20 มิ.ย. 2022 เวลา 22:43 • ปรัชญา
ความง่าย ไม่เท่ากับ ความมักง่าย (สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้และไม่คิดจะทำ)
บทความนี้ อลิสย่อยแนวคิดทฤษฎีแห่งความเรียบง่ายที่แตกต่างกันระหว่างไทยและปรัชญาของชนชาติตะวันตกที่ตัวเองตกผลึกมา ผสมผสานวิถี Minimalist ที่จะช่วยตัดความมักง่ายออกไปในทุกๆ เรื่อง เหลือไว้เพียงแค่แก่นสาระสำคัญที่จำเป็นจริงๆ กับชีวิตตัวเองและคนรอบข้างด้วย ยาวนิดนึงแต่รับรองว่าคุณผู้อ่านจะได้แนวคิดที่อาจจะไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน ลองอ่านกันดูค่ะ...
1
.
ความเรียบง่าย กับความมักง่าย หลายครั้งมันก็ใกล้กันจนแยกไม่ออก
“ความมักง่าย” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Careless” หรือ ลวก ชุ่ย ฉาบฉวย ในขณะที่ “ความง่าย” ในที่นี้แปลว่า อะไรก็ตามที่ผ่าน process อันยุ่งเหยิงยุ่งยากมาได้จนสุดทาง จนเกิดผลลัพธ์ก้อนหนึ่งที่ เรียกว่า “ความเรียบง่าย” หรือภาษาอังกฤษคือ “Simplicity” (bab.la, 2022)
“Simplicity is the ultimate sophistication” Leonardo Da Vinci  (ภาพ: khalilgdoura)
ลีโอนาโด ดา วินชี ศิลปินเอกของโลกกล่าวไว้ว่า “Simplicity is the ultimate sophistication” ความเรียบง่ายเป็นสิ่งที่ซับซ้อนที่สุด
กล่าวคือ ก่อนจะเกิดผลลัพธ์ที่เรียบง่ายได้นั้น ล้วนต้องผ่านความยุ่งเหยิง ยาก เยอะ ผ่านการจัดระเบียบตามกระบวนการทางความคิด ลงมือทำจนกระทั่งตกผลึกมาแล้วเสียก่อน โดยปล่อยให้ “ความว่าง” เชื่อมโยงปรุงแต่งในรายละเอียด ความว่างจะคอยจัดสรรให้ทุกองค์ประกอบเข้าที่เข้าทางเรียงลำดับกันอย่างลงตัวที่สุด
สินค้าที่ใช้งานง่ายและเป็นที่นิยม มักเป็นสินค้าที่ทำขึ้นมาได้ยาก
เมื่อพูดถึงประโยคข้างต้น อลิสนึกถึง Apple เป็นบริษัทแรกๆ
Apple ผลิตโทรศัพท์ iPhone นวัตกรรมการสื่อสารที่ใช้งานที่ง่ายที่สุดในยุคนั้น (ภาพ: dpa)
ส่วนอะไรที่ทำออกมาง่ายเกินไป โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือผลที่จะตามมาเลย สุดท้ายแล้วมันจะกลายเป็น “ความมักง่าย”
การจัดระเบียบทางความคิด คือส่วนสำคัญในทุกๆ เรื่องของชีวิต อย่าปล่อยให้ความง่ายในตอนต้น ส่งผลให้กลายเป็นความมักง่ายในตอนท้าย
สายไฟฟ้าที่ยุ่งเหยิง (ภาพ: อีจัน)
Signature ของกรุงเทพฯ ที่ชาวต่างชาติเก็บเป็นภาพจำและนำไปช่วยโปรโมท คือเสาไฟและสายไฟอันยุ่งเหยิง ห้อยระโยงระยางตามสองข้างถนนเพื่อส่งกระแสไฟฟ้าไปยังตรอกซอกซอย
นี่คือปฏิมากรรมที่ไร้ซึ่งการออกแบบวางแผนที่ดี เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้คนที่ผ่านไปมาแล้ว ยังสิ้นเปลืองเม็ดเงินมหาศาลเนื่องจากมีสายไฟจำนวนมากที่พันค้างอยู่โดยไม่ได้ถูกใช้งาน รวมไปถึงชีวิตของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องเสี่ยงปีนขึ้นไปจัดการกับสายไฟเหล่านั้น แถมยังเสียเวลาค้นหาว่าตกลงสายไหน คือสายที่ต้องซ่อม
ดูแล้วล้วนบ่งบอกถึงวิธีคิดที่ห่างไกลจากวิถีงานศิลป์แห่งความง่ายอย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้าม ภาพที่เห็นนี้คือ “ความมักง่าย”
(จริงๆ อยากจะพูดถึงเรื่องกัญชาเสรีด้วย แต่เอาไว้ก่อนแล้วกัน เดี๋ยวรอให้อะไรๆ ลงตัวกว่านี้ก่อน แล้วอลิสจะมาเล่าให้ฟังในบทความต่อๆไปค่ะ)
ยกตัวอย่างเรื่องการเกษตรดีกว่า ในการเกษตรแบบไทยและการเกษตรแบบเยอรมัน ความง่ายยังกลับด้านกันคนละขั้ว ซึ่งแบบไทยจะง่ายตอนเริ่ม ในขณะที่เยอรมันจะง่ายตอนจบ
เกษตรกรรมไทย (ภาพ: The Standard)
ความง่ายที่ขาดทักษะการต่อยอดทางความรู้ ทำได้แค่เพียงใช้แรงงานมนุษย์และสัตว์ จากทักษะที่บรรพบุรุษสอนมา
ส่วนความง่ายแบบเยอรมัน ทำงานคนเดียว ได้ผลผลิตคราวละ 4 ตัน แต่กว่าที่จะผลิตเครื่องจักรแต่ละตัวออกมาได้ ล้วนแล้วต้องผ่านการคิดออกแบบสร้างสรรค์ ต่อยอด รวมถึงความรู้มากมายมาประกอบกันจนเป็นเครื่องจักร 1 ตัว ที่มีครบทุกฟังก์ชั่นการใช้งาน
คอหวยแห่อาบน้ำมนต์แน่นอาศรมฤๅษีเณร (ภาพ:ข่าวสด)
อีกตัวอย่างที่คนไทยเจอกันบ่อยและกำลังเป็นกระแส ก็คือ ผู้คนจำนวนมากเดินทางไกลแห่ไปขออาบรดน้ำมนต์ ขอสักยันต์จากพระสงฆ์ ที่ใครว่าดีให้เลขเด็ดไกลแค่ไหนก็ดั้นด้นไป เพราะหวังรวยทางลัดจากการปลุกเสกลงคาถา เนื่องว่าไม่อยากเหนื่อยในการแสวงหาทรัพย์ หรือเพื่อเสริมความมั่นใจในการทำมาหากิน มันคือศรัทธาและความเชื่อส่วนบุคคล
ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้ชัด ถึงหลักหัวใจเศรษฐีที่จะทำให้รวยอย่างยั่งยืน ใครก็ตามที่ลงมือทำ ก็จะรวยอย่างเดียวกัน นั่นก็คือ อุ อา กะ สะ หรือ ทิฏฐธัมมิกัตถ ประกอบไปด้วยหลัก 4 ประการ
  • 1.
    อุฏฐานสัมปทา (อุ) = ขยันหา
  • 2.
    อารักขสัมปทา (อา) = รักษาทรัพย์
  • 3.
    กัลยาณมิตตตา (กะ) = คบคนดีเพื่อให้ทรัพย์พอกพูน ไม่คบคนชั่วพาถลุงทรัพย์ที่หามาดีแล้วให้หมดไป
  • 4.
    สมชีวิตา (สะ) = ใช้ชีวิตพอเพียง ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่ใช้จ่ายเกินตัว
(ทีฆชาณุสูตรที่ 4 (องฺ.สตฺตก. 23/52/340 มจร.))
แต่แปลกที่คนส่วนมากกลับคิดว่า การขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้รวย ให้สำเร็จนั้น ง่ายกว่าการลงมือทำเอง
Work hard & Life hacks (ภาพ: Twitter @strongminded101)
การที่จะทำให้ทุกอย่างสำเร็จได้ง่ายดายนั้น จำเป็นต้องอาศัยการวางแผนที่ดี ลงมือทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน แต่การลงมือทำที่ปราศจากความรู้ เป็นเรื่องเสียเวลามากเกินไปโดยใช่เหตุ
ความรู้ที่ต้องใช้เพื่อทำอะไรก็สำเร็จได้ง่ายนั้น จะต้องประกอบด้วยความรู้ที่เกิดจากการฟัง คิด และลงมือทำ
เราจำเป็นต้องใช้ทั้งความรู้เชิงกว้างและเชิงลึกผสมผสานกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์ โดยเอาความรู้ที่มีอยู่เต็มหัวนั้น เขียนทุกอย่างลงในกระดาษ พรั่งพรูสิ่งที่อยู่ในห้วงความคิดออกมาเป็นหนังสือ หรือตัวเลข ภาพ หรือสถิติ ให้ได้มากที่สุดเสียก่อน เพื่อให้ตาของเราเห็น รับรู้ และประมวลทุกอย่างได้ชัดเจนขึ้น
จากนั้นจึงจะสามารถจัดหมวดหมู่ หรือเรียงลำดับสิ่งทั้งหลายที่กองอยู่ตรงหน้า ให้เป็นรูปเป็นร่างได้อย่างลงตัว
Lego (ภาพ: Unsplash)
เหมือนกับเลโก้หลากสี ที่ตอนแรก เราอาจจะไม่รู้เลยว่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นนั้น สามารถที่จะประกอบเป็นตัวอะไรได้บ้าง เลโก้ชิ้นเดียวกัน บางทีอาจจะเป็นไดโนเสาร์ หรืออาจจะกลายเป็นจรวดขึ้นสู่ดาวอังคารก็ได้ ขึ้นอยู่กับผังภาพโมเดลเป้าหมาย ที่เป็น Blue print ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีและสำคัญที่สุดก่อนที่จะลงมือทำอะไรสักอย่างนึง
หากไร้ภาพเสก็ตช์ของสิ่งที่เราต้องการจริงๆ สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ออกมา อาจจะกลายเป็นได้แค่ขยะดีๆ นี่เอง
Albert Einstein's quote (ภาพ: Twitter @ GigawattGroup)
โรเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกซ์ชาวเยอรมันชื่อก้องโลกบอกเอาไว้ว่า “Everything should be made as simple as possible. But not simpler.” หมายถึงว่า เราควรทำทุกอย่างให้มันง่ายเข้าไว้ ไม่ใช่ให้มันซับซ้อนเกินไป หรือพยายามอธิบายในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้คนอื่นเข้าใจ
1
แล้วคุณปู่ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ยังกล่าวอีกว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เพราะจินตนาการทำให้เขาก้าวข้ามทะลุกำแพงความคิดของตัวเองจนค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ แน่นอนว่า จินตนาการเพียงอย่างเดียวที่ปราศจากความรู้ ย่อมไม่เพียงพอ แต่ความรู้คู่จินตนาการที่อยู่ถูกที่ถูกทาง คือแก่นสารสำคัญในการสร้างสรรค์งานเพื่อมวลมนุษยชาติให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง (The Saturday Evening Post, 2010)
Space X (ภาพ: Unsplash)
นอกจากความรู้แล้ว “ความว่าง” ยังเป็นส่วนผสมสำคัญที่ช่วยเติมเต็ม “จินตนาการ” ให้กลายเป็นภาพจริงที่เรียบง่ายได้
คุณผู้อ่านคงกำลังงง “ความว่าง” มันเกี่ยวกับเรื่อง Simplicity หรือความเรียบง่ายได้ยังไง
Minimalism ศาสตร์แห่งความว่าง คือตัวช่วยเขี่ยสิ่งส่วนเกินที่ไม่จำเป็นในชีวิตออกไปให้พ้นทาง ซึ่งนั่นจะทำให้ความเรียบง่ายเกิดขึ้น ทว่ากว่าที่เราจะรู้จัก "ความว่าง" และกว่าที่มันจะเกิดขึ้นได้ คุณต้องทดลองลงมือทำด้วยตัวเอง
  • ลองคัดเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา เอาไปบริจาคดู
  • ไม่ซื้อของใหม่ๆ เข้าบ้านในทันทีที่อยากได้ของสิ่งนั้น
  • ลองหยิบของที่อยากได้ใส่ตะกร้าออนไลน์ หรือลิสต์เอาไว้และกลับมาดูอีกครั้งเมื่อ 1 สัปดาห์ผ่านไป คุณจะค้นพบว่าคุณอาจจะไม่ได้อยากได้ของสิ่งนั้นจริงๆ
  • หากจำเป็นต้องซื้อของสิ่งนั้นจริงๆ เมื่อซื้อเข้าบ้านเพิ่ม 1 ชิ้น ของเก่าจะต้องถูกเอาออกจากบ้านไป 1 ชิ้น
  • จัดบ้านให้โล่ง และสะอาด เป็นระเบียบ วางของในที่ที่มันควรจะอยู่
  • เลิกดูทีวี หรือไถโซเชียลมีเดียฆ่าเวลาไปวันๆ โดยไร้จุดหมาย แต่เลือกที่จะอ่านหนังสือดีๆ ทีละเล่มจนจบ
  • ฝึกสมาธิเป็นประจำจะช่วยคัดความคิดที่รกๆ ออกไปจากใจ เพิ่มพื้นที่ความว่างให้กับนวัตกรรมใหม่ๆ
Minimalism (ภาพ: Unsplash)
การคัดสิ่งส่วนเกินออกไปนั้น เป็นนิสัยที่เราฝึกได้ เพื่อให้เข้าใจความว่างที่เป็นพื้นฐานแห่งความเรียบง่าย
เมื่อตัดสิ่งที่เกินความจำเป็นออกไป เราจะได้พื้นที่ว่างโล่งในบ้านมากขึ้น
มีเวลาเหลือมากขึ้น
มีเงินเหลือเยอะขึ้น
ได้ทรัพยากรที่เคยสูญเปล่าไปกลับคืนมา
มีเวลาและพื้นที่ในจิตใจ ให้กับความรู้และจินตนาการในการต่อยอดสิ่งต่างๆ มากขึ้น
และที่สำคัญจะทำให้เรามีความพอดี พอใจ เป็นทุกข์เพราะสิ่งรอบตัวน้อยลง มีความสุขมากยิ่งขึ้น เพราะเราจะโฟกัสแค่เฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่เราต้องการจริงๆ หรือเป้าหมายสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา
Minimal จะนำไปสู่ความเรียบง่าย
ความว่าง คือหนึ่งใน Mindset ที่จะมาช่วยเชื่อมโยงความรู้ที่ตกผลึก และจินตนาการในการสร้างสรรค์สิ่งที่เรียบง่ายได้ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและต่อผู้คนอีกมากมาย เหมือนอย่างที่อลิสได้ตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้นมา โดยมองถึงเป้าหมายที่อยากจะให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจว่าอะไรคือ “ความเรียบง่ายและมักง่าย” ก่อนเป็นหลัก ก่อนที่จะเริ่มลงมือเขียน
1
Simplicity (ภาพ: Unsplash)
ความเรียบง่าย มันมักสวนทางกับ ความมักง่าย
หากเราทำอะไรลวกๆ ในเบื้องต้น แบบขอไปที จุดจบของสิ่งนั้นจะหนีไม่พ้นความมักง่ายที่ไร้คุณภาพ
ตรงกันข้ามหากเราอยากมีชีวิตที่ทรงพลัง ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะในเรื่องอะไรก็ตาม จงฝึกตัวเองให้มีเป้าหมาย หรือมีภาพแห่งความสำเร็จเป็นโมเดลที่ชัดเจนอยู่ภายในใจ เรียนรู้ที่จะคัด ความมักง่ายออกจากเลโก้แห่งความรู้และจินตนาการตัดสิ่งส่วนเกินที่ไม่จำเป็นออกไป ลองใช้ชีวิตแบบ Minimalist ดู แล้วคุณจะรู้ว่า มันไม่ยากที่ “นวัตกรรมความสำเร็จอันแสนเรียบง่าย” จะเกิดขึ้นอย่างง่ายๆ ในชีวิตได้ทุกๆ วัน
อย่าปล่อยให้ความมักง่ายกลายเป็นคำตอบของชีวิตคุณ
หากบทความนี้มีประโยชน์กับคุณผู้อ่าน อย่าลืมกดแชร์และติดตามเพื่อเป็นกำลังใจให้อลิสได้มีกำลังใจที่จะเขียนบทความดีๆ แบบนี้ต่อไปค่ะ
อ้างอิง:
bab.la. (2022). Thai-English Dictionary.
PlanetApes. (2017). Modern Technology Agriculture Huge Machines.
The Saturday Evening Post. (2010). จาก www.saturdayeveningpost.com
/2010/03/imagination-important-knowledge/
โฆษณา