25 มิ.ย. 2022 เวลา 22:42 • ปรัชญา
หลังจากที่อลิสเขียนบทความไปซักพัก เริ่มสงสัยว่านักเขียนที่เก่งๆ เขามีวีธีฝึกตัวเองยังไง ให้เขียนงานออกมาได้เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้อ่าน เลยไปเจอข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับแนวคิดของนักเขียนวรรณกรรมระดับโลกอย่างเกอเธ่ และวิธีฝึกเขียนขั้นเทพ ที่นักเขียนมือใหม่น่าจะชอบ เข้าใจง่าย เลยเอามาเขียนเป็นบทความในวันนี้ค่ะ
การเขียนนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ จัดอยู่ในหมวดของมนุษยศาสตร์ (การสื่อสารกับมนุษย์) และสุนทรีศาสตร์ (ความจรรโลงใจ) โซเครติส นักปรัชญากรีกคนแรกของโลก เชื่อว่า ความงามนั้นเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับความดีและความรู้ อันเกิดจากความรัก หมายถึงว่า คนที่มีความรักในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงามอันประกอบด้วยปัญญา คุณธรรม และความบริสุทธิ์ ให้กับสิ่งนั้น ให้งดงามและดียิ่งๆ ขึ้นไปได้ (ลักษณวัต, 2551)
เช่นกันค่ะ งานเขียนที่ดี ผู้เขียนควรตระหนักว่ากำลังส่งต่อความรู้ที่ดีงาม คุณธรรม ส่องแสงสว่างแห่งปัญญา มอบความรื่นรมย์ และความคิดสร้างสรรค์ ให้แก่ผู้อ่านในขณะเดียวกัน เกอเธ่ คือตัวอย่างที่ดีของการเป็นนักเขียนที่มอบทั้งคุณธรรมและความรู้ให้กับผู้คน ผ่านตัวหนังสือ
1
โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ นักปรัชญาชาวเยอรมัน (ภาพ: คมชัดลึก 2564)
โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เขามีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1749-1832 เกอเธ่เป็นคนที่ใฝ่เรียนรู้ เป็นทั้งนักกวี แต่งบทประพันธ์ นวนิยาย เขียนบทละคร เป็นทั้งนักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ นักสิทธิมนุษยชน เขารู้หลายภาษาและสนใจงานศิลปะด้วย งานเขียนของเขาปลูกฝังความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ใส่ความเป็นนักสิทธิมนุษยชน และปรัชญาแห่งชีวิตเพื่อการตื่นรู้ลงไปในนั้น
เช่น
คนเราสามารถตัดสินนิสัยของคนๆ หนึ่งได้
จากการกระทำที่เขามีต่อคนที่ไร้ประโยชน์ต่อเขา
ผู้คน จะได้ยินเฉพาะในสิ่งที่เขาเข้าใจ
สิ่งอัศจรรย์ คือ การที่คุณเชื่อในตัวเอง
ไม่ว่าอะไรในโลกนี้ คุณก็ทำสำเร็จได้ทั้งนั้น
งานเขียนแรกของเกอเธ่ ถูกเขียนขึ้นจากบันทึกการท่องเที่ยวในอิตาลีของเขา "Italian Journey” รวมถึงเขียนบทกวีไพเราะสื่อถึงความรักที่มีต่อหญิงที่เขารัก จะเห็นได้ว่า เขาเริ่มเขียนจากการบันทึกถึงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของตัวเขานั่นเอง
งานเขียนที่ได้ตีพิมพ์สำคัญๆ ของเขาคือ นิยายเรื่อง “Magnum opus”, นิยายเชิงอัตชีวประวัติเรื่อง "The Sorrow of Young Werther”บทละครเชิงปรัชญาเรื่อง "Faust” เป็นนิยายขายวิญญาณให้ปีศาจเพื่อแลกกับความรู้
งานเขียนวรรณกรรมของเกอเธ่จัดว่าเป็น Classic แห่งยุคใหม่ (ต้นศตวรรษที่ 18) เป็นต้นแบบต่องานวรรณกรรมยุโรป และมีอิทธิพลต่อปรัชญาและวรรณกรรมทั่วโลกในเวลาต่อมา (คมชัดลึก, 2564)
ศิลปินทั้งหลายล้วนใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์กว่าที่จะเก่งได้
Monalisa (ภาพ: Unsplash)
จิตรกรชื่อก้องโลกอย่าง ลีโอนาโด ดาวินชี ผู้วาดภาพ “โมนาลิซ่า” อันโด่งดัง ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี
ไม่ว่าจะมองจากองศาไหน ผู้หญิงในภาพ ที่กล่าวกันว่า อาจจะเป็น ดาวินชี ในภาคหญิง ก็จะส่งยิ้มหวานให้คล้ายมีชีวิตจริงๆ
ดาวินชีใช้เวลาในการวาดภาพนี้ถึง 16 ปีเต็มๆ จริงๆ แล้วการวาดภาพโมนาลิซ่า คือการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ตามหลักกายวิภาคมนุษย์ เพราะการวาดกล้ามเนื้อบนใบหน้าคน ให้ออกมาเป็นรอยยิ้มเสมือนจริงของผู้หญิงซักคนในยุคนั้น “ไม่ใช่เรื่องง่าย” (Walter Isaacson, 2017)
ไม่ว่าจะเป็นศิลปินสาขาไหน หากอยากเชี่ยวชาญในงานนั้นๆ ก็คงหนีไม่พ้นหลักธรรม อิทธิบาท 4 หรือหลักแห่งความสำเร็จ 4 ประการ นั่นก็คือ
  • 1.
    ฉันทะ คือ มีใจรักในสิ่งที่ตนกำลังทำ
  • 2.
    วิริยะ คือ มีความพากเพียร ไม่ลดละความพยายาม หมั่นหาความรู้เพิ่ม
  • 3.
    จิตตะ คือ มีสติจิตจดจ่อ ให้เวลากับการลงมือฝึกฝน ผลิตชิ้นงานนั้นๆ ลองผิด ลองถูก จนเชี่ยวชาญ
  • 4.
    วิมังสา คือ ปรับปรุงผลงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เรียนรู้จากสิ่งผิด และพัฒนาต่อยอดในสิ่งถูกให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต, 2547)
เอาล่ะ หากคุณผู้อ่าน อ่านมาถึงประโยคนี้แล้ว และมีความฝันความหวังอย่างเดียวกัน คือ อาจจะกำลังเริ่มฝึกเขียน อยากพัฒนาการเขียน หรืออยากจะเป็นนักเขียนที่มีผลงานขั้นเทพแต่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก
ลองฝึกเรียนรู้กลยุทธิ์การเขียนด้านล่างนี้ ตั้งแต่วันนี้และให้เวลากับการฝึกฝน เราก็จะสามารถเป็นนักคิด นักเขียนที่ดีได้ในแบบของเรา จนเขียนผลงานดีๆ เด็ดๆ ที่ใครๆ ก็อยากอ่านไว้ให้กับโลก ได้ในเร็ววันนี้ค่ะ
7 วิธีอัพเกรดทักษะการเขียนขั้นเทพ (@UpSkillYourLife)
Writing (ภาพ: Unsplash)
1. อ่าน อ่าน และอ่าน
ยิ่งอ่านมากเท่าไร เราจะยิ่งรู้ว่า นักเขียนคนอื่นๆ มีวิธีการถ่ายทอดความรู้ หรือสิ่งที่เขาอยากจะสื่อออกมาแนวไหนบ้าง แล้วพยายามสร้างสไตล์การเขียนของตัวเองขึ้นมาจากเรื่องที่เราสนใจ การอ่านมากจะทำให้เราเห็นรูปแบบการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันออกไป
อ่านให้หลากหลายสไตล์เข้าไว้ จากนักเขียนหลายๆ คน
อลิสเองก็ได้เริ่มทำการลิสต์รายชื่อนักเขียนเก่งๆ เอาไว้ หลายคนด้วยกัน เช่น วินทร์ เลียววาริณ, นิ้วกลม หรือบางทีก็อาจจะเป็นนักคิดทางปรัชญาอย่าง อ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ นักรีวิวหนังสือ หรือนักวิเคราะห์ ซึ่งทุกวันนี้มีเยอะมากๆ แล้วแต่ความชอบหรือแนวที่เราสนใจ แล้วเริ่มที่การเลือกอ่านหนังสือหรือบทความจากไอดอลในดวงใจเราก่อนก็ได้ค่ะ
2. เขียนทุกวัน
ยิ่งเขียนมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการฝึกเติมเต็มทักษะในการเขียนบทความให้มีความสมบูรณ์แบบ มากยิ่งขึ้นเท่านั้น คือเขียนไปก่อน เขียนไปเถอะ เขียนหมา แมว ดอกไม้ ต้นไม้ที่ปลูก วิธีทอดไข่เจียวยังไงให้อร่อย ในสไตล์ของเรา หรืออะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับงาน หรือชีวิตประจำวันที่เราทำอยู่ทุกวัน
เขียนไปโดยที่ไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟคตั้งแต่แรก แค่เขียนให้จบบทความไปก่อน เพื่อให้สมองเรารับรู้ว่า ในหัวเรานั้นมีข้อมูลดิบอะไรบ้าง พอทุกอย่างกางอยู่บนกระดาษ หรือหน้าคอมพิวเตอร์แล้ว มันจะมีกระบวนการตกผลึกแบบพิเศษ เดี๋ยวสมองของเราจะค่อยๆ จับแพะชนแกะ หยิบอันนั้นมาผสมอันนี้จากสิ่งที่เราถ่ายทอดออกมานั่นแหละ โดยอัตโนมัติ
มันเป็น process ที่แปลกประหลาดอยู่เหมือนกัน ต้องลองลงมือพิมพ์หรือเขียนออกมาเองก่อนจึงจะเริ่มเข้าใจค่ะ
3. ทบทวนบทความที่ตัวเองเขียนเสร็จแล้ว
เมื่อเราอ่านมากขึ้น และเขียนอะไรซักอย่าง อย่างน้อย 1 ย่อหน้า ทุกวัน (ย้ำว่า ทุกวัน) อย่าลืมที่จะอ่านทบทวนบทความนั้นซ้ำหลายรอบ แล้วลองย่น ย่อ หรือสรุปบทความเดียวกันนั้น หรือย่อหน้านั้นใหม่อีกที บางทีเราอาจจะเจอว่ามีประเด็นสำคัญที่ยังขาดอยู่ ก็เติมมันลงไป สุดท้ายเราจะพบว่า เวอร์ชั่นใหม่กระชับ และดูดีกว่าเวอร์ชันแรกเยอะ
4. ใส่บริบทแวดล้อมในประเด็นที่อยากเขียน
เขียนเกี่ยวกับอะไรก็ได้ที่มันวิ่งผ่านเข้ามาในหัว หรือสิ่งที่เรากำลังคิด หรือเห็น ลองสุ่มๆ ดู สมมติว่าเราเห็นข่าวเรื่อง “เตาอั้งโล่” “เตามหาเศรษฐี” เราอาจจะหยิบประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วพยายามจดออกมาแบบสั้นๆ สร้างเรื่องสั้นด้วยบริบทที่เกี่ยวข้องกับเตาอั้งโล่ ที่เราพอมีประสบการณ์ร่วมอยู่บ้าง หรือจะลองค้นข้อมูลใหม่ๆ เอามาผสม เป็นต้น
แต่ต้องมั่นใจด้วยนะคะว่า ข้อความที่เขียนออกมานั้นน่ะ มันกำลังอธิบายถึงเตาอั้งโล่จริงๆ
5. เช็คให้ดีว่า บทความที่เราเขียนนั้นมันคม กระชับ และชัดเจนจริงๆ
อย่าพยายามอารัมภบทมากเกินไปด้วยคำขยาย คำบุพบท หรือสรรพนามต่างๆ ที่เวิ่นเว้อเกินความจำเป็น เขียนให้ชัดๆ ตรงๆ ไปเลย ว่าเราอยากบอกอะไรกับคนอ่าน เลือกใช้คำฉลาดๆ ที่เหมาะสม เขียนประโยคให้สั้นเข้าไว้ ใช้เสียงหรือคำเขียนที่มันฟังหรืออ่านดูแล้วผู้อ่านรู้สึกตื่นเต้น ระทึกใจ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจในบทความที่เรากำลังเขียนนั้นค่ะ
6. แสดงอารมณ์
ยกตัวอย่างแทนที่จะเขียนประโยคประมาณว่า
“ลุงตู่โกรธมากหลังจากที่ได้อ่านจดหมาย”
ก็ให้เขียนเป็น
“ลุงตู่ขยำจดหมายและโยนมันลงไปในเตาอั่งโล่มหาเศรษฐีที่กำลังปะทุไฟจากถ่านเพลิง กิโลกรัมละ 70 บาทนั้น ก่อนที่จะทำหน้าถมึงทึง คิ้วย่นเข้าหากัน ควันออกจากหู กึ่งวิ่งกึ่งเดินลงจากโพเดียมไป”
(คนอ่านก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ลุงตู่กำลังโกรธอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เขียนคำว่าโกรธซักตัว)
7. โครงสร้าง หรือโครงร่างของบทความมีความสำคัญมาก
โครงสร้างของบทความจะทำเป็น Bullet point หรือประโยคสั้นๆ list ไล่ลงมาก็ได้ สิ่งนี้จะทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมดของบทความที่เราจะเขียน ให้เช็คตลอดว่า โครงร่างที่ทำขึ้นมาคร่าวๆ นั้น มีจุดแตกประเด็นออกมาเป็นหัวข้อๆ หรือมีหัวข้อย่อยสนับสนุนในแต่ละประเด็น ในแต่ละย่อหน้าไหม และถ้าเราปิ๊งไอเดียตอนจบของบทความเมื่อไร ก็ให้รีบจดโน้ตเก็บไว้ทันที
1
สรุปให้อีกทีนะคะ
  • 1.
    อ่านมากๆ
  • 2.
    เขียนทุกวัน
  • 3.
    อ่านบทความที่ตัวเองเขียนเสร็จแล้วและลองเขียนในเวอร์ชั่นใหม่
  • 4.
    จดประเด็นที่อยากเขียนและเติมบริบทแวดล้อมลงไป
  • 5.
    แน่ใจว่ากระชับ สั้น ตรงประเด็น และน่าสนใจ
  • 6.
    แสดงอารมณ์
  • 7.
    ทำโครงร่าง
จริงๆ ก็ยังมีทริคอีกเยอะนะคะ ที่อลิสเองก็ยังคงต้องสั่งสมประสบการณ์ทุกวัน แต่การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือทำค่ะ รับฟัง Feedback ของผู้อ่านมากๆ เพราะนั่นคือสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับการอัพเกรดทักษะการเขียนค่ะ และที่สำคัญ ทุกอย่าง มี Timing ของมัน ความสม่ำเสมอคือหัวใจของความสำเร็จ
Give Your self Time (ภาพ: Twitter @successpictures)
หากยังไม่มั่นใจว่าตัวเองจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ อลิสอยากจะบอกว่า คุณทำได้ค่ะ ขอเพียงแค่ลงมือเขียนตั้งแต่วันนี้ อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะการเขียนเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนทุกวัน เก็บชั่วโมงเขียน เหมือนการฝึกขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือขับรถ
หากตั้งใจอยากเป็นนักเขียนจริงๆ เริ่มทำตาม 7 ข้อข้างต้น ตั้งแต่วันนี้ แล้ววันนึง คุณก็จะกลายเป็นนักเขียนที่เก่งได้ เหมือนกับศิลปิน หรือนักเขียนดังๆ ที่ต่างล้วนต้องผ่านวันแรกๆ ฝึกฝนตัวเอง ใช้เวลา จนกว่าจะกลายเป็นมืออาชีพทั้งนั้นแหละค่ะ
"Personality is everthing in art and poetry" Goethe (ภาพ: BrainyQuote)
อยากจะเก่งอย่างเทพ ต้องใส่เอกลักษณ์ของตัวเราลงไปในงาน จะทำให้นั่นเป็นงานเขียนที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก เพียงแค่นี้เราก็เข้าใกล้ความเป็นนักเขียนขั้นเทพไปอีกเสตปแล้วค่ะ แล้วอย่าลืมเอาบทความที่เขียน มาแชร์ให้อลิสอ่านบ้างนะคะ
หากบทความนี้เป็นประโยชน์ ฝากกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม เพื่อเป็นกำลังใจให้นักเขียนหน้าใหม่ ด้วยนะคะ
อ้างอิง
รศ.ดร.ลักษณวัต ปาละรัตน์. (2551). สุนทรียศาสตร์ Aesthetics PY 337. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
คมชัดลึก. (2564). 272 ปี โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ "นักปรัชญา" ผู้รอบรู้ชาวเยอรมัน. จาก www.komchadluek.net/kom-lifestyle/480905
Walter Isaacson. (2017). The Science Behind Mona Lisa’s Smile.
How Leonardo da Vinci engineered the world’s most famous painting. จาก www.theatlantic.com/magazine/archive/2017/11
leonardo-da-vinci-mona-lisa-smile/540636/
ประยุทธ์ ปยุตฺโต. (2547). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.
Goodreads. (2022). Johann Wolfgang von Goethe > Quotes. จาก www.goodreads.com/author/quotes/285217.Johann_Wolfgang_von_Goethe
โฆษณา