28 มิ.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกต่ำ” ในวันที่เงินเฟ้ออาจไม่กลับสู่จุดเดิมเร็วๆ นี้
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer sentiment index) ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ลดลงไปต่ำถึง 50.0 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการสำรวจมา เทียบเท่ากับช่วงเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปี 1980 เลยทีเดียว
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคนี้มีความสำคัญอย่างไร แล้วทำไมผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ถึงมีความเชื่อมั่นตกต่ำลงเช่นนี้ Bnomics จะมาเล่าให้ฟัง
📌 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค คืออะไร?
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นสถิติที่ใช้วัดสุขภาพโดยรวมของเศรษฐกิจ โดยดูจากความคิดเห็นของผู้บริโภค ซึ่งจะคิดคำนวณถึงความรู้สึกของผู้บริโภคต่อสภาพการเงินของตนเอง สภาพเศรษฐกิจในระยะสั้น และมุมมองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ดัชนีจึงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่มีประโยชน์และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย
ในสหรัฐฯ การใช้จ่ายของผู้บริโภค ถือเป็นองค์ประกอบหลักๆ ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยคิดเป็นกว่า 70% ของ GDP ดังนั้นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจึงเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีตัวหนึ่ง
1
เมื่อคนรู้สึกมั่นใจกับอนาคต ก็จะใช้จ่ายกันมากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในทางกลับกันเมื่อคนรู้สึกถึงความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ก็จะเก็บเงินและไม่ค่อยซื้ออะไรที่ไม่จำเป็น ซึ่งความไม่เชื่อมั่นนี้เองที่จะทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการลดลง อีกทั้งยังไปกระทบกับภาคการลงทุน ตลาดหุ้น และการจ้างงาน เป็นผลกระทบลูกโซ่ต่อกันไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มากเกินไปก็ใช่ว่าจะเป็นผลดี เพราะเมื่อผู้คนซื้อสินค้าและบริการเยอะมากๆ ก็ทำให้สินค้าขึ้นราคา ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อขึ้น ธนาคารกลางก็จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ทีนี้ก็ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจสูงขึ้น จนกระทั่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและการส่งออกชะลอตัวลงได้
📌 แล้วทำไมตอนนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถึงตกต่ำ?
จากตัวเลขในเดือนล่าสุดอยู่ที่ 50 ซึ่งต่ำกว่าเดือนพฤษภาคมอยู่ 14.4% และต่ำกว่าเดือนเดียวกันเมื่อปีก่อนหน้าถึง 41.5% หลักๆ แล้วก็เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อยังคงหลอกหลอนผู้บริโภคอยู่
จากการสำรวจ ผู้บริโภคกว่า 47% มองว่าเงินเฟ้อเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มาตรฐานการครองชีพของพวกเขาแย่ลง ซึ่งสัดส่วนนี้มากพอๆ กับช่วงเศรษฐกิจถดถอยในปี 1980 เลยทีเดียว
โดยผู้บริโภคคาดว่าเงินเฟ้อคาดการณ์สำหรับปีนี้ยังคงอยู่ที่ราวๆ 5.3% ส่วนเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวน่าจะอยู่ที่ 3.1% และยังเต็มไปด้วยความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนอุปทานที่เป็นปัญหาติดต่อกันมา 9 เดือนแล้ว และราคาแก๊ส รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งสูงขึ้นอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน
1
📌 เมื่อความคาดหวังสร้างความจริง…เงินเฟ้ออาจไม่กลับไปอยู่ที่จุดเดิม
ในทางเศรษฐศาสตร์ การคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเมื่อผู้บริโภคคาดการณ์อย่างไร ก็จะส่งผลให้แสดงพฤติกรรมตามความคาดหวังนั้น เช่น เมื่อเราเห็นว่ามีเงินเฟ้อในอดีต และปัจจุบันเงินก็ยังเฟ้ออยู่
เราก็จะคาดเดาว่าเงินจะเฟ้อขึ้นเรื่อยๆ เป็นแน่ ส่งผลให้อาจจะมีการปรับขึ้นราคาสินค้า พนักงานต่อรองขอเพิ่มค่าจ้าง หรือผู้บริโภคก็อาจจะรีบซื้อสินค้าตุนไว้ก่อนตอนนี้เพราะกลัวว่าสินค้านั้นจะราคาสูงขึ้น ทำให้ท้ายที่สุดแล้วเงินเฟ้อนั้นก็เกิดขึ้นจริงๆ อย่างที่คาด (Self-fulfilling prophecy)
1
ทัศนคติเกี่ยวกับเงินเฟ้อ (Inflationary Psychology) จึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่ออัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นการที่มีคนที่กังวลเรื่องเงินเฟ้อมากจนเกินเหตุไปเสียหน่อย ก็อาจเป็นหนึ่งในแรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีกและอาจจะกลับไปยังจุดเดิมก่อนเกิดโควิดไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้น หากสถานการณ์ทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นกลับสู่ภาวะปกติ หรือเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้แล้วว่าจะคุมเงินเฟ้อได้อยู่หมัด ก็อาจช่วยให้ทั้งเงินเฟ้อคาดการณ์และเงินเฟ้อที่แท้จริงลดความร้อนแรงลง ช่วยให้ผู้คนคลายกังวลจากวิกฤติค่าครองชีพสูงที่เผชิญกันอยู่ในเวลานี้
แต่ด้วยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เราเห็นอยู่ในขณะนี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้ออาจจะยังคงยืดเยื้อไปอีกชั่วขณะหนึ่งก็เป็นได้…
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา