6 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
ถ้าลูกน้องขัดคำสั่งจนทำให้งานเสียหาย คุณจะทำอย่างไร
คุณจะตำหนิกลางห้องประชุม หรือเรียกมาคุยส่วนตัว หรือมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ไหม
เราไปดูตัวอย่างวิธีรับมือของอับราฮัม ลิงคอล์น เมื่อลูกน้องขัดคำสั่ง จนทำให้พลาดโอกาสปิดสงครามกลางเมืองกัน
เรื่องนี้อยู่ในหนังสือวิธีชนะมิตรและจูงใจคน ของเดล คาร์เนกี
ที่สงครามเมืองเก็ตตีสเบอร์ก ปี 1863 นายพลลี ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ได้ถอยทัพไปจนถึงแม่น้ำโปโตแม็ค ตอนนั้นเองเกิดฝนตกหนักทำให้น้ำล้นฝั่ง ทัพของนายพลลีล่าถอยต่อไปไม่ได้ กลายเป็นติดอยู่ตรงนั้น
นี่ถือเป็นโอกาสที่หาไม่ได้อีกแล้วที่จะจบสงครามกลางเมือง ลิงคอล์นจึงออกคำสั่งให้นายพลมีดโจมตีทัพของนายพลลีทันทีโดยไม่ต้องประชุมสภาสงคราม
ลิงคอล์นทั้งโทรเลขสั่งและส่งม้าเร็วไปอีกทาง แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมาก นายพลมีดควรรีบเผด็จศึกซะ…
แต่นายพลมีดรีรอ ชักช้า ซ้ำยังฝ่าฝืนคำสั่งเรียกประชุมสภาสงคราม
พอน้ำในแม่น้ำโปโตแม็คลด นายพลลีจึงหนีข้ามไปอย่างง่ายดาย
ลิงคอล์นหัวเสียมาก โวยวายเสียงดังกับลูกชาย เขาไม่คิดไม่ฝันว่านายพลมีดจะทำแบบนี้ จึงลงมือเขียนจดหมายที่มีถ้อยคำตำหนิอย่างรุนแรง
‘’ท่านนายพลที่รัก
ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าท่านพอใจในโชคร้ายใหญ่หลวงของเราซึ่งเกิดมาจากการหนีไปของลี. เขาอยู่ในเงื้อมมือของเราแล้ว. และการที่เราจะสามารถปิดฉากการต่อสู้ของเขาเสียได้, ประกอบกับความสำเร็จครั้งที่ ๆ แล้วของเรา, จะทำให้สงครามอวสานลง. แต่จากการหนีไปของลี, ย่อมหมายถึงว่าสงครามจะยืดเยื้อออกไปอย่างไม่มีกำหนด. ถ้าท่านไม่สามารถโจมตีลีจนประสบชัยชนะอย่างเรียบร้อยเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว
ในโอกาสต่อไปท่านจะสามารถชนะเขาได้อย่างไรในเมื่อเขาอยู่ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำ, ซึ่งท่านจะพากองทหารไปกับท่านได้เพียงไม่เท่าใด-คือไม่มากกว่าสองในสามของทหารทั้งหมดที่ท่านมีอยู่? มันเป็นสิ่งอันไร้เหตุผลที่จะหวัง, และข้าพเจ้ามิได้หวังเลย, ว่าท่านจะปฏิบัติงานได้ผลมากมายในบัดนี้. โอกาสอันงามเลิศของท่านได้ผ่านพ้นไปเสียแล้ว, และจากการสูญเสียโอกาสนั้นข้าพเจ้าได้รับความทุกข์ทรมานอย่างเหลือแสน.”
เห็นได้ชัดว่านี่เป็นการตำหนิที่รุนแรงมาก
แต่บทเรียนที่คาร์เนกีบอกเราในหนังสือก็คือ
ลิงคอล์นไม่ได้ส่งจดหมายฉบับนี้ มันทิ้งกองรวม ๆ อยู่กับเอกสารของลิงคอล์น และพบเมื่อเขาเสียชีวิตไปแล้ว
นี่คือศิลปะในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น
คาร์เนกีได้คาดเดาว่าตอนนั้นลิงคอล์นคิดอะไรอยู่ ในสมองลิงคอล์นประมวลอย่างไร และนี่คือสิ่งที่คาร์เนกีเชื่อว่าลิงคอล์นคิด
“เดี๋ยวก่อน. ฉันไม่ควรจะรีบด่วนปรักปรำมีด, เพราะฉันนั่งอยู่ในทำเนียบไวท์เฮ้าส์อย่างสุขสบาย, ซึ่งเป็นการง่ายมากที่จะออกคำสั่งให้มีดโจมตี; แต่ถ้าฉันอยู่ที่เก็ตตีสเบอร์ก, และถ้าฉันเห็นการนองเลือดอย่างมีดได้เห็นมาในระหว่างสัปดาห์ที่แล้ว, และถ้าหูของฉันอื้ออึงอยู่ด้วยเสียงร้องครวญครางของทหารที่บาดเจ็บและกำลังรอความตาย, บางทีฉันจะหมดความกระตือรือร้นที่จะโจมตีลีในตอนนี้ทำนองเดียวกับมีดก็เป็นได้. ถ้าฉันอยู่ในฐานะของมีด โดยรู้สึกสะดุ้งกลัวต่อสิ่งเหล่านี้
บางทีฉันอาจจะกระทำลงไปในลักษณะเดียวกับที่เขาได้ทำก็เป็นได้. อย่างไรก็ตาม, เวลานี้โอกาสนั้นผ่านพ้นไปเสียแล้ว. เพราะฉะนั้นถ้าฉันส่งจดหมายฉบับนี้ไปให้มีด, ผลที่ฉันได้รับก็คือฉันสบายใจ: ส่วนมีดจะพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองต่าง ๆ นานา, และจะหันมาโทษฉันเข้าบ้าง. นอกจากนั้นจะก่อให้เขาเกิดความรู้สึกกลุ้มอกกลุ้มใจ, ซึ่งจะเป็นการทำลายสมรรถภาพของเขา, ในฐานะแม่ทัพ, ในการทำสงครามครั้งต่อ ๆ ไป, และอาจจะเป็นเหตุบังคับให้เขาต้องลาออกจากกองทัพบกก็ได้.”
นี่คือสุดยอดเคล็ดลับที่เราเรียนรู้จากลิงคอล์นได้
เวลาจะแสดงความคิดเห็น ควรคิดว่าผู้รับฟังจะรู้สึกอย่างไร และมันจะกระทบเป้าหมายใหญ่ของเราไหม
ก่อนจะตำหนิลูกน้อง ลองคิดว่าถ้าเราอยู่ในสถานการณ์นั้น เราจะทำอย่างไร จะตัดสินใจอย่างไร
บางทีการดุด่าโดยไม่ไว้หน้า มักจะตามมาด้วยผลลัพธ์ที่ทุกคนต้องเสียใจเสมอ
ก่อนจะตำหนิใครครั้งต่อไปอย่าลืมนึกถึงจดหมายของลิงคอล์นนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือวิธีชนะมิตรและจูงใจคน ของเดล คาร์เนกี แปลไทยโดยอาษา ขอจิตต์เมตต์ สำนักพิมพ์แสงดาว
ผมคัดบทแปลไทย สำนวนและลีลาของคุณอาษาจากหนังสือมาประกอบบทความครับ แนะนำให้ทุกคนอ่านหนังสือคลาสสิกเล่มนี้ครับ
เครดิตภาพ: Library of Congress, Manuscript Division, Abraham Lincoln Papers.
โฆษณา