6 ก.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
ผลผลิตทางการเกษตรของเปรูลดลงกว่า 40%
จากภาวะการขาดแคลนปุ๋ยที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งในเปรู ส่งผลให้การผลิตสินค้าเกษตรกรรมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มว่าปัญหาดังกล่าวจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง และมีราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้ นักวิชาการจากสถาบันวิเคราะห์และพัฒนาของเปรู (GRADE) คาดการณ์ว่าในระยะเวลา 2-3 เดือนข้างหน้า ผลผลิตหลักทางการเกษตรของเปรู อาทิ ข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพด จะมีปริมาณผลผลิตลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 – 40 ขอปริมาณทั้งหมดที่เคยผลิตได้
อย่างไรก็ดี การขาดแคลนปุ๋ยส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตที่แตกต่างกันตามประเภทของพืช นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าว ยังซ้ำเติมสถานการณ์เงินเฟ้อของเปรูด้วย
ที่ผ่านมาในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2564 เปรูนำเข้าปุ๋ย ในปริมาณ 200,000 ตัน แต่ในช่วงเดียวกันของปีนี้ เปรูนำเข้าปุ๋ยได้เพียง 20,000 ตัน นอกจากนี้จากข้อมูลของหน่วยงานศุลกากรของเปรู การนำเข้าปุ๋ยยูเรียในปีนี้จนถึงเดือนเมษายน มีปริมาณเพียง 18,000 ตัน ลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีการนำเข้าปุ๋ยยูเรีย ที่ปริมาณ 194,000 ตัน
ทั้งนี้ หากในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าซึ่งเป็นช่วงฤดูเพาะปลูก เปรูยังไม่สามารถนำเข้าปุ๋ยยูเรียได้ตามปริมาณที่ต้องการ (200,000 – 300,000 ตัน) จะส่งผลกระทบให้เกิดการขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ และถึงแม้ว่าเปรูจะสามารถผลิตปุ๋ยคอกจากมูลนกทะเลและค้างคาว (Guano) ซึ่งถือว่าเป็นปุ๋ยมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีสารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียมในปริมาณสูง แต่การผลิตปุ๋ยดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนความต้องการปุ๋ยที่เปรูไม่สามารถนำเข้าได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ National Convention for Peruvian Agriculture (Conveagro) รายงานว่า ในช่วง 3-6 ต่อจากนี้ การผลผลิตอาหารจะลดลงคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 เนื่องจากการขาดแคลนปุ๋ย นอกจากนี้ สถานการณ์การขาดแคลนปุ๋ย ยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรจำนวน 400,000 – 500,000 ราย ที่ทำการผลิตข้าว ข้าวโพด มันฝรั่ง และอ้อย
ทั้งนี้ นักวิชาการฯ เห็นว่าปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ โดยหาแหล่งนำเข้าปุ๋ยยูเรียทดแทนการนำเข้าจากรัสเซีย เนื่องจากเปรูนำเข้าปุ๋ยยูเรียจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของการนำเข้าปุ๋ยยูเรียทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน เปรูดำเนินมาตรการคว่ำบาตรการค้ากับรัสเซียด้วย
เปรูนำเข้าปุ๋ยอนินทรีย์ (synthetic fertilizer) ประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี โดยแบ่งเป็น ปุ๋ยยูเรีย (หรือ ammonium nitrate) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ปุ๋ย diammonium phosphate คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 ปุ๋ย monoammonium phosphate (phosphorite) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ปุ๋ย triple superphosphate คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 ปุ๋ย potassium คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ปุ๋ย zinc คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 และปุ๋ย boron คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ตามลำดับ
ประเทศที่มีการนำเข้าปุ๋ยมากที่สุดในโลก ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา บราซิล ทั้งนี้ เปรู เป็นประเทศในลำดับที่ 37 ของโลกที่มีการนำเข้าปุ๋ยมากที่สุด โดยประเทศที่ผลิตและส่งออกปุ๋ยมากที่สุดในโลก คือ รัสเซีย แคนาดา จีน สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ โดยประเทศ 3 แรกดังกล่าว สามารถส่งออกปุ๋ยปริมาณกว่า 100 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 56 ของปริมาณการใช้ปุ๋ยของโลก
การนำเข้าปุ๋ยของเปรูที่กล่าวมาข้างต้น จำนวน 1.2 ล้านตันต่อปี เป็นการนำเข้าจากรัสเซีย (ร้อยละ 37) จีน (ร้อยละ 20) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 20) ทั้งนี้ ราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นอย่างมากส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ในส่วนของปุ๋ยยูเรียที่เป็นปุ๋ยอนินทรีย์ที่มีการใช้มากที่สุด มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 และมีราคาสูงสุดที่ 901 เหรียญสหรัฐต่อตันในเดือนพฤศจิกายน 2564 หรือมีราคาเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 240
ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาปุ๋ยสูงขึ้นดังกล่าว มาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น (ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน) ทั้งนี้ เปรูมีการนำเข้าปุ๋ยยูเรียกว่า 600,000 ตัน สำหรับการเกษตรที่มีพื้นที่กว่า 4 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 25 ล้านไร่ ในการเพาะปลูกกาแฟ ข้าว มันฝรั่ง ข้าวโพด กล้วย และพืชพรรณอื่น ๆ
ในส่วนของปุ๋ยอนินทรีย์อื่นที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ได้แก่ ปุ๋ย Diammonium phosphate และปุ๋ย Potassium chloride ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 (221 เหรียญสหรัฐต่อตัน) ปุ๋ยฟอสฟอรัสราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 116 (153 เหรียญสหรัฐต่อตัน) ในขณะที่ปุ๋ย Triple superphosphate ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีราคาเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 172 (665 เหรียญสหรัฐต่อตัน)
ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของเปรู เป็นสถานการณ์ที่หลายประเทศประสบอยู่ ทั้งนี้ ราคาปุ๋ยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 ถูกซ้ำเติมด้วย สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวถือเป็นประเทศผู้ส่งออกปุ๋ยและสินค้าเกษตรราย สำคัญของโลก
การงดการส่งออกจากประเทศดังกล่าว ทำให้หลายประเทศทั่วโลกประสบปัญหาการขาดแคลนปุ๋ย และปุ๋ยราคาแพง เนื่องจากรัสเซียที่เป็นประเทศส่งออกปุ๋ยอนินทรีย์อันดับ 1 ของโลกงดการส่งออก นอกจากนี้ หลายประเทศที่ส่งออกปุ๋ยในอันดับต้นของโลก อาทิ จีน ก็จำกัดการส่งออกเพื่อใช้ภายในประเทศ
ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศครัวโลก ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการจำกัดการส่งออกอาหารได้ ในภาวะวิกฤตอาหารขาดแคลนและราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารอาจใช้โอกาสนี้ในการขยายตลาดการ ส่งสินค้าอาหารไปยังประเทศที่มีความต้องการและมีกำลังซื้อ
ปัจจุบันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต่างเร่ง แก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพงดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรไทยยังคงสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ต่อไป อย่างไรก็ดี ในระยะยาว ไทยอาจต้องพิจารณาแนวทางการหาแหล่งนำเข้าปุ๋ยเคมีทดแทนการนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียและยูเครน รวมถึงการลดการพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ และหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ภายในประเทศให้มากขึ้น โดยมีการกำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้ปุ๋ยภายในประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทั้งนี้ หากไทยสามารถรักษาระดับการผลิตสินค้าเกษตรกรรมให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และเพียงพอต่อการส่งออก จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการได้รับส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นในตลาดสินค้าเกษตรโลก อาทิ ข้าว พบว่า เปรูมีแนวโน้มส่วนแบ่งตลาดลดลงในสินค้ามันฝรั่ง ประกอบกับจำนวนผลผลิตที่ลดลง และราคาที่สูงขึ้น
อาจส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคสินค้าข้าวทดแทนมันฝรั่ง ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ทั้งนี้ สินค้าข้าวของไทยมีความหลากหลายของประเภทและพันธุ์ข้าว รวมถึง คุณประโยชน์ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้า อาหารไทยเพื่อขยายโอกาสในการส่งออกของไทยไปยังประเทศที่นำเข้าข้าวจากเปรู
นอกจากนี้ ไทยสามารถสิทธิ ประโยชน์ทางภาษีของความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไทย-เปรู ในการส่งออกสินค้า ข้าวโพดไปยังเปรู เนื่องจากข้าวโพดเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเปรู และใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ในการเพิ่มการนำเข้าข้าวโพดจากไทย (พิกัดศุลกากร 1005) จากเดิมนำเข้าจากไทยในลำดับที่ 23 จากจำนวนทั้งหมด 35 ประเทศ
โฆษณา