20 มิ.ย. 2022 เวลา 02:03 • สุขภาพ
โรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง
โรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง เป็นโรคที่การดำเนินโรคช้า เพราะเกิดจากความเสื่อมตามอายุที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น อาจจะใช้เวลาหลายปีกว่าอาการจะมากจนรู้สึกได้ นอกจากนั้นก็ยังเป็นปัจจัยทางกายวิภาคของไขสันหลังเองที่เส้นใยประสาทรับความรู้สึกจะอยู่ทางด้านหลังเมื่อถูกกดทับอาการปวดจึงไม่เด่น
🔸 เส้นประสาทไขสันหลังคืออะไร?
ในกระดูกคอนั้นมีเส้นประสาทที่สำคัญอันหนึ่งก็คือเส้นประสาทไขสันหลัง หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า spinal cord ไขสันหลังคือเส้นประสาทเส้นเล็กๆ จำนวนมากที่มัดอยู่รวมกันเป็นเส้นประสาทเส้นใหญ่ ทำหน้าที่สำคัญหลายๆ อย่างในร่างกาย เช่น การขยับของแขนขา, การทรงตัวของร่างกาย, การควบคุมการขับถ่าย
1
ซึ่งเส้นประสาทไขสันหลังนี้ยิ่งเป็นระดับที่ต่ำลงไป จำนวนของเส้นประสาทที่มัดอยู่รวมกันก็ยิ่งน้อยลง และพอถึงกระดูกสันหลังส่วนเอวไขสันหลังก็จะเล็กลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาและอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน
คนที่เกิดอุบัติเหตุแล้วเป็นอัมพาตก็เพราะเส้นประสาทไขสันหลังได้รับบาดเจ็บนี่แหละครับ ส่วนจะอัมพาตมากแค่ไหนก็ขึ้นกับว่าบาดเจ็บที่ระดับไหน ยิ่งเป็นระดับบนเท่าไรก็ยิ่งโดนเส้นประสาทมากขึ้น อาการอัมพาตก็จะรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
🔸 อาการของโรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง
อาการของการกดไขสันหลังมักจะแสดงออกในรูปแบบของความสามารถในการทำงานละเอียดๆ ลดลง, ความแม่นยำในการควบคุมนิ้วมือ แขนขาด้อยลง, ความเร็วในการพิมพ์สัมผัสช้าลง, เล่นดนตรีในเพลงยากๆ ได้ไม่เหมือนเดิม, การทรงตัวขณะเดินไม่ดีเหมือนเดิม หรือแม้กระทั่งล้มบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด
จะเห็นได้ว่าอาการต่างๆ เหล่านี้ในตอนต้นผู้ป่วยหรือญาติจะต้องเป็นคนช่างสังเกตพอสมควรจึงจะดูออก ที่ยากไปกว่านั้นคืออาการเหล่านี้มักจะเพิ่มขึ้นอย่างช้ามากๆ จนเราคิดไปว่าเป็นอาการของผู้สูงอายุตามธรรมดาก็มี และเนื่องจากอาการข้างต้นมักจะไม่ได้ทรมานมากเหมือนกับอาการปวด ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจึงมักมาพบแพทย์เมื่ออาการมากหรือเดินไม่ได้แล้วเป็นต้น
1
🔸 การตรวจวินิจฉัย
ถ้าอาการเข้ากันได้กับโรคนี้ควรจะเข้ามารับการตรวจกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงครับ แพทย์จะทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ, การทรงตัวของร่างกาย รวมถึงปฏิกริยาตอบสนองอัตโนมัติของแขนขา หากพบว่าอาการเข้าข่ายก็จะส่งตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI เพื่อยืนยันการวินิจฉัยอีกที
🔸 การรักษา
ในภาวะที่มีเพียงการกดทับเส้นประสาท โดยไม่มีการกดทับไขสันหลัง ผมมักจะให้คนไข้ทดลองรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ แต่ภาวะการกดทับไขสันหลังเป็นหนึ่งในข้อยกเว้นที่ผมมักจะแนะนำให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดตั้งแต่ยังมีอาการน้อยๆ เพราะหากรอให้เกิดเหตุไม่คาดฝันเสียก่อน การฟื้นตัวอาจจะทำได้ยากมาก
การผ่าตัดโรคนี้ในยุคปัจจุบันเราผ่าตัดผ่านกล้องจุลทรรศน์ทั้งหมดการฟื้นตัวหลังผ่าตัดจึงไว พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียงวันเดียวก็สามารถออกจากร.พ. ได้
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา