11 ก.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
ความนิยมรถไฟฟ้าในเปรู
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเปรูเพิ่มขึ้นกว่า 170% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
ชาวเปรูในปัจจุบันให้ความนิยมเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูล รายงานของสมาคมยานยนต์ของเปรู (Automotive Association of Peru: AAP) ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า ในช่วงมกราคม - มีนาคม 2565 เพิ่มขึ้น 563 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 173 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 285.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563
โดยการขยายตัวของตลาดดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามของบริษัทผู้ผลิตรถไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า ในการนำเสนอรุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด และดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องแก่ผู้บริโภคถึงประโยชน์และความคุ้มค่ารวมทั้งการติดตั้งจุดให้บริการชาร์จไฟฟ้าตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศเปรู
รถยนต์ไฟฟ้าแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
(1) รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEV) เป็นรถยนต์ที่มีการใช้เครื่องยนต์สันดาปและมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนทำงานร่วมกัน
(2) รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Vehicle, PHEV) มีความคล้ายคลึงกับรถยนต์ไฮบริด (HEV) แต่จะแตกต่างกันตรงที่รถยนต์ประเภทนี้ สามารถชาร์จไฟฟ้าจากภายนอกได้
(3) รถยนต์ไฟฟ้าเซลเชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV) มีการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน แต่แหล่งพลังงานมาจากพลังงานของก๊าซไฮโดรเจน
(4) รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle, BEV) ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว
จากการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นด้วย
โดยรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มียอดจำหน่ายจำนวน 505 คัน หรือมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 159 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
รองลงไปคือรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) มียอดขายจำนวน 41 คัน หรือมีการขยายตัว เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4,000
และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) มียอดขายจำนวน 17 คัน หรือมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเดือนธันวาคม 2564 เพียงเดือนเดียว มีจำนวน 242 คัน เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 160.2 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2563 ที่มียอดขายเพียง 93 คัน
นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของเปรูรายงานว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้นของเปรูใน ปี 2564 มีจำนวน 1,455 คัน
อุตสาหกรรมยานยนต์ของเปรูและในลาตินอเมริกาถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาส่วนใหญ่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2563 - 2564 โดยรถยนต์ไฟฟ้า BEV มีการขยายตัวเฉลี่ยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.3 รถยนต์ไฟฟ้า PHEV มีการขยายตัวเฉลี่ย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 143.5 และรถยนต์ไฟฟ้า HEV มีการขยายตัวเฉลี่ยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 107.9
จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ของเปรู (Automotive Association of Peru: AAP) จำนวนรถในเปรู ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคัน กว่าร้อยละ 85 เป็นรถยนต์ขนาดเล็ก โดยรถยนต์ส่วนใหญ่ในเปรูยังคงใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ซึ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเปรูยังถือว่ามีขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาคลาตินอเมริกา
อย่างไรก็ดี AAP คาดว่าการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเปรูยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่ารถยนต์ไฟฟ้าในเปรูจะมีจำนวน 200,000 คันภายในปี 2573
แม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ในปี 2563 กลับเป็นปีที่รถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภททั่วโลกสูงถึง 3.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อย 43 จากปี 2562
โดย ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า คือ นโยบายส่งเสริมของภาครัฐประเทศต่าง ๆ (การปรับลดภาษี การให้เงินอุดหนุนในการซื้อรถ EV) กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลดการปล่อยมลภาวะในอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนแบตเตอรี่และการผลิตส่วนอื่น ๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานี ชาร์จไฟฟ้าที่กระจายอย่างทั่วถึง ตลอดจนการสนับสนุนจากภาคเอกชน
ทั้งนี้ กระแสรถยนต์ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต ผู้ส่งออกรถยนต์ และผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) เนื่องจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันถึงร้อยละ 37
ทั้งนี้ จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ประกอบการในกลุ่มพลาสติกน่าจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากวัสดุที่นำมาประกอบรถยนต์จะต้องมีน้ำหนักเบา
เช่น พอลิโพรพิลีน (PP) ที่มักถูกนำมาใช้ผลิตเป็นชิ้นส่วนยานยนต์โดยจัดเป็นหนึ่งในวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ราคาถูก ทนทานต่อสารเคมี สามารถขึ้นรูปเป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรงได้ จึงมักถูกนำมาใช้ผลิตชิ้นส่วนกันชน (Bumpers) และแผ่นบังโคลน (Wheel Housing)
เช่นเดียวกับ พอลิยูรีเทน (PU) ที่มักถูกนำไปใช้งานในกลุ่มวัสดุเคลือบผิว (Coatings) กลุ่มยาง (Elastomers) และกลุ่มโฟม (Foams) ตลอดจนพอลิไวนิลค์คลอไรด์ (PVC) ก็มักถูกนำมาขึ้นรูปเป็นชิ้นงานได้หลากหลาย จึงถูกนำมาใช้เป็นแผงติดเข็มหน้าปัด และสวิตช์ของเครื่องยนต์ (Instrument Panel) และปลอกหุ้ม สายไฟ (Sheathing) ในรถยนต์
ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสจากขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและความต้องการบริโภครถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับเปลี่ยน/ต่อยอดจากฐานการผลิตที่มีอยู่เดิม จะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้าที่มีอยู่ได้
นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ อิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล จึงเป็นโอกาสของธุรกิจแบบใหม่ด้วยเช่นกัน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ เช่น การพัฒนา แอปพลิเคชันสำหรับรถยนต์ การพัฒนาระบบยานยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ เป็นต้น และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ โครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อม (ecosystem) ของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ธุรกิจสถานีชาร์จไฟ อุปกรณ์ชาร์จไฟ แบบพกพา บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เป็นต้น
โฆษณา