21 มิ.ย. 2022 เวลา 05:08 • ประวัติศาสตร์
*** อิทธิพลเปอร์เซีย ในประเทศไทย***
“ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้?” คือคำถามที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเมื่อลองนึกๆ ดู ก็จะพบว่า จริงๆ แล้วอะไรที่เราเข้าใจว่า “ไทย” นั้น ล้วนได้อิทธิพลมาจากต่างชาติมาไม่มากก็น้อย และในจำนวนชาติต่างๆ นั้น ทราบไหมครับว่าช่วงหนึ่งไทยเคยรับวัฒนธรรมเปอร์เซีย (ปัจจุบันคืออิหร่าน) มาเป็นอย่างมาก?
3
ผมจะเล่าตั้งแต่ การเข้ามาประเทศไทย จนไปถึงจุดรุ่งเรือง และจุดเสื่อมที่ทำให้เราไม่ได้เห็นคนเปอร์เซียหรืออิหร่านในไทยเท่าไหร่ รวมทั้งสิ่งที่รวมอยู่กับสังคมไทยเรามาจนถึงปัจจุบัน…
2
(บทความนี้มี อ.ศรัณย์ บุญประเสริฐ กรุณาให้ข้อมูลบางส่วน)
นึ่งในชาวเปอร์เซียรุ่นบุกเบิกที่ควรกล่าวถึงคือพ่อค้าชื่ออาหมัด หรือที่เรียกว่า “เฉกอะหมัด” (เฉกมาจากคำว่าชีคแปลว่าหัวหน้า หรือเป็นคำนำหน้าชื่อเพื่อให้เกียรติ) เชื่อว่ามาจากเมืองกุม เขาเข้ามากรุงศรีอยุธยาในปี 1602 (พ.ศ. 2145) และสวามิภักดิ์กษัตริย์ไทย (บ้างว่าพระนเรศวร บ้างว่าพระเจ้าเอกาทศรถ)
เฉกอะหมัดประสบความสำเร็จทางการค้ามากจนเป็นเศรษฐีใหญ่ จึงตั้งรกรากในเมืองไทย แต่งงานกับคนไทย เขาสร้างสายสัมพันธ์กับพวกขุนนางโดยคอยให้คำแนะนำเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศ รวมถึงช่วยเจ้าพระยาคลังในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมปรับปรุงราชการในกรมท่า
2
ภาพแนบ: เฉกอะหมัด
อาศัยผลงานและคอนเนคชันทำให้เฉกอะหมัดได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมท่าขวา ดูแลการค้าการต่างประเทศด้านตะวันตกของอ่าวไทย (ถ้าด้านตะวันออกจะชื่อกรมท่าซ้าย ส่วนมากตำแหน่งจะเป็นของคนจีน) และรับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี หรือขุนนางผู้ดูแลกิจการมุสลิมในไทยเป็นคนแรก (ที่มีการบันทึก) เฉกอะหมัดยังเป็นต้นสกุลบุนนาค ซึ่งต่อมามีอิทธิพลต่อราชสำนักไทยหลายยุคหลายสมัย
ภาพแนบ: สถานที่ฝังศพเฉกอะหมัด ทางเข้ามีการระบุว่าเป็นต้นสกุลไทยมุสลิมชีอะห์อิสนาอะชะรี และสกุลบุนนาค ฯลฯ
*** ยุครุ่งเรืองของเปอร์เซียในไทย ***
ปลายศตวรรษที่ 17 มีชาวเปอร์เซียอาศัยอยู่กรุงศรีอยุธยาหลายพันคน บางคนก็รับราชการ เป็นขุนนางใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกที่แสดงการ “โปรเปอร์เซีย” ชัดเจนคือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ภาพแนบ: พระนารายณ์
พระนารายณ์มีพระสหายสนิทคือ “อกามะหะหมัด อัสตราบาดี” ผู้มีศักดิ์เป็นหลานเฉกอะหมัด เขาผู้นี้มีบทบาทสำคัญในการนำกองกำลังมุสลิมช่วยพระนารายณ์ชิงราชบัลลังก์มาจากอา โดยใช้ “พิธีแห่เจ้าเซ็น” ของมุสลิมนิกายชีอะห์ (เป็นนิกายที่นับถือกันมากในเปอร์เซีย)
พวกเขาเนียนเอากองทัพมาจัดขบวนแห่ และเมื่อเคลื่อนขบวนเข้าเขตวัง กองทหารมุสลิมก็สามารถบุกทะลวง ช่วยพระนารายณ์ชิงบัลลังก์มาได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1656 (พ.ศ. 2199)
จิตรกรรมฝาผนังขบวนแห่เจ้าเซ็น วัดโพธิ์ปฐมาวาส สงขลา โดย กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี กรมศิลปากร
เพื่อเป็นการตอบแทน พระนารายณ์ได้สร้างมัสยิดแก่อกามะหะหมัด และมอบตำแหน่ง “ออกพระศรีเนาวรัตน์” จากนั้นอกามะหะหมัดคอยช่วยเหลือบริหารการค้าและการปกครองแก่พระนารายณ์เรื่อยมา จนได้ตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนาบดี
ภาพแนบ: หลวงศรียศจากละคร "บุพเพสันนิวาส" ทางช่อง 3 ตามประวัติศาสตร์เป็นลูกของอกามะหะหมัด
ด้วยการสนับสนุนของอกามะหะหมัด เวลานั้นขุนนางมุสลิมเป็นใหญ่เป็นโตกันมาก บ้างเป็นเจ้าเมืองท่าสำคัญ เช่น มะริด, ตะนาวศรี, ถลาง (ภูเก็ต), บางคลี (พังงา), พริบพลี (เพชรบุรี), ปราณบุรี ฯลฯ บ้างก็ได้ยศอื่นที่สำคัญ เช่น ออกญาพิชิต (อับดูร์ ราซซัค) นอกจากนั้นยังในขุนนางฝ่ายชำนาญการชาวเปอร์เซีย คุมทหารฟาร์ซีกว่า 200 นายซึ่งจ้างมาจากอินเดีย (เรียกกันลำลองว่า กองกำลังอาสาแขกเทศ)
ภาพแนบ: ทหารรับจ้างแขก
พระนารายณ์มีดำริส่งราชทูตไปเปอร์เซีย 3 ครั้ง แต่ครั้งแรกเรือแตก ส่วนครั้งที่สองโดนปล้น ล่วงถึงครั้งที่สามปีค.ศ. 1682 (พ.ศ. 2225) จึงลุไปถึงตะวันออกกลา
ราชสำนักเปอร์เซียให้การต้อนรับคณะทูตอย่างดี และได้ให้เข้าเฝ้ากษัตริย์สุลัยมานที่ 1 แห่งราชวงศ์ซาฟาวิด ณ พระราชวังเชเฮลโซตุน (พระราชวัง 40 เสา) เมืองอิสฟาฮาน โดยคราวนั้นทูตไทยแต่งกายสวมหมวกทรงแหลม เรียกว่า ลอมพอก, สวมชุดคลุม และเหน็บกริชอย่างเปอร์เซีย
ภาพแนบ: คณะทูตไทยที่เชเฮลโซตุน
ทางเปอร์เซียตอบแทนน้ำใจ โดยส่งคณะราชทูตของตนมากรุงศรีอยุธยาในปี 1685 (พ.ศ. 2228) ซึ่งการเยือนครั้งนี้ มีบันทึกไว้ในนาม “สำเภากษัตริย์สุลัยมาน” (The Ship of Sulaiman) เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์หนึ่งที่สำคัญ
ภาพแนบ: สำเภากษัตริย์สุลัยมานฉบับพิมพ์ใหม่
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญของอกามะหะหมัดคือ เป็นผู้ผลักดันให้มีการตั้งสถานีการค้าของอังกฤษในกรุงศรีอยุธยาเพื่อถ่วงอำนาจของฮอลันดาที่ตอนนั้นเริ่มบุกเข้าโจมตีชัยภูมิการค้าทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้กรุงศรีอยุธยากับอังกฤษจึงค้าขายกันรุ่งเรืองมาก
3
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรุงศรีอยุธยากับอังกฤษนี้เอง ทำให้มีฝรั่งหลั่งไหลมาค้าขายและรับราชการ คล้ายกับชาวเปอร์เซีย รวมไปถึงชาวกรีกชื่อ “คอนสแตนติน ฟอลคอน” ด้วย
ภาพแนบ: คอนสแตนติน ฟอลคอน
*** ความเสื่อม ***
ฟอลคอนเป็นชาวกรีกที่สมัยเด็กยากจนแต่ฉลาดเฉลียว จึงได้ท่องโลกกว้างจากการเป็นลูกเรือสินค้าอังกฤษ จนได้มาถึงอยุธยา ด้วยความฉลาดเป็นที่ประจักษ์ทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรมทำให้ฟอลคอนได้รับราชการเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นเรื่อยๆ ในกรมคลัง
การเติบโตนั้นเองทำให้เขาขัดแย้งกับอกามะหะหมัด
ภาพแนบ: เรือฮอลันดา
ฟอลคอนเพ็ดทูลพระนารายณ์ไปว่า อกามะหะหมัดใช้งบกับทหารรับจ้างมากเกินจริง น่าจะมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง
ตอนนั้นพระนารายณ์มองว่าคำพูดของฟอลคอนมีเค้าลาง จึงะตัดสินใจลงโทษอดีตสหายของตนโดยการร้อยปากด้วยเชือกหวาย จนอกามะหะหมัดเสียชีวิตด้วยความทรมาน
1
ภาพแนบ: ฟอลคอน จากละคร "บุพเพสันนิวาส" ทางช่อง
อนึ่งมีข้อมูลอีกด้านจาก อ.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ อักษรจุฬาฯ ว่า อกามะหะหมัดอาจโดนคนเปอร์เซียด้วยกันเองใส่ร้ายว่าโกงกินเพราะขัดผลประโยชน์ด้านเงินๆ ทองๆ เลยถูกถอดออกจากยศ และเสียชีวิตด้วยความชรา
ไม่ว่ารายละเอียดจะเป็นทางไหน แต่ก็สรุปได้ว่า อกามะหะหมัดถูกกล่าวหา เป็นเหตุให้สิ้นยศ จากนั้น ขั้วอำนาจเปอร์เซียในไทยก็ค่อยๆ เสื่อมลง กลายเป็นขั้วอำนาจฝรั่ง ที่นำโดยคอนสแตนติน ฟอลคอน มีบทบาทขึ้นมาแทน
*** สิ่งที่ยังเหลือสืบมา ***
แม้กระแสเปอร์เซียจะเสื่อมไป แต่ก็ยังคงอยู่ในหลายสิ่ง เพราะอย่าลืมว่าช่วงรุ่งเรือง ชาวเปอร์เซียมีบทบาทในสังคมไทยอย่างมาก โดยมีการแลกเปลี่ยนทั้งในระดับชาวบ้านไปจนถึงสถาบันกษัตริย์ หลายอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมที่เราไม่รู้ตัว
มีเอกสารของชาวเปอร์เซียบันทึกไว้ว่า พระนารายณ์ให้นายช่างเปอร์เซียและอินเดียมาสร้างเมืองลพบุรี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่วังนารายณ์ราชนิเวศน์จะมีความเป็น “แขก” ผสมอยู่ โดยอ.จุฬิศพงศ์วิเคราะห์ไว้ว่า ลพบุรีมีองค์ประกอบคล้ายกับเมืองอิสฟาฮานในอิหร่าน และรัฐสุลต่านแห่งเดคคานในอินเดียผสมกัน
ภาพแนบ: วังนารายณ์ราชนิเวศน์
นอกจากนี้ ยังมีการพบว่าศิลปกรรมและประติมากรรมไทยบางส่วน อาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากเปอร์เซีย เช่นลายดอกไม้หรือลายเรขาคณิตแบบอิสลาม นอกจากนั้นลายกนกเปลวก็ คล้ายลายไฟอย่างเปอร์เซีย เป็นต้น
1
ทั้งนี้ราชทูตไทยในยุคอยุธยาเลียนแบบการแต่งกายแบบเปอร์เซียเพราะเชื่อว่าเป็นชุดที่ "เท่" ในยุคนั้น คือสวมหมวกทรงแหลม (เวอร์ชันเปอร์เซียจะเป็นผ้าโพกหัวแล้วมียอดแหลมๆ ขึ้นไป) , ชุดคลุมยาว, รองเท้างอน ดังที่เห็นได้จากรูปคณะทูตของโกษาปานไปฝรั่งเศส ซึ่งเชื่อว่าชุดของกษัตริย์ไทยในภายหลังก็ได้รับอิทธิพลนี้มา
ภาพแนบ: คณะทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
สถาปัตยกรรมสำคัญเช่นประตูวังนารายณ์ราชนิเวศน์นั้นมีทรงโค้งแหลมแบบสิ่งก่อสร้างแบบเปอร์เซีย (ไทยเรานำมาเป็นของตนแล้วเรียก “ทรงกลีบบัว”) และตามกำแพงก็มีช่องทรงเดียวกันไว้ใส่เทียนเพื่อให้ความสว่างยามค่ำคืน นอกจากนั้นยังมีร่องรอยน้ำพุเตี้ยๆ แบบเปอร์เซียรายล้อมอยู่ (ใช่ครับน้ำพุในวังพระนารายณ์น่าจะมาจากอิทธิพลเปอร์เซียไม่ใช่ฝรั่ง)
ภาพแนบ: กำแพงมีช่อง
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ไทยได้รับมาจากเปอร์เซียคือ ภาษา… เป็นที่ทราบกันดีว่า ภาษาไทยมีคำยืมอยู่มากมาย โดยเฉพาะจากบาลีและสันสกฤต แต่ในชีวิตประจำวันของเรา ก็มีคำเปอร์เซียอยู่มากทีเดียว โดยผมจะยกตัวอย่างมาส่วนหนึ่งดังนี้:
“กุหลาบ” มาจากคำว่า گلاب (กูลอับ) แปลตรงตัวว่า น้ำดอกไม้ ซึ่งเปอร์เซียนิยมเอาดอกกุหลาบมาทำ คนจึงเรียกดอกไม้นั้นว่า กุหลาบ (ส่วนกุหลาบจริงๆ ในภาษาเปอร์เซียคือ گل رز “กูลเอรอซ” แปลว่า ดอกไม้แดง)
“บุหรี่” มาจากคำว่า بوری (บูรี) แปลว่า เขาสัตว์ หรือ ปลายแหลม เนื่องจากยาสูบสมัยก่อนม้วนแล้วมีปลายแหลม
“เหรียญ” มาจากคำว่า ریال (เรียล) หมายถึงเงิน
“ลิเก” มาจากคำว่า ذکر (ดิเกร์) เพลงสวดอิสลามที่มีท่าทางประกอบ ที่แขกเจ้าเซ็นพัฒนาเป็นการแสดง
นอกจากนี้ จากการที่ชาวเปอร์เซียมีบทบาทด้านการเดินเรือค้าขายในไทยมาก ทำให้ไทยมีศัพท์ชาวเรือมากมายมาจากภาษาเปอร์เซีย เช่น “กะลาสี” มาจากคำว่า خلاصی (ชะลาสี) แปลว่า ลูกเรือ
“สะหรั่ง” มาจากคำว่า سالار (ซาลาร์) แปลว่า หัวหน้า หมายถึงหัวหน้ากะลาสีบนเรือสินค้าและเรือรบ
“กระซับ” มาจากคำว่า کاسِب (กาเซบ หรือ กะซะบะ) แปลว่า พ่อค้า แต่ในภาษาไทยหมายถึง ผู้จัดหาสินค้า สิ่งของต่าง ๆ และดูแลสินค้าสิ่งของนั้น ๆ ให้พ่อค้าอีกต่อหนึ่ง อารมณ์เดียวกับเสมียน
ที่สำคัญ คำเรียกของกินหลายชนิดที่เราคุ้นเคย ก็มาจากเปอร์เซีย ทั้ง “องุ่น” มาจากคำว่า انگور (อันงุร) “กะหล่ำ” มาจากคำว่า کلم‎ (กะล้ม) ลองเอาตัวเปอร์เซียที่ผมเขียนไปหาในกูเกิ้ลดู ก็จะเจอรูปองุ่นหรือกะหล่ำปลีตรงๆ เลยละครับ
บางอันก็เป็นการแปลงจากต้นฉบับมา เช่น ขนมอาลัวที่เป็นก้อนหยดน้ำตาลหลากสี มาจากคำว่า حلوا‎ (ฮาลัว) แปลว่า ขนมหวาน หรือ ข้าวหมก มาจากคำว่า مرغ (โมลก์) แปลว่า ไก่ (อนึ่งคนอิหร่านเรียกข้าวที่หุงกับพืชหรือเครื่องเทศว่า โมลก์ปุเลา มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นต้นแบบของข้าวปิเลาหรือปิลาฟที่โด่งดัง)
ภาพแนบ: ขนมอาลัว ภาพจากเว็บกระปุก
*** ชาวเปอร์เซียในไทยปัจจุบัน ***
จากที่เล่ามาทั้งหมด เราเห็นความเปอร์เซียที่กลายมาเป็นของไทย ซึ่งอาจทำให้เกิดคำถามว่า แล้วคนเปอร์เซีย หรือแขกเจ้าเซ็นเองเล่า ยังมีในไทยอยู่ไหม? …คำตอบคือมีครับ โดยจะอยู่เป็นชุมชนรอบๆ มัสยิด คล้ายกับที่คนไทยสมัยก่อนมีวัดเป็นศูนย์กลาง
ชุมชนของชาวเปอร์เซียซึ่งนับถืออิสลามนิกายชีอะห์ในไทยจะอยู่รอบๆ มัสยิด หรือที่เรียกว่า “กะดี”
ภาพแนบ: ชาวมุสลิมในไทย
ชุมชนที่สำคัญมีเช่น “ชุมชนมัสยิดต้นสน” อยู่รอบมัสยิดต้นสน (กะดีใหญ่) จากหลักฐานที่พบตอนบูรณะสุสาน (กุร์โบร) พบรูปปั้นทรงอยุธยา จึงเชื่อว่ามัสยิดอาจสร้างขึ้นตั้งแต่เวลานั้น (ปัจจุบันมีมุสลิมทั้งสุหนี่และชีอะห์อาศัยอยู่ในชุมชนนี้)
ภาพแนบ: มัสยิดต้นสน
นอกจากนี้ยังมี “ชุมชนแขกเจ้าเซ็น” สร้างรอบๆ มัสยิดฮุซัยนียะฮ์ (กะดีเจริญพาศน์ หรือ กะดีกลาง) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ว่ากันว่าชาวมุสลิมชีอะห์ในชุมชนนี้สืบสายตรงมาจากเปอร์เซีย และยังรักษาขนมธรรมเนียมเก่าๆ อย่างเหนียวแน่น เช่น จัดพิธีแห่แขกเจ้าเซ็นทุกปี และคอยเปิดสอนศาสนานิกายชีอะห์แก่ศาสนิกชนรุ่นใหม่ทุกวันอาทิตย์
…และทั้งหมดนี้เองคือเรื่องราวของเปอร์เซียในไทย…
::: อ้างอิง :::
- oservice (ดอต) skru (ดอต) ac (ดอต) th/ebookft/331/chapter9
- culture (ดอต) bsru (ดอต) ac (ดอต) th/wp-content/uploads/2017/05/หมวดชาติพันธุ์-พิธีเจ้าเซ็น-อาชูรอ (ดอต) pdf
- silpa-mag (ดอต) com/history/article_4380
- silpa-mag (ดอต) com/history/article_43691
- youtu (ดอต) be/nO0-7C3l4Hw
The Wild Chronicles จะจัดทริปไปอิหร่านอีกนะครับ จึงเอาโปรแกรมมาลงอีกครั้ง เพื่อพาท่านไปหลงใหลประเทศที่สวยงาม และมีวัฒนธรมกับประวัติศาสตร์อันลึกล้ำแห่งนี้ด้วยกัน โดยมีรอบวันที่ 13-19 ก.ค., 12-18 ต.ค. ,19-25 ต.ค. และเนื่องจากได้รับความสนใจมาก จะเปิดรอบวันที่ 28 ธ.ค. - 3 ม.ค. ต่อไป นอกจากนั้นยังมีตัวเลือก Private Tour มาด้วยนะครับ
โดยใน Private Tour นั้นเราจะทำการประสานงานเรื่องซื้อตั๋วเครื่องบิน, ทำวีซ่า, ติดต่อทีมงานอิหร่าน, และช่วยจัดโปรแกรมในแบบที่ท่านต้องการที่สุด ส่วนทริปปกติจะมีหัวหน้าทัวร์คนไทยไปดูแลด้วย โปรแกรมคลุมไฮไลท์ทั้งหมด และมีเสริมที่ท่องเที่ยวเชิงสงครามและการเมืองในแบบ The Wild Chronicles คืออดีตสถานทูตอเมริกา และพิพิธภัณฑ์สงครามของอิหร่าน (ดีมากครับรับประกัน)
ท่านที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมแอดไลน์ https://lin.ee/fNEO1jr มาถามได้เลยนะครับ
โฆษณา