิดความวุ่นวายในสังคมหรือเหตุการณ์สำคัญที่สร้างแคลนรุ่นที่สี่ขึ้นมาอีกก็ได้...
เพราะแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน อุดมการณ์และความเกลียดชังของแคลนก็ยังคงวนเวียนอยู่ในสังคม...
เปรียบเสมือนเงาที่คอยตามติดประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา และเฝ้ารอวันฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในอนาคต...
References
Bartoletti, Campbell Susan. They Called Themselves the K.k.k.: The Birth of an American Terrorist Group. Boston : Clarion Books, 2014.
Chalmers, M. David. Hooded Americanism: The History of the Ku Klux Klan. Duke University Press Books, 1987.
Gordon, Linda. The Second Coming of the KKK: The Ku Klux Klan of the 1920s and the American Political Tradition. New York : Liveright, 2018.
Madison, H. James. The Ku Klux Klan in the Heartland. Bloomington : Indiana University Press, 2020.
Parsons, Frantz Elaine. Ku-Klux: The Birth of the Klan during Reconstruction. The University of North Carolina Press, 2016.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา