27 มิ.ย. 2022 เวลา 12:19 • ธุรกิจ
บทเรียน “ธุรกิจกัญชา” จากต่างประเทศ
หลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ยกเลิก “กัญชา” บางประเภทออกจากสารเสพติดที่ห้ามใช้ หน้าสื่อและประชาชนก็วิพากษ์และพูดคุยถึงประเด็นนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ
3
ซึ่งหลังจากที่ Bnomics ไปทำการสืบค้นมาทั้งจากกรณีของไทยเองและหลายประเทศที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาได้ ก็อาจจะสรุปได้คร่าวๆ ว่า “กัญชาเสรี” จะสร้างประโยชน์ในภาพรวมได้ หากมีการควบคุมการใช้อย่างเหมาะสม
2
จึงได้หยิบมาเล่าให้กับทุกคนฟังในบทความนี้กันครับ
📌 ด้านดีของธุรกิจกัญชา
ขนาดธุรกิจกัญชาของโลกกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย อ้างอิงจาก Yahoo Finance มูลค่าของตลาดกัญชาในปี 2021 ที่ผ่านมา ถูกคาดการณ์ว่า มีขนาดถึง 25,650.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการประมาณกันว่า อัตราการเติบโตแบบทบต้น (CARG) ของมูลค่าตลาดกัญชาโลกในปี 2021-2030 จะสูงถึงปีละ 23.9% !! เลยทีเดียว
เหตุผลหลักที่ทำให้เขาคิดว่า ตลาดกัญชาจะเติบโตได้สูงขนาดนี้ มาจากสองอย่างหลักๆ ด้วยกัน คือ 1) ประชาชนเริ่มตระหนักถึงข้อดีเชิงการแพทย์ของกัญชามากขึ้น และ 2) การนำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ที่หลากหลายมากขึ้น
3
ซึ่งนี่ก็สอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขไทย ที่ต้องการสร้างกัญชาให้เป็นเศรษฐกิจ เพื่อการแพทย์ โดยมีการแนะนำโดยกรมการแพทย์ในปี พ.ศ. 2564 ว่ากัญชาสามารถรักษา 6 โรค/ภาวะ อันได้แก่
1
  • 1.
    ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
  • 2.
    โรคลมชักที่รักษายาก
  • 3.
    ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • 4.
    ภาวะปวดประสาท
  • 5.
    ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
  • 6.
    เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย
1
และก็ยังมีการวิจัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องว่า อาจจะสามารถใช้กับอาการและภาวะอื่นๆ ได้อีก
📌 กรณีการเปิดเสรีกัญชาในต่างประเทศ
ในตอนนี้ มีหลายสิบประเทศแล้วที่เปิดโอกาสให้มีการใช้กัญชาสำหรับการแพทย์ ซึ่งในนี้ มีอย่างน้อย 7 ประเทศและหลายรัฐของอเมริกาที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชา เพื่อความบันเทิงได้ด้วย
ซึ่งเราจะยกตัวอย่างมา 3 ประเทศ คือ เนเธอร์แลนด์ อุรุกวัย และแคนาดา เพื่อดูว่า “แนวทางการจัดการกัญชาเสรีที่เหมาะสม” ของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร
1. เนเธอร์แลนด์ 🇳🇱
เมื่อกล่าวถึงประเทศที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาได้มาอย่างยาวนานแล้ว “เนเธอร์แลนด์” ต้องเป็นหนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึง เพราะรัฐบาลของเขาได้ประกาศกฎหมายให้มีการใช้กัญชาได้ออกมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1976 หรือมากกว่า 40 ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี ตัวกฎหมายจะมุ่งเน้นให้ใช้สำหรับการแพทย์เป็นหลัก ในส่วนของคนทั่วไปจะซื้อได้ก็ต้องซื้อผ่านร้านที่ได้รับการอนุญาตโดยเฉพาะ ซึ่งถูกเรียกกันว่า “Coffeeshop”
2
โดยตัว Coffeeshop ที่เปิดอยู่ในเนเธอร์แลนด์นั้น แม้ชื่อจะเป็นกาแฟ แต่เป็นร้านที่มีไว้สำหรับขายและอนุญาตให้ใช้กัญชา เพื่อความบันเทิงในร้านได้โดยเฉพาะ
ซึ่งมีกฎหมายจัดโซนพื้นที่การขาย ไม่ให้ใกล้กับสถานศึกษาจนเกินไป และแน่นอนว่า มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถจะซื้อกัญชาได้
ประเด็นสำคัญอีกอย่างก็คือ ทางร้านจะขายกัญชาให้กับคนทั่วไปได้ครั้งละไม่เกิน 5 กรัมเท่านั้น ซึ่งปริมาณ 5 กรัมนี้ก็คือ ปริมาณเดียวกันกับที่กฎหมายอนุญาตให้ชาวเนเธอร์แลนด์สามารถพกติดตัวได้ เพื่อนำไปใช้ส่วนตัวได้แต่ต้องไม่สูบในที่สาธารณะ
2. อุรุกวัย 🇺🇾
3
อุรุกวัยถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการประกาศกฎหมาย ให้ประชาชนสามารถใช้กัญชาได้อย่างเสรีทั่วไป (ต่างจากเนเธอร์แลนด์ที่ว่าด้วยกฎหมายจริงๆ การใช้เพื่อความบันเทิงต้องใช้ในร้าน Coffeeshop แต่ก็อนุโลมให้พกพาได้ในปริมาณที่จำกัด)
กระบวนการสำคัญที่ทางรัฐบาลอุรุกวัยใช้ เพื่อควบคุมการใช้กัญชาของประชาชน คือ การอนุญาตให้มีการขายกัญชาได้ผ่าน “เภสัชกรที่ลงทะเบียน” เท่านั้น
โดยอ้างอิงจาก BBC ในปี ค.ศ. 2019 มีร้านขายยาโดยเภสัชกรที่ขายกัญชาอยู่เพียง 17 แห่งเท่านั้นในอุรุกวัย
1
ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่ทำให้ไม่มีร้านเข้ามามากกว่านี้ มาจากการที่ “ภาคธนาคารไม่ยอมทำธุรกรรมการเงิน” ร่วมกับร้านขายยาที่ขายกัญชา ทำให้เภสัชกรบางคนถอดใจจากการขายกัญชา และเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์กับธนาคารไว้ก่อน
2
นอกจากทางผู้ขายที่ต้องลงทะเบียนแล้ว ทางผู้ซื้อกัญชาในประเทศอุรุกวัยก็ต้องลงทะเบียนด้วยเช่นกัน สำหรับผู้บริโภคที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น และมีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่ซื้อได้ต่อสัปดาห์อยู่ที่ 10 กรัมเท่านั้น
2
3. แคนาดา 🇨🇦
2
ต่อมาคือ ประเทศแคนาดา ที่แม้จะมีรายละเอียดในด้านการลงทะเบียนผู้ขายคล้ายกับสองประเทศข้างต้น และมีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อเหมือนกัน แต่ก็มีการเปิดเสรีมากกว่าเล็กน้อย
อย่างในส่วนของปริมาณกัญชาที่มีการอนุญาตให้มีการถือครองได้ถึง 30 กรัมต่อคน และก็มีการอนุญาตให้ซื้อขายกับร้านค้าผ่าน “ทางออนไลน์” ได้ด้วย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสที่เสรีมากกว่าประเทศอื่นๆ
1
ทั้ง 3 ประเทศ ยังมีการควบคุมร่วมกันที่สำคัญอีกหนึ่งประการ คือ การควบคุมการผลิตกัญชา เนื่องจากว่า กัญชาถือเป็นพืชที่สามารถดูดซับโลหะหนักได้ดีมาก และกรรมวิธีการสกัด ถ้าทำอยากไม่ถูกวิธีก็มีโอกาสจะเกิดการปนเปื้อนได้สูงเช่นกัน ดังนั้นผู้ผลิตทุกคน ต้องถูกตรวจสอบอย่างดี และต้องขอใบอนุญาตจากทางภาครัฐด้วย
3
นอกจากนี้ ทั้งสามประเทศก็ยังมีการกำหนดความเข้มข้นของสารเสพติดที่อยู่ในกัญชาให้ไม่สูงจนเกินไป ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีการกำหนดตัวเลขที่เห็นควรว่าเหมาะสมแตกต่างกันไป แต่ก็มีพื้นฐานมาจากความกังวลทางด้านสุขภาพของประชาชนนั่นเอง
📌 ด้านที่ต้องควบคุมของกัญชา
จากเรื่องที่เราเล่ามาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า ส่วนสำคัญที่ประเทศที่เปิดเสรีในกัญชาในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น จะมีเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ การกำหนดอายุของผู้ที่สามารถซื้อกัญชาได้ให้เกินกว่า 18 ปีขึ้นไปอย่างน้อย
ที่เป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเหตุผลด้านศีลธรรม เพื่อปกป้องเด็กที่ยังไม่มีวิจารณญาณดีพอ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ระบุว่า การเสพกัญชาในเด็กที่สมองยังไม่ถูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ มีโอกาสทำให้สมองถูกทำลายอย่างถาวรได้
5
ซึ่งในตอนแรก ที่มีการประกาศยกเลิกกัญชาจากบัญชียาเสพติดของประเทศไทย ก็มีการเรียกร้องให้มีการควบคุมไม่ให้จำหน่ายสินค้ากัญชาให้กับเด็ก ทำให้มีการประกาศกฎกระทรวงตามออกมาให้สามารถจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมกัญชาให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีไม่ได้ และในการนี้ก็ยังมีการห้ามจำหน่ายให้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
แต่ก็เชื่อว่า กฎข้อนี้เป็นสิ่งที่ทางภาครัฐอยากจะทำตั้งแต่แรก เนื่องจาก กฎข้อนี้เป็นสิ่งที่อยู่ใน พรบ. กัญชา กัญชง ที่พึ่งผ่านวาระที่ 1 จากสภาไปเมื่อวันที่ 8 ด้วยเช่นกัน
อีกส่วนที่สำคัญ ที่ทั้งสามประเทศข้างต้นมีคล้ายกัน คือ การกำหนดการเข้าถึงกัญชาของคนในประเทศ ซึ่งทำผ่านการตรวจสอบผู้ขาย และการกำหนดปริมาณที่ผู้คนสามารถถือครองกัญชาและปลูกกัญชาได้เป็นสำคัญ
2
ซึ่งในประเทศตอนนี้ มีการกำหนดจำนวนการปลูกที่ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์ มาเป็นแนวทางบางส่วนแล้ว แต่ส่วนของปริมาณการถือครอง จากการสืบค้นเบื้องต้น ยังไม่เห็นตัวเลขที่กำหนดชัดเจน มีเพียงแต่ปริมาณของสารเสพติดในกัญชา (THC ห้ามเกิน 0.2%) เท่านั้น
เลยต้องติดตามกันต่อไปว่า ในพรบ.กัญชา กัญชง หรือประกาศกระทรวงในภายหลังจะมีการระบุถึงประเด็นนี้มาเพิ่มเติมอีกหรือไม่
ส่วนสุดท้าย แม้กฎหมายจะมีการผ่านออกมาแล้ว และมีการกำหนดการควบคุมออกมา ก็ใช่ว่า ประชาชนในประเทศจะยอมรับกับกัญชาได้ อย่างในกรณีของประเทศอุรุกวัยเอง เคยมีการทำโพลสำรวจความเห็นในปี 2012-2013 ว่า ประชาชนมีความเห็นอย่างไรกับการทำให้การขายกัญชาถูกกฎหมาย
ผลที่ออกมา มีคนกว่า 58-66% ที่ไม่เห็นด้วย และมีคนแค่ 24-29% ที่สนับสนุนการอนุญาตให้ขายกัญชาอย่างถูกกฎหมายครั้งนี้ ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์ที่สำคัญที่ทางรัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบว่า จะควบคุมให้มีการใช้กัญชาไปในทางที่เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร
2
เพราะโอกาสที่มันจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญนั้นก็มีอยู่ไม่น้อย แต่ถ้ามีการปล่อยให้เกิดการใช้อย่างเสรีเกินไป ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาก็อาจจะกลายเป็นตรงข้ามกันก็เป็นไปได้...
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา