3 ก.ค. 2022 เวลา 13:42 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินสำรองระหว่างประเทศคืออะไร? มีไว้ทำไม?
เงินสำรองระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า “เงินสำรองฯ” คือ เงินตราหรือสินทรัพย์ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทยที่อยู่บนงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทย
เพื่อรองรับความเสี่ยง และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ ให้ค่าเงินบาทยังสามารถรักษาอำนาจในการซื้อของเศรษฐกิจไทย
1
เงินสำรองฯ ส่วนหนึ่งใช้หนุนหลังการออกใช้ธนบัตรไทยตามกฎหมาย อีกทั้งยังมีบทบาทเป็นเครื่องมือช่วยดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการของไทย
ดังนั้น เงินสำรองฯ จึงเป็นเสหมือน “กันชน” ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อไม่ให้ความผันผวนจากภายนอกเข้ามาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจไทย
ซึ่งอาจกระทบกับอำนาจซื้อของเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้ เงินสำรองฯ จึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
📌 เงินสำรองฯ เพิ่มขึ้น-ลดลง มีนัยสำคัญอย่างไร?
เมื่อคนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น หรือธุรกิจไทยมีการส่งออกมากขึ้น หรือมีการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ความต้องการที่จะแลกเงินบาทก็จะมีมากขึ้น เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น
แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วจนเกินไป ธนาคารกลางจะเข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศมาเก็บเป็นเงินสำรองฯ และขายเงินบาทออกไป
ทำให้ธนาคารกลางมีภาระหนี้สินมากขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งธนาคารกลางจะต้องดูดซับเงินบาทดังกล่าวเพื่อรักษาระดับดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดไว้
ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของเงินสำรองฯ ไม่ได้สะท้อนความมั่งคั่ง (Wealth) ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะปริมาณเงินสำรองจะมาพร้อมกับภาระหนี้สินของธนาคารกลางที่เพิ่มขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน
3
ในทางกลับกัน หากเกิดเหตุการณ์ที่นักลงทุนต่างประเทศถอนเงินลงทุนออกจากประเทศไทย หรือดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล เงินสำรองฯจะถูกนำมาใช้พยุงค่าเงิน
เพื่อรักษาอำนาจในการซื้อของเศรษฐกิจไทย ทำให้เงินสำรองทางการมีขนาดลดลง ซึ่งการมีเงินสำรองฯ ที่มาก จะช่วยลดความเสี่ยง และผลกระทบของวิกฤตการณ์ค่าเงินของประเทศได้
4
ทั้งนี้ เงินสำรองฯ ทั้งหมดของประเทศไทยประกอบด้วย ทองคำ เงินตราและสินทรัพย์สกุลต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นของรัฐบาล และไม่ได้เป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เป็นของระบบเศรษฐกิจไทย
ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเป็นเพียงผู้ดูแลรักษาให้คนไทยมีเงินตราต่างประเทศใช้อย่างเพียงพอ เช่น การค้าขาย การท่องเที่ยว การลงทุนหรือใช้คืนหนี้ต่างประเทศ
รวมถึงดูแลให้นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้วต้องการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกลับออกไปก็สามารถทำได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว เงินสำรองฯ ก็เป็นเครื่องชี้วัดสำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ
หากเงินสำรองฯ มีน้อยไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติค่าเงิน แต่ถ้ามีมากไปก็อาจต้องคำนึงถึงภาระจากขนาดงบดุลธนาคารกลางที่ใหญ่ขึ้นทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินด้วยเช่นกันค่ะ
Cr. BOT
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา