7 ก.ค. 2022 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ไทยมีเงินสำรองฯ แข็งแกร่งมากแค่ไหน ?
เศรษฐกิจไทยยังคงปั่นป่วนและผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลก และยังอยู่กับสถานการณ์โควิด 19 ที่ยังไม่สิ้นสุด อีกทั้งยังมาเจอกับภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงจากราคาน้ำมันแพงและสินค้าปรับราคาสูงขึ้น
และเราคงเห็นบางประเทศที่เกิดวิกฤติเสี่ยงล้มละลายแล้ว อย่างเช่น ศรีลังกา เหตุผลหนึ่งเพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำ จึงไม่มีเงินนำเข้าพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของคนในประเทศ ทำให้ศรีลังกาขาดแคลนพลังงานจนต้องดับไฟวันละหลายชั่วโมงทั้งประเทศ เป็นต้น
แล้วประเทศไทยเราละ จะมีโอกาสเป็นแบบนั้นหรือเปล่า เพราะเราก็เป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานเหมือนกัน แล้วปัจจุบันไทยมีทุนสำรองฯ ที่เพียงพอจะรับมือกับสถานการณ์หรือไม่ ?
ลองมาสำรวจดูก่อนว่า เงินทุนสำรองฯ มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
ตัวอย่างเช่น
- กรณีประเทศศรีลังกาที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ที่ขาดแคลนเงินทุนสำรองฯ ไม่สามารถนำเข้าน้ำมันที่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้ของคนในประเทศ
- กรณีที่หลายประเทศไม่มีความน่าเชื่อถือในระบบเศรษฐกิจ เพราะมีทุนสำรองฯ เหลือน้อย ซึ่งไทยเองก็เคยเจอภาวะนี้มาแล้วในปีช่วงวิกฤตปี 2540
- กรณีของภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเกิดการคว่ำบาตร มีการห้ามไม่ให้รัสเซียนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้
ภาพจากมติชน
ซึ่งจากตัวอย่างสถานการณ์ข้างต้นนี้ ล้วนเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเพราะระดับทุนสำรองต่างประเทศต่ำ
เงินสำรองฯ เพิ่มขึ้นและลดลงได้อย่างไร
การเพิ่มขึ้นของเงินสำรองฯ >> จะเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศเกินดุลการค้าและบริการ หรือมีชาวต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุน จึงมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาแลกเงินบาท ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สถานการณ์เช่นนี้ทาง ธปท. จะทำการสะสมเงินสำรองฯ เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วไป ด้วยการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศมาเก็บไว้เป็นเงินสำรองฯ โดยการนำเงินบาทไปแลกทำให้มีเงินสำรองฯ เพิ่มขึ้น
การลดลงของเงินสำรองฯ >> จะเกิดขึ้นในช่วงที่ไทยขาดดุลการค้าและบริการ หรือมีนักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนออกไป จึงมีความต้องการแลกเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป ตลาดจะขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศฉับพลัน กรณีเช่นนี้ทาง ธปท. ก็จะขายเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในเงินสำรองฯ ออก เพื่อพยุงค่าเงินไว้ ทำให้เงินสำรองฯ ลดลง
เงินสำรองฯ จึงอาจเรียกว่าเป็นภูมิคุ้มกันให้ระบบเศรษฐกิจไทยในการรองรับความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ที่เปลี่ยนแปลงมากไปจนอาจกระทบต่อธุรกิจนำเข้าส่งออกและราคาสินค้าในประเทศได้
1
จึงเป็นหน้าที่ของ ธปท. ในการรักษาอำนาจซื้อของเศรษฐกิจไทยในตลาดโลก โดยการดูแลไม่ให้ค่าเงินผันผวนมากเกินกว่าที่เศรษฐกิจจะรับได้
ข้อมูลจาก ธปท.
โดยล่าสุดจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2565 ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Net International Reserves) ของไทย อยู่ที่ 2.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 8.92 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และถือว่าอยู่ในระดับมั่นคง โดยคิดเป็นประมาณ 3.4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
1
และหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลกจะพบว่า ระดับทุนสำรองฯ ที่ไทยมีในปัจจุบันนั้น ยังจัดอยู่ในระดับที่สูง คืออยู่ในอันดับที่ 13 จากทั้งหมด 195 ประเทศที่มีการสำรวจทั่วโลก (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย รายละเอียดตามกราฟที่ดึงมาแสดงบางส่วนถึงอันดับที่ 16 ของโลก)
รายชื่อประเทศเรียงตามมูลค่าทุนสำรองระหว่างประเทศ
นับว่าสูงในระดับเทียบเคียงกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้เลย โดยทุนสำรองฯ ที่อยู่ในระดับสูงจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศและนักลงทุน สะท้อนความมั่นใจในเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในมุมมองของต่างชาติ
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจผันผวนสูงขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ซึ่งอาจกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจไทย การบริหารเงินทุนสำรองฯ ให้อยู่ในระดับสูงพอดี จึงเป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องจัดการให้ดี
Cr. BOT, wikipedia
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา