23 มิ.ย. 2022 เวลา 07:41 • ประวัติศาสตร์
*** The Spirit of Alphonse Mucha ***
ท่านผู้อ่านเคยเห็นโปสเตอร์หรือแพคเกจจิ้งที่มีลายเส้นอ่อนช้อย มีการประดับรูปด้วยสัญลักษณ์ต้นไม้ใบหญ้าและดอกไม้ โดยมีภาพหญิงสาวที่โพสต์ท่าอย่างงามสง่าอยู่ตรงกลางไหมครับ? นั่นคือส่วนหนึ่งของกระแสศิลปะที่เรียกว่า Art Nouveau หรือ “ศิลปะใหม่” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี 1890 - 1910
วันนี้ The Wild Chronicles ขอแนะนำศิลปินผู้โด่งดัง “อัลโฟนส์ มูคฮา” ผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนางานศิลปะแนวนี้ให้รุ่งเรือง ถึงหลายคนอาจไม่คุ้นกับชื่อนี้เลย แต่เมื่อเห็นผลงานของเขาต้องร้อง “อ๋อ!” แน่นอน เพราะภาพหลายๆ ภาพของเขาส่งอิทธิพลเป็นแรงบันดาลใจแก่ศิลปินมากมายในปัจจุบัน
แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า ครั้งหนึ่งงานของมูคฮาเกือบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์? ชายคนนี้มีเรื่องราวชีวิตแบบไหน? อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างสรรค์ผลงาน? ผมจะพาท่านผู้อ่านไปติดตามงานของเขารู้ด้วยกันนะครับ
*** จุดเริ่มต้นของมูคฮา ***
“อัลโฟนส์ มารียา มูคฮา” เป็นคนเชื้อชาติเชค (เชคนับเป็นชาติพันธุ์สลาฟหนึ่ง) เกิดปี 1860 ณ แคว้นโมราเวีย จักรวรรดิออสเตรีย (ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเชค) มูคฮามีความสามารถทางศิลปะทั้งด้านวาดรูปและดนตรี แม้จะไม่มีเงินมากมาย แต่ก็ได้รับการสนับสนุนให้เรียนต่อ…
หนึ่งในที่ที่ให้ทุนมูคฮาคือโบสถ์ โดยแลกกับการเป็นนักร้องประสานเสียง ตรงจุดนี้หล่อหลอมให้เขาเป็นคนเคร่งศาสนา ซึ่งจะส่งผลต่องานในภายหลังด้วย
แม้มูคฮาไปได้ดีทางดนตรี แต่เขาอยากมุ่งทางด้านวาดรูปเป็นหลัก ในปี 1878 เด็กหนุ่มพยายามสมัครเข้าเรียนต่อที่สถาบันศิลปะแห่งปราก มหาวิทยาลัยศิลปะเก่าแก่ของประเทศ แต่กลับได้รับคำแนะนำให้ “ไปหางานอื่นทำ”
กระนั้นเขาไม่ยอมแพ้ อีกสองปีต่อมา มูคฮา (ที่ตอนนั้นอายุ 19 ปี) ก็มุ่งหน้าสู่เวียนนา และได้งานเป็นผู้ช่วยนักวาดฉากละครเวที
ภาพแนบ: สถาบันศิลปะแห่งปราก
คณะละครที่มูคฮาทำงานด้วยมักให้ตั๋วชมการแสดงฟรี เขาจึงได้เห็นความรุ่มรวยของละคร ประกอบกับการที่เวียนนาเป็นเมืองศิลปะ เด็กหนุ่มจึงมีโอกาสไปชมพิพิธภัณฑ์, โบสถ์ วังต่างๆ
อนิจจา เขาทำงานได้ปีเดียว ปรากฏว่าโรงละครริงเธียเตอร์ ซึ่งเป็นนายจ้างรายใหญ่โดนไฟไหม้ คณะละครไม่มีคนจ้างต่อ มูคฮาเลยตัดสินใจเดินทางไปยังตอนเหนือของโมราเวีย ปักหลักสร้างผลงานออกมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ถูกใจของ “เคาท์เอดาร์ด คูห์เอน เบลาซี” มาก
ภาพแนบ: ริงเธียเตอร์เกิดไฟไหม้
เคาท์เบลาซีพามูคฮาไปเปิดโลกยังเวนิส, ฟลอเรนซ์ และมิลาน พร้อมให้ทุนการศึกษาไปเรียนศิลปะที่มิวนิค ประเทศเยอรมนีในปี 1885
ที่นั่นมูคฮาได้พบกับศิลปินชาวสลาฟมากมาย และเขาได้ก่อตั้งสมาคมนักเรียนเชค เพื่อวาดรูปสนับสนุนกลุ่มชาตินิยมเชคในเมืองปราก
ภาพแนบ: มูคฮากับเพื่อนๆ ในมิวนิค
*** เรื่องราวของชาวเชค ***
ตามที่ผมเคยเล่าในประวัติศาสตร์รัสเซีย ชาวเชคเป็นชาวสลาฟเผ่าหนึ่งมีต้นกำเนิดร่วมกับรัสเซียและโปแลนด์
ทั้งสามประเทศมีตำนานร่วมว่า ครั้งหนึ่งเคยมีพี่น้องสามคน ชื่อ เลช, เชค, และรัส ซึ่งแยกกันออกเดินทางไปหาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ เมื่อเชคไปถึงเทือกเขารีปในแดนที่มีชื่อว่าโบฮีเมีย เขาก็ตั้งบ้านเรือนขึ้น กลายเป็นประเทศเชคในปัจจุบัน
ภาพแนบ: เชคและผู้ติดตามบนเทือกเขารีป
จากหลักฐานต่างๆ รัฐของชาวเชคน่าจะตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 6 - 7 อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมามันกลับถูกลดสถานะเป็นเพียงแคว้นโบฮีเมียและโมราเวีย เพราะตกเป็นเมืองขึ้นกลุ่มอำนาจอื่นมาเกือบๆ พันปี เช่นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และจักรวรรดิฮาบส์บวร์ก (ออสเตรีย)
ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เศรษฐกิจของแคว้นโมราเวียได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากอุตสาหกรรมทอผ้าและน้ำตาล รวมไปถึงโลหะ เมื่อชีวิตมั่นคงชาวเชคก็เริ่มกลับมาสนใจศึกษารากเหง้าของตัวเอง ทั้งด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมเชค (Czech Nationalism) และชาตินิยมสลาฟขึ้นอย่างกว้างขวาง ร่วมกับกระแสชาตินิยมอื่นๆ ในยุคนั้น
ภาพแนบ: แผนที่ของออสเตรีย-ฮังการี เทียบกับแผนที่ปัจจุบัน
มูคฮาเป็นคนรักชาติ และได้รับอิทธิพลจากกระแสนี้เป็นอย่างยิ่ง เขาผลิตงานต่างๆ มากมายตามแนวคิดชาตินิยม เช่นในปี 1886 มูคฮาวาดรูปของเซนต์ซีริลและเมโธไดอัส ซึ่งเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของคนเชค (โดยการว่าจ้างของกลุ่มผู้อพยพชาวเชค)
ความชาตินิยมนี้จะแสดงออกเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในงานของเขาต่อไป
ภาพแนบ: Saints Cyril and Methodius
*** ผลงานสร้างชื่อ ***
มูคฮาอยู่เยอรมนีได้ไม่นาน เพราะภาครัฐเริ่มมีนโยบายจำกัดจำนวนคนต่างชาติ เคาท์เบลาซีเลยแนะให้เด็กหนุ่มไปเรียนที่โรมหรือไม่ก็ปารีส
…มูคฮาเลือกไปฝรั่งเศสในปี 1888 และเริ่มรับงานวาดรูปประกอบจริงจัง เช่นวาดปกนิตยสาร La Vie Populaire ในปี 1890 วาดภาพสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ให้กับ Le Petit Français Illustré ในปี 1892 ทำให้เขาเริ่มมีรายได้มั่นคง
ภาพแนบ: ผลงานของมูคฮาบนปก La Vie Populaire
งานแรกที่สร้างชื่อเสียงแก่เขาอย่างเป็นทางการคือ การวาดภาพ “ความตายของเฟเดอริก บาบารอสซา” จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ช่วงศตวรรษที่ 12
ภาพนี้นอกจากได้รับเลือกให้จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะแห่งปารีสในปี 1894 แล้ว ยังทำให้มูคฮาได้รับเหรียญเกียรติยศด้วย
ภาพแนบ: The Death of Frederick Barbarossa
ปลายปีนั้นเอง มูคฮาได้รับการว่าจ้างจากนักแสดงละครเวทีชื่อดังของปารีสยุคนั้นนาม “ซาราห์ เบิร์นฮาร์ดต์” ให้วาดรูปโปสเตอร์ใหม่แก่ละครเวทีเรื่อง Gismonda
มูคฮาออกแบบงานอย่างรวดเร็ว เป็นหญิงสาวสวยสง่า มีดอกไม้ประดับหัว มือถือใบปาล์ม ฉากหลังเป็นกระเบื้องไบแซนไทน์ทรงโค้ง ดูราวกับรัศมี ความโดดเด่นอีกอย่างของภาพนี้คือมูคฮาเลือกใช้สีอ่อนหวานแบบพาสเทล แทนที่จะเป็นสีจัดๆ แบบศิลปินอื่น ในยุคเดียวกัน
ภาพแนบ: โปสเตอร์เรื่อง Gismonda
เมื่อโปสเตอร์ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนในวันปีใหม่ 1895 ผู้คนก็ชอบงานนี้กันล้นหลาม เบิร์นฮาร์ดต์ถึงกับขอให้มีการทำโปสเตอร์ฉบับก๊อปปี้อีก 4,000 แผ่น และทำสัญญาว่าจ้างมูคฮาเพื่อให้วาดรูปงานแสดงเธอต่อ หลังจากนั้นกระแสนิยมในตัวมูคฮาก็เพิ่มขึ้นจนเขาเองยังตกใจ
มูคฮาทำโปสเตอร์ละครสไตล์นี้ให้เบิร์นฮาร์ตอีกหลายเรื่อง เช่น…
ซาราห์ เบิร์นฮาร์ดต์ ตัวจริง
La Dame aux Camélias (1896)
Medee หรือ Medea (1898)
La Tosca (1898)
Hamlet ปี 1899
บางครั้งมูคฮาก็ได้งานออกแบบสูจิบัตรและเครื่องแต่งกายในละครด้วย
*** ภาพประดับและงานโฆษณา ***
ช่วงเวลาเดียวกัน มูคฮาก็มีผลงานแนวใหม่ คือ “ภาพประดับ” เป็นเหมือนโปสเตอร์ที่ไม่มีตัวอักษร ไว้ใช้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม โดยผลงานแนวนี้ชุดแรกของเขาวางจำหน่ายในปี 1896 มีชื่อว่า The Seasons ประกอบด้วยรูปของหญิงสาวสี่คนในสี่ฤดู
ภาพแนบ: มูคฮาในปี 1896
เริ่มจากฤดูใบไม้ผลิแสนอ่อนหวาน
ฤดูร้อนที่เย้ายวน
ฤดูใบไม้ร่วงอันอุดมสมบูรณ์
และฤดูหนาวแสนเยือกเย็น
...แน่นอนว่างานชิ้นนี้ขายดิบขายดีเทน้ำเทท่า
เขาออกแบบภาพประดับตกแต่งอีกมากมาย เช่นหญิงสาวกับพื้นหลังเป็นกระจกสีลายสิบสองราศี ซึ่งบรรณาธิการนิตยสารศิลปะ La Plume ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นปฏิทินในปี 1897
ภาพแนบ: Zodiac calendar
นอกจากนี้มูคฮายังรับงานคอมมิชชัน มีหน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ มาว่าจ้างให้เขาวาดรูปโฆษณาสินค้า ผลงานดังๆ ก็มี บุหรี่ JOB ปี 1898
งานทั้งหมดที่กล่าวไป ล้วนมีสไตล์คล้ายๆ กับผลงานโปสเตอร์ที่เคยทำให้เบิร์นฮาร์ดต์ ก็คือเป็นลายเส้นชดช้อย มีผู้หญิงงามเด่นสง่า มีฉากหลังอลังการ และใช้สีสันที่ดูแล้วสบายตา
ภาพแนบ: โฆษณาบุหรี่
*** ภาพสะท้อนของตัวตน ***
หลังวาดภาพตกแต่งและโฆษณาอยู่หลายปี มูคฮาก็ได้โอกาสวาดรูปแนวอิงประวัติศาสตร์ที่เขาชื่นชมมาตลอดตั้งแต่ยังอยู่เวียนนา
ศิลปินหนุ่มยื่นใบสมัครกับทางรัฐบาลออสเตรีย ขอเป็นคนวาดภาพแก่พาวิลเลียนของออสเตรียในงานนิทรรศการนานาชาติ Paris Universal Exposition of 1900 ซึ่งเขาก็ได้รับหน้าที่วาดภาพกำแพงให้พาวิลเลียนบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา (ตอนนั้นเป็นหนึ่งในเขตปกครองของออสเตรีย-ฮังการี)
ภาพแนบ: โปสเตอร์งาน Paris Universal Exposition of 1900 (รูปนี้เป็นศิลปินอื่นวาด)
เนื่องจากบอสเนียฯ เป็นแดนของชาวสลาฟ ตอนแรกมูคฮาเลยจะวาดรูปชาวสลาฟทนทุกข์ในแผ่นดินเกิดเพราะชาวต่างชาติที่มาแย่งดินแดน
แต่รัฐบาลออสเตรีย (ซึ่งเป็นพวกที่พูดภาษาเยอรมัน) บอกว่ามันดราม่าไป อย่ามาชาตินิยมแถวนี้ มูคฮาเลยต้องเปลี่ยนธีมเป็นภาพความคาดหวังในอนาคตที่เขาอยากเห็นทุกคนในคาบสมุทรบอลข่านอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม
ภาพแนบ: ส่วนหนึ่งของภาพมูคฮาในงานนี้
นอกจากการวาดรูปบนกำแพง มูคฮายังได้ออกแบบเมนูอาหารให้พาวิลเลียนบอสเนียฯ, วาดโปสเตอร์ให้ทางการออสเตรีย, วาดใบรายการอาหารให้งานเลี้ยงเปิดนิทรรศการ, และทำงานอื่นๆ อีกมาก
ภาพแนบ: เมนูอาหารพาวิลเลียนบอสเนียฯ
แน่นอนว่ามีผลงานอื่นๆ ของตัวเขาเองได้จัดแสดงในงานนี้ด้วย เช่นผลงานชุด Le Pater ที่รวมภาพวาดสีน้ำอิงคำสอนคาทอลิก ซึ่งเป็นความศรัทธาของมูคฮามาแต่วัยเยาว์ และเขาเองมองว่างานนี้เป็นมาสเตอร์พีซของตนเอง
มูคฮาเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ New York Sun ช่วงต้นปี 1900 ว่าเป็นงานที่ “ใส่วิญญาณลงไป”
ภาพแนบ: Le Pater (1899)
*** American Dream ***
ขณะนิทรรศการ Paris Universal Exposition of 1900 ดำเนินไป มูคฮาก็เกิดความคิดอยากวาดภาพประวัติศาสตร์ชาวสลาฟ ซึ่งไม่ใช่แค่รูปเล็กๆ แต่เป็นชุดภาพขนาดใหญ่ที่มีความอลังการ ซึ่งโปรเจคนี้ต้องใช้เงินมาก
ภาพแนบ: มูคฮา
ระหว่างนี้ เขาจึงสร้างผลงานภาพโปสเตอร์หรือภาพประดับหาทุนและประสบการณ์ไปพลางๆ เช่น Thistle from the Sands (1902)
ภาพชุด The Moon and the Stars (1902) ซึ่งประกอบด้วย...
The Evening Star
The Moon
The Morning Star
The Pole Star
อย่างไรก็ดี เขาได้รับจดหมายรับรองจากบารอนเนส ซาโลมอน เดอ รอธไชลด์ (ใช่ครับ ตระกูลรอธไชลด์ที่เป็นนักการเงินดังๆ นั่นแหละ ตระกูลนี้มีหลายสายกระจายในหลายประเทศ) ให้เดินทางไปหาทุน ณ สหรัฐอเมริกาในปี 1904
มูคฮาเทียบท่ายังนิวยอร์กในฐานะคนดัง เพราะมีผลงานเผยแพร่สู่อเมริกันชนตั้งแต่ปี 1896 (เมื่อซาราห์ เบิร์นฮาร์ดต์ มาเปิดแสดงละครเวที) เขาเช่าสตูดิโออยู่ใกล้ๆ เซ็นทรัลพาร์คในตัวเมืองนิวยอร์ก รับงานวาดรูปและสอนศิลปะ ต่อมาก็ได้เป็นอาจารย์พิเศษที่สถาบันศิลปะชิคาโก
ภาพแนบ: โปสการ์ดที่มูคฮาส่งจากอเมริกา
ระหว่างนี้ มูคฮาก็ยังไปๆ กลับๆ ระหว่างยุโรปและอเมริกา เพื่อวาดรูปที่มีคนจ้าง เขาแต่งงานกับ มารี ซิทิโลวา ในปี 1906 ที่ปราก และพาเธอไปอเมริกาด้วย
ภาพแนบ: มูคฮาแต่งงาน
มารีคลอดลูกสาวชื่อ “ยาโรสลาวา” ในปี 1909
มูคฮารักเอ็นดูลูกสาวมาก เขาวาดรูปลูกไว้หลายรูป จนภาพครอบครัวนี้กลายเป็นธีมหนึ่งในการศึกษางานศิลปะของเขา และยาโรสลาวาก็จะโตขึ้นมาเป็นศิลปินเหมือนกับพ่อ
ภาพแนบ: รูปยาโรสลาวาที่มูคฮาวาด
ช่วงอยู่อเมริกา มูคฮาติดต่อกับองค์กรแพน-สลาวิกหรือองค์กรรวมชาวสลาฟหลายแห่ง ในงานเลี้ยงครั้งหนึ่ง เขาพบกับ “ชาร์ลส์ ริชาร์ด เครน” นักธุรกิจผู้ร่ำรวย และมีความชาตินิยมในเผ่าพันธุ์สลาฟ
เขาอยากเห็นภาพวาดประวัติชาวสลาฟเหมือนกัน เลยคิดจะให้ทุนสนับสนุนศิลปินหนุ่ม ก็เป็นอันสมประสงค์การหาทุนที่ทำให้มูคฮามาอเมริกา
ภาพแนบ: ชาร์ลส์ ริชาร์ด เครน
ทั้งนี้เครนเริ่มจ้างให้มูคฮาวาด “สลาเวีย” หรือเทพีตัวแทนของชนชาติสลาฟ มูคฮาก็วาดโดยใช้ลูกสาวของเครนเป็นแบบ
ภาพแนบ: โจเซฟีน เครน ในฐานะสลาเวีย
*** The Slav Epic***
ในปี 1910 เศรษฐีเครนตกลงจะให้เงินก้อนใหญ่เพื่อผลักดันโครงการรูปประวัติศาสตร์ชาวสลาฟ หรือ The Slav Epic ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน มูคฮาได้ย้ายกลับไปปราก เพราะนายกเทศมนตรีเมืองปราก (ยังคงสถานะเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรีย) เสนอให้เขาเข้ามาวาดภาพตกแต่งภายในศาลากลางจังหวัด
เขารับงานนี้เพราะมีใจชาตินิยม โดยเขาบอกกับภรรยาว่า “ผมสามารถทำสิ่งที่ประเสริฐได้ ไม่ใช่แค่ในทางศิลปะ แต่จะเป็นสิ่งประเสริฐกับจิตวิญญาณชาติสลาฟ”
ภาพแนบ: ผลงานของมูคฮาที่ปราก
หลังวาดรูปให้ศาลากลางฯ เสร็จในปี 1911 มูคฮาก็ทุ่มแรงกายแรงใจสร้างสรรค์ผลงานชุด The Slav Epic โดยมียาโรสลาวาเป็นหนึ่งในลูกมือ เธอคอยผสมสีและร่างภาพให้พ่อ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นแบบอ้างอิงให้กับพวกคนในรูปด้วยหลายครั้ง
ภาพแนบ: มูคฮาขณะกำลังวาดภาพชุด The Slav Epic
มูคฮาดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข จนปี 1914 อาร์คดยุคแห่งออสเตรียถูกลอบสังหาร ทำให้ออสเตรียประกาศทำสงครามกับเซอร์เบีย ซึ่งต่อมาจะบานปลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1
ภาพแนบ: อาร์คดยุคแห่งออสเตรียและภรรยาก่อนถูกลอบสังหาร
ช่วงเวลานั้นทั่วยุโรปต้องเผชิญภาวะข้าวยากหมากแพง มูคฮาย่อมได้รับผลกระทบแต่ก็ไม่ละความพยายาม มุ่งสร้างผลงานต่อเนื่อง แม้จะมีความขัดสนและทำงานได้ลำบาก ระหว่างนี้เขามีลูกชายอีกคน ชื่อว่า “ยีรี” ซึ่งจะมีบทสำคัญต่อไป
ภาพแนบ: รูปยีรีที่มูคฮาวาด
สงครามสิ้นสุดลงในปี 1918 ด้วยชัยชนะของสัมพันธมิตร จักรวรรดิออสเตรียซึ่งอยู่ฝ่ายมหาอำนาจกลางสิ้นอิทธิพล แต่ละแคว้นในปกครองพากันประกาศเอกราช ชาวเชคจึงได้มีประเทศ “เชคโกสโลวาเกีย” ที่เขาใฝ่ฝันกันมาตลอด ในวันที่ 28 ตุลาคมปีนั้นเอง
ภาพแนบ: เชคโกสโลวาเกียประกาศเอกราช
มูคฮาปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ผลงานชุด The Slav Epic เสร็จสมบูรณ์ในปี 1926 ประกอบด้วย 20 ภาพ ครึ่งหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของสลาฟเชค อีกครึ่งเป็นของชาวสลาฟอื่นๆ เช่น รัสเซีย โปแลนด์ ฮังการี ฯลฯ และจัดแสดงทั้งหมดในปี 1928 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 10 ปีของการตั้งประเทศ
ภาพแนบ: ชาวสลาฟในมาตุภูมิ (The Slavs In Their Original Homeland) ผลงานแรกของชุด
อนึ่ง ผลงานชุด The Slav Epic ไม่ใช่สิ่งเดียวที่มูคฮาสร้างสรรค์ในช่วงเวลาสิบกว่าปีนั้น เขาทำงานอย่างดีที่สุดในการสนับสนุนรัฐบาลเชคในทางศิลปะ เช่น ออกแบบธนบัตรเงินโครูนาของเชค
ธนบัตร 50 โครูนา ผู้หญิงในภาพ เขาวาดโดยมีลูกสาวเป็นต้นแบบ
หรือจะเป็นภาพ Muse (1920)
*** ข้างหลังภาพ ***
ในปี 1939 เยอรมันบุกตีเชคโกสโลวาเกีย แล้วยึดเป็นเมืองขึ้น มีการลดสถานะประเทศเชคให้กลับเป็นเพียง “รัฐโบฮีเมียและโมราเวีย” เนื่องจากมูคฮานั้นขึ้นชื่อในความชาตินิยม เคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยๆ ทำให้โดนจับกุมไปสอบสวนอยู่หลายวัน
ภาพแนบ: เชคโกสโลวาเกียโดยยึด
มูคฮาในตอนนั้นชรามากแล้ว (อายุ 78 ปี) พอถูกสอบสวนทรมานร่างกายก็รับไม่ไหว แม้ภายหลังจะมีการปล่อยตัวเขาออกมา แต่เขาก็ต้องตรอมใจที่เห็นประเทศตนโดนย่ำยี จึงล้มป่วย และเสียชีวิตลงในวันที่ 14 กรกฎาคม 1939 นั้นเอง
ภาพแนบ: มูคฮาในวัยชรา
ผลงานอันยอดเยี่ยมของของมูคฮาก็ถูกปิดกั้นละเลย เพราะมันถูกวาดโดยศิลปินผู้รักชาติ
แม้กระทั่งตอนเชคเป็นอิสระจากเยอรมันในปี 1945 หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ผลงานของมูคฮาก็ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรเพราะผู้นำประเทศชุดใหม่ของเชคได้สวามิภักดิ์กับคอมมิวนิสต์โซเวียต และศิลปะโซเวียตมันต้องแรงๆ ทำเพื่อการปฏิวัติสังคม ทำให้รัฐบาลไม่นิยมงานของมูคฮานัก
ภาพแนบ: คอมมิวนิสต์ในเชค
อย่างไรก็ดี งานของมูคฮาได้การเก็บซ่อนโดยรัฐบาลช่วงสงครามของเชค ทำให้สามารถรอดพ้นจากการทำลายมาได้
ลูกๆ ของมูคฮาได้พยายามรักษาผลงานของบิดา โดยยาโรสลาวาเป็นผู้ซ่อมแซมรูปเหล่านั้น
ภาพแนบ: ยาโรสลาวา
ส่วน ยีรี ได้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่เรื่องราวของพ่อออกสู่สาธารณชน ทำให้ในยุค 1960s ผลงานของมูคฮา รวมถึงงานแนวอาร์ตนูโวอื่นๆ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินมากมายในหลายประเทศ แม้กระทั่งในวงการมังงะ และอนิเมของญี่ปุ่น ทำให้เราอาจเห็น “วิญญาน” ของมูคฮายังอยู่ในงานหลายชิ้น
ภาพแนบ: ยีรี
เช่น: โปสเตอร์ของวงดนตรี Pink Floyd
ปกอัลบั้ม Sewn Mouth Secrets วง Soilent Green
องค์ประกอบการดีไซน์ในมังงะ “เซเลอร์มูน” ของ ทาเคอุจิ นาโอโกะ
ภาพแนบ: ชุดเซเลอร์มูน เทียบกับภาพ Reverie (1897)
ตัวแทนแห่งดวงจันทร์จะลงทัณฑ์แกเอง
คอมมิค Marvel ของ โจ เคซาดา
งานฝั่ง DC Comics โดย อดัม ฮิวจ์ส
*** สรุป ***
อัลโฟนส์ มูคฮา เป็นศิลปินผู้มีสุนทรียภาพยิ่ง แม้ชีวิตของเขาจะต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย และตายอย่างคับแค้น แต่ความสามารถทางศิลปะของเขาก็เป็นสิ่งที่คงอยู่
งานเหล่านี้สะท้อนตัวตนของมูคฮา ทั้งความทรนงในชาติพันธุ์, ความศรัทธาในศาสนา, และการมองโลกอย่างสวยงามอ่อนโยน ทั้งหมดทำให้เขาเป็นอมตะ และทำให้เราเข้าใจว่าคนๆ นี้เป็นอย่างไร ผ่านการเสพงานของเขา
จนปัจจุบันความยอดเยี่ยมของมูคฮายังคงสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินมากมาย นับว่าอยู่เหนือกาลเวลา เป็นที่ไม่ถูกลืมในกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก
…และนี่เองคือเรื่องราวของจอมศิลปินผู้นี้ครับ…
โฆษณา