13 มิ.ย. 2022 เวลา 15:06 • ความคิดเห็น
อินโดแปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรีคือวิสัยทัศน์ที่สหรัฐฯ และพันธมิตรมีร่วมกัน: รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ
รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ หลังเข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ Shangri-La Dialogue ที่ประเทศสิงคโปร์ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม
การเยือนทวีปเอเชียครั้งนี้ นับเป็นครั้วที่ 4 แล้วตั้งแต่ ลอยด์ ออสติน เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี น่าจะเรียกได้ว่าเป็นความพยายามที่จะบอกพันธมิตรในฟากตะวันออก ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้หายไปไหน
หลังเข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในช่วงกลางวัน ออสตินได้แถลงข่าวในช่วงเย็น ว่า สหรัฐฯต้องการแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคนี้มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ และต่อนโยบายอินโดแปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรีที่สหรัฐฯ มีร่วมกันกับพันธมิตรในภูมิภาค และพูดเลยว่าที่สหรัฐฯกำลังทำอยู่คือ “การแข่งขัน” กับจีน
"สหรัฐฯ ไม่เคยหนีจากการแข่งขันที่สุจริต แต่เราไม่ได้มองหาความขัดแย้งหรือต้องการแบ่งแยกภูมิภาคออกเป็นคนละฝั่ง มันเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะแสดงความกังวลเกี้ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความไม่มั่นคงในช่องแคบไต้หวัน"
ภาพจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ออสตินกล่าวว่าสาเหตุของการมาเยือนไทย เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของนโยบายนี้กับประเทศพันธมิตร อย่างประเทศไทย เขาได้หารือกับรัฐบาลไทยหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องความมั่นคงทางโลกไซเบอร์และทางอวกาศด้วย ซึ่งสหรัฐฯมีแผนที่จะขยายโครงการการศึกษาอวกาศกับประเทศไทย
ไทยพีบีเอสได้มีโอกาสถามรัฐมนตรีออสตินว่า ความร่วมมือหรือข้อตกลงกับไทย แบบไหนที่จะทำให้นโยบายอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพขึ้น ในเมื่อแม้สหรัฐฯ จะทำอะไรมากขึ้น แต่ก็ยังเห็นว่าจีนไม่ได้แผ่วลง
"เราให้ความสำคัญกับการทำงานกับหุ้นส่วน และพันธมิตรเพื่อให้แน่ใจว่าเราได้รักษาภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีแลเปิดกว้าง ผมรู้ว่า สำหรับหุ้นส่วนและพันธมิตรที่เราทำงานร่วมกันมา เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น เรามีวิสัมทัศน์ตรงกัน ไม่ใช่ว่าสหรัฐฯเอาวิสัยทัศน์ของเรามาใส่ แต่เป็นสิ่งที่เราเชื่อเหมือนกัน และวิสัยทัศน์นั้นก็อยู่บนพื้นฐานระเบียบสากล" ออสตินกล่าว
เราถามว่า คิดว่าประเทศไทยทำอะไรให้คุณได้บ้าง ให้รัฐบาลสหรัฐฯ
"ผมขอเตือนความจำว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ดังนั้น (เรา) มีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งที่เราจะต้องคำนึงถึง ประเทศไทยมีความสำคัญต่อเรา"
"การทหารทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและยาวนานมาหลายปี ดังนั้น ผมคิดว่า เราทำงานด้วยกันเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศไทยได้ถึงขีดความสามารถที่ไทยต้องการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ แต่ก็ยังมีหลายสิ่งที่เราทำด้วยกันได้ ในอนาคต เพื่อสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคมากขึ้น"
ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ฮันเตอร์ มาร์าตัน กล่าวว่า การที่ประเทศอาเซียนเข้าร่วมข้อตกลง กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก มากกว่าที่หลาย ๆ คนคาดการณ์ ก็เป็นสัญญาณให้เห็นเป็นอย่างดีว่าภูมิภาคนี้ยังคงมีความสนใจและตอบรับการที่สหรัฐฯจะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค
วันเสาร์ที่ผ่านมา ออสตินกล่าวระหว่างงานประชุมที่สิงคโปร์ ถึงกิจกรรมทางทหารของจีนที่มีให้เห็นใกล้ไต้หวันถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เขากล่าวว่าประเทศในอินโดแปซิฟิกไม่ควรที่จะต้องเผชิญการคุกคาม การข่มขู่ และการก่อกวน โดยลำพัง
ออสติน ย้ำว่าสหรัฐยังคงมุ่งเน้นไปที่การรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และสถานะที่เป็น ของทั่วทั้งช่องแคบไต้หวัน แต่การเคลื่อนไหวของจีนเป็นภัยคุกคามที่จะบ่อนทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในอินโดแปซิฟิก และนั่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับภูมิภาคนี้
"ผมขอพูดให้ชัดเจน เราไม่ต้องการการเผชิญหน้าหรือความขัดแย้ง เราไม่ต้องการสงครามเย็นครั้งใหม่ เนโต้แห่งเอเชีย หรือแบ่งแยกฝักฝ่ายในภูมิภาค แต่เราจะปกป้องผลประโยชน์ของเราอย่างไม่หวั่นเกรง ประเทศในอินโดแปซิฟิกไม่ควรที่จะต้องเผชิญการคุกคามทางการเมือง การข่มขู่ทางเศรษฐกิจ และกลุ่มติดอาวุธทางทะเลโดยลำพัง ดังนั้น กระทรวงกลาโหมจะยังคงรักษาสถานะของเราไว้ทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก"
นโยบายอินโดแปซิฟิก เป็นนโยบายที่สหรัฐฯเริ่มชูมาตั้งแต่ยุคทรัมป์ แต่ภูมิภาคนี้ได้เริ่มเห็นการกระทำที่เป็นรูปเป็นร่างจริงจังก็ในยุคไบเดนนี้เอง อย่างเรื่องกรอบความร่วมมืออินโดแปซิฟิกเพื่อการรับรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเล (IPMDA) ที่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น จะแบ่งปันข้อมูลดาวเทียมทางน่านน้ำร่วมกัน และเตรียมพร้อมส่งสัญญาณเตือนประเทศอื่น ๆ หากมีการรุกล้ำน่านน้ำ หรือพบการกระทำที่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือนี้ ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงออกมาวิจารณ์ว่าต้องมีความระมัดระวัง เพราะอาจจะแปรเปลี่ยนเป็นความร่วมมือที่เกี่ยวกับความมั่นคงไปได้ง่าย ๆ
โดย กีรติกร นาคสมภพ เบลาว์
โฆษณา