5 ก.ค. 2022 เวลา 06:52 • การเมือง
*** เมื่อไทยถูกรุกน่านฟ้า ***
ช่วงสายของวันที่ 30 มิถุนายน ประชาชนในอำเภอพบพระของจังหวัดตากต้องพบกับความประหลาดใจ เมื่อเครื่องบินขับไล่จากพม่าลำหนึ่งทำการบินเหนือน่านฟ้าประเทศไทยนานกว่า 15 นาที พร้อมกับใช้อาวุธยิงใส่ฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏในฝั่งพม่าก่อนบินกลับไป ทั้งหมดเกิดก่อนที่เครื่องบินขับไล่ของไทยจะเดินทางมาถึง
กรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสวิจารณ์ถึงศักยภาพการปกป้องประเทศของกองทัพอากาศไทย รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลซึ่งดูเพิกเฉยต่อสถานการณ์ ขณะที่กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลได้ออกโรงปกป้องว่าการตอบสนองของรัฐบาลถือว่าเป็นไปตามสมควร เพราะไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามกับพม่า สิ่งนี้นำไปสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางระหว่างทั้งสองฝ่าย
สรุปความจริงมันเป็นอย่างไรกันแน่? ไทยเราสามารถตอบสนองได้เหมาะสมกับภัยคุกคามหรือไม่? แล้วกองทัพทั่วโลกนั้นสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไรได้บ้าง? มาร่วมกันหาคำตอบได้ในบทความนี้ไปพร้อมๆ กันนะครับ
*** คำชี้แจงจากกองทัพ ***
ภายหลังเหตุการณ์สงบลง โฆษกกองทัพอากาศได้ออกมาแถลงเพื่อชี้แจงว่า สถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศสามารถตรวจจับอากาศยานพม่าได้ตั้งแต่ช่วง 11.16 น. โดยเครื่อง Mig-29 ลำดังกล่าวได้ทำการบินวนรอบบริเวณเพื่อใช้อาวุธเข้าโจมตีเป้าหมายฝั่งพม่า ก่อนจะหายไปจากจอเรดาร์ทำให้กองทัพตัดสินใจส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 จำนวน 2 เครื่องจากกองบิน 4 จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นสกัดกั้น ทว่าอีกฝ่ายกลับล่าถอยไปแล้ว
อย่างไรก็ตามคำชี้แจงดังกล่าวกลายเป็นข้อวิจารณ์การทำงานของกองทัพอย่างเผ็ดร้อน เพราะข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ทางกองทัพมีขีดความสามารถในการตรวจจับและสกัดกั้นแต่กลับไม่มีการออกคำสั่งที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ทำให้การเข้าสกัดกั้นนั้นเกิดขึ้นช้าเกินไป นอกจากนี้ยังไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับความล่าช้าที่เกิดขึ้นอีกด้วย
ภาพแนบ: โฆษกกองทัพอากาศ
*** การตอบสนองอันเฉยชาจากภาครัฐ ***
นอกจากโฆษกกองทัพแล้ว นายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ทางพม่าได้
ออกมาขอโทษแล้วและเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่โต เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ
ขณะที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกมาเอ่ยปากชมการปฏิบัติงานดังกล่าวว่า มีความรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ที่ขัดกับภาพการวิ่งหนีตายซึ่งประชาชนถ่ายติดมาได้ ส่วนทางผู้บัญชาการทหารอากาศให้สัมภาษณ์ว่า ตนก็รู้สึกเดือดเช่นเดียวกับประชาชนไทยคนอื่น แต่มีการประสานงานไปยังฝ่ายพม่าซึ่งออกมายอมรับความผิดพลาดว่ามีการล้ำดินแดนจริง เนื่องจากปัญหาด้านทัศนวิสัยและความคลาดเคลื่อนทางเขตเเดน เพราะบริเวณอำเภอพบพระของไทยนั้นเป็นจงอยล้ำเข้าไป พร้อมเปรียบเทียบว่า “พม่าเหมือนเพื่อนบ้านเดินตัดสนาม จะไปยิงเขาตายเลยหรือ”
1
ภาพแนบ: Mig-29 ทอ. พม่า
นอกจากนั้นยังมีการชมเชยว่าการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาระดับสูงเป็นการตัดสินใจที่ดี เพราะการตัดสินใจที่ดีนั้นไม่ได้วัดกันที่ความรวดเร็ว แต่ต้องสุขุม, รอบคอบ, และเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งขอร้องว่าอย่าเอาประเด็นดังกล่าวมาเป็นเหตุโจมตีความพยายามจัดซื้อ F-35A ของกองทัพอากาศไทย
ท่าทีของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งออกมาแก้ต่างว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันเรียบร้อย แต่กลับไม่มีหนังสือหรือจดหมายขอโทษใดๆ ออกมาจากฝ่ายพม่า ทำให้เกิดกระแสการวิจารณ์ว่ารัฐบาลกำลังมองไปยังผลประโยชน์มากกว่าความปลอดภัยของประชาชนหรือไม่? และรัฐบาลมีความจริงจังต่อการปกป้องอธิปไตยของชาติตามที่เคยอ้างมาตลอดมากแค่ไหน?
1
ที่สำคัญคือฝ่ายรัฐบาลใช้พลังงานไปกับการอธิบายเรื่องความเหมาะสมทางการเมือง มากกว่าอธิบายสาเหตุของความล่าช้าครั้งนี้ ทำให้เป็นการตอบไม่ตรงกับสิ่งที่คนอยากรู้
ภาพแนบ: F-35A อากาศยานที่ ทอ. ต้องการนำเข้าประจำการ
นำไปสู่คำวิจารณ์ว่า “แท้จริงแล้วหน้าที่ของกองทัพคืออะไร?” และประชาชนจะสามารถเชื่อใจว่ากองทัพสามารถรักษาอธิปไตยของชาติตามที่เคยให้มั่นมาตลอดได้หรือไม่? หรือทางกองทัพจะปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ให้มีความพร้อมมากขึ้นได้อย่างไร?
ภาพแนบ: Ki-43 ของ ทอ. ไทยขณะยิงเครื่องทิ้งระเบิด B-29 ของสหรัฐตกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
*** การป้องกันภัยทางอากาศ ***
ก่อนที่เราพูดเรื่องมาตรการตอบโต้ที่ฝ่ายไทยสามารถกระทำได้ เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของระบบป้องกันภัยทางอากาศและเขตป้องกันภัยกันคร่าวๆ โดยเว็ปไซด์ Thai Armed Force ได้อธิบายข้อมูลของหลักการป้องกันภัยทางอากาศตามหลักสากลว่า เราสามารถแบ่งเขตการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ:
- เขตพิสูจน์ฝ่าย (ในสุด) เพื่อป้องกันภัยทางอากาศของประเทศที่มักจะถูกกำหนดให้อยู่บริเวณแนวชายแดนของประเทศ
- เขตป้องกันภัยชั้นใน (คือเขตกลาง หรือ Midnight Zone) ที่กำหนดระยะตั้งแต่ 0-92.6 กิโลเมตร จากแผ่นดินไทย
- เขตป้องกันภัยชั้นนอก (คือเขตนอกสุด หรือ Twilight Zone) ที่ต่อจากเขต Midnight Zone อีก 92.6 กิโลเมตร
เมื่อทางกองทัพสามารถตรวจจับอากาศยานต่างชาติล้ำเข้ามาตั้งแต่เขต Twilight Zone เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินก็จะทำการพิสูจน์ทราบด้วยระบบระบุตัวตนว่าเป็นมิตรหรือศัตรู เรียกว่า IFF (Identification Friend or Foe) หากอากาศยานยังไม่มีการตอบสนองใดๆ เป้าหมายดังกล่าวจะถูกติดตามเพื่อเก็บข้อมูลและประสานงานกับส่วนอื่นๆ ต่อไป
3
จากนั้นเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินจะทำการเตือนให้อากาศยานลำดังกล่าวเปลี่ยนเส้นทางบิน แต่ถ้าเป้าหมายยังทำการบินจนเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยเหนือน่านฟ้า ทางกองทัพจะต้องพิจารณาให้ทำการส่งอากาศยานขึ้นสกัดกั้น
โดยปกตินักบินและเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินจะต้องเตรียมการทุกอย่างให้พร้อมเพื่อส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นสกัดกั้น หรือ QRA (Quick Reaction Alert) พวกเขาจะทำการบินไปยังเป้าหมายเพื่อทำการผลักดันอากาศยานที่ล้ำน่านฟ้า ตามขั้นตอนจากการบินเข้าประกบ, ขู่ฝ่ายตรงข้ามด้วยท่าบินต่างๆ ไปจนถึงการใช้อาวุธต่อฝ่ายตรงข้าม ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ไม่มีฝ่ายใดต้องการให้เกิด
ภาพแนบ: การเตรียมขึ้นสกัดกั้น
ดังนั้นความสำคัญของภารกิจการขึ้นสกัดกั้นทางอากาศจึงไม่ใช่การใช้อาวุธประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นการแข่งขันกับเวลาอันจำกัดเพื่อปฏิบัติตามหลักปฏิบัติต่างๆ อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อปกป้องอธิปไตยมิให้ใครมาคุกคามได้
เหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกันนี้เกิดขึ้นตามพื้นที่ข้อพิพาททั่วโลกเช่น ความขัดแย้งช่องแคบไต้หวันระหว่างกองทัพอากาศจีนและไต้หวัน, การขึ้นสกัดกั้นอากาศยานจีนของกองกำลังป้องกันตนเอง ญี่ปุ่น, รวมถึงภารกิจรักษาความปลอดภัยเหนือน่านฟ้าบอลติกและไอซ์แลนด์ (Baltic Air Policing / Icelandic Air Policing) ของกองกำลังนานาชาติของกลุ่มสมาชิกนาโต้
หลายๆ เคสภารกิจเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นกิจวัตรและมักจะยุติลงเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างแยกย้ายกลับเข้าพื้นที่ของตน ไม่ค่อยเกิดการปะทะขึ้นเว้นแต่จะเป็นสงครามจริง
สิ่งนี้คำแถลงของนายทหารระดับสูงที่พยายามให้เหตุผลว่าการตอบโต้อาจนำมาสู่ความรุนแรงและตำหนิว่าคนที่วิจารณ์อยากให้กองทัพใช้ความรุนแรงเหมือนในภาพยนตร์ ดูเป็นการตอบคำถามแบบผิดฝาผิดตัว เพราะจริงๆ มันมักเป็นแค่ “ไล่” ให้กลับ ไม่ใช่ต้องเข่นฆ่า
1
ภาพแนบ: F-15E กองทัพอากาศสหรัฐบินคู่กับ Su-27 ของยูเครน
*** มาตรการตอบโต้ทางการทูต ***
นอกเหนือจากตอบสนองตามหลักการป้องกันภัยทางอากาศแล้ว รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารสามารถมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนในการประสานงานเพื่อเรียกเอก อัครราชทูตอีกฝ่ายเข้ามาเพื่อชี้แจงความกังวลหรือยื่นหนังสือประท้วงการกระทำที่เกิดขึ้น
จากนั้นเมื่อสองฝ่ายสามารถสร้างข้อตกลงร่วมกันสำเร็จ ทั้งสองประเทศจะทำการออกแถลงการณ์ร่วมกันหรือออกจดหมายแสดงความเสียใจเพื่อยุติความขัดแย้ง ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวถือเป็นมาตรการขั้นพื้นฐานของการเมืองระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลกลับไม่มีการออกคำสั่งใดๆ นอกจากการมอบหมายให้ทูตทหารเข้าไปพบตัวแทนจากฝั่งพม่าเเบบเงียบๆ แล้วออกมาแถลงอยู่เพียงฝ่ายเดียว จึงนำไปสู่การวิจารณ์ท่าทีของฝ่ายรัฐบาลอย่างเลี่ยงไม่ได้
*** ความเห็นที่แตกต่าง ***
แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความเห็นที่แตกต่างกันในสังคม โดยกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลได้ออกมาวิจารณ์กองทัพอย่างเผ็ดร้อนว่ากองทัพไม่มีขีดความสามารถในการปกป้องประเทศ ตามคำขวัญว่า “น่านฟ้าไทยจะมิให้ใครมาย่ำยี” และลามไปวิจารณ์ว่าการจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่อย่าง F-35A นั้น เป็นการเสียงบประมาณ เปล่าๆ หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานแบบนี้
1
ขณะที่กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลและกองทัพก็ออกมาปกป้องว่า ทางกองทัพได้ทำการเข้าสกัดกั้นตามยุทธวิธีแล้ว การตอบโต้แบบที่ประชาชนส่วนมากวิจารณ์นั้น เป็นเพียงความต้องการให้กองทัพดำเนินการตามสิ่งที่ตนเองต้องการ รวมถึงกล่าวหาว่าคนกลุ่มที่ออกมาวิจารณ์เป็นฝ่ายสนับสนุนความรุนแรงที่อาจนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือฝ่ายที่มีความสนใจด้านการทหาร ซึ่งหลายคนมักสนับสนุนกองทัพด้วยซ้ำ แต่ในคราวนี้พวกเขามักออกมาวิจารณ์ว่า กองทัพอากาศผิดพลาดจริงและอยากให้กองทัพออกมาแสดงความจริงใจด้วยการขอโทษประชาชนบริเวณชายแดน พร้อมอธิบายเกี่ยวกับความล่าช้าที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับประสิทธิภาพในอนาคตให้สมกับที่ทัพอากาศไทยมีสถานะเป็นกองทัพอากาศระดับต้นๆ ของกลุ่มอาเซียน
สุดท้ายแล้วไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เราจะพบว่าการป้องกันภัยทางอากาศนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินภารกิจ จำเป็นต้องมีการตัดสินใจอย่างแม่นยำเพื่อตอบสนองภายในเวลาที่เหมาะสมต่อภัยคุกคาม
:::แหล่งอ้างอิง:::
bangkokbiznews (ดอต) com/politics/1013159
bangkokbiznews (ดอต) com/politics/1013085
baesystems (ดอต) com/en-us/definition/what-are-iff-technologies
Thaiarmedforce (ดอต) com
โฆษณา