14 มิ.ย. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
ทุกคนทำงานแล้วย่อมอยากได้เงินใช่มั๊ย ?
เราจะปรับวิธีคิดยังไงให้เรามีความสุขจากการหาเงินดี ?
สังเคราะห์บทเรียนจากคลาส #Wisdomjourney ของ #ครูเงาะ
ถ้าสรุปเป็นประโยคเดียวสั้น ๆ ว่าสิ่งที่เรียนรู้จากเรื่องนี้คืออะไร
ส่วนตัวเราเรียนรู้ว่า เราต้องรู้จักคุณค่าของ “การรับ” ให้ได้ก่อน
คลาสนี้ ครูให้เราเขียน “ความสุข” ทางการเงินออกมาเหมือนกับที่เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์และการงาน แต่มีช่วงนึงที่ครูยกตัวอย่างให้ว่า
💙 ความสุขทางการเงินอย่างหนึ่ง คือ การที่เรารู้จักยินดีกับของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราได้รับ 💙
พอได้ยินประโยคนี้แล้วลองมาคิดดูถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราได้อ่าน ได้ยินกันในสื่อต่างๆ แล้วพบว่าเราเห็นการโปรโมทความเป็น “ผู้ให้” เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการอยากให้คนเรามีน้ำใจแก่กัน แบ่งปันกัน เห็นอกเห็นใจกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ซึ่งพอมาลองสังเกตดี ๆ แล้ว จะเห็นว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ จะถูกพูดถึงในมิติของการเป็นผู้ให้ซะเยอะ แต่ไม่ค่อยได้ยินเรื่องราวจากฝั่งของผู้รับเท่าไหร่
วันนี้เลยได้เรียนรู้ว่า การเป็น “ผู้รับที่ดี” มันก็มีความละเอียดอ่อนเหมือนกันนะ
พวกเราเคยได้รับของขวัญที่เราได้มาแล้วไม่รู้จะเอาไปใช้อะไรดีรึเปล่า ? แล้วถ้าได้มาแล้วเราทำอะไรกับมันต่อ ?
🟨 ขอบคุณก่อนตามมารยาท
🟨 กองๆ ไว้ที่บ้านแหละ ถึงรอบเคลียร์บ้าน ก็คงรวมไปกับของบริจาค
🟨 เอาไปให้ใครก็ได้ แล้วก็บอกเค้าว่าถ้าไม่ใช้ก็เอาไปให้คนอื่นต่อได้เลย
🟨 อดบ่นไม่ได้ รู้สึกเสียดายของ
ทั้งหมดนี้มันคือความเคยชิน แล้วเราก็ไม่ได้ทำร้ายเบียดเบียนใคร เราเลยอาจจะไม่รู้สึกว่าต้องคิดอะไรมากกว่านั้น (รึเปล่า?)
แต่รู้มั๊ยว่า จริง ๆ แล้วสถานการณ์นี้ทำให้เราสามารถฝึกฝน “การขอบคุณ” ได้เป็นอย่างดี และเมื่อเราฝึกการขอบคุณบ่อย ๆ เราก็จะค่อย ๆ ฝึกจิตให้รู้สึกยินดีมากขึ้น สามารถสร้างพลังงานดี ๆ ให้เกิดขึ้น และสุดท้ายก็จะสามารถดึงดูดพลังงานดี ๆ เข้ามาหาได้เช่นเดียวกัน
ลองมาดูว่าเราจะฝึกขอบคุณจากเรื่องนี้ได้ยังไงบ้าง
🟩 เริ่มต้นจากการเข้าใจถึงความมีน้ำใจของผู้ให้ก่อน
🟩 ขอบคุณในความมีน้ำใจของเค้าจริงๆ
🟩 ลองใช้เวลานิดนึงมาพิจารณาว่า มีใครที่สามารถใช้ประโยชน์จากของนี้ได้บ้าง
🟩 เอาไปให้เค้าด้วยความปรารถนาดีของเราจริง ๆ
เห็นมั๊ยว่า นอกจากที่เราจะได้ฝึกการขอบคุณที่ดีแล้ว เรายังสามารถเป็นผู้ให้ต่อได้อีกด้วย ทำให้มีผู้ได้รับประโยชน์จริง ๆ เพิ่มขึ้นอีก (สมมติเทียบกับเหตุการณ์แรกที่เราเอาไปบริจาค เราก็เป็นผู้ให้ และก็มีคนได้ประโยชน์เหมือนกันก็จริง แต่เกิดบนความรู้สึกที่ต่างกัน ก็จะส่งผลต่อพลังงานที่ต่างกันไปด้วย)
💙 ลองเอาแนวคิดนี้มาปรับคิดกับเรื่องเงินดู เราจะทำยังไงได้บ้าง ?
 
ลองยินดีกับเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราได้รับก่อน แล้วยินดีกับการเอาเงินนั้นไปต่อยอดในการหาความรู้ หรือหาเลี้ยงชีพเพื่อให้เรามีแรงมาหาเงินต่อ .. พอได้รับเงินมาก็ยินดีกับเงินก้อนนั้นวนต่อไปเรื่อย ๆ แล้วเราก็จะค่อย ๆ เกิดความยินดีจากการทุ่มเททุกอย่างเพื่อหาเงินของเราได้มากขึ้นไปด้วย
ทีนี้ถึงเวลาที่เราจะลองมาเขียนเงื่อนไขของความสุขและความทุกข์ที่เกิดจากเรื่องการเงินของเราแล้วล่ะ … ขอยกตัวอย่างของครูขึ้นมา เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นนะ
💚เราจะมีความสุขจากการเงิน (ง่าย ๆ ) เมื่อไหร่ก็ตามที่
- ได้รับเงินแม้เพียงเล็กน้อย
- ได้ทำงาน หรือทำทุกอย่างเพื่อให้สามารถหาเงินได้
- ได้เงินมาด้วยการทำงานอย่างสุจริต
- ได้ฝึกบริหารการเงิน
- ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อนำมาต่อยอดการทำงาน
- ได้นำเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์
🧡เราจะมีความทุกข์จากการเงิน (ยาก ๆ ) ก็ต่อเมื่อ
- ดูถูกเงินที่หามาได้
- ไม่พยายามสร้างเงินให้งอกเงย
- ไม่พยายามหาความรู้ หรือพยายามประกอบอาชีพ
- ใช้เงินไปกับสิ่งฟุ่มเฟือยโดยไม่ยั้งคิด และเบียดเบียนต่อความจำเป็นในการใช้ชีวิต
💚 ย้ำกันอีกทีว่า การเขียนออกมาให้เห็นชัด ๆ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราบอกตัวเองได้ง่ายขึ้นว่าเราอยากมีความคิดยังไง และถึงแม้ว่าความสุขไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน … เมื่อเราฝึกฝนซ้ำ ๆ ถึงจุดหนึ่ง เราจะมีความสุขได้ง่าย ๆ จนแทบจะเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตไปได้เลย 😉
#Wisdomjourney ของ #ครูเงาะ #ศรัทธา2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา