5 ก.ค. 2022 เวลา 04:30 • ปรัชญา
ทำไมงานกลุ่มถึงทำให้แตกความสามัคคีได้ล่ะ? (1)
อาจารย์: “มีนักเรียนมาคอมเพลนว่าถ้าจัดกลุ่มตามลำดับเลขที่ มันทำให้เรามีกลุ่มเดียวสำหรับหลายวิชา ไม่มีประสบการณ์ใหม่ๆ”
ก่อนที่ผมจะคิดอะไรต่อจากนั้น อาจารย์ก็พูดขึ้นมา
อาจารย์: “งั้นครูจะให้เราจัดกลุ่มกันเอง”
เดี๋ยวนะครับ เดี๋ยวนะครับ จัดกลุ่มกันเองก็จะจับแต่เพื่อนกันไม่ใช่เรอะ?
การจัดกลุ่มนั้นสร้างปัญหาอย่างมากในชีวิตวัยเรียนของคนเรา เรียกได้ว่าไม่มีทางไหนเลยที่จะทำให้เกิดความพอใจทั้งสองฝ่าย:
  • พวกสมหวังต้องการที่จะจัดกลุ่มกันเอง
  • พวกไม่มีใครคบต้องการการสุ่ม
เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะหาตรงกลางได้
แล้ววิธีที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการก็ยังมีปัญหาในตัวของมัน
การสุ่มจะสร้างเสียงเชียร์, เสียงถอนหายใจ, และเสียงนินทาได้มากมาย เบสท์เฟรนด์ที่โคจรมาร่วมงานกันคือเสียงเชียร์ เสียงถอนหายใจคือเวลาที่คนไม่ชอบหน้ากันต้องมาทำงานร่วมกัน สิ่งที่แย่กว่านั้นคือพวกไร้ตัวตนที่ปกติไม่เคยอยู่ในสายตาใครเมื่อถูกจับกลุ่มกับคนที่อยู่คนละชั้นกัน จะกลายเป็นที่ซุบซิบนินทาทันที
“กลุ่มนั้นน่าสงสารจัง” “ดีนะ ไม่ใช่กลุ่มพวกเรา”
ผมว่าสิ่งที่น่าสนุกคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเวลาจัดกลุ่มกันเองแล้วต้องไล่พวกตัวเองออกเนื่องจากจำนวนสมาชิกต่อกลุ่มไม่เท่ากับจำนวนคนในแก๊งตัวเอง
“หา? ทำไมฉันต้องออกด้วยล่ะ”
“ก็แหม เธอดูเข้ากับทุกคนได้ดีนี่นา คราวนี้แยกกันก่อนนะ”
ถ้าการปรึกษาเพื่อบีบกันออกแบบนี้เกิดขึ้นในออนไลน์แชท ภาษาที่ใช้จะพิสดารออกไปเข้าขั้นดัดจริต
“แงงง มันต้องมีคนไปอ่ะะะะ”
“ขอโทดดจิงๆนะะ เราจะยังเปงเพื่อนกันใช่มุ้ยย”
“ขอสุ่มนะแงงง ครั้งน้ีโชคร้ายจิงๆๆๆ”
(ความจริงน่าจะมีอิโมจิมากกว่านี้ แต่แค่เขียน 3 บรรทัดนี้เหมือนสมองเสื่อมถอยลงไปหลายปีแล้วครับ)
ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่เหมือนกันที่ภาษาเข้าสังคมใน Meta-verse ต้องมีอิโมจิเยอะๆ ผสมคำพูดที่ลากยาว
ผมจำได้ว่าตอน Social media มาแรกๆ คนเราก็พูดปกติกันนะ แต่พอคนใช้ภาษาแปลกๆ แบบนี้กันจนเป็นมาตรฐานใหม่ กลายเป็นว่าคนที่ใช้คำพูดปกติ ทางการ และไวยากรณ์ถูกต้อง ถูกมองว่าเหมือนกำลังโกรธอยู่
หากเป็นบ่อยอาจถูกเกลียดได้เลยนะครับ
คนเราพอไม่มีอะไรจะพูดคุยกัน สามารถหยิบยกเรื่องธรรมดาๆแบบนี้มานินทา แต่งขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวได้มากเลยนะครับ
(ติดตามตอนต่อไป)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา