13 ก.ค. 2022 เวลา 08:20 • คริปโทเคอร์เรนซี
การต่อต้านการฟอกเงินผ่าน Crypto
การฟอกเงินเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ยิ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้นก็ยิ่งเป็นดาบสองคมที่เอื้อต่อการฟอกเงินอีกด้วย โดยเฉพาะการฟอกเงินผ่านคริปโตเคอเรนซี่ ที่เป็นที่จับตามองของคนจำนวนมากอยู่ในขณะนี้
ปัจจุบันธุรกรรมคริปโตเคอเรนซี่ นับเป็นทางเลือกของประชาชนและธุรกิจต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการชำระเงินในระบบหรือที่ต้องแบกรับต้นทุนสูงในธุรกรรมการชำระเงิน โดยเฉพาะการชำระเงินระหว่างประเทศ
อีกทั้งยังเป็นการให้บริการทางการเงินหรือระบบการชำระเงินแบบกระจายศูนย์ ที่สร้างระบบนิเวศทางการเงินสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคตอีกด้วย
อย่างไรก็ดี การใช้คริปโตฯ ก่อให้เกิดทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อระบบการเงินของเศรษฐกิจในขณะเดียวกัน ซึ่งปัญหาใหญ่หนึ่งเลยนั่นก็คือ การฟอกเงินผ่านคริปโตฯ
ซึ่งก็มีตัวอย่างมาแล้วหลายคดี อย่างเช่น ข่าวของคู่สามีภรรยาที่ถูกจับกุมในคดีแฮ็กบิตคอยน์ ด้วยมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นคดีทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2016 โดยทั้งคู่ถูกจับและถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการฟอกเงินและฉ้อโกงประเทศ
workpointtoday
ทั้งนี้ปัญหาการฟอกเงินดังกล่าวนี้ ก็ไม่ได้ถูกนิ่งนอนใจ ล่าสุด EU ก็ได้หนุนกฎการต่อต้านการฟอกเงินผ่านคริปโตฯ เพื่อกระตุ้นให้บริษัทคริปโตฯ ตรวจสอบตัวตนของลูกค้าให้ดีขึ้น
โดยในกฎใหม่นี้ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย สามารถเชื่อมโยงการทำธุรกรรมบางอย่างกับกิจกรรมทางอาญา และระบุตัวตนที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังธุรกรรมเหล่านั้นได้ (อ้างอิงจากคำกล่าวของ Ernest Urtasun สมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรคกรีนจากประเทศสเปน ผู้ช่วยเดินเรื่องมาตรการผ่านรัฐสภายุโรป)
และในกฎนี้ยังกำหนดให้บริษัทในกระดานเทรดคริปโตฯ ในยุโรปจะต้องรายงานธุรกรรมที่น่าสงสัยต่อหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อช่วยปราบปรามการฟอกเงินที่ผิดกฏหมายอีกด้วย
ทั้งนี้กฎใหม่ดังกล่าวนี้ยังต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานอีกหลายแห่งจึงจะมีผลบังคับใช้จริง ซึ่งการกำกับดูแลนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอเรนซี่ จะสามารถตรวจสอบได้ในลักษณะเดียวกับการโอนเงินแบบเดิมได้
ในอีกด้านหนึ่ง กฎนี้ก็มีการถูกต่อต้านเช่นกัน โดยบริษัท Coinbase ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลจากฝั่งสหรัฐก็ได้มีการคัดค้านกฎดังกล่าว โดยมีกลุ่มคริปโตฯ จำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของ EU
เพื่อขอให้ผู้กำหนดนโยบายตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้งว่า กฎระเบียบใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นมานั้นไม่ได้อยู่นอกเหนือกฎเดิมภายใต้คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน หรือ FATF (Financial Action Task Force) ซึ่งกำหนดมาตรฐานสำหรับการต่อต้านการฟอกเงินหรือไม่
เป็นธรรมดาของกฎใหม่ต่างๆ ที่ย่อมมีคนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน และก็ต้องต่อสู้กันไปเช่นนี้เสมอนะคะ ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไปว่า กฎใหม่ดังกล่าวนี้จะเป็นไปในทิศทางใด
ทางด้านของประเทศไทยเอง ก็มีนักวิชาการที่สนับสนุนการเก็บภาษีและกำกับควบคุมคริปโตเคอเรนซี่ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันธุรกิจผิดกฎหมายหรือธุรกิจสีเทาที่ใช้เป็นกลไกในการชำระเงินและฟอกเงินนั่นเองค่ะ
Cr. siamblockchain
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา