9 ก.ค. 2022 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
เทรนด์สินค้าซอสและเครื่องปรุงรสปี 2565 ในสหรัฐอเมริกา
ภาพรวมตลาดสินค้าซอสและเครื่องปรุงรสทั่วโลก
ในปี 2564 ตลาดซอสและเครื่องปรุงรสทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจากปี 2565 ถึง 2573 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 5.6 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของตลาดซอสและเครื่องปรุงรสนี้ มาจากการรับรู้ถึงประโยชน์ของส่วนผสมที่เป็นเครื่องเทศและสมุนไพร
รวมทั้ง แนวโน้มจำนวนคนที่ทำอาหารที่บ้านที่เพิ่มขึ้น จากแคมเปญต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้คนทำอาหารเองที่บ้านเพื่อลดความเครียด เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดซอสและเครื่องปรุงรสในตลาดโลกให้มีอัตราการเติบโตมากขึ้น
โดยผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะจ่ายราคาพรีเมียมสำหรับสินค้ารสชาติใหม่ๆ และลองสินค้าจากหลายเชื้อชาติมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดซอสและเครื่องปรุงรสจากท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ได้รับการยอมรับในระดับสากลมากขึ้น ซอสและเครื่องปรุงรสจากเอเชีย เช่น ไทย อินเดีย จีน และเวียดนามได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากมีเครื่องเทศและสมุนไพรมากมายที่ทำให้รสชาติเป็นเอกลักษณ์
ภาพรวมตลาดสินค้าซอสและเครื่องปรุงในสหรัฐฯ
ในปัจจุบันผู้บริโภคในสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการสูง มีสารอาหารและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมทั้ง ยังคำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มีการนำสมุนไพรมาใช้สำหรับการประกอบอาหารเพิ่มมากขึ้น ตลาดสินค้าซอสและเครื่องปรุงรสก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมามีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในผลิตภัณฑ์ซอสและเครื่องปรุงรสของตลาดสหรัฐฯ โดยเทรนด์ของปี 2565 สำหรับซอสและเครื่องปรุงรส 5 ประเภทที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดสหรัฐอเมริกา มีดังนี้
1. ซอสและเครื่องปรุงรสที่มีส่วนผสมจากน้ำผึ้ง โดยเน้นรสชาติเผ็ดหวาน (sweet and spicy) ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามักนิยมให้มีรสหวานในซอสและน้ำสลัด แต่ปัจจุบันรสเผ็ดได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20
โดยตั้งแต่ช่วงเริ่มมีการระบาดของโควิด-19 พบว่าทั้ง 2 รสชาติอยู่ในหมวดสินค้าซอสและน้ำสลัดที่มีความต้องการอย่างมาก โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมคือ ซอสและน้ำสลัดที่มีรสเผ็ดและผสมน้ำผึ้ง (Spicy honey) โดยจากการสำรวจพบว่าในปี 2564 ความนิยมซอสและน้ำสลัด Spicy honey เพิ่มขึ้นร้อยละ 15
ตัวอย่างซอสและเครื่องปรุงรสที่มีรสเผ็ดและผสมน้ำผึ้ง
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับซอสมะเขือเทศหรือมายองเนส ซอสและน้ำสลัดที่มีรสเผ็ดและผสมน้ำผึ้ง จัดอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาด ตรงกันข้ามกับความต้องการของซอสมะเขือเทศหรือมายองเนสที่จัดว่าอยู่ใน Product Life Cycle ขาลง
ประเภทอาหารผู้บริโภคนิยมใช้ซอสที่มีรสเผ็ดและผสมน้ำผึ้งมากที่สุด คือ อยู่ในสูตรและส่วนผสมของเมนูไก่ ในสหรัฐฯ พบว่ามีการใช้ซอสที่มีรสเผ็ดและผสมน้ำผึ้งมากกว่า 2,000 ในสูตรอาหาร โดยสูตรอาหารเหล่านั้นได้รับความสนใจอย่างมาก มีผู้บริโภคกว่า 600,000 รายจัดเก็บสูตรดังกล่าวในโลกออนไลน์เพื่อใช้ในการประกอบอาหารทานเองที่บ้าน ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคให้ความสนใจอย่างมากในซอสและเครื่องปรุงรสที่มีส่วนผสมจากน้ำผึ้ง และคาดว่าจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องและจะปรากฏในเมนูและสูตรอาหารออนไลน์มากขึ้นอีก
2.ซอสและเครื่องปรุงรสที่มีส่วนผสมจากยูสุ (Yuzu) เน้นรสชาติเปรี้ยว
ในปัจจุบันผลไม้ตระกูลส้มและผลไม้เขตร้อนที่มีรสเปรี้ยวกำลังเป็นที่นิยมอย่างเช่น ยูสุ ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในซอสและน้ำสลัด ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมากระแสความนิยมยูสุในโลกโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และยิ่งกว่านั้นในหมวดซอสและน้ำสลัดที่ผสมยูสุมีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 และหมวดเครื่องปรุงที่ผสมยูสุเพิ่มขึ้นร้อยละ 92
3.ส่วนผสมจากสารสมุนไพรหรือสารที่ได้จากส่วนของพืช (Botanicals)
ในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมากระแสความนิยมในโลกโซเชียลมีเดียในการใช้สารสมุนไพรมาเป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และการใช้สารสมุนไพรมาเป็นส่วนผสมในซอสและน้ำสลัดก็ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 กระแสความนิยมนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากผู้บริโภคตระหนักถึงการนำสารสมุนไพรไปใช้ในส่วนผสมอื่นๆ นอกเหนือจากเครื่องดื่ม พบว่าร้อยละ 0.58 ของเมนูอาหารในร้านมีการนำสารสมุนไพรต่างๆ มาเป็นส่วนผสม โดยได้รับความนิยมจากผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติและผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพผิว เนื่องจากสารสมุนไพรต่างๆ นั้นมีคุณสมบัติเน้นในเรื่องของการฟื้นฟูสภาพผิว
ตัวอย่างซอสและเครื่องปรุงรสที่มีส่วนผสมของสารสมุนไพร
4.ส่วนผสมของซอสที่เน้นในเรื่องของสุขภาพเฉพาะทางสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม
ซึ่งความต้องการอาหารที่มีคุณสมบัติเฉพาะเหล่านี้กำลังขยายไปยังผลิตภัณฑ์ประเภทซอส และมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในหมวดน้ำสลัดและซอสในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ ได้แก่ อัลยอลี (Aioli) ซึ่งเป็นมายองเนสรสกระเทียม ส่วนผสมหลักคือ กระเทียม น้ำมันมะกอก และไข่แดง เป็นที่นิยมมากและมีสรรพคุณช่วยในเรื่องของสุขภาพด้านระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีความนิยมในกระแสโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 79 ในทำนองเดียวกันเครื่องปรุงรสที่ใช้สารกันบูดหรือสารปรุงแต่งที่มีปริมาณน้อยหรือไม่ใช้เลยกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าน้ำสลัดและซอสที่ไม่ใส่สารกันบูดได้รับความนิยมมากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 35
5.รสชาติของซอสและเครื่องปรุงรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละประเทศ
กำลังเจาะตลาดสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยสืบเนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนอยู่บ้านมากขึ้น มีเวลาว่างมากขึ้นและได้ลองทำอาหารทานเองที่บ้าน รวมถึงมีเวลาที่จะเรียนรู้ในการลองทำเมนูใหม่ของอาหารชาติอื่นๆ โดยคาดการณ์ว่ากระแสความนิยมเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆ ไป โดยมีเครื่องปรุงรสจากชาติอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
1) Amba ที่ใช้ในอาหารอิรักเป็นหลัก พบว่าอยู่ในส่วนผสมของเมนูเพิ่มขึ้นร้อยละ 32
2) Mexican mole ที่ใช้ในการปรุงอาหารสำหรับชาวเม็กซิกันประเทศเม็กซิโก พบว่ามีกระแสความนิยมในโลกโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 176 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
3) Gochujang เป็นเครื่องปรุงรสชนิดหนึ่งของชาวเกาหลี พบว่าอยู่ในส่วนผสมของอาหารกว่าร้อยละ 31
ในปี 2564 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าประเภทซอสและเครื่องปรุงรส (HScode 2103) จากไทยเป็นอันดับที่ 4 มีมูลค่านำเข้า 109 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.30 เทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ นำเข้าซอสและเครื่องปรุงรสมากที่สุดจากประเทศแคนาดา อิตาลี เม็กซิโก ไทยและจีนตามลำดับ
จากข้อมูลข้างต้น เทรนด์สินค้าประเภทซอสและเครื่องปรุงรสในสหรัฐฯ ปี 2565 เปิดกว้างมากขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ๆ และมีการใช้ส่วนผสมที่หลากหลาย ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการ
โดยจะเห็นว่าสมุนไพรเริ่มเข้ามาเป็นส่วนประกอบของซอสและเครื่องปรุงรสมากขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยในการนำวัตถุดิบสมุนไพรที่มีมาประยุกต์เพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทซอส น้ำสลัดและเครื่องปรุงรสแทนที่จะส่งออกมาเป็นวัตถุดิบโดยตรง รวมทั้งปรับเปลี่ยนสินค้าให้เข้ากับเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้ง เน้นความเป็นเอกลักษณ์ของไทยเจาะตลาดสหรัฐฯ
อีกทั้ง จากวิกฤติซอสพริกศรีราชาเข้าสู่ภาวะขาดแคลนและจะหยุดการผลิตไปแบบไม่มีกำหนดเนื่องจากขาดแคลนพริกจากวิกฤตภัยแล้ง อาจจะเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบไทย ในการผลิตและส่งออกสินค้าทดแทน อีกทั้งตลาดซอสและเครื่องปรุงรสอาหารของไทยมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เนื่องจากรสชาติอาหารไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในตลาดสหรัฐอเมริกา ประกอบกับการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่กำลังเพิ่มมากขึ้น
โฆษณา