15 มิ.ย. 2022 เวลา 00:50 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมคนเชื่อเฟคนิวส์ (2)
Photo by Agence Olloweb on Unsplash
เรื่องชวนให้ประหลาดใจเกี่ยวกับเฟคนิวส์ก็คือ คนยิ่งฉลาดยิ่งตกเป็นเหยื่อเฟคนิวส์ได้ง่ายขึ้น--ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
มีงานวิจัยหลายชิ้น (เช่น doi.org/10.1177/0963721415604610) ที่แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ตอบสนองเรื่องราวในชีวิตด้วยสัญชาตญาณมากกว่าจะใช้ความคิดวิเคราะห์
โดยเฉพาะในเรื่องที่เราคิดว่าคุ้นเคยหรือรู้กันดีอยู่แล้ว
นี่เองเป็นช่องโหว่ใหญ่ให้เฟคนิวส์ทำงานได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น
ไม่เชื่อลองตอบคำถามสองข้อนี้ดู คำถามข้อแรก “มีสัตว์จำนวนมากแค่ไหนที่โมเสสช่วยลงเรือดิอาร์ก ทำให้รอดน้ำท่วมใหญ่ไปได้”
และคำถามข้อที่สอง “หากใช้เครื่องจักร 5 เครื่องผลิตสินค้าแบบหนึ่งได้ใน 5 นาที ถามว่าหากมีเครื่องจักร 100 เครื่อง ถามว่าจะผลิตสินค้าดังกล่าวได้ในกี่นาที?”
คำตอบข้อแรกคือ ไม่มีเลย!
เพราะคนที่ช่วยสัตว์ไม่ให้จมน้ำท่วมใหญ่ตายคือ โนอาห์ ไม่ใช่โมเสส
https://en.wikipedia.org/wiki/Noah%27s_Ark
นักวิจัยพบว่ามีนักศึกษาราว 12% ที่ตอบข้อนี้ผิด
ส่วนคำตอบข้อที่สองคือ 5 นาที แต่คนจำนวนมาก แม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าฉลาด ก็มักจะตอบว่า 100 นาที
อันเป็นการตอบแบบใช้สัญชาติญาณมากกว่าจะคิดวิเคราะห์
ดังนั้น แม้คนฉลาดก็ไม่พ้นจะเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์ไปได้
คนที่จะรอดได้ดีกว่าต้องเป็นพวกมีความคิดวิเคราะห์เป็นลักษณะประจำตัว
แต่แย่กว่านั้นก็คือ มีงานวิจัยที่ชี้ว่าคนที่เชื่อว่าตัวเองฉลาด กลับเป็นพวกที่ไม่ติดตามหรือเรียนรู้ว่า เฟคนิวส์ใดที่พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง แล้วก็ยังเชื่อผิดๆ ต่อไปอีกไม่เลิก
เรียกว่าความหลงว่าตัวเองฉลาดเป็นม่านบังตา...ก็คงได้
Photo by Kyle Glenn on Unsplash
ในงานวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นเล่ห์กลบางอย่าง เช่น หากจะหลอกเรื่องการแพทย์ เช่น ยาผีบอก หากใช้รูปประกอบเป็นรูปเอกซเรย์หรือภาพสแกนคอมพิวเตอร์ ก็จะทำให้มีผู้หลงเชื่อมากขึ้นและง่ายขึ้นด้วย
https://en.wikipedia.org/wiki/CT_scan
แต่ที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เราควรจะตระหนักได้แก่ พลังสำคัญของเฟคนิวส์คือ พลังการทำซ้ำ ยิ่งเราได้ยินได้ฟังเรื่องดังกล่าวซ้ำๆ มากเท่าใด เราก็มีโอกาสจะเชื่อง่ายขึ้นว่า มันเป็นเรื่องจริง คนที่อธิบายเรื่องนี้ดีที่สุดได้แก่ ฮิตเลอร์ ดังคำพูดที่ (มัก) อ้างกันว่าเขาเป็นคนกล่าว....
“โกหกคำโต พูดง่ายๆ ซ้ำๆ สุดท้ายผู้คนก็จะเชื่อเอง”
"แก้ลำเฟคนิวส์"
มีการทดลองของนักวิจัยในแคนาดา (doi: 10.1016/j.cognition.2018.06.011) ที่สรุปว่า หากไม่เร่งรีบจนเกินไป ใช้เวลาคิดมากขึ้น จะแชร์ข่าวลวงน้อยลง
โดยเฉพาะข่าวการเมืองที่ไปด้วยกันได้กับมุมมองทางการเมืองของตัวเอง อาการการเมืองขึ้นสมองนี่ เป็นเหมือนๆ กันทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพวกเสรีนิยมนะครับ ไม่มีใครดีกว่าใคร
มีงานวิจัยลงใน PNAS ปี ค.ศ. 2019 ว่าสามารถใช้ “คราวด์ซอสซิง (crowdsourcing)” หรือพลังความรู้ของฝูงชนแก้ปัญหานี้ได้ (doi.org/10.1073/pnas.1806781116)
เรื่องน่าประหลาดใจที่ค้นพบในงานวิจัยนี้คือ แม้แต่คนทั่วไปที่เชื่อกันว่าไม่สามารถแยกแยะเฟคนิวส์ได้ดี แต่หากช่วยๆ กันแล้ว ก็กลับมีประสิทธิภาพมากทีเดียวในการจับผิดเฟคนิวส์
เรื่องนี้สอดคล้องกับแนวนโยบายของเว็บโซเชียลมีเดียวรายใหญ่อย่างเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ที่ใช้การติดแท็ก (tag)
คำกล่าวอ้างที่ถูกต้องเพียงบางส่วนหรือแม้แต่จะผิดเลยทั้งหมด และกำลังเป็นคู่กรณีกับประธานาธิบดีทรัมป์ที่เผยแพร่ข้อมูลความเชื่อผิดๆ มั่วๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น กินยารักษามาลาเรียป้องกันโควิดได้ หรือตัวเลขคนอเมริกันติดเชื้อมากเพราะตรวจเยอะ ซึ่งไม่จริงทั้งสองเรื่อง
สุดท้ายแล้ว คงต้องอยู่ที่ความตระหนักในความไม่แน่นอนและเชื่อถือได้ยากของข้อมูล และต้องพินิจพิจารณาทั้งตัวเนื้อหา แหล่งที่มา รวมไปถึงอคติในใจของเราเอง
จึงจะพอบอกได้เป็นเบื้องต้นว่า เรากำลังตกเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์หรือเปล่า
ช้าลงอีกนิด ละเอียดขึ้นอีกหน่อย วิเคราะห์วิจารณ์เพิ่ม รวมทั้งไม่เอาอคติทางการเมืองมาประกอบการตัดสินใจ แล้วเราจะไม่เป็นเหยื่อของผู้ปล่อยข่าวลวงครับ
โฆษณา